สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การดำรงชีวิตตามสุขอนามัยธรรมชาติ

ระบบสุขภาพศาสตร์ชีวิต(Life Science) หรือสุขอนามัยแบบธรรมชาติ เป็นการกำหนดแนวการดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติหรือชีววิทยาของเรา ด้วยการรับประทานอาหารที่เหมาะสมตามธรรมชาติ และส่งเสริมการดำเนินชีวิตให้มีสุขภาพดี และมีความสุขยิ่งขึ้น

เราสามารถพัฒนาร่างกายให้มีสุขภาพดีและรักษาตัวเองให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วยการรับประทานอาหารสุขภาพที่มีรสอร่อยตามธรรมชาติ

แนวคิดเรื่องสุขอนามัยธรรมชาติ เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1820 ในฐานะของสุขอนามัย ซึ่งเป็นผลงานของ ดร.ไอแซ็ค เจนนิ่งส์(Isaac Jennings) แห่งเมืองแฟร์ฟิลด์ รัฐคอนเน็คติกัตของสหรัฐอเมริกา และมีมากว่า 150 ปีแล้ว และต่อมาได้รับการเสริมต่อด้วยฝีมือและผลงานของ ดร.เจนนิ่งส์ และ ดร.ซิลเวสเตอร์ แกรม(Sylvester Graham) จนกลายเป็นปรัชญาชีวิต

ในช่วงทศวรรษที่ 1850 และ 1860 ได้มีการคิดค้นและวิจัย จนนำไปสู่การพัฒนาสุขอนามัยต่อไปอีกโดยบุรุษที่ปราดเปรื่อง ชื่อ ดร.รัสเซล แธ็คเคอร์ ธรัล(Russel Thacker Trall)

ในทศวรรษที่ 1890 หลังจากที่หลุยส์ ปาสเตอร์(Louis Pasteur) ได้พัฒนาทฤษฎีเชื้อโรคขึ้นมา เรื่องของสุขอนามัยก็ได้เคลื่อนย้ายไปจากแนวหน้าที่เคยอยู่ ขาดการสนับสนุนให้เป็นขบวนการสุขภาพ แม้จะได้รับการสนับสนุนจากคนมากมายแต่ก็ยังตกต่ำเรื่อยมาแม้จะยังไม่ถึงกับตายสนิท

ดร.เฮอร์เบิร์ต เอ็ม เชลตัน(Herbert M. Shelton) ได้ปรากฏขึ้นบนเวทีในฐานะยักษ์ใหญ่ของขบวนการในตอนปลายทศวรรษที่ 1920 และได้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า The Science and Fine Art of Food and Nutrition(ศาสตร์และศิลป์อันประณีตเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ) ซึ่งเป็นหนังสือคลาสสิคเกี่ยวกับอาหารที่ถูกสุขอนามัยแนวธรรมชาติ ดร.เชลตัน มีหนังสือหลายเล่มที่แจกแจงรายละเอียดเอาไว้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของสุขอนามัยแนวธรรมชาติ

ในปี ค.ศ. 1948 ได้มีการก่อตั้งสมาคมสุขอนามัยธรรมชาติของอเมริกัน(American Natural Hygiene Society) ขึ้น เพื่อให้มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวขึ้นมาและขจัดความเข้าใจผิดที่เกี่ยวข้องกับนิยามเกี่ยวกับสุขอนามัยทั่วไปโดยเสริมคำว่าธรรมชาติ(Natural)เข้าไปให้กับคำว่าสุขอนามัย(Hygiene)

ในทศวรรษที่ 1970 ได้นำเอาคำว่า “ศาสตร์เกี่ยวกับชีวิต”(Life Science) มาใช้แทนคำว่า “สุขอนามัยธรรมชาติ (Nutural Hygiene) โดย ที.ซี. ฟราย(T.C.Fry) และในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1982 ได้มีการสร้างขบวนการให้การศึกษาแบบใหม่ขึ้นในเมืองยอร์คทาวน์ รัฐเท็กซัส โดยดร.เฮนรี อี. สตีเวนสัน (Henry E. Stevenson) ที.ซี.ฟราย กับนักศึกษาอีก 10 คน และเริ่มต้นสอนเกี่ยวกับสุขอนามัยธรรมชาติหรือ Natural Hygiene ซึ่งผู้ศึกษาสามารถนำความรู้นี้ไปประกอบเป็นอาชีพได้

