สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การใช้สมุนไพรเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย

เป็นการบริโภคพืช ผัก ผลไม้ต่างๆ ที่มีสรรพคุณทางยา ทำให้ร่างกายสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ หรือทำให้อาการทุเลาลงเมื่อเกิดความเจ็บป่วย พิการชั่วคราว จนสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ หรือดีได้ในระดับหนึ่ง

ขอบเขตของวิทยาศาสตร์ทางสมุนไพรกับการฟื้นฟูสภาพทางร่างกาย
พืช ผัก ผลไม้สมุนไพรหลายชนิดของประเทศไทยตามท้องถิ่นต่างๆ เมื่อศึกษาวิจัยทางเภสัชโภชนาแล้วก็พบว่า มีคุณค่าทั้งทางโภชนาการและมีสรรพคุณทางยา สามารถใช้ดูแลสุขภาพและฟื้นฟูสภาพร่างกายที่เกิดจากความเจ็บป่วยได้ ช่วยให้ร่างกายมีการย่อยและดูดซึมอาหารได้ดี ระบบขับถ่ายเป็นปกติ และช่วยบรรเทาอาการของบางโรค มีหลักฐานทางเภสัชโภชนาพบว่ามีพืช ผัก ผลไม้สมุนไพร ที่มีสารอาหารและสรรพคุณทางยา สามารถช่วยฟื้นฟูสภาพของร่างกายได้ดังนี้

การฟื้นฟูอาการท้องเสียเรื้อรัง
พืชที่สามารถใช้ฟื้นฟูอาการนี้ได้ เช่น กระชาย กานพลู ผักเสี้ยน เพกา แค เป็นต้น

การฟื้นฟูอาการร้อนในกระหายน้ำ
พืชที่สามารถใช้ฟื้นฟูอาการนี้ได้ เช่น กระชาย ผักโขม ถั่วพลู และสมอ เป็นต้น

การฟื้นฟูไข้หวัดเรื้อรัง
พืชที่สามารถใช้ฟื้นฟูอาการนี้ได้ เช่น สะเดา มะตูม สมอไทย เป็นต้น

การลดอาการเลือดออกตามไรฟัน
พืชที่สามารถใช้ลดอาการนี้ได้ เช่น ผักเบี้ยใหญ่ ชะอม สมอ มะนาว มะรุม เป็นต้น

การลดอาการท้องผูก
พืชที่สามารถใช้ลดอาการนี้ได้ เช่น ขี้เหล็ก คูน มะขาม มะขามแขก เป็นต้น

ทั้งในส่วนของราก ลำต้น ใบ ดอก และผลของพืชบางชนิด สามารถนำมาใช้ฟื้นฟูสภาพร่างกายได้หลายอย่าง เช่น เมื่อมีอาการท้องเสียเรื้อรัง หรืออาการร้อนในกระหายน้ำ ก็ให้ใช้กระชาย เมื่อเลือดออกตามไรฟันก็ใช้มะรุม เมื่อเป็นไข้หวัด ร้อนในกระหายน้ำ ลดอาการเลือดออกตามไรฟัน ก็จะฟื้นฟูด้วยสมอ เป็นต้น

บทบาทของสมุนไพรในการฟื้นฟูสภาพทางร่างกาย
หลักฐานและคำอธิบายอย่างมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้มาจากผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชโภชนา ได้อธิบายถึงบทบาทในการฟื้นฟูสภาพร่างกายด้วยพืช ผัก และผลไม้สมุนไพรไว้ รวมถึงวิธีนำมาใช้ประโยชน์ที่สัมพันธ์กับอาการของโรคด้วย เช่น

การฟื้นฟูอาการท้องเสียเรื้อรัง
กระชาย
มีน้ำมันระเหยอยู่ประมาณ 0.08% อยู่ในเหง้าและรากของกระชาย ซึ่งประกอบไปด้วยสารที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในลำไส้พวก Bacillus subtilis ช่วยขับลม ทำให้กระเพาะและลำไส้มีการเคลื่อนไหว เช่น สาร 1,5- Cineol, Boesenbergin A, dl-Pinostrobin Camphor และสาร Flavonoid และ Chromene

วิธีใช้
การใช้กระชายเพื่อฟื้นฟูอาการท้องเสียเรื้อรัง และอาการร้อนในกระหายน้ำ ให้นำเหง้าและรากสดของกระชายมาประมาณ ½ กำมือ หรือประมาณ 5-10 กรัม ถ้าเป็นแบบแห้งก็ใช้ประมาณ 3-5 กรัม นำมาทุบให้พอแหลก ต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้ปรุงรับประทานเป็นอาหาร

