สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โภชนาการสำหรับหญิงมีครรภ์และแม่ลูกอ่อน

โภชนาการสำหรับบุคคลในสภาวะต่างๆ
คนเราทุกคนถ้าไม่คำนึงถึงอายุแล้ว ต่างก็ต้องการสารอาหารชนิดเดียวกัน แต่ต่างกันในปริมาณเท่านั้น เช่น คนที่ใช้แรงงานมากต้องการอาหารที่ให้พลังงานหรือแคลอรี่มากกว่าคนที่ไม่ได้ใช้แรงงานมาก หญิงต้องการธาตุเหล็กมากกว่าชาย คนสูงใหญ่ต้องการสารอาหารต่างๆ มากกว่าคนร่างเล็ก คนทำงานแบกหามต้องการอาหารที่ให้แคลอรีมากกว่าคนทำงานขีดเขียน คนเจ็บในระยะพักฟื้นต้องการอาหารมากกว่าในภาวะปรกติอาหารหญิงตั้งครรภ์

แต่หากพิจารณาถึง วัย เพศ หน้าที่การงานและภาวะของร่างกายแล้ว ก็จะพบว่า ความต้องการสารอาหารของบุคคล แตกต่างกันไปตามวัย เพศ ลักษณะการทำงาน และภาวะต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะจะมีบุคคลอยู่หลายประเภทที่หมิ่นเหม่ต่อการติดโรค เป็นอันตราย และถึงตายโดยง่าย บุคคลเหล่านี้ภาษาโภชนาการเรียกว่า Vulnerable group ได้แก่
1. หญิงมีครรภ์และแม่ลูกอ่อน (Pregnant and Nursing Women)
2. ทารก (infants)
3. เด็กวัยก่อนเรียน (preschool Child)
4. เด็กวัยเรียน (School Child)
5. เด็กวัยรุ่น (Adolescent)
6. ผู้สูงอายุ (Adult)

ด้วยเหตุที่บุคคลเหล่านี้มีโอกาสที่จะขาดสารอาหารและเกิดโรคภัยได้ง่าย จึงควรได้เอาใจใส่ในเรื่องอาหารการบริโภค ให้ได้บริโภคอาหารที่ดีครบตามความต้องการเป็นพิเศษ ซึ่งแต่ละวัย แต่ละเพศ มีความต้องการต่างกัน

โภชนาการสำหรับหญิงมีครรภ์และแม่ลูกอ่อน (Nutrition for Pregnancy and Lactation)
ในระยะมีครรภ์ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง จึงต้องการใช้พลังงานและสารอาหารมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งเพื่อตนเอง เช่น เพื่อการทำงานของต่อมน้ำนม การสร้างรกและสายสะดือ ฯลฯ และเพื่อตัวทารกที่เจริญเติบโตอยู่ในครรภ์ด้วย โดยทารกได้อาหารมาจากมารดา ทางโลหิตซึ่งผ่านเข้าทางสายสะดือ เพื่อเอาไปสร้างร่างกายของทารกทุกส่วน ดังนั้นถ้ามารดาไม่ได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงในปริมาณเพียงพอระหว่างตั้งครรภ์ ก็จะทำให้ทั้งมารดาและทารกที่เกิดมามีสุขภาพไม่สมบูรณ์ เช่น น้ำหนักและส่วนสูงของทารกที่คลอดน้อยกว่าปรกติ คลอดบุตรก่อนกำหนด คลอดผิดปรกติ และแท้งบุตร เป็นต้น ข้อสำคัญถ้ามารดาได้รับอาหารที่มีคุณค่าไม่เพียงพอกับความต้องการของทารกในครรภ์แล้ว ทารกก็จะดึงเอาสารอาหารจากเลือดเนื้อของมารดาโดยตรง ซึ่งเป็นเหตุให้มารดายิ่งขาดอาหารหนักเข้าไปอีก สุขภาพของมารดาเสื่อมโทรม เป็นโรคต่างๆ ตามมา เช่นโรคฟันผุ โรคกระดูกอ่อน (Osteomalacia) และ โรคโลหิตจาง เป็นต้น

