สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สมุนไพรที่ใช้ป้องกันโรค

เป็นพืชผักผลไม้ที่มีสรรพคุณทางยา ช่วยยับยั้งกระบวนการเกิดโรค ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค และมีคุณค่าทางโภชนาการ

ขอบเขตของวิทยาศาสตร์กับสมุนไพรเพื่อการป้องกันโรคทางร่างกาย
พืช ผัก ผลไม้พื้นบ้านหลายชนิดที่คนไทยนิยมบริโภคกันมานานแล้วนั้น เมื่อมีการศึกษาวิจัยทางเภสัชโภชนาทำให้เรารู้ว่า นอกจากจะมีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังมีสรรพคุณในการป้องกันโรคต่างๆ ได้ด้วย เช่น กระเทียม อบเชย ข่า จะมีสรรพคุณในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย, กระเทียม ขมิ้นชัน มีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, หอม กระเทียม กระเจี๊ยบ คำฝอย มีสรรพคุณควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือด, หอมใหญ่ กระเทียม มีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด, และมะระ มีสรรพคุณลดความดันโลหิตสูง เป็นต้น

บทบาทของสมุนไพรในการป้องกันโรคทางร่างกาย
หากบริโภคพืช ผัก ผลไม้พื้นบ้านอย่างถูกวิธี ก็จะทำให้ได้ประโยชน์ในการป้องกันโรคเป็นอย่างดี ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาหาความรู้จากการแพทย์แผนไทย

ฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และฤทธิ์ในการห่าเชื้อรา

กระเทียม
สารอัลลิซิน(allicin) ที่อยู่ในกระเทียม สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในปากและคอไม่ให้มีการเจริญเติบโตต่อไปได้

วิธีใช้
นำกระเทียมมาบดหรือขูดให้ละเอียด ใช้ผ้าสะอาดกรองบีบคั้นเอาแต่น้ำ นำน้ำกระเทียมที่ได้ไปผสมกับน้ำอุ่น 5 เท่าของน้ำกระเทียม ผสมเกลือลงไปเล็กน้อย นำมากลั้วปากและคอ จะช่วยฆ่าเชื้อโรค และทำให้ไม่มีกลิ่นปาก และต่อมทอนซิลอักเสบที่เริ่มเป็นก็จะรักษาได้ด้วย

อบเชย
อบเชยจะมีน้ำมันหอมระเหย ที่เรียกว่า ซินนามอลดีไฮด์(Cinnamaldehyde) อยู่ในเปลือกต้น มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี ความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยซินนามอลดีไฮด์ที่มีสูงถึง 20% จะสามารถใช้แก้พิษของอะฟลาท็อกซินได้ ส่วนในพวกเชื้อราแอสเปอร์จิลลัส พาราไซติคัส ก็สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งในถั่วลิสงป่น หรือพริกป่นมักจะพบราพวกนี้ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคตับ เมื่อรับเชื้อเข้าไปผู้ป่วยมักจะมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง

วิธีใช้
หลังอาหารให้รับประทานยาธาตุน้ำอบเชยโบราณที่เป็นยาบำรุงธาตุ หรือยาธาตุขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราในร่างกาย

ข่า
ในเหง้าข่าจะมีน้ำมันระเหยที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียอยู่หลายชนิด เช่น Methyl cinnamate 48% Cineol 20-30% เป็นต้น ส่วนที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา คือ 1-acetoxychavicol acetate

วิธีใช้
ให้ทาครีมน้ำมันข่า 3% บริเวณผิวหนังที่เป็นกลากเกลื้อนเพื่อฆ่าเชื้อรา

ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียของสมุนไพร
ขมิ้นชัน
น้ำมันระเหยเคอร์คิวมิน(Curcumin) จะมีอยู่ในเหง้าของขมิ้นชัน มีฤทธิ์กระตุ้นแบคทีเรียในลำไส้ที่มีประโยชน์ให้เพิ่มมากขึ้น ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่สร้างกรดในกระเพาะอาหารให้ลดน้อยลง ขมิ้นชันมีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้ระงับอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยห้ามเลือด ทำให้แผลในกระเพาะอาหารหายเร็วขึ้น

วิธีใช้
ขมิ้นชันในรูปของน้ำมัน หากจะใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียไม่ควรกินเกิน 1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และไม่ควรเกิน 50 กรัมใน 1 วัน หากเป็นชนิดลูกกลอนให้กินครั้งละ 3-5 เม็ด ก่อนอาหารและก่อนนอน หรือเมื่อมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ

ฤทธิ์ควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือดของสมุนไพร

หัวหอม
ในหัวหอมจะมีสาร ไซโคลอัลลิอิน(cycloallein) ที่สามารถช่วยระบายลิ่มเลือดที่อยู่ในเส้นเลือดได้ ทำให้เลือดสามารถหมุนเวียนได้สะดวกขึ้น ช่วยลดความดันโลหิตสูง และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วย

วิธีใช้
หากต้องการควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ให้นำหอมใหญ่ ½ หัว หรือหอมแดง 5-6 หัว รับประทานพร้อมอาหารทุกวัน ใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 2 เดือน

กระเทียม
สารตัวหลักที่อยู่ในกระเทียมก็คือ อัลลิซิน และมีอีกหลายตัวที่เป็นประโยชน์ในการรักษาโรค สารอัลลิซินจะมีบทบาทในการลดการรวมตัวของเกล็ดเลือด ส่วนลิ่มเลือดที่อุดตันอยู่ในเส้นเลือดสารนี้ก็สามารถสลายออกไปได้ และยังช่วยขยายหลอดเลือดให้กว้างขึ้นทำให้ความดันโลหิตลดลง ช่วยลดระดับของโคเลสเตอรอลและน้ำตาลในเส้นเลือด

วิธีใช้
หากต้องการควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ให้นำกระเทียมสดมา 5 กรัม บดหรือสับให้ได้ 1 ช้อนชา กินพร้อมอาหารวันละ 3 มื้อ หรือประมาณวันละ 15 กรัม ในหัวกระเทียมที่สดใหม่จะมีสารสำคัญสมบูรณ์ที่สุด เมื่อสับหรือบดละเอียดสารอัลลิซินก็จะออกฤทธิ์ได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ในขณะที่ท้องว่างก็ไม่ควรกินกระเทียมเข้าไป เพราะจะทำให้กระเพาะอาหารเกิดการระคายเคืองได้

คำฝอย
ในเมล็ดของคำฝอย จะมีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวซึ่งมีส่วนประกอบเป็น Linoleic acid ช่วยทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดต่ำ และทำให้การจับตัวของเกล็ดเลือดลดลง

วิธีใช้
ให้กินน้ำมันเมล็ดคำฝอยเพื่อประโยชน์ในการควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือด

ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสมุนไพร
หอมใหญ่
ในหอมใหญ่จะมีสาร ไซโคลอัลลิอิน(cycloallein) ที่สามารถสลายลิ่มเลือดในเส้นเลือดได้ และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงด้วย

วิธีใช้
หากต้องการลดระดับน้ำตาลในเลือด ให้กินหอมใหญ่ประมาณ ¾ หัว ทุกวัน หรือประมาณวันละ 50 กรัม หรือกินในขนาด ¼ หัวในมื้อเย็น สลับกับกินกระเทียมขนาด 3-5 กลีบพร้อมอาหารเช้า หรือกินหอมใหญ่พร้อมอาหารเช้าเย็นครั้งละ ¼ – ½ หัวก็ได้

มะระขี้นก
ในมะระขี้นกจะมีสาร polypeptide-p อยู่ ซึ่งสารนี้จะมีโครงสร้างคล้ายกับอินซูลิน สามารถใช้ลดน้ำตาลในเลือดได้ จากการทดลองพบว่า สารนี้จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีในเด็กที่เป็นเบาหวาน แต่ในผู้ใหญ่ผลที่ได้ยังไม่ชัดเจน และจากการทดลองในฟิลิปปินส์พบว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น เมื่อให้กินมะระขี้นกนานกว่า 4 ปีเป็นประจำ เมื่อตรวจเลือดและเซลล์ของร่างกายก็พบว่ามีความแข็งแรงดี

วิธีใช้
การใช้มะระขี้นกต้านเชื้อเอชไอวี และลดระดับน้ำตาลในเลือด ให้นำผลมะระขี้นกสดมาประมาณ 4 กรัม นำมาปั่นกับน้ำ 2 แก้ว กรองเอาน้ำดื่มทุกวัน ทำให้ร่างกายดูดซึมสารสำคัญได้ง่ายยิ่งขึ้น

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: รองศาสตราจารย์ ดร. เยาวภา ปิ่นทุพันธ์
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า