ในปี ค.ศ. 1985 ได้มีการตีพิมพ์จำหน่วยหนังสือเรื่อง ฟิตฟอร์ไลฟ์ (Fit for Life) หรือเหมาะสำหรับชีวิต โดยได้ถ่ายทอดความคิดเกี่ยวกับสุขอนามัยธรรมชาติให้คนนับล้านๆ คนทั่วโลกได้ทราบโดย ฮาร์วีย์(Harvey) กับ มาริลีน ไดมอนด์(Marilyn Diamond) และต่อมาได้มีหนังสือชื่อว่า Fit for Life II : Living Health ตามมาอีกเล่มหนึ่ง ได้สอนถึงแนวการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์ครบถ้วนแนวหนึ่งซึ่งก้าวไกลเกินเรื่องอาหารออกไป

ความเชื่อของผู้สนับสนุนอนามัยธรรมชาติหรือศาสตร์เกี่ยวกับชีวิต มีอยู่ว่า ร่างกายของมนุษย์เป็นองคาพยพที่เลี้ยงตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ กำกับตัวเองได้ ก่อสร้างตัวเอง ปกป้องตัวเอง และรักษาตัวเองในยามเจ็บป่วยได้ และเมื่อความจำเป็นพื้นฐานได้รับการตอบสนองร่างกายก็จะสามารถบำรุงรักษาตัวเองให้อยู่ในสภาพที่ทำงานได้อย่างดีเยี่ยมและปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ

คำว่า “สุขอนามัย” ฮาร์วีย์ ไดมอนด์ได้อธิบายไว้ว่า มีนัยถึงความสะอาด และคำว่า “ธรรมชาติ” ก็คือกระบวนการที่ไม่ได้ถูกขัดขวางด้วยพลังที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้น ร่างกายย่อมที่จะขวนขวายและพยายามเพื่อไปสู่ความมีสุขภาพที่ดีเสมอ และจะทำได้สำเร็จด้วยการทำความสะอาดตัวเองให้ปลอดจากของเสียที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งเป็นรากฐานเบื้องต้นของสุขอนามัยธรรมชาติ การกระทำดังกล่าวจะทำให้ร่างกายปลดปล่อยพลังงานและพร้อมที่จะทำหน้าที่อื่นๆ ต่อไป

ในการย่อยอาหารร่างกายจำเป็นต้องใช้พลังงานมากกว่าการทำหน้าที่อื่นๆ ทั้งหมด เพื่อกำจัดพิษและของเสียออกจากร่างกาย จะทำให้น้ำหนักตัวลดลง พลังงานนี้จะเข้าไปกำจัดน้ำหนักส่วนเกินที่ร่างกายแบกรับอยู่ออกไปโดยอัตโนมัติ ทำให้ร่างกายมีพลังงานเพิ่มมากขึ้นแม้จะไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่การลดน้ำหนักก็ตาม

การปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยธรรมชาติจะทำให้คนเราสามารถได้รับประโยชน์มากมาย และมีหลักฐานบอกว่าสามารถบรรเทาอาการของโรคต่างๆ ได้หลายชนิด ทั้งชนิดเรื้อรังและชนิดที่เกิดขึ้นมาอย่างรุนแรงฉับพลัน โปรแกรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสมจึงถูกนำมาใช้ควบคู่ไปกับการอดอาหาร

สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสมาคมสุขอนามัยธรรมชาติอเมริกัน(American Natural Hygiene Society Inc.) นิตยสารที่องค์กรนี้ตีพิมพ์ชื่อ Health Science ส่งเสริมการจัดประชุมและสัมมนาระดับภูมิภาคและนานาชาติ กับหนังสือ แผ่นพับและเทปคาสเซ็ตเกี่ยวกับเรื่องนี้จำหน่าย และยังมีบัญชีรายชื่อแพทย์ทั้งในระบบการแพทย์แผนปัจจุบันและนอกระบบ ที่มีประกาศนียบัติรับรองคุณวุฒิในการให้คำปรึกษาและให้การดูแลรักษาตามแนวสุขอนามัยธรรมชาติอีกด้วย

มีหลักสูตรสอนศาสตร์เกี่ยวกับชีวิต(Life Science) หรือสุขอนามัยธรรมชาติ(Natural Hygiene) ทางไปรษณีย์ และมีหนังสือ หรือเทปจำหน่าย โดยสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพอเมริกัน(American Health Sciences)

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า