ในระยะให้นมบุตรก็เช่นกัน การได้อาหารที่มีคุณค่าสูงจะทำให้มีน้ำนมเลี้ยงทารกได้เพียงพอ ช่วยบำรุงเลี้ยงซ่อมแซม แก้ไขความทรุดโทรมต่างๆ ของร่างกายมารดาอันเนื่องมาจากการคลอดบุตร ถ้าได้รับอาหารไม่เพียงพอ ร่างกายจะทรุดโทรม น้ำหนักลด ความต้านทานโรคตํ่า ซึ่งทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น วัณโรค ฟันผุ หรือโรคกระดูกอ่อน (Osteomalacia)

ความต้องการพลังงานและสารอาหารของหญิงมีครรภ์และแม่ลูกอ่อน
1. ความต้องการพลังงานและสารอาหารของหญิงมีครรภ์ ในระยะตั้งครรภ์สองเดือนแรก เด็กในครรภ์จะเริ่มเป็นตัว แล้วร่างกายและอวัยวะต่างๆ จะมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีอัตราสูงสุดในเดือนสุดท้ายก่อนคลอด ในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์นี้น้ำหนักของทารกก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ซึ่งในการเจริญเติบโตนี้จำเป็นต้องใช้พลังงาน และสารอาหารสำหรับสร้างเลือดเนื้อของเด็กทารก และสำหรับร่างกายของมารดาเองด้วย ดังนั้น หญิงมีครรภ์จึงจำเป็นต้องกินอาหารที่มีพลังงานและสารอาหารสูงกว่าคนปรกติ คือ

1.1 พลังงาน หญิงมีครรภ์ควรได้บริโภคอาหารที่ให้พลังงาน ให้เหมาะกับน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็นสำหรับผู้นั้น ทั้งนี้ควรจะเพิ่มจากปรกติตั้งแต่เดือนที่ 4 ของการตั้งครรภ์ แต่ควรเพิ่มเพียงร้อยละ 10 เดือนที่ 5 ควรจะเพิ่มเป็นร้อยละ 18 และควรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงร้อยละ 23 เมื่อจวนครบกำหนดคลอด โดยปรกติแล้วหญิงมีครรภ์จะต้องบริโภคอาหารที่ให้พลังงานเพิ่มขึ้น จากเดิมวันละ 200 แคลอรี

พลังงานที่ได้จากอาหารที่บริโภคมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มน้ำหนักร่างกายของมารดา นํ้าหนักของมารดาจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเวลาคลอดบุตร ซึ่งน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด ตั้งแต่มีครรภ์จนคลอดบุตรไม่ควรมากกว่าร้อยละ 25 ของน้ำหนักเดิมก่อนตั้งครรภ์ คือถ้าสตรีหนัก 47 กิโลกรัม  เมื่อถึงกำหนดคลอดบุตร ควรหนักไม่เกิน 59 กิโลกรัม การที่หญิงมีครรภ์ได้อาหารที่ให้พลังงานที่ต้องการ จะช่วยให้น้ำหนักร่างกายของหญิงมีครรภ์นั้นค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามควร แสดงว่าหญิงมีครรภ์นั้นมีสุขภาพดี แต่ถ้าน้ำหนักของหญิงมีครรภ์เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ควร หรือน้ำหนักยังคงที่เมื่อตั้งครรภ์ได้ 6 เดือน โอกาสที่สตรีคนนั้นจะคลอดบุตรก่อนกำหนดจะมีมากขึ้น

น้ำหนักของทารกหรือขนาดของทารกที่คลอดออกมาจะมากหรือน้อย จะใหญ่หรือเล็ก จากการศึกษาทดลองพบว่า ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของมารดาก่อนตั้งครรภ์ มากกว่าการเพิ่มของน้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์ คือถ้าแม่มีน้ำหนักมาก หรืออ้วน (obese คือมีน้ำหนักเกินน้ำหนักของคนปรกติร้อยละ 25) ทารกที่คลอดออกมาจะใหญ่ ถึงแม้ในระหว่างตั้งครรภ์น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นน้อยก็ตาม ส่วนแม่ที่มีน้ำหนักน้อยกว่าปรกติ (underweight) ก่อนตั้งครรภ์ ถึงแม้ในระหว่างตั้งครรภ์น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นมากก็ตาม ทารกที่คลอดออกมาจะมีน้ำหนักน้อยหรือเล็กกว่าปรกติ