กานพลู
มีน้ำมันระเหยอยู่ในดอกตูมของกานพลูประมาณ 14-20% โดยในน้ำมันนั้นจะมีสาร Eugenol อยู่ 70-80% ช่วยให้ปวดท้องน้อยลงเพราะมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ ช่วยขับน้ำดี ลดการจุกเสียด ช่วยฆ่าแบคทีเรียในช่องปากและลำไส้

วิธีใช้
ในการใช้เพื่อฟื้นฟูอาการท้องเสียเรื้อรัง ให้นำดอกตูมแห้งของกานพลูมาประมาณ 5-8 ดอก หรือประมาณ 0.12-0.16 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้บดให้เป็นผงนำมาชงน้ำดื่ม

ผักเสี้ยน
เมล็ดและต้น สามารถนำมาใช้ฆ่าพยาธิไส้เดือนได้

วิธีใช้
หากใช้ผักเสี้ยนเพื่อฟื้นฟูอาการท้องเสียเรื้อรัง ทำได้โดยนำผักเสี้ยนมาดองเสียก่อนแล้วค่อยนำมากินกับน้ำพริก หรือนำไปแกง หากไม่นำมาดอง สารไฮโดรเจนไซยาไนด์ ที่อยู่ในผักเสี้ยนจะไม่สลาย ซึ่งจะส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางได้

เพกา
จะมีสาร antraquinone อยู่ในเปลือกต้นเพกา สารนี้จะมีฤทธิ์ลดการอักเสบ และรักษาอาการแพ้ มีสรรพคุณช่วยขับลมในลำไส้ แก้ท้องร่วง แก้บิด ใช้รากแก้อาการท้องร่วง ฝักอ่อนช่วยให้ผายลม เมล็ดแก่ช่วยให้เกิดการระบาย

วิธีใช้
การฟื้นฟูอาการท้องเสียด้วยเพกา ให้นำยอดอ่อนมารับประทานเป็นผักสด หรือใช้ฝักอ่อนนำมาเผาให้สุกแล้วขูดผิวด้านนอกออก หรือนำไปต้ม นำไปปรุงเป็นอาหาร หรือกินกับน้ำพริก

แคบ้าน
จะมีสาร flavonoid ในยอดอ่อนและใบอ่อน ใช้ดับพิษไข้ ส่วนดอกแคจะมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้หัวลม

วิธีใช้
การฟื้นฟูอาการท้องเสียเรื้อรังด้วยแคบ้าน ทำได้โดยนำยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อนไปลวกกินกับน้ำพริก หรือใช้ดอกอ่อนปรุงเป็นแกง

การฟื้นฟูอาการร้อนในกระหายน้ำ
ผักโขม
รากของผักโขมมีสรรพคุณช่วยดับพิษร้อนถอนพิษไข้

วิธีใช้
นำยอดอ่อน ใบอ่อน มาต้มหรือลวกกินกับน้ำพริก หรือนำไปแกง

ถั่วพลู
มีวิตามินเอ ซี อี แร่ธาตุ ฟอสฟอรัส อยู่ในฝักของถั่วพลูในปริมาณค่อนข้างสูง มีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย

วิธีใช้
การใช้เพื่อฟื้นฟูอาการร้อนในกระหายน้ำ โดยนำฝักอ่อนมาปรุงเป็นอาหารรับประทาน ในเมล็ดดิบของถั่วพลูจะมีสารที่ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ดังนั้น จึงควรทำให้สุกเสียก่อน หรือจะนำเมล็ดแก่มาต้มให้สุกแล้วรับประทานก็ได้ หรือเมื่อต้มเมล็ดสุกแล้วนำมาตากแห้ง บดให้เป็นผง ผสมกับน้ำต้มสุกครั้งละ 4-6 กรัม ใช้ดื่มก่อนอาหารวันละ 3 เวลา

สมอ
สารแอนทราควิโนน ที่ออกฤทธิ์ระบาย ช่วยขับถ่าย จะมีอยู่ในผลของสมออ่อน ส่วนในผลแก่จะมีสารแทนนิน ที่มีฤทธิ์ช่วยระบาย บรรเทาอาการระคายเคือง แก้ลมจุกเสียด แก้ท้องเสีย แก้พิษร้อนใน เจ็บคอ กระหายน้ำ

วิธีใช้
การฟื้นฟูอาการร้อนในกระหายน้ำด้วยสมอ ทำได้โดยนำผลสมอมาประมาณ 5-7 ผล ต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ต้มให้เหลือน้ำประมาณ 1/3 แล้วเอาน้ำที่ได้มาดื่ม จะทำให้ขับถ่ายด้วย

