สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สมุนไพรที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจ

เป็นพืช ผัก ผลไม้ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีสรรพคุณทางยา เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วจะทำให้เจริญอาหาร มีกำลัง รู้สึกสดชื่น นอนหลับได้ดี พบว่าพืช ผัก และผลไม้พื้นบ้านที่คนไทยใช้เป็นอาหารในท้องถิ่นหลายชนิดมีสรรพคุณช่วยส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจ ทำให้กินได้ นอนหลับ เป็นการบำรุงธาตุให้ปกติ จึงทำให้สุขภาพจิตดีตามไปด้วย

ขอบเขตของวิทยาศาสตร์กับสมุนไพรเพื่อการส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจ
สรรพคุณทางยาของพืช ผัก ผลไม้พื้นบ้านหลายชนิดที่คนไทยใช้เป็นอาหาร สามารถอธิบายถึงฤทธิ์ในการส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจได้จากผลของการศึกษาวิจัยทางเภสัชโภชนา

-พืชผักพื้นบ้านที่ทำให้ธาตุทั้ง 4 สมดุล มีสรรพคุณในการบำรุงธาตุ ไม่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย เช่น อบเชย ชะพลู มะตูม สมอไทย เป็นต้น

-พืชผักพื้นบ้านที่มีสรรพคุณช่วยให้เจริญอาหาร เช่น ยอ มะระขี้นก สะเดา บอระเพ็ด เป็นต้น

-พืชผักพื้นบ้านที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงกำลัง เช่น กระชาย ถั่วพลู มะขามป้อม เป็นต้น

-พืชผักพื้นบ้านที่มีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับได้ดี เช่น ขี้เหล็ก เป็นต้น

บทบาทของสมุนไพรในการส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจ
วิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมทางสังคมในปัจจุบัน ทำให้ชีวิตคนเราต้องเผชิญกับความกดดันและความเครียด เราจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตได้อย่างดี เมื่อมีสุขภาพทางกายและจิตใจที่เข้มแข็งและดีพร้อม และการรักษาอาการเจ็บป่วยทางจิตใจก็อาจได้ผลไม่ดีเท่าการรักษาโรคทางกาย คนไทยมีพืชผักพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางโภชนาการและสรรพคุณทางยาเพียบพร้อม การส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจก็ย่อมมีทางเลือกที่ดีกว่าเมื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การบำรุงธาตุ
อบเชย
ในเปลือกของต้นอบเชยจะมีน้ำมันระเหยที่ประกอบไปด้วยสาร ซินนามอลดีไฮด์ ที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อรา และยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียได้ดี ในเมืองร้อนอย่างประเทศไทยแพทย์แผนโบราณจึงได้นำเอาน้ำมันระเหยนี้มาปรุงเป็นยาบำรุงธาตุ เพื่อใช้แก้พิษจุลินทรีย์ที่มีอยู่อย่างมากมาย

วิธีใช้
ให้กินยาธาตุน้ำอบเชยประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ หลังอาหาร

ชะพลู
สรรพคุณของชะพลู ช่วยในการบำรุงธาตุ

วิธีใช้
ใช้ใบอ่อน ยอดอ่อนมารับประทานเป็นผักสด หรือลวกจิ้มกับน้ำพริก ใช้ใบห่อเป็นเมี่ยงคำ หรือนำมาปรุงเป็นอาหาร

มะตูม
การดื่มน้ำมะตูม หรือกินมะตูมเป็นประจำจะทำให้รู้สึกสดชื่น มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุให้แข็งแรง จะทำให้ระบบการย่อยอาหาร ลำไส้ และกระเพาะอาหารดีขึ้น ออกฤทธิ์เป็นยาแก้อาการท้องผูกและท้องเสีย

วิธีใช้
นำผลมะตูมที่แก่และสุกมาแกะเมล็ดออก เอาเนื้อมาผสมกับน้ำผึ้ง ใช้กินเช้า-เย็น ครั้งละ 1-2 ช้อน หรือนำผลมะตูมแห้งมาต้มน้ำดื่มวันละ 2-3 แก้ว

สมอไทย
ในสมอไทยจะมีสาร แอนทราควิโนน ที่มีสรรพคุณช่วยให้ระบาย และมีสารแทนนิน ช่วยแก้อาการท้องเสียและบำรุงธาตุ