1.2 โปรตีน ทั้งมารดาและทารกในครรภ์ต้องการโปรตีนประเภทสมบูรณ์ในปริมาณสูง คือควรเพิ่มจากปริมาณปรกติที่ได้รับไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ทั้งนี้เพื่อสร้างเซลล์และอวัยวะทั้งของทารกและของมารดา เช่นการขยายตัวของผนังมดลูก การสร้างรกและสายสะดือ ฉะนั้นแต่ ละวันหญิงมีครรภ์จึงควรได้รับอาหารโปรตีนประมาณ 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม แต่โดยที่ทารกเจริญเติบโตรวดเร็วที่สุดในเดือนที่ 6 ของการตั้งครรภ์ จึงต้องการโปรตีนมากที่สุดด้วย โดยเฉลี่ยทารกในครรภ์มารฺดาต้องการโปรตีนวันละ 1.4 กรัม เมื่อทารกอายุได้ 6 เดือน ต้องการโปรตีนวันละ 3.6 กรัม ครั้นถึงเดือนสุดท้ายของการอยู่ในครรภ์ต้องการสูงสุด คือ วันละ 6.4 กรัม นอกจากนี้ตัวมารดาเองก็ต้องการโปรตีนไว้ใช้ผลิตน้ำนม และเพื่อการเสียเลือดในเวลาคลอดด้วย ฉะนั้นจึงควรกินโปรตีนเพิ่มขึ้นจากเดิมวันละ 20 กรัม ในเดือนที่ 6 ก่อนคลอด

การที่หญิงมีครรภ์ขาดสารโปรตีน หรือได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดบวม และโลหิตเป็นพิษ (Toxemia) รู้สึกไม่แข็งแรง มีโรคแทรก(Complications) ในระหว่างตั้งครรภ์ และทารกที่คลอดออกมาก็ไม่แข็งแรงด้วย

1.3 แคลเซียม ทารกในครรภ์ในระยะสามเดือนแรกจะมีการเจริญเติบโตทางเซลล์มาก ในเดือนที่ 3 จะเกิดมีกระดูกขากรรไกรและฟัน กระดูกโครงร่างอื่นก็จะเพิ่มขนาดและใหญ่ขึ้นตามอายุ ซึ่งในการสร้างกระดูกและฟันนี้ต้องใช้แคลเซียม ยิ่งในเดือนสุดท้ายก่อนคลอดยิ่งต้องการแคลเซียมมากเป็นพิเศษ

ทารกที่อยู่ในครรภ์อายุได้ 3 เดือน ต้องการแคลเซียมวันละ 5 มิลลิกรัม ในเดือนที่ 7 ต้องการวันละ 120 มิลลิกรัม และในเดือนที่ 9 ต้องการวันละ 450 มิลลิกรัม และทารกที่คลอดใหม่ๆ จะมีแคลเซียมอยู่ในร่างกายประมาณ 22 กรัม ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากแคลเซียมที่มารดาสะสมไว้ในเดือนสุดท้าย ด้วยเหตุนี้มารดาจึงควรกินอาหารที่ให้สารแคลเซียมนี้เพิ่มมากขึ้นจากเดิมก่อนตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในระยะ 3 เดือนก่อนคลอด ควรได้ธาตุนี้เป็นสองเท่าของปริมาณที่เคยกินก่อนตั้งครรภ์ คือประมาณวันละ 1.0-1.5 กรัม ควรกินผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อยทั้ง กระดูกให้มากขึ้น และถ้าจะให้ดีก็ควรดื่มนมด้วย

ถ้าในขณะที่ตั้งครรภ์มารดาได้รับแคลเซียมน้อยไป ไม่พอกับความต้องการ ทารกจะดึงเอาแคลเซียมจากมารดามาใช้สร้างกระดูกและฟันของเขา ทำให้มารดาขาดสารอาหาร ซึ่งเป็นเหตุให้มารดาเป็นโรคฟันผุ ฟันอาจโยกหรือหลุดขณะมีครรภ์ และถ้าทารกยังได้แคลเซียมจากมารดาไม่พออยู่อีก และขาดอยู่นานพร้อมกับขาดวิตะมินดีด้วยแล้ว ก็จะทำให้ทารกที่คลอดมาเป็นโรคกระดูกอ่อน (Rickets) คือกระดูกมีลักษณะโค้งงอโดยเฉพาะแขนและขาโก่งเห็นชัด ซึ่งจะพบมากกับทารกที่คลอดก่อนกำหนด ส่วนตัวมารดาเองก็อาจเป็นโรคกระดูกอ่อน (osteoma¬lacia) ได้ในภายหลัง

