สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สมองพิการ(Cerebral palsy/CP)

หรือโรคพิการทางสมอง เป็นกลุ่มอาการพิการเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและท่าทางของร่างกายที่เกิดจากพยาธิสภาพหรือรอยโรคในสมองใหญ่ที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายสมองพิการ

มักเป็นมาแต่กำเนิดหรือตั้งแต่เล็กๆ อาการแสดงและความรุนแรงขึ้นอยู่กับลักษณะรอยโรคในสมอง หรืออาจมีความผิดปกติอื่นรวมทั้งความบกพร่องทางเชาวน์ปัญญาร่วมด้วยในบางราย ความพิการที่เกิดขึ้นจะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากขึ้นไปตามอายุ

พบได้บ่อยในทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่า 1500 กรัม ทารกที่คลอดท่าก้น หรือเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของการคลอด หรือขณะตั้งครรภ์มารดาเป็นโรคติดเชื้อหรือโรคเรื้อรังบางชนิด

สาเหตุ
ความพิการมักเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่สาเหตุส่วนน้อยที่ทราบได้ เช่น

1. ระยะก่อนคลอด ปัจจัยเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ของมารดา เช่น ติดเชื้อไวรัสบางชนิด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ หัดเยอรมัน โรคลมชักชนิดรุนแรง โรคขาดอาหารรุนแรง ได้รับบาดเจ็บ ดื่มแอลกอฮอล์จัด สูบบุหรี่ ได้รับสารกัมมันตรังสี พัฒนาการทางสมองของทารกอาจผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาซึ่งอาจเกิดจากกรรมพันธุ์หรือภาวะตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดสมองของทารก

2. ระยะคลอด สมองทารกได้รับบาดเจ็บหรือมีเลือดออกจากการคลอดยาก ทารกขาดอากาศหายใจไม่หายใจและตัวเขียวหลังคลอด

3. ระยะหลังคลอด หลังคลอดเพียงไม่กี่วันทารกอาจมีภาวะดีซ่านรุนแรง ทำให้บิลิรูบินสะสมในสมอง จึงทำให้สมองพิการชนิดเคลื่อนไหวผิดปกติ

4. ระยะเด็กเล็ก มักเกิดจากโรคติดเชื้อของสมองจากภาวะแทรกซ้อน เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตะกั่วเป็นพิษ โรคขาดอาหารรุนแรง ศีรษะได้รับบาดเจ็บหรือเลือดออกในสมอง สำลักสิ่งแปลกปลอมทำให้เกิดภาวะขาดอากาศหายใจ หรือจมน้ำ

อาการ
อาการผิดปกติมักเกิดขึ้นตั้งแต่หลังคลอด จะปรากฏอาการขึ้นเมื่ออายุได้ 6 เดือน และเมื่ออายุ 1-2 ปีอาการจะชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนในรายที่เกิดจากอุบัติเหตุก็จะมีอาการหลังจากเกิดเหตุ

อาการแสดงเริ่มแรกทารกอาจมีพัฒนาการช้า เช่น คลาน นั่ง ยืน เดิน พูดได้ช้ากว่าปกติ ต่อมากล้ามเนื้ออาจจะแข็งตัวหรืออ่อนตัวกว่าปกติ มีท่าทางและการเคลื่อนไหวผิดปกติ

ส่วนใหญ่ผู้เป็นโรคนี้จะเป็นสมองพิการชนิดเกร็ง คือ แขนขาเกร็ง เคลื่อนไหวลำบาก ข้อศอกและข้อเข่างอ จากที่กล้ามเนื้อแข็งตัว ความผิดปกติอาจจะเกิดที่แขนขาส่วนใดก็ได้

และอาจพบอาการสมองพิการชนิดเคลื่อนไหวผิดปกติ คือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนตัวทั้งร่างกาย การเคลื่อนไหวของใบหน้าและแขนขาช้า หรือกระตุก คล้ายอาการอยู่ไม่สุข ทำให้ไม่สามารถตั้งตัวตรงและหยิบจับสิ่งของได้ซึ่งจะเกิดขึ้นเองนอกเหนือการควบคุมของผู้ป่วย ส่วนอาการสมองพิการชนิดกล้ามเนื้อเสียสหการพบได้เป็นส่วนน้อย คือ ทำให้มีอาการมือสั่นเวลาเคลื่อนไหว เดินเซ เนื่องมาจากการที่กล้ามเนื้อไม่สามารถประสานการทำงานได้ อาการแสดงในผู้ป่วยอาจมีได้มากกว่า 1 ชนิด และยังมีอาการอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย เช่น เดินตัวไม่ตรง เดินขาลากหรือเท้าลากข้างหนึ่ง ตัวสั่น น้ำลายไหล กลืน ดูด หรือพูดลำบาก พูดไม่ชัด พูดฟังไม่รู้เรื่อง เขียนหนังสือหรือติดกระดุมลำบาก อาจมีอาการตาเหล่ สายตาไม่ดี หูตึง เป็นโรคลมชัก สติปัญญาพร่องหรือปัญญาอ่อนในบางราย