การฟื้นฟูไข้หวัดเรื้อรัง
สะเดา
ในก้านและใบของสะเดา มีจะสรรพคุณทางยาที่ใช้แก้ไข้ทุกชนิด

วิธีใช้
การฟื้นฟูหวัดเรื้อรังด้วยสะเดา ทำได้โดยนำยอดอ่อนมาต้มหรือลวกกินกับน้ำพริก

มะตูม
รากของมะตูม มีสรรพคุณแก้ลม หืดหอบ ไอ ช่วยละลายเสมหะ น้ำคั้นจากใบมีสรรพคุณใช้แก้หวัด หลอดลมอักเสบ ผลสุกมีสรรพคุณช่วยแก้เสมหะ แก้กระหายน้ำ

วิธีใช้
การฟื้นฟูไข้หวัดเรื้อรังด้วยมะตูม ทำได้โดยนำยอดอ่อน ผลดิบ ใบอ่อน มารับประทานเป็นผักสด

มะนาว
ในน้ำมะนาวที่มีรสเปรี้ยวจัดจะมีสาร ฟลาโวนอยด์ และกรดอินทรีย์อยู่หลายตัว มีสรรพคุณทางยา ช่วยขับเสมหะ

วิธีใช้
การฟื้นฟูไข้หวัดเรื้อรังด้วยมะนาว ทำได้โดยนำผลสดมะนาวมาคั้นเอาน้ำแล้วใส่เกลือลงไปเล็กน้อย ใช้จิบบ่อยๆ หรืออาจใส่น้ำตาลเพิ่มลงไปปรุงรส ใช้ดื่มบ่อยๆ ก็ได้

การลดอาการเลือดออกตามไรฟัน
มะขามป้อม
ในผลของมะขามป้อมจะมีวิตามินซีอยู่สูง ซึ่งมีสรรพคุณในการแก้หวัด แก้อาการเลือดออกตามไรฟัน

วิธีใช้
การใช้มะขามป้อมเพื่อลดอาการเลือดออกตามไรฟัน ทำได้โดยนำผลแก่สดของมะขามป้อมมาประมาณ 2-3 ผล โขลกให้พอแหลกใส่เกลือลงไปเล็กน้อย นำมาอมหรือเคี้ยวกิน ประมาณวันละ 3-4 ครั้ง

มะรุม
ใบของมะรุมมีสรรพคุณแก้อาการเลือดออกตามไรฟัน

วิธีใช้
ให้นำใบอ่อนของมะรุมไปต้มหรือลวกรับประทาน หรือปรุงเป็นแกง

การลดอาการท้องผูก
ขี้เหล็ก
ในใบขี้เหล็กจะมีสาร แอนทราควิโนน อยู่ ซึ่งสารนี้จะมีฤทธิ์ไปกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้มีการบีบตัว ทำให้มีการขับถ่าย มีสรรพคุณเป็นยาระบาย

วิธีใช้
หากใช้ขี้เหล็กเพื่อลดอาการท้องผูก ทำได้โดย ใช้ใบอ่อนและแก่ของขี้เหล็กประมาณ 4-5 กำมือ ต้มเอาแต่น้ำ ใช้ดื่มก่อนอาหาร หรือเมื่อมีอาการท้องผูก

คูน
เนื้อในฝักของคูนจะมี สารแอนทราควิโนน อยู่ สารนี้จะมีฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้มีการบีบตัว ทำให้เกิดการขับถ่าย มีสรรพคุณเป็นยาระบาย

วิธีใช้
การใช้คูน เพื่อลดอาการท้องผูก ทำได้โดยนำเนื้อในฝักแก่ของคูน ประมาณ 4 กรัม ต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าหรือก่อนนอน ในสตรีมีครรภ์หรือผู้ที่ท้องผูกเป็นประจำก็สามารถใช้คูนเป็นยาระบายได้

มะขาม
ในเนื้อของมะขามที่มีรสเปรี้ยวจะมีกรดอินทรีย์อยู่หลายชนิด ซึ่งจะออกฤทธิ์เป็นยาระบาย เช่น กรดทาร์ทาร์ริก กรดซิตริก เป็นต้น

วิธีใช้
การใช้มะขามเพื่อลดอาการท้องผูก ทำได้โดยนำมะขามเปียกที่มีรสเปรี้ยวมาประมาณ 10-20 ฝัก หรือประมาณ 70-150 กรัม ใช้จิ้มกับเกลือรับประทาน แล้วดื่มน้ำตามเข้าไปมากๆ หรือจะคั้นเอาน้ำใส่เกลือเล็กน้อยแล้วนำมาดื่มเป็นน้ำมะขามก็ได้

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย

โดย: รองศาสตราจารย์ ดร. เยาวภา ปิ่นทุพันธ์
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า