สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หนองใน(Gonorrhea)

เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ที่พบได้ค่อนข้างมาก

สาเหตุ
ติดต่อโดยการติดเชื้อหนองในจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่า โกโนค็อกคัส(gonococcus/Neisseria gonorrheae) ซึ่งมีระยะฟักตัวของเชื้อโรคประมาณ 2-10 วัน

อาการ
ในผู้ชาย ประมาณ 2-10 วันหลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยมักจะมีอาการแสบในลำกล้องเวลาถ่ายปัสสาวะ หรือถ่ายปัสสาวะขัด และมีหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะ อาจไหลซึมเป็นมูกใสๆ เล็กน้อยในระยะแรก และจะกลายเป็นหนองสีเหลืองข้นภายใน 12 ชั่วโมงต่อมา และในผู้ชายบางรายอาจติดเชื้อหนองในโดยไม่มีอาการแสดงอะไรเลยแต่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้

ในผู้หญิง มักไม่อาการแต่อย่างใดในระยะแรก แต่ในเวลาต่อมามักจะมีอาการตกขาวเป็นหนองสีเหลือง มีกลิ่นเหม็น ไม่คัน มีอาการขัดเบาและแสบร้อนเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่น หรืออาจจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดและกดเจ็บตรงท้องน้อยแบบปีกมดลูกอักเสบถ้ามีการอักเสบของปีกมดลูก ผู้หญิงที่ติดเชื้อหนองในบางรายอาจไม่มีอาการแสดงอะไรก็ได้แต่ก็สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้เช่นกัน

นอกจากอาการดังกล่าวแล้วในโรคหนองในทั้งในผู้หญิงและผู้ชายยังอาจมีอาการบวมและเจ็บของต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบอีกด้วย

ภาวะแทรกซ้อน
ในผู้ชาย อาจทำให้มีหนองไหลอยู่ถึง 3-4 เดือน ถ้าไม่ได้รับการรักษา และเมื่อเชื้อลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียงอาจทำให้เกิดท่อปัสสาวะอักเสบทำให้เกิดการตีบตันเกิดขึ้นได้ หรืออาจทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นฝีที่ผนังของท่อปัสสาวะ หรืออาจทำให้อัณฑะอักเสบจนกลายเป็นหมันได้ในบางราย

ในผู้หญิง เมื่อเชื้อลุกลามอาจทำให้ต่อมบาร์โทลินที่แคมใหญ่เกิดการอักเสบหรือเป็นฝีบวมโต หรืออาจทำให้เยื่อบุมดลูกอักเสบ หรือปีกมดลูกอักเสบ ส่วนในรายที่เป็นรุนแรงอาจทำให้ท่อรังไข่ตีบตัน
กลายเป็นหมัน หรือตั้งครรภ์นอกมดลูกได้หลังจากรักษาหายแล้ว

ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย อาจเกิดโรคข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลันได้จากการที่เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดไปที่ข้อ ที่พบได้บ่อย คือ ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อมือ แต่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยมาก หรืออาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้บ้าง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ ซึ่งอาจทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว และหัวใจวาย

การรักษา
1. หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรคควรตรวจยืนยันด้วยการนำหนองไปย้อมสี และส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือนำไปเพาะเชื้อ ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้จริงควรรักษาด้วยยาชนิดใดชนิดหนึ่งดังนี้

-เซฟิไซม์(cefixime) 400 มก. กินครั้งเดียว
-เซฟทริอะโซน (ceftriaxone) 250 มก. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว

-สเปกติโนไมซิน (spectinomycin) 2 กรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว

ควรให้ยาติดต่อกัน 2-3 วัน หรือถึง 14 วัน แล้วแต่ความรุนแรงในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น

2. ในผู้หญิงอาจเป็นปีกมดลูกอักเสบเฉียบพลันเนื่องจากมีหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะร่วมกับมีไข้สูง ปวดท้องน้อย ขัดเบา ตกขาว จึงควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง

ข้อแนะนำ
1. พบว่าเชื้อหนองในที่ดื้อต่อยากลุ่มเพนิซิลลิน เรียกว่าเชื้อ PPNG (penicillinase producing Neisseria gonorrheae) หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า ซูเปอร์โกโนเรีย ซึ่งยาฉีดโปรเคนเพนิซิลลินที่เคยใช้รักษาในสมัยก่อนมักไม่ได้ผล จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่นแทน และยังพบว่าเชื้อนี้ดื้อต่อยาฟลูออโรคลิโนโลนอีกด้วย