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบอาการมีพัฒนาการช้า แขนขาเกร็ง ขาเกร็งไขว้กัน แขนขาเคลื่อนไหวผิดปกติ ตัวสั่น มือสั่น พูดไม่ชัด เดินเซ อาจมีอาการปัญญาอ่อนร่วมด้วยในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน
อาจพบภาวะแทรกซ้อน เช่น เด็กตัวเล็กจากการกินอาหารลำบาก ฟันผุ ท้องผูก ปอดอักเสบจากการสำลักอาหาร ตาบอด หูหนวก กระดูกพรุน ข้อยึดติด ข้อสะโพกหลุด กระดูกสันหลังคด โรคลมชัก ปัญญาอ่อน พัฒนาการช้า สมาธิสั้น ในรายที่เป็นแบบรุนแรง

การรักษา
ควรส่งตรวจที่โรงพยาบาลหากมีอาการน่าสงสัย เช่น ทารกมีพัฒนาการช้า แขนขาเคลื่อนไหวผิดปกติ แพทย์มักวินิจฉัยจากอาการแสดง ตรวจร่างกายและพัฒนาการของเด็กเป็นหลัก อาจต้องทำการตรวจพิเศษด้วยการถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจคลื่นสมอง ตรวจหาความผิดปกติทางกรรมพันธุ์และโรคทางเมตาบอลิซึมสำหรับในรายที่แยกจากสาเหตุอื่นได้ไม่ชัดเจน

เพื่อให้เด็กสามารถช่วยตัวเองได้มากที่สุดถ้าเป็นโรคนี้ มักจะต้องรักษาทางกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน การฝึกพูดและแก้ไขความผิดปกติเกี่ยวกับสายตาและการได้ยิน เป็นต้น และอาจให้ยากลุ่มที่ใช้ควบคุมอาการที่พบร่วมด้วย เช่น ถ้าชักก็ให้รักษาแบบโรคลมชัก ถ้าแขนขาเกร็งหรือเคลื่อนไหวผิดปกติก็ให้ยาบรรเทาอาการ เช่น ไดอะซีแพม ไตรเฮกซีเฟนิดิล ชื่อการค้าคือ อาร์เทน หรือยากลุ่มเลโวโดฟา เป็นต้น แพทย์อาจฉีดสารโบทูลินเพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ หรือผ่าตัดแก้ไขความความพิการและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นร่วมด้วย
ผู้เป็นแบบรุนแรงมักมีอายุสั้น ซึ่งผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและความรุนแรงของโรค ถ้าแขนขาเกร็งทั้ง 4 ข้างมักมีอาการชักและปัญญาอ่อนร่วมด้วย อาจช่วยเหลือตัวเองได้น้อยหรือเดินไม่ได้ หากเกร็งที่ขา 2 ข้าง หรือแขนขาซีกหนึ่งภาวะแทรกซ้อนจะรุนแรงน้อยกว่าที่มีแขนขาเกร็งทั้ง 4 ข้าง การรักษาที่มักได้ผลดี คือ การทำกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด และการใช้อุปกรณ์ช่วย เป็นต้น

ผลการรักษาค่อนข้างดีถ้าเด็กสามารถนั่งได้เมื่ออายุ 2 ปี แต่ถ้าเลยอายุ 4 ปีไปแล้วยังนั่งไม่ได้ผู้ป่วยมักจะเดินไม่ได้ด้วย

ในรายที่ไม่มีความบกพร่องทางเชาวน์ปัญญาและเป็นไม่มาก มักสามารถใช้ชีวิตได้เช่นคนปกติ อาจมีความฉลาดและประสบความสำเร็จในชีวิตได้ดีในบางราย

ข้อแนะนำ
โรคนี้ไม่จำเป็นต้องมีความบกพร่องทางเชาวน์ปัญญาร่วมด้วยและสามารถแสดงอาการได้หลายลักษณะ พ่อแม่ควรเฝ้าสังเกตพัฒนาการของทารกเกิดใหม่ ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือทารกน้ำหนักตัวน้อยอย่างใกล้ชิด หากไม่แน่ใจให้รีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อให้เด็กสามารถกลับมาเป็นปกติหรือช่วยเหลือตัวเองได้

การป้องกัน
โรคนี้หาทางป้องกันได้ค่อนข้างยากเนื่องจากมักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนที่ทราบสาเหตุแน่ชัด ก็อาจป้องกันได้โดย
-ก่อนตั้งครรภ์ ควรดูแสสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง บำรุงด้วยอาหารสุขภาพ ควบคุมโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน
-เมื่อตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หลีกเลี่ยงอันตรายจากแอลกอฮอล์ บุหรี่ คลอดในสถานพยาบาลที่มีความพร้อม
-ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็วหากพบว่าทารกแรกเกิดมีอาการตาเหลือง
-เด็กควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคตามที่แพทย์กำหนด ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ และควรให้การดูแลรักษาอย่างถูกต้องเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า