สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ครอบครัวกับการสร้างเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พบถึงร้อยละ 8 ของ ประชากรและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามด้วยวัฒนธรรมไทย ในการปฎิบัติต่อผู้สูงอายุหรือบุพการีที่เน้นในเรื่องความกตัญญกตเวที และผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ยังคงอยู่กับลูกหลาน ซึ่งมักเป็นบุตรสาวที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลในเรื่องต่างๆ ดังนั้นครอบครัว ญาติหรือครอบครัวจึงมีบทบาทที่สำคัญต่อการดูแลผู้ให้มีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ก็ยังพบว่าผู้สูงอายุมีปัญหา ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้นก็ยิ่งพบปัญหาสุขภาพมากทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตขึ้น

ปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการซึมเศร้า อาการเหงาและว้าเหว่ ซึ่งอาการทางจิตใจเหล่านี้ มีผลกระทบต่อร่างกายได้ รวมทั้งมีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วยทางกายได้เช่นกัน เราจึงมักพบเป็นประจำว่าผู้สูงอายุ มารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อ เบื่ออาหาร แทนที่ จะมาด้วยอาการเหงา หรือว้าเหว่ การที่ผู้สูงอายุมีความเหงาและว้าเหว่เป็นเพราะ การขาดปฏิสัมพันธ์กับลูกหลาน ขาดการพบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูง อาจเนื่องจากการถดถอยจากสังคมด้วยตัวผู้สูงอายุเอง หรือลูกหลานไม่มีเวลาเอาใจใส่ดูแล หรือเพื่อนฝูงเริ่มล้มหายตายจากไปทำให้โอกาสที่จะมีความสัมพันธ์กับสังคม ภายนอกลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

ดังนั้นสังคมที่มีความใกล้ชิดกับผู้สูงอายุมากที่สุดก็คือครอบครัวนั่นเอง ลูกหลานหรือสมาชิกในครอบครัวจึงต้องมีความเข้าใจในปัญหา ความต้องการ และ อาการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ รวมทั้งควรจะต้องทราบกลวิธี ในการสร้างเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้เช่นอาจเกิดอาการซึมเศร้า มากขึ้นจนต้องเข้ารักษา ซึ่งจะทำให้การดูแลมีความยุ่งยากมากขึ้น การป้องกันที่มีประสิทธิภาพจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น          จึงเป็นบทบาทที่สำคัญของลูกหลานหรือครอบครัวที่จะดูแล

สร้างเสริมความแข็งแกร่งทางจิตใจให้ผู้สูงอายุ วิธีการสร้างเสริมที่ดีประการหนึ่งคือ การสร้างเสริมให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง มีความภาคภูมิใจ เนื่องจาก เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ จะเกิดการสูญเสีย การถดถอยในหลายๆ เรื่อง เช่น สุขภาพ เสื่อมถอย เพื่อนฝูงลดลง ความสามารถ ความมั่นใจที่จะทำอะไรด้วยตนเอง เริ่มลดลง ยิ่งถ้าหากปล่อยไปตามกาลเวลาหรือสถานการณ์ที่เป็นอยู่จะยิ่งเกิดความถดถอยจากสังคมไปเรื่อยๆ จนตัวผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ มีความเศร้าตามมา บทบาทของลูกหลานในการที่จะสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองของผู้สูงอายุ ได้แก่ การยอมรับสภาพความเป็นผู้สูงอายุ การยังคงให้ผู้สูงอายุปฏิบัติหน้าที่ภาระกิจการงานในครอบครัว เหมือนเช่นเดิมที่เคยปฏิบัติมา การสอบถาม ความคิดเห็น พูดคุย ขอคำปรึกษา ลูกหลานไม่ควรไปคาดคิดว่าจะเป็นการทำให้ผู้สูงอายุทำงานในบ้านมากเกินไป หรือไม่ควรคาดคิดว่าผู้สูงอายุจะไม่ทราบในเรื่องที่จะปรึกษา ความจริงแล้วเพียงแต่การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ในเชิงการให้เกียรติ ยกย่องดังกล่าวก็ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกดีมากแล้ว นอกจากนี้การได้มีโอกาสพูดกับผู้สูงอายุทุกวันจะทำให้ญาติสามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเจ็บป่วยได้ รวมทั้งสามารถให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุ โดยการพาไปตรวจสุขภาพประจำปีเป็นการเบื้องต้นก่อนก่อนที่อาการเจ็บป่วยจะมีความรุนแรงมากขึ้น ในที่สุดผู้สูงอายุจะยังคงมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองรู้สึกได้รับความเอาใจใส่ ดูแลจากลูกหลาน ทำให้เกิดความภูมิใจในเกียรติศักดิ์ศรีแห่งตน โดยเฉพาะความเป็นผู้อาวุโสของครอบครัว การเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ทางกาย อันมีผลจากปัญหาทางจิตใจก็จะบรรเทาเบาบางลง กระบวนการปฏิสัมพันธ์ต่อกันดังกล่าว ยังส่งผลให้ทุกคนในครอบครัวทั้งลูกหลานและตัวผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตร่วมกันอย่างเป็นสุข ดังคำว่า “ครอบครัวสดใสด้วยการใส่ใจผู้สูงอายุ”

รวีวรรณ  เผากัณหา

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า