สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สำลักสิ่งแปลกปลอม

สำลักสิ่งแปลกปลอม(choking/Foreign body aspiration)
หลอดลมอุดกั้นจากสิ่งแปลกปลอม(Foreign body in airway)

สิ่งแปลกปลอมที่อุดกั้นทำให้ลมหายใจเข้าออกลำบากและเป็นอันตรายซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉิน มักพบในเด็กที่เล่นซนหรือกินอาหารไม่ระมัดระวัง หรือในผู้ป่วยอัมพาต ผู้สูงอายุ ผู้ดื่มแอลกอฮอล์จัด ผู้ที่กินยานอนหลับ ซึ่งบางครั้งอาจเกิดการสำลักเศษอาหารหรือเมล็ดผลไม้ด้วยความเผอเรอขาดสติได้ ผู้ป่วยจะชักหรือหมดสติและสำลักอาหารลงในทางเดินหายใจสำลักสิ่งแปลกปลอม

อาการ
มักมีประวัติว่าขณะกินอาหารหรือเด็กที่เล่นสิ่งแปลกปลอมอยู่มีการสำลัก ไอ หรือหายใจลำบากขึ้นมาทันทีทันใด

จะมีอาการเสียงแหบ หายใจเสียงดังฮึ้ดคล้ายคนเป็นคอตีบหรือครู้ปถ้าสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ที่กล่องเสียง

ผู้ป่วยจะหายใจไม่ได้ ไอไม่ออก พูดไม่ออก หน้าเขียว เล็บเขียว และใช้มือจับที่คอหอยถ้าสิ่งแปลกปลอมมีขนาดใหญ่จนปิดกั้นทางเดินหายใจ จะเกิดภาวะสมองตาย หมดสติ และอาจเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วหากช่วยเหลือไม่ทันภายใน 4 นาที

ถ้าสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ที่หลอดลมข้างใด ปอดข้างนั้นจะไม่มีลมหายใจผ่านเข้าออกทำให้เคลื่อนไหวได้น้อยกว่าปกติ

สิ่งตรวจพบ
เมื่อใช้เครื่องฟังตรวจเมื่อสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ที่หลอดลมข้างใดเสียงหายใจของปอดข้างนั้นจะค่อยลงหรือไม่ได้ยิน หรือมีเสียงวี้ด

จะพบอาการหายใจลำบาก หน้าเขียว เล็บเขียว ถ้าสิ่งแปลกปลอมปิดกั้นทางเดินหายใจ

ภาวะแทรกซ้อน
หากปล่อยสิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่ในหลอดลมไว้อาจทำให้เกิดปอดอักเสบ หลอดลมพอง หลอดลมตีบ ฝีปอด ปอดแฟบ ปอดทะลุ ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือดได้ อาจทำให้สมองขาดออกซิเจนจนเกิดสมองพิการได้ในเด็กเล็ก

การรักษา
1. หากสงสัยควรส่งแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เอกซเรย์ ใช้กล้องส่องตรวจหลอดลม เพื่อเอาสิ่งแปลกปลอมออก และป้องกันการอักเสบของปอดด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ

2. หากสงสัยมีสิ่งแปลกปลอมติดที่กล่องเสียง ให้รีบปฐมพยาบาลและส่งแพทย์ด่วน คือผู้ป่วยจะมีอาการหายใจไม่ได้ หน้าเขียว เล็บเขียว เป็นต้น

การปฐมพยาบาล
เมื่อสำลักสิ่งแปลกปลอม ติดคอ แต่ยังไอได้แรงๆ พูดได้ หายใจปกติ ไม่ต้องพยายามให้ความช่วยเหลือใดๆ ให้รีบนำส่งแพทย์โดยด่วน แต่หากผู้ป่วยหายใจไม่ออก หน้าเขียว เล็บเขียว ไอไม่ออก พูดไม่ออก ควรช่วยเหลือดังนี้

1. กรณีที่ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี
ผู้ใหญ่และเด็กโต ใช้วิธี รัดท้องอัดยอดยก โดย
-ผู้ช่วยเหลือยืนข้างหลังผู้ป่วย ใช้แขน 2 ข้างโอบรัดผู้ป่วย
-ผู้ช่วยเหลือกำหมัดข้างหนึ่งวางลงบนบริเวณเหนือสะดือผู้ป่วยเล็กน้อย
-ผู้ช่วยเหลือใช้มืออีกข้างจับมือที่กำหมัดไว้ แล้วอัดเข้าท้องแรงๆ เร็วๆ ขึ้นไปข้างบน ทำคล้ายพยายามยกตัวผู้ป่วยขึ้น
-อัดหมัดเข้าท้องซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา

