สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หลอดเลือดขอดที่ขา(Varicose vein)

หลอดเลือดดำที่ขามีหน้าที่นำเลือดดำจากเท้ากลับสู่หัวใจโดยอาศัยแรงบีบของกล้ามเนื้อบริเวณเท้าบีบเลือดต้านแรงถ่วงของโลกให้ไหลกลับขึ้นสู่หัวใจ โดยมีลิ้นเล็กๆ อยู่ในหลอดเลือดดำช่วยป้องกันมิให้เลือดไหลย้อนกลับลงเท้า

ความผิดปกติของลิ้นเล็กๆในหลอดเลือดดำไม่สามารถกั้นการไหลย้อนกลับของเลือดได้ จึงทำให้เลือดไหลย้อนลงมาคั่งในหลอดเลือดดำส่วนปลาย คือ ส่วนที่อยู่ใกล้ผิวหนัง ทำให้เห็นเป็นหลอดเลือดที่โป่งพองสีคล้ำๆ เรียกว่า หลอดเลือดขอดที่ขาหลอดเลือดขอด

ภาวะนี้พบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ที่พ่อแม่พี่น้องในครอบครัวเป็นโรคนี้มักพบโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป และผู้ที่มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น เช่น คนอ้วน หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีอาชีพต้องยืนนานๆ การยกของหนัก เป็นต้น

อาการ

ในระยะแรกเวลายืนที่จะมีหลอดเลือดโป่งพองสีคล้ำๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวด บริเวณน่องมักพบได้บ่อย หรืออาจพบบริเวณใดก็ได้ระหว่างตาตุ่มขึ้นไปถึงสะโพก อาจพบหลอดเลือดขอดบริเวณช่องคลอดในหญิงตั้งครรภ์

เมื่อมีอาการของโรคมากขึ้นจะปวดหน่วงหรือปวดเมื่อยตรงบริเวณนั้น หลังจากยืนได้สักพักเท้าจะบวม ผู้หญิงขณะมีประจำเดือนหรือก่อนมีประจำเดือน 2-3 วัน ก็จะมีอาการมากขึ้น

บริเวณที่หลอดเลือดขอดอาจมีผื่นคันขึ้นถ้าเป็นรุนแรง โดยเฉพาะใกล้ๆ ข้อเท้า ผิวหนังอาจออกเป็นสีคล้ำในบริเวณนั้น

สิ่งตรวจพบ
ตรวจพบอาการหลอดเลือดโป่งพองสีคล้ำๆ ที่บริเวณขา

ภาวะแทรกซ้อน
ไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่ผิวหนังบริเวณนั้นอาจแตกกลายเป็นแผลเรื้อรัง เรียกว่า แผลจากหลอดเลือดขอด ถ้าปล่อยให้เป็นแบบรุนแรง บางรายหลอดเลือดดำอาจเกิดการอักเสบ ซึ่งมักจะเป็นบริเวณผิว เรียกว่า หลอดเลือดดำส่วนผิวอักเสบมีลิ่มเลือด ถ้าถูกของมีคมบาดหรือหกล้มตรงบริเวณที่มีหลอดเลือดขอดอาจทำให้เกิดแผลเลือดออกรุนแรงได้

การรักษา
1. ควรหลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งห้อยเท้านานๆ หากเพิ่งเริ่มเป็นเพียงเล็กน้อย เพื่อช่วยให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจดีขึ้นควรนั่งหรือนอนยกเท้าให้สูงกว่าระดับหน้าอก ระหว่างที่ต้องยืนทำงานนานๆ ควรใส่ถุงเท้ายืดหรือใช้ผ้าพันแผลชนิดยืดพันรอบจากปลายเท้าขึ้นมาถึงใต้เข่า ควรหาทางลดน้ำหนักในคนอ้วนหรือน้ำหนักเกิน

2. ควรให้ผู้ป่วยนั่งหรือนอนยกเท้าให้สูงกว่าระดับหน้าอกถ้ามีเลือดไหลจากหลอดเลือดขอด ตรงรอยแผลที่เลือดออกให้ใช้ผ้าสะอาดกดแรงๆ และให้ทำความสะอาดแบบบาดแผลสดทั่วไปเมื่อเลือดหยุดไหลแล้ว

3. ควรแนะนำให้ผู้ป่วยไปโรงพยาบาลหากให้การรักษาขั้นต้นแล้วไม่ได้ผล อาจต้องตรวจโดยการฉีดสีเข่าหลอดเลือดที่ขอด แล้วเอกซเรย์ดูลักษณะของหลอดเลือดหรือทำการตรวจพิเศษอื่นๆ อาจต้องผ่าตัดดึงหลอดเลือดดำที่ขอดออกไปในรายที่มีอาการมาก บางรายอาจต้องตัดการไหลเวียนของเลือดด้วยการฉีดยาเข้าไปในหลอดเลือดดำที่ขอดทำให้เกิดการแข็งตัวและตีบตัน การรักษาวิธีนี้มักได้ผลดีแต่ก็มีโอกาสเกิดหลอดเลือดขอดในบริเวณอื่นขึ้นมาใหม่ได้

4. ควรแนะนำให้ไปโรงพยาบาลในรายที่เกิดมีแผลจากหลอดเลือดขอด ควรชะล้างแผลและทำแผลทุกวันร่วมกับให้ผู้ป่วยยกเท้าสูง ใส่ถุงเท้ายืดหรือรัดเท้าด้วยผ้ายืด ก็อาจช่วยให้แผลหายได้ถ้าเป็นแผลขนาดเล็ก แต่ถ้าเป็นแผลขนาดใหญ่อาจต้องทำการผ่าตัดหลอดเลือดขอดออก อาจต้องปลูกถ่ายผิวหนังในการรักษาแผล คือ การนำผิวหนังจากส่วนอื่นมาปะแทน

ข้อแนะนำ
ในระยะแรกที่เริ่มเป็นหลอดเลือดขอด ควรป้องกันโรคแทรกซ้อนด้วยวิธีการใส่ถุงเท้ายืด หรือรัดเท้าด้วยผ้ายืดในขณะที่ตั้งครรภ์ หรือขณะที่ต้องยืนทำงานนานๆ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า