ส่วนมารดาเองก็ต้องใช้แคลเซียมสำหรับสร้างเนื้อเยื่อบางอย่างและต้องสะสมไว้สำหรับสร้างน้ำนมด้วย

1.4 เหล็ก ในระหว่างตั้งครรภ์มารดาต้องการเหล็กสูงมากกว่าเดิม ทั้งนี้เพื่อสร้างโลหิตเตรียมไว้สำหรับการเสียโลหิตตอนคลอด และการสร้างโลหิตและกล้ามเนื้อของทารก ความต้องการเหล็กของหญิงมีครรภ์จะมีมากที่สุดในระยะ 3 เดือนก่อนคลอด คือต้องการมากกว่าเดิม
ประมาณร้อยละ 25 เพราะในระยะนี้ทารกต้องการเหล็กมากถึง10เท่า คือประมาณ 4.7 มิลลิกรัม และทารกยังต้องสะสมเหล็กสำรองไว้ในตับเพื่อไว้สร้างโลหิตให้พอในระยะ 2-3 เดือนหลังจากคลอดด้วย ฉะนั้นถ้าในระยะนี้มารดาบริโภคอาหารที่มีเหล็กไม่พอ เหล็กส่วนของแม่ก็จะถูกนำไปใช้สำหรับลูก มารดาก็จะเป็นโรคโลหิตจาง ยิ่งถ้าขาดอย่างรุนแรง ส่วนที่จะต้องสำรองไว้ในตับของทารก เพื่อให้มีใช้พอสำหรับ 2-3 เดือนแรกหลังคลอด ก็จะมีน้อยไป ทำให้ทารกนั้น เป็นโรคโลหิตจางด้วย

ดังนั้นหญิงมีครรภ์ควรบริโภคอาหารที่มีเหล็กวันละ 26 มิลลิกรัม และเพื่อให้ได้เหล็กมากดังกล่าว ควรรับประทานอาหารที่มีเหล็กสูง เช่น ตับ หัวใจ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง เนื้อสัตว์ ฯลฯ ให้มาก

1.5 ไอโอดีน หญิงมีครรภ์มีความต้องการไอโอดีนมากกว่าเดิม ซึ่งจะเป็นผลให้การคลอดเป็นไปอย่างปรกติ ทารกที่คลอดออกมาก็แข็งแรง แต่ถ้ามารดาขาดไอโอดีนหรือได้ไอโอดีนต่ำ จะเป็นเหตุให้มารดาหรือทารกเป็นโรคคอพอกได้ง่าย ฉะนั้นหญิงมีครรภ์จึงควรรับประทาน อาหารทะเลให้บ่อยๆ กินน้ำมันตับปลา และใช้เกลือไอโอดีน (iodized Salt) ในการปรุงอาหาร ก็จะเป็นการแน่นอนว่าไม่ขาดไอโอดีน

1.6 วิตะมิน เป็นสารอาหารที่จำเป็นของมารดาทั้งในระยะก่อนคลอดและหลังคลอด ทั้งนี้เพราะวิตะมินทำให้ทั้งมารดาและทารกมีสุขภาพสมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ หากขาดวิตะมิน หรือได้รับวิตะมินน้อย ก็จะปรากฏอาการขาดอาหารขึ้นแก่มารดา

วิตะมิน เอ ต้องการมาก เพื่อสร้างความเจริญเติบโตและอำนาจต้านทานโรคให้แก่ทารก ถ้าขาดสารนี้จะทำให้ทารกตายในครรภ์ แท้งบุตรได้

