สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน(Acute bronchitis)

หมายถึงการอักเสบของเยื่อบุผิวภายในหลอดลมทำให้ต่อมเมือก(mucous gland) โตขึ้นและหลั่งเมือกหรือเสมหะออกมากผิดปกติ ไปอุดกั้นช่องทางเดินหลอดลมให้แคบลง ทำให้เกิดการไอมีเสมหะ หรือมีการหอบเหนื่อยร่วมด้วยหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน

หลอดลมอักเสบมีทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง

หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน พบได้บ่อยในทุกวัย พบบ่อยในกลุ่มที่สัมผัสถูกสิ่งระคายเคือง สูบบุหรี่ เป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง สามารถหายได้เอง

สาเหตุ
1. จากการติดเชื้อ เกิดจากเชื้อไว้รัสที่เกิดจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่เป็นส่วนมาก ติดต่อเช่นเดียวกับไข้หวัด อาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนจากแบคทีเรียเช่น Mycoplasma pneumonia, Clamydia pneumonia, Streptococcus pneumonia, Hemophilus influenza, Moraxella catarrhalis พบบ่อยในเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้มีภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง

2. จากการถูกสิ่งระคายเคือง  พบบ่อยในผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งจะทำให้ขนอ่อนที่เยื่อบุหลอดลมเคลื่อนไหวน้อยลงทำให้เกิดการระคายเคือง ต่อมเมือกโตมีเสมหะมากขึ้น และยังเกิดจากฝุ่น ควัน สารเคมี และการระคายเคืองจากน้ำย่อยในโรคกรดไหลย้อน ในผู้ที่สูบบุหรี่หรือกลุ่มเสี่ยงมักเกิดการระคายเคืองได้บ่อยจนกลายเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

อาการ
อาจมีอาการเป็นไข้หวัด เจ็บคอ และไอตามมา หรือไม่มีอาการใดๆ ก็ได้
อาการไอมักไอมากในตอนกลางคืนหรือกลังตื่นนอน ไอนาน 1-3 สัปดาห์หรือมากกว่านี้ บางรายอาจมีอาการเสียงแหบ เจ็บคอ เจ็บหน้าอกเวลาไอ อาจมีอาการอาเจียนในเด็กขณะไอ บางรายมีอาการแน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อยร่วมด้วย

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติในรายที่อาการไม่รุนแรง
บางรายมีไข้ประมาณ 38.3-38.8 องศาเซลเซียส เป็นไข้หวัดร่วมด้วย
ฟังปอดได้ยินเสียงหายใจหยาบ หรือมีเสียงอึ๊ด เสียงกรอบแกรบ หรือเสียงวี้ด

ภาวะแทรกซ้อน
พบบ่อยในทารก ผู้สูงอายุ ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้มีโรคปอดเรื้อรังเช่น หืด ถุงลมปอดโป่งพองอยู่ก่อน ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ปอดอักเสบ พบได้น้อยกว่าร้อยละ 5 ของผู้ป่วย

ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจกลายเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมปอดโป่งพอง และหลอดลมพอง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ มีอาการไอเป็นเลือดในบางราย

การรักษา
1. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ทำงานหนัก ดื่มน้ำอุ่นวันละ 10-15 แก้วเพื่อช่วยละลายเสมหะ งดบุหรี่ หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง เช่น ความเย็น น้ำเย็น น้ำแข็ง ของทอด ของมันๆ ฝุ่น ควัน อากาศเสีย ลม เป็นต้น

2. ให้ยารักษาตามอาการ หลีกเลี่ยงยาแก้ไอแก้แพ้เมื่อมีเสมหะข้นเหนียวเพราะจะทำให้ข้นเหนียวยิ่งขึ้น ขับออกยาก หรือไปอุดกั้นหลอดลมเล็กทำให้ปอดแฟบได้

3. ถ้ามีเสียงวี้ดร่วมด้วนให้ยากระตุ้นบีตาสูดหรือกิน

4. ถ้ามีเสมหะสีขาวไม่มีโรคประจำตัวไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ จะให้ในรายที่มีภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลอดลมพองร่วมด้วย เสมหะเหลืองหรือเขียวเกิน 7 วัน ยาปฏิชีวนะที่ใช้มี อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน ร็อกซิโทรไมซิน ดอกซีไซคลีน โคไตรม็อกซาโซล เป็นต้น

5. หลังได้รับยาปฏิชีวนะ 1 สัปดาห์แล้วยังมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว รู้สึกหอบเหนื่อยหลังจากให้ยาขยายหลอดลม 3 วัน ให้สงสัยปอดอักเสบแทรกซ้อน หากมีไข้เกิน 1 สัปดาห์ น้ำหนักลด ไอเป็นเลือด มีอาการกำเริบมากกว่า 3 ครั้ง/ปี ควรนำส่งแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

น้อยรายที่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงส่วนใหญ่มักหายได้เองด้วยการรักษาตามอาการ ที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะก็มีน้อยเหมือนกัน

ข้อแนะนำ
โรคนี้มักเป็นหลังจากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ หลังจากเชื้อถูกกำจัดแล้วผู้ป่วยอาจไออยู่นานเป็นสัปดาห์ ไอแห้งๆ มีเสมหะสีขาวเล็กน้อยซึ่งเกิดจากเยื่อบุหลอดลมถูกทำลายจากการอักเสบทำให้ไวต่อสิ่งกระตุ้น หลอดลมจะฟื้นตัวแข็งแรงเต็มที่ต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ ควรให้การรักษาตามอาการ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่อการระคายเคือง แต่ละคนอาจมีระยะเวลาการไอแตกต่างกันไป บางรายอาจนานถึง 3 เดือน แต่บางรายก็เพียงแค่ 7-8 สัปดาห์

ควรส่งผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลเมื่อมีอาการผิดปกติเช่น มีไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด หอบเหนื่อย ไอรุนแรง ไอเป็นเลือด หรือมีความวิตกกังวล เพื่อหาสาเหตุต่อไป

แพทย์อาจให้ยาไอพราโทรเพียมโบรไมด์ชนิดสูดเพื่อช่วยให้อาการทุเลาลงหากตรวจไม่พบสาเหตุอื่น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า