สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

พืช ผัก ผลไม้ทั่วไปหลายชนิดที่คนไทยนำมาใช้เป็นสมุนไพรนั้น โดยอาจจะนำมาประกอบเป็นอาหาร เป็นเครื่องดื่ม เครื่องปรุง อาหารเสริม และใช้เป็นยาสมุนไพรเพื่อรักษาอาการเล็กน้อยที่เกิดขึ้นกับร่างกายในชีวิตประจำวัน ส่วนที่นำมาใช้อาจจะเป็นราก ลำต้น ใบ ดอก หรือผลก็ได้ ส่วนใหญ่มักเป็นพืชสวนครัวที่หาได้ไม่ยาก นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศได้ศึกษาวิจัยทางเภสัชโภชนาเกี่ยวกับพืช ผัก ผลไม้ที่คนไทยนิยมบริโภค เพื่อให้รู้ถึงคุณค่าในด้านส่งเสริมสุขภาพ การเกิดโทษ การใช้ป้องกันโรค และฟื้นฟูสภาพ ซึ่งคุณค่าของพืช ผัก ผลไม้ ทุกวันนี้ผู้คนก็ได้ให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น

สมุนไพรเพื่อการส่งเสริมสุขภาพทางร่างกาย จึงหมายถึง พืช ผัก ผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีสรรพคุณทางยา ทำให้ผู้บริโภคมีร่างกายแข็งแรงและพร้อมที่จะทำหน้าที่ในชีวิตประจำวัน

ขอบเขตของวิทยาศาสตร์กับสมุนไพรเพื่อการส่งเสริมสุขภาพร่างกาย
ในบรรดาพืช ผัก และผลไม้ต่างๆ ที่คนไทยนิยมนำมาบริโภคนั้น มีผลสรุปจากการศึกษาวิจัยทางเภสัชโภชนาว่า ส่วนใหญ่ร่างกายจะได้รับคุณค่าทางโภชนาการในขนาดที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุ และยังมีน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยเพิ่มกลิ่นหอม ดับกลิ่นคาว เพิ่มรสหวาน หรือความเผ็ดร้อนให้แก่อาหาร ทำให้เจริญอาหาร ช่วยขับลม และทำให้นอนหลับได้ดี

พืช ผัก ผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่อร่างกาย เช่น
ข้าว
จะเป็นพวกข้าวกล้อง

พืชที่ใช้เป็นเครื่องปรุงแต่งกลิ่น รส และสีของอาหาร
เช่นพวกหอม กระเทียม ขึ้นฉ่าย ย่านาง ข่า ขิง ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ไพล กระชาย ตะไคร้ พริก พริกไทย ผักชี ยี่หร่า แมงลัก โหระพา สะระแหน่ กะเพรา อบเชยเทศ ลูกจันทน์เทศ กานพลู ดีปลี เทียนตากบ ผักชีลาว เป็นต้น

พืชที่ใช้จิ้มกับน้ำพริก
เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ผักปลังแดง หรือปลังขาว ชะพลู ผักโขม ผักเป็ด ผักปราบ ผักเสี้ยน ผักสันตะวา โสม เพกา ผักแขยง ผักบั้ง ส้มกบ สะเดา บัวบก ผักเบี้ยใหญ่ กระถินบ้าน แคบ้าน แคฝรั่ง สลิดหรือขจร ตำลึง ชะอม ผักติ้วขน ถั่วฝักยาว เป็นต้น

พืชที่ใช้ดอกและผลเป็นอาหาร
เช่น ยอ มะกรูด มะกอก ขี้เหล็ก มะเขือเทศ มะเขือยาว มะเขือพวง มะแว้งเครือ มะแว้งต้น มะอึก บวบเหลี่ยม บวบหอม น้ำเต้า แตงไทย แตงกวา มะระขี้นก มะระจีน ฟักเขียว ฟักทอง กระเจี๊ยบ มะละกอ มะม่วง มะพร้าว มะขาม มะขามป้อม มะตูม มะเกลือ มังคุด ขนุน น้อยหน่า ฝรั่ง ชมพู่ ส้ม มะนาว สับปะรด กล้วย ขนุน สมอไทย มะรุม ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแปบ ถั่วพลู เป็นต้น

