สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หนองในเทียม(Nonspecific urethritis/NSU/Nongonococcal urethritis/NGU)

เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย มีอาการคล้ายหนองในแต่ไม่ได้เกิดจากเชื้อหนองใน

สาเหตุ
มีเชื้อหลายชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคหนองในเทียม ซึ่งอาจจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัวหรือเชื้อราก็ได้ ในผู้ป่วยบางส่วนก็ยังไม่ทราบเชื้อสาเหตุที่แน่ชัด และบางส่วนก็เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลามีเดียทราโคมาติส หรือบางส่วนก็เกิดจากเชื้อยูเรียพลาสมายูเรียไลทิคัม หรืออาจเกิดจากเชื้ออื่นๆ เช่น เชื้อโปรโตซัวที่มีชื่อว่า ทริโคโมแนสวาจินาลิส เชื้อไวรัสเริม เป็นต้น

ระยะฟักตัวของโรคหนองในเทียมในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น

อาการ
ในผู้ชาย หลังจากติดเชื้อประมาณ 1-4 สัปดาห์มักจะทำให้เกิดอาการขึ้น โดยที่ผู้ป่วยมักจะมีอาการแสบที่ปลายท่อปัสสาวะ ปัสสาวะขัดและมีหนองไหลเป็นมูกใสๆ หรือขุ่นๆ ไม่ข้นแบบหนองใน ออกแบบซึมเพียงเล็กน้อยไม่ออกมากแบบหนองใน บางรายอาจมีอาการแสบที่ท่อปัสสาวะในระยะแรก และในช่วงเช้าจะมีมูกออกเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะลงในแก้วใสแล้วใช้ไฟฉายส่องดูจะเห็นเป็นเส้นขาวๆ คล้ายเส้นด้ายลอยอยู่ ผู้ป่วยโรคนี้อาจมีอาการเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปีได้ถ้าไม่ได้รับการรักษา

ในผู้หญิง ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดงแต่อย่างใด หรือบางรายอาจมีอาการตกขาวบ้างซึ่งพบได้เป็นส่วนน้อย

ภาวะแทรกซ้อน
ในผู้ชาย อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้ท่อปัสสาวะตีบ ต่อมลูกหมากอักเสบ หรืออัณฑะอักเสบได้

ในผู้หญิง อาจทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุมดลูก หรือปีกมดลูก และอาจทำให้เป็นหมันได้

โรคนี้ยังอาจทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่จะพบได้น้อยมาก

บางรายอาจมีอาการหนองไหลจากท่อปัสสาวะร่วมกับข้ออักเสบและเยื่อตาขาวอักเสบซึ่งเกิดจากกลุ่มอาการไรเตอร์ เกิดขึ้นได้

การรักษา
1. หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าเป็นโรค ควรตรวจยืนยันด้วยการนำหนองไปย้อมสีและส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือนำไปเพาะเชื้อ ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้จริง ควรให้การรักษาด้วยยาชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้

-ดอกซีไซคลีน 100 มก. กินวันละ 2 ครั้ง นาน 1-2 สัปดาห์
-เตตราไซคลีน 500 มก. กินวันละ 4 ครั้ง นาน 14 วัน
-อีริโทรไมซิน 500 มก. กินวันละ 4 ครั้ง นาน 14 วัน
-ร็อกซิโทรไมซิน 150 มก. กินวันละ 2 ครั้ง นาน 1-2 สัปดาห์
-อะซิโทรไมซิน 1 กรัม กินเพียงครั้งเดียว
-ไมโนไมซิน 100 มก. กินวันละครั้ง นาน 14 วัน

ควรหลีกเลี่ยงกลุ่มยาเตตราไซคลีนในหญิงขณะตั้งครรภ์

ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยควรงดดื่มเหล้า และงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหายจากโรค

2. เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ติดโรคซิฟิลิสหรือเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ก่อนการรักษาผู้ป่วยควรเจาะเลือดตรวจวีดีอาร์แอลและเชื้อเอชไอวี และตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่งเมื่อ 3 เดือนต่อมา

3. ส่วนใหญ่โรคหนองในเทียมจะตรวจไม่พบเชื้อที่เป็นสาเหตุจึงอาจทำให้มีอาการเรื้อรังและรักษายากกว่าหนองใน แต่ก็มีทางรักษาให้หายขาดได้ภายใน 14 วันในรายที่เป็นหนองในเทียมที่เกิดจากเชื้อคลามีเดีย หรืออาจหายได้ภายใน 1-3 สัปดาห์ หรือ 8 สัปดาห์ในรายที่ไม่ได้รับการรักษา

4. ทารกอาจได้รับเชื้อระหว่างคลอดจากมารดาที่เป็นหนองในเทียมจากเชื้อคลามีเดียทำให้เกิดอาการตาอักเสบหลังคลอดประมาณ 5-14 วัน แต่จะรุนแรงน้อยกว่าในเชื้อหนองใน ควรใช้ยาป้ายตาเตตราไซคลีน ป้ายตาวันละ 4 ครั้ง และให้อีริโทรไมซิน ขนาด 30 มก./กก./วัน นาน 21 วัน เพื่อรักษา

5. ผู้ที่ได้สัมผัสโรคควรได้รับการตรวจรักษาโรคนี้ไปพร้อมกันๆ ด้วย

การป้องกัน
ไม่ควรสำส่อนทางเพศ หรือเพื่อป้องกันการเกิดโรคควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และอาจช่วยลดการติดเชื้อลงได้บ้างเมื่อดื่มน้ำก่อนร่วมเพศหรือถ่ายปัสสาวะทันที หรือการฟอกล้างสบู่ทันที หลังร่วมเพศ แต่ก็อาจไม่ได้ผลทุกราย

ส่วนการกิน “ยาล้างลำกล้อง” ซึ่งเป็นยาระงับเชื้อไม่ใช่ทำลายเชื้อ มักไม่ได้ผลในการป้องกัน ยานี้มักทำให้ปัสสาวะมีสีแปลกๆ เมื่อกินเข้าไป เช่น สีแดง หรือสีเขียว

การป้องกันโรคภายหลังร่วมเพศโดยการกินยาปฏิชีวนะอาจจะได้ผลบ้าง แต่ต้องใช้ยาชนิดและขนาดเดียวกับที่ใช้รักษาซึ่งดูแล้วไม่คุ้ม ควรรอให้มีอาการแสดงแล้วค่อยรักษา และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นก็ไม่สามารถป้องกันด้วยยานี้ได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า