สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ความสำคัญของสถาบันครอบครัว

สถาบันครอบครัวเป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาพัฒนาการถือว่ามีอิทธิพลยิ่ง ต่อกระบวนการพัฒนาการด้านต่างๆ ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยสูงอายุ แต่มีความสำคัญอย่างเป็นภาวะวิกฤตต่อบุคคลในวัยเด็ก โดยเฉพาะในระยะที่ต้องพึ่งพิงผู้ใหญ่ มีตัวอย่างมากหลายที่ชี้ให้เห็นว่า เด็กที่เติบโตในสถาบันเลี้ยงเด็กหรือในบรรยากาศที่ปราศจากความเป็นครอบครัวนั้น ส่วนมากจะเป็นเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นโรคที่เกิดจากความขาดแคลนเชิงสังคม (Social deprivation) ในรูปแบบต่างๆ เช่น ด้อยความสามารถในการปรับตัว เติบโตช้า ขี้โรค สติปัญญาตํ่า อารมณ์ไม่คงเส้นคงวา ความคิดไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอย Spitz (1945) ได้รายงานผลการศึกษาเปรียบเทียบ พัฒนาการของเด็กที่เลี้ยงในสถาบันเลี้ยงเด็กอ่อนขาดผู้อุปถัมภ์ (Foundling Home) (กลุ่มที่ 1) กับเด็กที่เลี้ยงในสถานที่เลี้ยงเด็กอ่อนของแม่ที่เป็นนักโทษหญิง (กลุ่มที่ 2) เด็กที่มีแม่เป็นนักโทษ จะได้รับการดูแลโอบอุ้มจากแม่เป็นครั้งคราว มีโอกาสเคลื่อนไหวซุกซนมากกว่าเด็กในสถาบันเลี้ยงเด็กขาดผู้อุปถัมภ์ เมื่อทำการศึกษาไประยะหนึ่ง Spitz พบความแตกต่างของพัฒนาการของเด็ก 2 กลุ่มนี้อย่างเห็นได้ชัดเจน โดยพบว่าเด็กกลุ่มที่ (1) เสียชีวิตประมาณ 1/3 ของเด็กทั้งหมดที่ทำการศึกษา ส่วนเด็กกลุ่มที่ (2) ไม่เสียชีวิตสักคนเดียว (อ้างจาก Birren, Kinney, Schaie, & Woodruff, 1981, หน้า 315-316)

ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น เป็นตัวอย่างจากกลุ่มประชากรที่เป็นเด็กวัยทารก ซึ่งถือว่าการขาดแคลนทางสังคมเป็นภาวะวิกฤต แก้ไขได้ยากมาก ถ้าหากไม่ได้รับความสัมพันธ์ที่ดีเชิงสังคมโดยประการต่างๆ ชดเชย รายงานผลการวิจัยหลายชิ้นได้พบว่า หากเด็กได้รับการกระตุ้นเชิงสังคมชดเชยในวัยต่อมาคือวัยเด็กตอนต้น วัยเด็กตอนปลาย และวัยรุ่น ก็สามารถทุเลาพฤติกรรมเชิงลบที่ปรากฏให้เห็นในวัยเด็กทารกได้ (อ้างจากผลงานวิจัยหลากหลายซึ่งปรากฏใน Birren, Kinney, Schaie & Woodruff, 1981, หน้า 316)

ได้มีรายงานผลการศึกษาพฤติกรรมเด็กในสถาบันการเลี้ยงเด็กที่ไร้ที่พึ่งจำนวนหลายชิ้น ที่เสนอรายงานผลการค้นคว้าตรงกันแทบทั้งหมดว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงในสถาบันฯ มีอัตราการตายตั้งแต่วัยเด็กสูงกว่าเด็กที่เลี้ยงดูนอกสถาบัน เด็กที่ถูกเลี้ยงในสถาบันที่รอดตายมากราย มักมีปัญหาทางสังคม อารมณ์ และจิตใจ เช่น เก็บตัวมาก เกเร จิตใจอ่อนแอ เป็นโรคประสาท อารมณ์รุนแรง ก้าวร้าวรุนแรง ภูมิต้านทานโรคตํ่ากว่าปกติ ผู้ทำการวิจัยต่างให้ข้อคิดเห็นว่า การที่เด็กในสถาบันเลี้ยงเด็กมีสภาพทางกาย สังคม และจิตใจเช่นนี้ น่าจะเกิดจากการขาดการกระตุ้นทางสังคม (Social stimulation) เด็กตามสถาบันที่มีการสังสรรค์สมาคมกับแม่ หรือตัวแทนแม่บ้าง มักจะมีสุขภาพ อารมณ์ จิตใจ และสติปัญญาดีกว่าเด็กที่ขาดความสัมพันธ์กับแม่ หรือตัวแทนแม่โดยสิ้นเชิง (นพมาศ ธีรเวคิน, 2534)