วิตะมิน บี1 หญิงมีครรภ์มีความต้องการวิตะมิน บี1 มากกว่าปรกติในระยะ 3 เดือนก่อนคลอด ด้วยสารนี้ช่วยให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดี และช่วยเมตาโบลิซึม ของสารอาหารอื่นๆ สตรีไทยในระหว่างตั้งครรภ์มักเป็นโรคเหน็บชากัน ก็เนื่องจากขาดสารอาหารนี้ นอกจากนี้การขาดวิตะมิน บี1 ยังอาจทำให้กล้ามเนื้อเป็นตะคริว โรคประสาท และ โรคครรภ์เป็นพิษได้ด้วย

วิตะมิน บี2 มีความต้องการสูงในระยะ 3 เดือนก่อนคลอดเช่นเดียวกับวิตะมิน บี1 คือต้องการวันละ 1.1 มิลลิกรัม ทั้งนี้เพราะเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับความเจริญเติบโตของทารก

วิตะมิน ซี เป็นสารที่ช่วยการเจริญเติบโตของฟัน จึงควรได้เพิ่มตั้งแต่มีครรภ์ได้ 3 เดือน จนครบกำหนดคลอด โดยควรจะได้วันละ 50 มิลลิกรัม

วิตะมิน ดี ควรได้รับอย่างน้อยวันละ 400 หน่วยสากล ทั้งนี้เพื่อใช้ในการสร้างกระดูกและฟันร่วมกับแคลเซียมและฟอสฟอรัส และยังช่วยเร่งให้คลอดได้เร็วเมื่อถึงกำหนดคลอดด้วย

วิตะมิน อี มีความจำเป็นในการรักษาชีวิตทารกในครรภ์ เพราะการขาดสารนี้นอกจากจะทำให้แท้งบุตรแล้ว ยังจะทำให้เป็นหมันหรือไม่มีการตั้งครรภ์ด้วย

วิตะมิน เค เป็นสารช่วยในการสร้างโปรทรอมบิน ช่วยให้โลหิตเป็นลิ่ม จำเป็นสำหรับทารกคลอดใหม่ เพราะป้องกันเลือดออกในทารกที่คลอดใหม่

2. ความต้องการพลังงานและสารอาหารของแม่ลูกอ่อน
มารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองมีความต้องการพลังงานและสารอาหารสูงกว่าในระยะตั้งครรภ์เสียอีก เพราะต้องใช้ในการผลิตและหลั่งน้ำนมเลี้ยงทารก ชนิดของอาหารที่บริโภคนั้นคล้ายคลึงกับของหญิงมีครรภ์แก่ แต่มีปริมาณมากกว่าเท่านั้นเอง และอาหารนั้น ควรมีปริมาณมากขึ้นในด้านพลังงาน โปรตีน แคลเซียม วิตะมิน เอ วิตะมินบี1 และวิตะมินบี2 ทั้งนี้เพื่อให้ทารกที่เลี้ยงด้วยนมมารดา ได้รับสารอาหารเพียงพอไม่ขาดอาหาร โดยเฉพาะพลังงานควรที่แม่ได้รับไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพลังงานทั้งหมด ส่วนโปรตีนควรได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของพลังงานหรือ 80-100 กรัม แต่สำหรับธาตุเหล็กและวิตะมิน ซี ซึ่งปรากฏว่ามีในน้ำนมน้อยมากนั้น ทารกต้องการน้อยใน ระยะนี้คือเท่ากับคนปรกติ แม่ลูกอ่อนจึงควรรับประทานอาหารที่มีเหล็กและวิตะมิน ซี เช่นเดียวกับคนปรกติ

มารดาสามารถสร้างน้ำนมได้ปริมาณมากภายหลังคลอด และถึงขีดสุดเมื่อทารกอายุ ได้ 6 เดือนหลังจากนั้นปริมาณน้ำนมจะลดลงเรื่อยๆ แต่จะไม่หมดแม้เด็กจะมีอายุถึง 4 ขวบ หากเขายังดูดนมอยู่เป็นประจำ