สำหรับคนอ้วน ลงพุง หญิงมีครรภ์ ให้ทำการช่วยเหลือคล้ายๆ กัน แต่ควรวางมือตรงลิ้นปี่ และอัดหมัดเข้ายอดยกแทน

กรณีอยู่ตามลำพัง  ให้ช่วยเหลือตัวเองดังนี้
-กำหมัดข้างหนึ่งเหนือสะดือ
-ใช้มืออีกข้างจับมือที่กำหมัดไว้ แล้วก้มตัวให้มือพาดขอบแข็งๆ เช่น พนักเก้าอี้
-ก้มตัวลงแรงๆ เพื่อกระแทกหมัดอัดเข้าท้องในลักษณะดันขึ้นข้างบน ทำซ้ำๆ จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา

สำหรับทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ให้ช่วยเหลือดังนี้
-จับทารกนอนคว่ำบนแขน ให้ศีรษะต่ำเล็กน้อย
-ใช้ฝ่ามือตบกลางหลังทารกระหว่างกลางของสะบัก 2 ข้าง เร็วๆ 5 ครั้ง
-ถ้าไม่ได้ผล ให้จับทารกนอนหงายบนแขนให้ศีรษะต่ำแล้วใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางวางบนกระดูกลิ้นปี่ แล้วกดหน้าอกลงประมาณ ½ ถึง 1 นิ้ว เร็วๆ 5 ครั้ง
-ถ้าไม่ได้ผล ให้ ตบหลัง 5 ครั้ง สลับกับกดหน้าอก 5 ครั้ง จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุด

2.  กรณีผู้ป่วยหมดสติ ช่วยเหลือดังนี้
-จับผู้ป่วยนอนหงายบนพื้น
-ใช้มือยกคางขึ้นและกดศีรษะลงเพื่อเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง
-ถ้ามองเห็นสิ่งแปลกปลอมในช่องปากชัดเจนให้นำออกมาด้วยความระมัดระวัง หากสิ่งแปลกปลอมอยู่ลึกเกินไปหรือมองไม่เห็น ห้ามใช้นิ้วล้วงเพราะจะทำให้เกิดอันตรายได้
-ทำการช่วยหายให้ด้วยการเป่าปาก 2 ครั้งๆ ละ 1 วินาทีครึ่ง
-ทำการัดท้องอัดยอดยก 6-10 ครั้งในท่านอนหงายสำหรับผู้ใหญ่หรือเด็กอายุมากกว่า 1 ปี สำหรับหรับทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ให้ทำการตบหลัง 5 ครั้ง สลับกับกดหน้าอก 5 ครั้ง
-ตรวจช่องปากเพื่อเขี่ยสิ่งแปลกปลอมออกมา
-ถ้าสิ่งแปลกปลอมยังไม่ออกมาหรือผู้ป่วยยังไม่หายใจให้ทำการเป่าปากช่วยหายใจ รัดท้องอัดยอดอกหรือตบหลัง ตรวจช่องปากเพื่อเขี่ยสิ่งแปลกปลอมออก ทำเรื่อยๆ จนกว่าจะส่งถึงมือแพทย์
-กรณีที่หัวใจหยุดเต้น ให้เป่าปากและนวดหัวใจจนกว่าจะถึงโรงพยาบาล การนวดหัวใจโดยการกดหน้าอกอาจช่วยให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาได้และคอยตรวจช่องปากหาสิ่งแปลกปลอมเป็นระยะๆ

ข้อแนะนำ
ผู้ป่วยที่สำลักสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กลงไปในหลอดลมและปอดโดยไม่มีอาการผิดปกติในระยะแรก หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจมีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก หอบ จากปอดอักเสบได้  ในรายที่มีไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด ทำให้การวินิจฉัยโรคอาจผิดพลาดได้

การป้องกัน
1. เก็บสิ่งของเช่นกระดุม ลูกปัด เมล็ดพืช ให้พ้นมือเด็ก
2. ควรนำเมล็ดออกจากผลไม้ก่อนจะให้ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอัมพาต รับประทาน เพื่อป้องกันการสำลัก
3. ไม่ควรให้เด็กเล็กอมลูกอมหรือลูกกวาด
4. ขณะวิ่งเล่นไม่ควรให้เด็กเล็กอมอาหารหรือสิ่งของใดๆ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า