2. ผู้ป่วยห้ามมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ ในระหว่างทำการรักษา และงดดื่มเหล้า 1 เดือนเพราะเหล้าอาจทำให้หนองไหลมากขึ้น

3. เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่เชื้อแก่กันอีกจึงควรแนะนำให้ผู้สัมผัสโรค เช่น หญิงที่มีสามีเป็นหนองใน หรือผู้ที่หลับนอนกับคนที่เป็นหนองในไปตรวจรักษาโรคนี้พร้อมๆ กันไปด้วย

4. เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการติดเชื้อซิฟิลิสร่วมด้วยผู้ที่เป็นหนองในควรเจาะเลือดเพื่อตรวจหาวีดีอาร์แอล หากพบว่ามีผลเลือดเป็นบวกก็แสดงว่าเป็นซิฟิลิส ซึ่งควรตรวจในครั้งแรกก่อนทำการรักษาและตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อ 3 เดือนต่อมา และควรตรวจหาเชื้อเอชไอวีพร้อมกันไปด้วย

5. ควรรีบรักษาให้หายขาดถ้าเป็นหนองในขณะตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้ลูกติดเชื้อระหว่างคลอดเกิดการอักเสบรุนแรงของตาและอาจทำให้ตาบอดได้

6. หนองในติดต่อโดยการร่วมเพศเป็นสำคัญ และอาจทำให้เป็นหนองในลำคอหรือทวารหนักได้ถ้ามีการร่วมเพศทางปากหรือทวารหนัก ส่วนการติดต่อทางอื่นที่อาจพบได้บ้าง เช่น การใช้ผ้าเช็ดหน้าที่เปื้อนถูกหนองในสดๆ เช็ดตาทำให้เชื้อเข้าตาเกิดตาอักเสบรุนแรงได้ จึงไม่ควรใช้ของร่วมกันกับผู้ป่วย

ในสระว่ายน้ำหรือโถส้วมเชื้อหนองในไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ จึงไม่มีการติดเชื้อจากแหล่งนี้

7. ทางวงการแพทย์ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่า สาเก หน่อไม้ หูฉลาม อาหารทะเล เป็นต้น เป็นของแสลงสำหรับโรคนี้ แต่ผู้ป่วยควรงดดื่มแอลกอฮอล์ 1 เดือนเพราะอาจทำให้หนองไหลมากขึ้น ส่วนอาหารอย่างอื่นก็ควรงดถ้าทำให้หนองไหลมากขึ้นหรือมีอาการกำเริบ

8. บางครั้งอาจแยกกันไม่ออกในโรคหนองในกับหนองในเทียม ซึ่งถ้าใช้ยารักษาหนองในแล้วไม่ได้ผล ก็อาจจะเกิดจากเชื้อที่ดื้อต่อยาที่ใช้รักษา หรืออาจเป็นหนองในเทียมก็เป็นได้

การป้องกัน
ไม่ควรสำส่อนทางเพศ หรือเพื่อป้องกันการเกิดโรคควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และอาจช่วยลดการติดเชื้อลงได้บ้างเมื่อดื่มน้ำก่อนร่วมเพศหรือถ่ายปัสสาวะทันที หรือการฟอกล้างสบู่ทันที หลังร่วมเพศ แต่ก็อาจไม่ได้ผลทุกราย

ส่วนการกิน “ยาล้างลำกล้อง” ซึ่งเป็นยาระงับเชื้อไม่ใช่ทำลายเชื้อ มักไม่ได้ผลในการป้องกัน ยานี้มักทำให้ปัสสาวะมีสีแปลกๆ เมื่อกินเข้าไป เช่น สีแดง หรือสีเขียว

การป้องกันโรคภายหลังร่วมเพศโดยการกินยาปฏิชีวนะอาจจะได้ผลบ้าง แต่ต้องใช้ยาชนิดและขนาดเดียวกับที่ใช้รักษาซึ่งดูแล้วไม่คุ้ม ควรรอให้มีอาการแสดงแล้วค่อยรักษา และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นก็ไม่สามารถป้องกันด้วยยานี้ได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า