สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หัด (Measles/Rubeola)

พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และพบในเด็กอายุประมาณ 2-14 ปี แต่ไม่พบในทารกอายุต่ำกว่า 6-8 เดือน เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา

โรคนี้พบได้ตลอดทั้งปี สามารถติดต่อได้ง่ายในแหล่งชุมชน โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก มักพบได้สูงในเดือนมกราคม-เมษายนโรคหัด

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสรูบีโอลา (rubeola virus) ซึ่งอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ปัสสาวะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการสัมผัสผู้ป่วย ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย จากสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อ เชื้อแพร่กระจายและแขวนลอยในอากาศจากการที่ผู้ป่วยไอ หรือจาม จึงเป็นโรคที่ระบาดได้รวดเร็ว ระยะฟักตัวของเชื้อ 9-11 วัน

เมื่อเชื้อสัมผัสเยื่อโพรงจมูก เยื่อบุทางเดินหายใจ หรือเยื่อบุตา ก็จะเกิดการแบ่งตัวเข้าสู่กระแสเลือดกระจายไปตามผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และอวัยวะต่างๆ

อาการ
มีอาการคล้ายไขหวัด แต่จะมีไข้สูงตลอดเวลาแม้จะกินยาลดไข้แล้ว  เด็กจะร้องงอแง กระสับกระส่าย เบื่ออาหาร ซึม มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ น้ำตาไหล ตาแดง ไม่สู้แสง หนังตาบวม อาจมีอาการท้องเดินในระยะก่อนมีผื่นขึ้น หรืออาจจะชักจากไข้ขึ้นสูงได้

ลักษณะของหัด จะมีผื่นหลังจากมีไข้ 3-4 วัน เป็นผื่นราบสีแดงเท่าหัวเข็มหมุด ไม่คัน โดยเริ่มขึ้นจากชายผม หน้าผาก หลังหู ใบหน้า ลำคอ หน้าอก แขน ฝ่ามือ ท้อง ขา ฝ่าเท้า ผื่นที่หน้าถึงเท้าใช้เวลา 48-72 ชั่วโมง ผื่นที่หน้าและลำคอในวันแรกๆ จะแผ่รวมกันเป็นแผ่นราบสีแดงขนาดใหญ่ ซึ่งเห็นได้ชัดกว่าท่อนล่างของลำตัวที่มีผื่นแดงกระจายเพียงเล็กๆ ผื่นที่ออกเต็มที่แล้วจะค่อยจางลงจากหน้าถึงเท้า จะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีคล้ำ จากนั้นจะลอกเป็นแผ่นบางๆ และหายไปใน 7-10 วัน บางรายอาจนานกว่านั้น

ไข้จะขึ้นสูงสุดในวันที่มีผื่นขึ้น ประมาณ 2-3 วัน เมื่อผื่นขึ้นที่เท้าแล้วไข้ก็จะลดลง อาการอื่นๆ ก็ลดลงไปด้วย รวมแล้วจะมีไข้ประมาณ 1 สัปดาห์  ถ้าไข้ยังไม่ลดแม้ผื่นจะถึงเท้าแล้วและกำเริบใหม่มักเป็นการติดเชื้อแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย

สิ่งตรวจพบ
มีไข้ 38.5-40 องศาเซลเซียส หน้าแดง หนังตาและเปลือกตาแดง อาจพบต่อมน้ำเหลืองโตที่หลังหู หลังคอ และท้ายทอย

หลังมีไข้ 2 วัน พบมีจุดขนาดเล็กคล้ายเมล็ดงาสีขาวๆ เหลืองๆ แถวกระพุ้งแก้มใกล้ฟันกรามล่าง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของหัด ถ้าเป็นมากจะพบอยู่เต็มกระพุ้งแก้ม เรียกว่า จุดค็อปลิก(Koplik’s spot)

พบผื่นขึ้นที่ชายผม หน้าผาก หลังหู ใบหน้า ลำตัว แขนขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หลังไข้ขึ้นประมาณ 3-4 วัน

ปอดมีเสียงปกติ แต่เมื่อใช้เครื่องฟังตรวจปอดได้ยินเสียงกรอบแกรบ(crepitation) อาจเป็นเพราะสาเหตุของโรคปอดอักเสบแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ ปอดอักเสบ ถือเป็นสาเหตุสำคัญของผู้ป่วยหัด ถ้าพบในระยะก่อนหรือระยะที่มีผื่นขึ้นมักเกิดจากไวรัส ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมักจะมีอาการรุนแรงอาจถึงตายได้ เช่น เด็กขาดอาหาร ผู้ป่วยมะเร็งหรือเอดส์ หญิงตั้งครรภ์ ส่วนภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรียมักพบในระยะหลังๆ

ที่รุนแรงน้อยแต่พบบ่อย คือ ท้องเดินจากไวรัส หูชั้นกลางอักเสบจากการแทรกซ้อนของแบคทีเรีย เยื่อบุตาขาวอักเสบ หลอดลมอักเสบ

ที่รุนแรงถึงขั้นพิการหรือตาย เช่น สมองอักเสบ พบประมาณ 1 ใน 1,000-2,000 หลังมีผื่นขึ้นได้ 2-6 วัน แต่บางรายอาจพบได้ก่อนมีผื่น จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ซึม ไม่รู้สึกตัว หรือชัก กลุ่มนี้มีโอกาสพิการจากภาวะแทรกซ้อนทางสมองร้อยละ 25 และอาจถึงตายร้อยละ 15

ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น
-หญิงตั้งครรภ์  อาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตรถ้าป่วยเป็นหัดในระยะไตรมาสแรก คลอดก่อนกำหนด การตายคลอด ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของทารก ทารกน้ำหนักน้อย
-มีโอกาสติดเชื้ออื่นๆ แทรกซ้อนได้ หากภูมิคุ้มกันลดลงชั่วคราว อาจทำให้ผู้ป่วยวัณโรคมีอาการกำเริบและรุนแรงขึ้น ผลการทดสอบทูเบอร์คูลินให้ผลลบ ทำให้แปลผลได้ไม่แน่นอน
-การขาดสารอาหารจากการเบื่ออาหาร ท้องเดิน อาเจียน หรืองดของแสลงที่เป็นโปรตีน
-อาการของโรค เช่น หลอดลมฝอยอักเสบ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ ตับอักเสบ กระจกตาอักเสบซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้ ภาวะแทรกซ้อนของสมองอักเสบอาจทำให้เกิดภาวะหูหนวกหูตึงได้ การติดเชื้อในกระแสเลือดอาจทำให้ประสาทหูเสื่อม

การรักษา
1. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อาบน้ำเย็น เช็ดตัวเมื่อมีไข้สูง ดื่มน้ำ น้ำหวาน น้ำผลไม้มากๆ ควรกินอาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่ว ให้มาก ไม่ต้องงดของแสลง

2. รักษาตามอาการป่วย เมื่อมีไข้ใช้พาราเซตามอล ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพรินในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 19 ปีเพราะเสี่ยงต่อโรคเรย์ซินโดรม จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว หรือยาแก้ไอเมื่อมีอาการไอ

3. ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในโรคนี้เพราะอาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบชนิดร้ายแรงจากเชื้อสแตฟีโลค็อกคัสเข้าซ้ำเติมได้ ซึ่งยากแก่การรักษา

4. ให้รักษาตามอาการหากมีท้องเดินร่วมด้วย

5. ถ้าไอมีเสมหะ ข้นเหลืองหรือเขียว ตรวจปอดฟังมีเสียงดังควรให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน หรืออิริโทรมัยซิน

6. ถ้ามีอาการหอบมากหายใจเร็วกว่าปกติ ท้องเดินจนร่างกายขาดน้ำรุนแรง ซึม ชักให้สงสัยเป็นสมองอักเสบควรส่งแพทย์โดยด่วน เพราะอันตรายถึงตายได้

7. แพทย์จะทดสอบน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานไวรัสหัด หรือตรวจหาเชื้อจากจมูก เยื่อบุตา ปัสสาวะ หรือเลือดในรายที่จำเป็นต้องวินิจฉัยโรคหัดให้แน่ชัด

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ให้การดูแลรักษาตามอาการ จะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ การที่ผู้ป่วยกินยาเขียวแล้วหายก็เพราะเหตุนี้ ควรเฝ้าดูภาวะแทรกซ้อนอย่างใกล้ชิด ในผู้ใหญ่จะมีความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนมากกว่าในเด็ก

2. อย่าคลุกคลีกับผู้ป่วยจนกว่าจะพ้นระยะติดต่อ คือ 4 วันแรกก่อนผื่นขึ้น จนกระทั่ง 4 วัน หลังเริ่มมีผื่นขึ้น)