วิธีใช้
นำผลสมอที่ซื้อมาจากร้านขายยาสมุนไพรมาแช่น้ำกิน วันละ 1 ลูก โดยแช่เอาไว้ 1 คืน ในแก้วน้ำ ใช้กินทั้งน้ำทั้งเนื้อในตอนเช้า ทำให้เจริญอาหาร และเป็นยาอายุวัฒนะ

การเจริญอาหาร
ยอ
ในใบและผลของยอ จะมีสารออกฤทธิ์อย่างอ่อนช่วยให้มีการระบายท้อง สารนี้คือ แอนทราควิโนน ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองหรือเป็นอันตรายต่อลำไส้ ไม่ทำให้อ่อนเพลีย แก้ท้องอืด ช่วยขับพยาธิตัวกลม เส้นด้าย และพยาธิไส้เดือนให้หมดไป จึงทำให้เจริญอาหารและมีร่างกายที่แข็งแรง

วิธีใช้
นำใบยอมาลวกกินกับน้ำพริก หรือนำใบยอที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไปมาผึ่งแดดให้แห้งแล้วนำไปบดให้เป็นผง ใช้ละลายกับน้ำร้อน ดื่มครั้งละ 2 ช้อนชา หรือใช้น้ำผึ้งผสมปั้นเป็นลูกกลอน กินครั้งละ 2 เม็ด จะช่วยให้เจริญอาหาร หรือนำลูกยอดิบมาฝานเป็นแว่นบางๆ คั่วด้วยไฟอ่อนๆ ให้เหลืองกรอบแล้วนำมาชงน้ำร้อนดื่ม โดยใช้ลูกยอที่ฝานแล้ว 1 ลูกต่อน้ำ 1 แก้ว แล้วตั้งทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีก่อนนำมาดื่ม เพื่อให้ตัวยาเข้มข้นยิ่งขึ้น แล้วใช้จิบทีละนิดจนหมดแก้ว วิธีนี้จะสามารถเก็บลูกยอไว้ใช้ได้นาน เมื่อต้องการใช้แก้อาการต่างๆ ก็สามารถนำมาใช้ได้ทันที

มะระขี้นก

ในมะระขี้นกมีสารออกฤทธิ์ชื่อว่า polypeptide-p มีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือด ทำให้เจริญอาหารเนื่องจากไปเพิ่มการใช้น้ำตาลของเนื้อเยื่อ แต่สารชนิดนี้ไม่ใช่อินซูลิน

วิธีใช้
ใช้ผลของมะระขี้นกที่ยังแก่มีสีเขียวมาต้มให้สุก ใช้รับประทานกับน้ำพริก หรือปรุงเป็นอาหาร จะมีฤทธิ์กระตุ้นให้อยากอาหาร

สะเดา
ในสะเดาจะมีสารรสขมที่ชื่อว่า นิมบิดิน(nimbidin) มีสรรพคุณทำให้เจริญอาหาร

วิธีใช้
นำยอดหรือดอกสะเดามาต้มหรือลวกกิน จะทำให้เจริญอาหาร

บอระเพ็ด
ในต้นบอระเพ็ดจะมีสาร N-trans-feruloyltyramine, N-cis-feruloyltyramine, Tinotuberide, phytossterol และ Picroretin ซึ่งออกฤทธิ์ช่วยให้เจริญอาหาร

วิธีใช้
ใช้ต้นสดหรือเถาบอระเพ็ดประมาณ 30-40 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำดื่ม หรือใช้ต้มกับน้ำจาก 3 ส่วนให้เหลือเพียง 1 ส่วน ดื่มก่อนอาหารเช้า-เย็น หรือกินเมื่อรู้สึกเบื่ออาหาร หรือถ้าจะให้รับประทานได้สะดวกขึ้นก็ให้นำมาดองน้ำผึ้ง หรือปั้นเป็นยาลูกกลอนเก็บไว้กินเมื่อต้องการ

การบำรุงกำลัง
กระชาย
มีน้ำมันระเหยอยู่ในเหง้ากระชายประมาณ 0.08% ซึ่งสารที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งแบคทีเรียในลำไส้ ช่วยขับลม ช่วยให้กระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนไหวมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด และช่วยบำรุงกำลังด้วย

