สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หลอดลมพอง(Bronchiectasis)

หมายถึงภาวะขยายตัวของหลอดลมบางส่วน ซึ่งกว้างกว่าปกติอย่างถาวร เนื่องจากผนังหลอดลมถูกทำลายทำให้เกิดการติดเชื้อ ไอ มีเสมหะเรื้อรังหลอดลมพอง

ภาวะนี้มักเกิดกับหลอดลมขนาดกลางเป็นส่วนใหญ่ และเกิดกับหลอดลมขนาดเล็กเป็นบางครั้ง ซึ่งถูกทำลายกลายเป็นแผลเป็น  ในหลอดลมขนาดใหญ่มักสัมพันธ์กับโรคเชื้อราแอสเปอจิลลัสของทางเดินหายใจ(allergic bronchopulmonary aspergillosis) พบโรคนี้ได้ในทุกวัย แต่พบมากในช่วงอายุ 20-40 ปี อาจพบร่วมกับโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมปอดโป่งพองหรือหืด

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีการติดเชื้อของทางเดินหายใจ เช่น ไข้หัด ไข้หวัดใหญ่ หัด

จากเชื้อแบคทีเรีย เช่น ไอกรน เชื้อสูโดโมแนส เคล็บซิลลา สแตฟีโลค็อกคัส ไมโคพลาสมา

จากเชื้อรา เช่น แอสเปอจิลลัส รวมทั้งการติดเชื้อของปอด เช่น ปอดอักเสบ วัณโรคปอด ฝีปอด เป็นต้น

การติดเชื้ออาจมีสาเหตุมาจากภาวะภูมิคุ้มกันต่ำเช่น เอดส์ มะเร็ง การอุดกั้นของหลอดลม เช่น เนื้องอกหรือมะเร็ง จากสิ่งแปลกปลอม พบเป็นส่วนน้อยที่เกิดจากสูดแก๊สพิษหรือสารพิษเข้าไปทำลายผนังหลอดลม และยังพบบางชนิดสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของทางเดินหายใจแต่กำเนิดได้

สาเหตุดังกล่าวทำให้ผนังหลอดลมถูกทำลาย รวมทั้งขนอ่อนที่เยื่อบุหลอดลมหลุดลอกสูญเสียกลไกการขับสิ่งคัดหลั่ง เกิดการสะสมของเชื้อโรค ฝุ่น สารระคายเคืองปนอยู่ ทำให้หลอดลมขยายตัว บางครั้งเกิดกระเปาะเล็กๆ กักเชื้อโรคไว้ทำให้ติดเชื้อง่าย
กระบวนการเปลี่ยนของวงจรโรคหลอดลมพอง คือ เริ่มจาก
“การติดเชื้อ—-การทำลายผนังหลอดเลือด—-การสะสมเสมหะและเชื้อโรค—-การติดเชื้อ….”

กระบวนการนี้มักเกิดตั้งแต่วัยเด็ก และจะแสดงอาการเมื่ออายุมากขึ้น

อาการ
ไอเรื้อรัง เสมหะจำนวนมากมีสีเหลืองหรือเขียว กลิ่นเหม็น จะไอมากในตอนเช้า และเมื่ออยู่ในท่านอนตะแคง ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น  ผู้ป่วยบางรายจะไอเป็นเลือดเนื่องจากผนังหลอดลมที่อักเสบจะเพิ่มจำนวนหลอดเลือดทำให้แตกง่าย บางครั้งไอมีเลือดปนกับเสมหะหรืออาจเป็นเลือดสดๆ เพียงเล็กน้อยและหยุดได้เอง บางรายหลังจากเป็นไข้หวัดแต่ไม่มีไอเรื้อรังก็ไอออกเป็นเลือดได้

ผู้ป่วยทั่วไปมักไม่มีไข้ เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย หรือหอบเหนื่อยง่าย เว้นแต่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนในบางครั้ง หากไม่ได้รับการรักษา โรคก็จะทวีความรุนแรง โดยเฉพาะเวลาใช้แรงมากผู้ป่วยจะมีอาการหอบเหนื่อยง่ายและน้ำหนักลดลง

สิ่งตรวจพบ
อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติในระยะแรก
ในรายที่ไอมีเสมหะมาก เสมหะผู้ป่วยจะแยกเป็น 3 ชั้น คือชั้นล่างสุดเป็นหนองข้น ชั้นกลางเป็นของเหลวใส ชั้นบนสุดเป็นฟองเมื่อใส่แก้วทิ้งไว้
มักได้ยินเสียงกรอบแกรบ เสียงอี๊ด เสียงวี้ดเมื่อใช้เครื่องฟังตรวจปอด โดยเฉพาะปอดส่วนล่าง
บางรายมีไซนัสอักเสบร่วมด้วย อาจพบอาการนิ้วปุ้มในรายที่เป็นมาก
อาจทำให้เกิดภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงในกรณีที่มีอาการของโรครุนแรง ได้แก่ ภาวการณ์หายใจล้มเหลว หัวใจวาย

การักษา
1. ในรายที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงแต่ไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียว ควรรักษาดังนี้

-ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน ร็อกซิโทรไมซิน หรือโคไตรม็อกซาโซล นาน 7-10 วัน
-ให้การดูแลรักษาและใช้ยาตามอาการ
-ดื่มน้ำอุ่นวันละ 10-15 แก้ว งดบุหรี่ หลีกเลี่ยงมลพิษในอากาศ
-ระบายเสมหะออกในกรณีที่มีเสมหะมาก โดยนอนคว่ำพาดกับขอบเตียงและวางศีรษะบนพื้น โดยใช้มือหรือหมอนรอง ทำวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 5-10 นาที

2. ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หายใจหอบ เท้าบวม ไอเป็นเลือด มีการกำเริบของโรคบ่อย ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและความรุนแรงของโรค
ให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อสาเหตุในการรักษา แก้ไขโรคสาเหตุและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น อาจต้องผ่าตัดในรายที่ดื้อยาหรือมีเลือดออกมาก

อาการของโรคไม่รุนแรงในระยะแรก การรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ มักได้ผลดี ผลการรักษายังขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสาเหตุของโรคแทรกซ้อน

ข้อแนะนำ
1. ควรรีบไปพบแพทย์เมื่อเกิดโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจ และควรได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกและอย่างจริงจัง

2. กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเป็นการเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย

การป้องกัน
1. ฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่วัยเด็ก
2. เมื่อเป็นโรคควรรักษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ
3. ป้องกันการสำลักสิ่งแปลกปลอม
4. หลีกเลี่ยงการสูดฝุ่น ควัน สารพิษเข้าสู่ปอด ไม่สูบบุหรี่

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า