อาหารของหญิงมีครรภ์และแม่ลูกอ่อน

1. เนื้อสัตว์และผลิตผลจากสัตว์ ในระยะ 6 เดือนหลังคลอด หรือ 3 เดือนก่อนคลอดเป็นระยะที่ทารกในครรภ์ต้องการสารอาหารต่างๆ มาก โดยเฉพาะโปรตีน และเกลือแร่ เพื่อนำไปสร้างกระดูกและฟัน แม่จึงควรรับประทานไข่วันละฟองเป็นอย่างน้อย เนื้อสัตว์มื้อละขีด หรือ 100 กรัม ซึ่งเท่ากับปลาทูขนาดกลาง 1 ตัว  เป็นอย่างน้อย ถั่วโดยเฉพาะถั่วเหลือง เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ หัวใจ ปลาเล็กปลาน้อย หรือกุ้งฝอยที่ทอดกรอบ อาหารทะเล เช่น หอย ปูทะเล ควรได้รับประทานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และหากเป็นไปได้ก็ควรดื่มนมให้มากอย่างน้อยวันละ 3 แก้วก็ยิ่งดี

2. ผัก ทุกมื้อควรรับประทานผักใบเขียว ผักสีเหลือง และผักอื่นๆ ให้หลายชนิดได้ยิ่งดี

3. ผลไม้ ควรได้รับประทานผลไม้พวกส้มอย่างน้อยวันละผล ดื่มน้ำส้มคั้น น้ำมะนาว หรือน้ำมะเขือเทศให้ทุกวัน ผลไม้อื่นๆ เช่นมะละกอ มะม่วงสุก กล้วย เงาะ ฯลฯ ก็ควรได้รับประทานด้วย

ทงผักและผลไม้ให้วิตะมิน เกลือแร่ และยังมีกากช่วยในการขับถ่ายด้วย
4. อาหารอื่นๆ ข้าวและขนมหวานควรรับประทานเท่าเดิม มันเทศที่มีสีแดงหรือ สีเหลืองควรหารับประทานให้บ่อยครั้ง เพราะมันให้ทั้งพลังงานและวิตะมินเอ ด้วย

สาเหตุที่ทำให้หญิงมีครรภ์และแม่ลูกอ่อนกินไม่ดี
1. นิสัยการกิน เช่นไม่กินผัก หรือไม่กินเนื้อบางชนิดมาตั้งแต่เด็ก จึงทำให้ขาดเกลือแร่และวิตะมิน ในขณะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรเพราะยังไม่ยอมกินอยู่นั่นเอง
2. ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการกินอาหารในระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เช่น กินข้าวกับเกลือป่นกับพริกไทย กินข้าวกับปลาแห้ง เป็นต้น
3. ความยากจน เรื่องนี้แหละเป็นอุปสรรคที่สำคัญ เพราะถึงแม้จะรู้ว่าอาหารใดดี มีประโยชน์ แต่หากไม่มีเงินซื้ออย่างเดียวก็ไม่สามารถซื้อหามารับประทานได้ หรือถึงได้บ้างก็ไม่มากพอกับความต้องการของร่างกาย

ผลร้ายของการขาดอาหารในระยะมีครรภ์
1. ทำให้มีการเกิดไร้ชีพ (still birth) และคลอดก่อนกำหนด (Premature) เพิ่มจำนวนมากขึ้น
2. น้ำหนักของทารกในขณะคลอดออกมาต่ำ (Low birth weight)
3. ทารกมีชีวิตสั้นและมีโรคภัยไข้เจ็บมาก

ตารางอาหารของผู้ใหญ่สำหรับ 1 วัน

อาหาร

ปริมาณอาหาร

คำแนะนำเพิ่มเติม
ผู้ใหญ่ หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมลูก
เนื้อสัตว์เครื่องในสัตว์ 150-180 กรัม 280-360 กรัม ไม่น้อยกว่า 400 กรัม ควรกินอาหารทะเลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หญิงมีครรภ์ควรกินอาหารทะเลให้บ่อยขึ้น ควรกินปลาเล็กปลาน้อยให้มากขึ้นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
นม 0-1 ถ้วย1 3 ถ้วย 3-4 ถ้วย นมสดหรือนมผสม หรือเครื่องดื่มอย่างอื่น เช่น โอวัลติน
ไข่ ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 3 ฟอง 1 ฟอง 1 ฟอง หรือมากกว่า ไข่ไก่หรือไข่เป็ด
ผักใบเขียวหรือผักอื่นๆ 1-2 ถ้วย 2 ½ -3 ถ้วย 3 ถ้วย หรือมากกว่า กินทุกมื้อปนกับผักใบเขียว
ผลไม้ มื้อละ ½ -1 ผล มื้อละ 1 ผล มื้อละ 1 ผล ถ้าเป็นผลใหญ่กินสำหรับขนาด 1 คน
ข้าว 3-5 ถ้วย 5-6 ถ้วย 6 ถ้วยหรือมากกว่า ควรใช้ข้าวกระยาทิพย์ หรือข้าวขัดที่สีแต่น้อย และหุงไม่เช็ดน้ำหรือนึ่ง
ไขมันหรือน้ำมัน 2 ½ -3 ช้อนโต๊ะ2 2 ½ -3 ช้อนโต๊ะ 3 ช้อนโต๊ะ หรือมากกว่า ควรใช้ข้าวกระยาทิพย์ หรือข้าวขัดที่สีแต่น้อย และหุงไม่เช็ดน้ำหรือนึ่ง