การปรับตัว    
ศัพท์นี้ใช้ดาษดื่นในวิชาการหลายสาขา ความเข้าใจอย่างกว้างๆ คือ การเปลี่ยนแปลงแผนผังในกายภาพ หรือในเชิงจิตวิทยา ที่ตั้งอยู่ในสิ่งมีชีวิตให้เหมาะหรือเข้ากันได้กับสภาวะใหม่ที่ประสบ ตัวอย่างที่รู้จักกันมาก เช่นจิ้งจกที่หากินอยู่บนฝาผนังสีขาวเป็นเนืองนิตย์ มันย่อมมีผิวสีขาวมากกว่าจิ้งจกที่อยู่ในสภาพแวดล้อมลักษณะอย่างอื่น นี่เป็นการปรับตัวเชิงกายภาพ ส่วนในเชิงจิตวิทยานั้นการปรับตัวเป็นไปในพฤติกรรม ต้องสังเกตถี่ถ้วนจึงจะเห็น มีผู้อธิบายความหมายของการปรับตัวในแง่วิชาการไว้หลายนัย ในที่นี้ขอเลือกความหมายตามแนวคิดของ เพียเจท์ มาแสดง เพียเจท์เป็นผู้อธิบายพัฒนาการทางการรู้คิด ได้อธิบายเรื่องนี้ด้วยใจความที่เป็นข้อความค่อนข้างลึกซึ้ง ขอเก็บใจความมาแสดงพอเข้าใจง่ายๆ ในหัวข้อนี้ คือ

เพียเจท์ กล่าวถึงศัพท์ 2 คำควบคู่กัน คือ การปรับตัว และการกลมกลืน ผู้อ่านคงจะเข้าใจสะดวกขึ้น โดยขอยกตัวอย่างว่า สัตว์กินอาหารเข้าไป นี่มีกรณีเกิดขึ้น 2 กรณี คือ มันปรับอาหารในระบบย่อยอาหาร ให้เปลี่ยนเป็นสารซึ่งร่างกายดูดซับ กลมกลืน เข้าไปเป็นส่วนของร่างกายมัน มนุษย์เราได้ปัญญาความเฉลียวฉลาดโดยวิธีเดียวกัน เราจัดแผนผัง (ความรู้คิด) ของเรา ให้ปรับตัวเข้าได้กับข้อสนเทศใหม่ ในขณะเดียวกัน เราก็ กลืน การเรียนรู้อันนี้เข้าในโครงสร้างทางจิตของเรา ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น เมื่อเราเห็นวัตถุชนิดใหม่อย่างหนึ่งเป็นครั้งแรก เราพยายามค้นว่ามันอยู่ในพวกอะไรที่เราเคยรู้ มันเป็นอาวุธใช่ไหม? เป็นเครื่องมือกวาดบ้าน? หรือว่าเป็นเครื่องมือใช้ทำกับข้าว? ถ้ามันเข้ากันไม่ได้กับความคิดรวบยอดที่เรารู้อยู่แล้ว (คือเราไม่สามารถกลมกลืนมัน) เราก็ต้องเปลี่ยนหรือสร้างความคิดรวบยอดรูปใหม่ขึ้น (นี่คือการปรับตัว)

เพื่อให้ชีวิตมีเสถียรภาพ การปรับตัวและการกลมกลืนย่อมดำเนินไปตลอดเวลา และต้องมีความสมดุลคู่กันไป การดำเนินไปสู่ความสมดุลนี้เองก่อให้เกิดพัฒนาการในทางบวก การปรับตัวและกลมกลืน สำหรับมนุษย์มีทุกวัยแม้แต่ทารกน้อยๆ รายงานการศึกษาเด็กทารกอธิบายว่าทารกแรกเกิดมีสีหน้าแสดงความพอใจเมื่อเห็นแสงนวลๆ ของดวงไฟ และนับตั้งแต่วันที่ 6 หลังคลอด ทารกมองแสงสว่างที่เข้ามาทาง หน้าต่าง เมื่อถูกอุ้มห่างออกมาก็หันศีรษะตามแสงสว่างนั้น ตามความเห็นของเพียเจท์ การจับตาดูเป็นการกลมกลืนเอาสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ตน การหันศีษะตามดูแสงสว่างเป็นการปรับตัวเข้าสู่สิ่งแวดล้อม (ประมวญ ดิคคินสัน, 2520 หน้า 130) ในวัยอื่นแม้คนเราประสบสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันไปอย่างไรก็ตาม การกลมกลืน และการปรับตัวในหลักการเช่นที่กล่าวมา ก็ย่อมต้องมีและรักษาสภาพสมดุลตลอดชีวิต

(สำหรับนักศึกษา ซึ่งอาจได้อ่านตำราภาษาอังกฤษต่อไป ขอแจ้งคำศัพท์ภาษาอังกฤษไว้ในที่นี้ว่า การปรับตัวแปลมาจากคำ Accommodation และการกลมกลืน คือ Assimilation)

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า