พืชที่ใช้หัวเป็นอาหาร
เช่น ถั่วพู มันเทศ เผือก เป็นต้น

สมุนไพรกับบทบาทในการส่งเสริมสุขภาพ

ใช้เป็นเครื่องปรุงแต่งกลิ่น รส และสีของอาหาร
วัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย ในอาหารหลายชนิดนิยมใช้เครื่องปรุงแต่งรส เพิ่มความหอม ดับกลิ่นคาว เพิ่มรสเผ็ดร้อน และสีสัน ทำให้อาหารดูน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น และทำให้เจริญอาหารขึ้นด้วย เมื่อกินข้าวมันไก่ก็มักกินกับหัวหอม ต้นหอม พริก ขิง พริกไทย เมื่อกินข้าวขาหมูก็จะกินกับกระเทียมและพริก เมื่อกินอาหารประเภทยำและทอดก็จะกินกับต้นหอม พริก ขิง เมื่อทำต้มยำก็จะใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกลงไป ในแกงผัดเผ็ดก็มักจะใส่ใบมะกรูด พริก พริกไทย ใบกะเพราลงไปด้วย ในแกงเผ็ดก็ใส่ใบโหระพา ในแกงเลียงจะใส่หัวหอม พริกไทย ใบแมงลัก และในอาหารเกือบทุกมื้อก็มักจะมีผักจิ้มกับน้ำพริก เช่น พวกมะเขือ ผักบุ้ง ถั่วพู ถั่วฝักยาว แค มะระ หัวปลี มะเขือพวง ผักกะเฉด เป็นต้น

สมุนไพรกับบทบาทในวิถีการบริโภคและการเข้าถึงของคนไทย
แม้ในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วไปจะมีพืช ผัก ผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีสรรพคุณทางยา แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าจะเข้าถึงเรื่องการปลูกไว้ในครัวเรือน หรือการหามาได้ง่าย ในราคาที่ไม่แพงเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพทางร่างกายหรือไม่

สมุนไพรกับบทบาทความสะดวกสบายของผู้บริโภค
ชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบัน ทำให้ครอบครัวคนไทยประกอบอาหารกินกันน้อยลง มักจะหาอาหารสำเร็จรูปมากินกันมากกว่า และอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกก็ส่งผลให้เด็ก วัยรุ่น และหนุ่มสาวหันมาบริโภคอาหารพวกแป้ง ขนมปัง ไก่ทอด แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า กันมากขึ้น ซึ่งสารอาหารส่วนใหญ่จะเป็นพวกคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีนในปริมาณสูง จนทำให้เกิดปัญหาเรื่องความอ้วน มีไขมันในเลือดสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อเป็นเช่นนี้การส่งเสริมสุขภาพร่างกายด้วยสมุนไพรก็จะมีบทบาทลดน้อยลงไปด้วย

สมุนไพรกับบทบาทของลักษณะที่อยู่อาศัย
ปัจจุบันบ้านเรือนในเขตเมืองของคนไทยมักไม่มีพื้นที่สำหรับปลูกพืชผักสวนครัว และคนส่วนใหญ่ก็ไม่มีเวลามาปลูกพืชผักสวนครัว เพราะมีชีวิตประจำวันที่เร่งรีบและต้องแข่งขันกัน แม้แต่เวลาที่จะไปจับจ่ายหาซื้อพืชผัก ผลไม้เหล่านี้ในตลาดก็แทบจะไม่มี หรือพืชผักเหล่านี้อาจไม่มีวางขายในตลาดก็ได้

สมุนไพรกับบทบาทเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจของผู้บริโภค
เพื่อให้ได้รับประโยชน์และคุณค่าจากการบริโภคพืชผักผลไม้ ในการส่งเสริมสุขภาพของร่างกาย และเพื่อใช้เป็นยา ผู้บริโภคจึงควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้

สมุนไพรกับบทบาทที่ขึ้นอยู่กับความปลอดภัย
มีพืชผักพื้นบ้านอีกหลายชนิดที่ยังไม่ได้ศึกษาวิจัยทางเภสัชโภชนาและทางพิษวิทยา ว่ามีคุณค่าทางโภชนาการ หรือมีความปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกายเพียงใดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรม ค่านิยม แบบแผนการปฏิบัติ และสภาพแวดล้อมต่างๆ เพื่อกระตุ้นและจูงใจให้คนรุ่นหลังหันมานิยมบริโภคพืชผักผลไม้พื้นบ้าน และส่งเสริมการปฏิบัติจริงในทางที่เป็นไปได้

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: รองศาสตราจารย์ ดร. เยาวภา ปิ่นทุพันธ์
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า