1     1ถ้วยมาตรฐาน=240 ลูกบาศก์เซนติเมตร หรือประมาณ 1 กระป๋องนมข้นหวาน
2    1 ช้อนโต๊ะ = 15 ลูกบาศก์เซนติเมตร

ข้อควรปฏิบัติของหญิงมีครรภ์
1. ควรฝากครรภ์และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เกี่ยวกับอาหารอย่างเคร่งครัด อาหารจะต้องมีคุณค่าสูง รับประทานครั้งละน้อยแต่บ่อยครั้ง อาจทุก 3 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้หิว และป้องกันการคลื่นเหียนอาเจียน
2. หากท้องผูก ไม่ควรใช้ยาระบาย แต่ควรรับประทานผักและผลไม้ให้มาก เพราะนอกจากจะได้เกลือแร่และวิตะมินแล้ว กากของมันยังช่วยให้การระบายถ่ายคล่องด้วย
3. ออกกำลังกายพอควร พักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้สบาย อย่าได้วิตกกังวล หรือกลัวการคลอดบุตรตลอดจนถึงเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น ทารกที่เกิดมาระได้มีสุขภาพสมบูรณ์ เนื่องจากแม่มีร่างกายแข็งแรงและจิตใจเป็นสุขสบาย

ข้อควรปฏิบัติของหญิงที่ให้นมบุตร
1. อาหารทุกมื้อต้องประกอบด้วย โปรตีน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน เกลือแร่และวิตะมินต่างๆ ครบถ้วน ทั้งนี้เพื่อความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายแม่เอง และเพื่อให้มีนํ้านมเลี้ยงทารกเพียงพอ
2. เพื่อให้การผลิตน้ำนมเป็นไปอย่างปรกติ ควรทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส ไม่ควรวิตก กังวลหรือคับแค้นไม่พอใจใดๆ อันจะเป็นเหตุให้การผลิตน้ำนมลดน้อยลง
3. ควรได้พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ตอนกลางวันหากได้นอนสักงีบก็จะดี ร่างกายจะได้กระปรี้กระเปร่าอารมณ์แจ่มใส หากนอนไม่หลับ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ เพราะอาจเป็นอันตรายแก่เด็กได้ ทางที่ดีควรออกกำลังกายสักเล็กน้อยในตอนเย็น เพื่อจะได้นอนหลับง่ายขึ้น
4. หากไม่สบายควรรีบไปหาแพทยให้รักษาทันที เพื่อป้องกันอันตรายจากโรคที่จะติดไปถึงลูกได้
5. หัวนมต้องรักษาให้สะอาดและอยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ ไม่ควรใช้สบู่ถูหัวนม และเสื้อผ้าที่สวมก็ไม่ควรซักด้วยสบู่ที่เป็นด่างอย่างแรง เพราะอาจทำให้หัวนมอักเสบได้ ถ้าหัวนมแตกหรือเป็นแผลต้องงดให้ทารกดูดนมข้างนั้นชั่วคราว แล้วรีบรักษาโดยเร็ว

ส่วนมารดาที่หัวนมบอด หรือหัวนมบุ๋มต้องนวดหรือใช้เครี่องดูดดึงหัวนมเสียก่อนคลอด ในการให้ทารกดูดนมไม่ควรให้ดูดแต่ละข้างนานเกิน 10 นาที เพราะจะทำให้หัวนมแตกได้

ที่มา:ค้วน  ขาวหนู
วท.บ.(สุขศึกษา).ค.ม.

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า