3. จะมีอาการไข้ประมาณ 1 สัปดาห์ ไข้จะลดลงเมื่อมีผื่นขึ้นที่ฝ่าเท้า ถ้าอาการกำเริบหรือไข้ไม่ลดอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย เช่นหลอดลมอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น

4. ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือหญิงตั้งครรภ์มักจะมีอาการรุนแรงในโรคปอดอักเสบ หรือสมองอักเสบได้มากกว่าคนอื่น จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดในผู้หญิงก่อนแต่งงาน หรือก่อนตั้งครรภ์

5. เด็กที่มีภาวะขาดวิตามินเอ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้วิตามินเอเสริม ซึ่งจะช่วยลดความพิการและการเสียชีวิตลงได้

6. ไม่ต้องงดของแสลงเพราะอาจกลายเป็นโรคขาดสารอาหาร ควรกินอาหารประเภท เนื้อ นม ไข่ และถั่วต่างๆ เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้มากขึ้น

7. โรคนี้เป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายได้รวดเร็ว เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่เคยเป็นหัดมาก่อนจะมีโอกาสเป็นได้เกือบทุกคน เมื่อเป็นแล้วจะไม่เป็นซ้ำอีกเพราะจะมีภูมิคุ้มกันไปจนตลอดชีวิต

เด็กที่พ่อแม่เข้าใจว่าลูกออกหัดหลายครั้ง ความจริงแล้วอาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่นก็เป็นได้ เช่น หัดเยอรมัน ส่าไข้ ผื่นแพ้ยา เป็นต้น

8. ผู้ป่วยที่ไข้สูงแต่ไม่มีผื่นขึ้น มักมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ที่เรียกว่า หัดหลบใน และมักจะกระทุ้งให้ผื่นขึ้นด้วยการให้กินยาเขียว

คำว่า “หัดหลบใน” อาจมีความหมายสองแง่คือ อาการไข้ที่เกิดจากโรคติดเชื้อร้ายแรง เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ซึ่งเกิดจากเชื้อตัวอื่น มีอาการคล้ายหัด แต่ไม่มีผื่น เมื่อเป็นแล้วอาจถึงตายได้

อักแง่หนึ่ง หมายถึงอาการของหัดในผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เด็กขาดสารอาหาร ผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์ ความผิดปกติเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน พวกนี้เมื่อเป็นหัดจะไม่มีผื่น เพราะร่างกายไม่มีปฏิกิริยาต่อหัด ผู้ป่วยมักมีโรคแทรกซ้อนรุนแรงอาจถึงตายได้

การป้องกัน
1. ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ควรฉีดเข็มแรกเมื่ออายุ 9-12 เดือน และเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 4-6 ปี หากมีการระบาดของโรคให้ฉีดเข็มแรกตั้งแต่อายุ 6-9 เดือน และฉีดซ้ำอีก 2 ครั้ง เมื่ออายุ 12 เดือน และ 4-6 ปี

วัคซีนป้องกันโรคหัดมีทั้งชนิดเดี่ยว และชนิดที่เป็นวัคซีนรวมที่ใช้ป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน มีชื่อว่า เอ็มเอ็มอาร์ (MMR ย่อมาจาก measles, mumps, rubella)

2. หากมีผู้ใกล้ชิดป่วย หรืออยู่ในช่วงมีการระบาดของโรคควรหลีกเลี่ยงในที่ชุมชนแออัด หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ ไม่ใช้มือขยี้ตาหรือแคะจมูก ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดมือเพื่อจำกัดเชื้อโรค

3. หากมีการสัมผัสผู้ป่วยในระยะติดต่อ ควรปรึกษาแพทย์ถ้าไม่เคยเป็นหัดหรือไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันหัดมาก่อน ควรปฏิบัติดังนี้

-ให้ฉีดวัคซีนป้องกันทันทีถ้าสัมผัสมาภายใน 5 วัน ควรฉีดอิมมูนโกลบูลินในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งเป็นสารภูมิต้านทานร่วมด้วย และฉีดวัคซีนซ้ำเมื่ออายุได้ 15 เดือน

-ในเด็กอายุเกิน 1  ปี ให้ฉีดวัคซีนกับอิมมูนโกลบูลิน และฉีดวัคซีนซ้ำในอีก 5 เดือน ถ้าเด็กสัมผัสโรคมานานกว่า 5 วัน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า