วิธีใช้
การใช้กระชายบำรุงกำลัง ทำได้โดย นำรากและเหง้ากระชายสดหนัก 5-10 กรัม ถ้าแบบแห้งหนัก 3-5 กรัม ทุบให้พอแหลกนำมาต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้ปรุงเป็นอาหาร หรือใช้รากกระชาย 1 กำมือ นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำผึ้งในปริมาณที่เท่ากัน คนให้เข้ากันใช้กินครั้งละ 1 ถ้วยชาก่อนอาหารเย็นทุกวัน จะทำให้สดชื่นและช่วยบำรุงกำลัง

ถั่วพลู
ในบรรดาพืชหัวทั้งหมด หัวใต้ดินของถั่วพลูจะมีโปรตีนอยู่มากที่สุดคือประมาณ 12-15% โปรตีนในเมล็ดแก่มีมากถึง 34% โปรตีนในฝักก็มีอยู่สูงเช่นกัน จึงช่วยบำรุงกำลังได้เป็นอย่างดี ในหัวของถั่วพลูจะมีสรรพคุณแก้อาการมึน ตาลาย เวียนศีรษะ ที่มีสาเหตุจากการนอนดึกหรือการใช้สมองมากเกินไป

วิธีใช้
เมื่อจะใช้เพื่อบำรุงกำลัง ให้นำฝักถั่วพลูที่ไม่อ่อนจนเกินไปมาจิ้มน้ำพริกกิน หรือเอาหัวถั่วพลู 1 กำมือมาสับเป็นชิ้นๆ ตากแดดให้แห้งแล้วนำไปคั่วพอเหลือง แล้วนำไปชงน้ำร้อนกินแทนน้ำ มีรสหอมหวาน จะช่วยฟื้นฟูกำลังหลังจากที่ทำงานหนักได้เป็นอย่างดี

มะขามป้อม
ในมะขามป้อมจะประกอบไปด้วยสารต้านพิษโลหะ เช่น พิษตะกั่ว และสามารถกำจัดอนุมูลอิสระในร่างกายได้เป็นอย่างดี เพราะถ้ามีสารอนุมูลอิสระในร่างกายมากเกินไป ก็จะทำให้เซลล์ของร่างกายถูกทำลาย มีระบบภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง ทำให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้นมาได้ง่าย เช่น โรคข้อเสื่อม โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดแข็งตัว เป็นต้น มะขามป้อมมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ ที่สามารถล้างพิษออกจากร่างกายได้

วิธีใช้
ในการบำรุงกำลัง ให้กินมะขามป้อมสดวันละ 1 ลูก หรือจะนำมาเชื่อม หรือกวนกินก็ได้ และยังนำมะขามป้อมมาใช้ในตำรับยาได้ด้วย เช่น ยาตรีผลา ที่ประกอบไปด้วยผลไม้ 3 อย่างคือ มะขามป้อม สมอไทย และสมอพิเภก โดยใช้ในอัตราส่วนที่เท่ากันนำมาบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นลูกกลอน ใช้กินครั้งละ 4-10 เม็ดกับน้ำอุ่นก่อนนอน มีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อนๆ และช่วยบำรุงธาตุ

การนอนหลับ
ขี้เหล็ก
เมื่อใช้แอลกอฮอล์ 25% มาสกัดใบขี้เหล็ก ก็จะได้สารที่ออกฤทธิ์สงบประสาทและความเจ็บปวด ระงับความตื่นเต้น ช่วยให้นอนหลับได้ดี แต่ไม่ใช่ยานอนหลับ และยังใช้เสริมฤทธิ์ยานอนหลับประเภท บาร์บิทูเรท ได้ดีอีกด้วย

วิธีใช้
ใช้ยอดอ่อนของขี้เหล็กประมาณ 7 ยอด นำมาลวกหรือนึ่งกินกับน้ำพริกในอาหารมื้อเย็น หรือใช้ใบและดอกทำเป็นแกงกะทิหรือแกงเลียงก็ได้ เพื่อให้สารที่อยู่ในขี้เหล็กออกฤทธิ์ได้ดี จึงไม่ควรต้มขี้เหล็กจนหมดความขม

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: รองศาสตราจารย์ ดร. เยาวภา ปิ่นทุพันธ์
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า