สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การป้องกันการติดเชื้อในศัลยกรรมกระดูก

การติดเชื้อและการป้องกันการติดเชื้อในศัลยกรรมกระดูกจำแนกตามสถานที่ได้ดังนี้
1. แผนกผู้ป่วยนอก, ผู้’ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน
2. ห้องผ่าตัด
3. หอผู้ป่วยใน

การป้องกันการติดเชื้อที่แผนกผู้ป่วยนอกหรือหน่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน
หน่วยงานนี้ เป็นแห่งแรกในโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีโอกาสรับเชื้อในโรงพยาบาลปนเปื้อนลงไปในบาดแผล ในทางปฏิบัติถ้าพบผู้ป่วยทันทีที่นำส่งโรงพยาบาลโดยมีแผลบาดเจ็บครั้งแรกอาจยังไม่มีการปิดแผล เช่น ในรายกระดูกหักมีแผลเปิดที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เมื่อผู้ป่วยเริ่มเข้ามาอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ สิ่งแรกที่ควรปฏิบัติทันทีที่เห็นผู้ป่วยมีกระดูกหักแผลเปิด คือ การนำเอาผ้าก๊อซที่ปลอดเชื้อปิดคลุมแผลโดยวิธีปลอดเชื้อ การใช้มือหยิบผ้าก๊อซด้านนอกและให้ด้านในปลอดเชื้ออาจไม่ปลอดภัย การจัดการแผลกระดูกหักจึงต้องสวมถุงมือทุกครั้ง การใส่เฝือกชั่วคราวได้แก่ เฝือกไม้, เฝือกลม มีความจำเป็นเพราะจะช่วยให้กระดูกหักอยู่นิ่ง เนื้อเยื่ออ่อนโดยรอบกระดูกหักไม่ถูกกระทบกระเทือนมาก เนื้อเยื่ออ่อนมีความสำคัญมากในปัญหากระดูก หักชนิดมีแผลเปิด เพราะถ้าชอกชํ้ามากจากปลายกระดูกหักทิ่มตำ ความต้านทานต่อเชื้อของร่างกายซึ่งอยู่ในเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของเนื้อเยื่อจะเสียไปด้วย เมื่อเลือดเข้าไปยังเนื้อเยื่ออ่อนที่ชอกชํ้าไม่ได้ เชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ตามเนื้อเยื่อที่ฉีกขาดในแผล ก็จะเจริญแบ่งตัว ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ การย้ายผู้ป่วยจากเตียงหนึ่งไปยังอีกเตียงหนึ่ง หรือนำผู้ป่วยไปถ่ายภาพรังสี และแม้แต่การใส่เฝือกชั่วคราว การเคลื่อนย้ายส่วนบาดเจ็บของผู้ป่วยต้องระมัดระวัง พยายามให้รบกวนน้อยที่สุด ที่ถูกต้องคือต้องใช้มือดึงส่วนที่กระดูกหักให้อยู่นิ่ง และแรงดึงจะช่วยไม่ให้ปลายกระดูกหักเหลื่อมกันมาก และจะเป็นการลดการเคลื่อนไหวของปลายกระดูกหัก เพื่อไม่ให้เนื้อเยื่ออ่อนชอกชํ้ามาก

การถ่ายภาพรังสีไม่ควรนำส่วนที่กระดูกหักออกจากเฝือกชั่วคราว ถ้าจำเป็นต้องทำเพื่อถ่ายภาพรังสี ควรมีเจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินเป็นผู้ช่วยในการเอาส่วนที่กระดูกหักออกจากเฝือกชั่วคราวที่ใส่ป้องกันไว้ ทั้งนี้เนื่องจากในห้องถ่ายภาพรังสี โดยเฉพาะบนเตียงถ่ายภาพรังสีอาจมี เชื้อโรคซึ่งติดมาจากผู้ป่วยรายอื่นๆ และในห้องถ่ายภาพรังสีแสงแดดมักจะส่องเข้าไปไม่ได้ ทำให้มีเชื้อโรคมาก เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพรังสีจะต้องมีความรู้ในเรื่องการติดเชื้อและการป้องกันด้วย

สำหรับแพทย์ผู้รักษา เป็นบุคลากรสำคัญอีกประเภทหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง ถ้าแพทย์ไม่ระมัดระวัง ทำตัวอย่างที่ผิดเจ้าหน้าที่ประเภทอื่นก็จะทำตาม โดยเฉพาะในเรื่องหัตถการ, การเปิดดูแผลกระดูกหักที่ห้องแรกรับ จากการใช้มือที่สกปรกสัมผัสกับแผลหรือการเปิดแผลทิ้งไว้นาน ยิ่งไปกว่านั้นการที่แพทย์หรือเจ้าหน้าที่อื่น เช่น พยาบาลไม่สวมหมวก ผูกผ้าปิดจมูกแล้วชะโงกดูแผล, อาจมีรังแคจากผม ละอองนํ้าลายในขณะที่พูดกระเด็นลงไปในแผล ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง เพราะเจ้าหน้าที่เหล่านี้มีโอกาสสัมผัสเชื้อจากคนไข้รายอื่นๆ แม้ว่า จะล้างมือก็อาจมีโอกาสรับเชื้อจากผ้าเช็ดมือที่แขวนไว้ประจำห้องที่ใช้ร่วมกัน

การใส่เฝือกชั่วคราวไม่ควรจะรัดส่วนที่กระดูกหักให้แน่นเกินไป เพราะจะทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนบาดเจ็บน้อยลงจะเป็นผลให้เนื้อเยื่อตายจากการขาดเลือดกว้างขวางขึ้น การรัดห้ามเลือดที่มีผู้ทำให้คนไข้ก่อนมาถึงโรงพยาบาล ควรจะคลายออกโดยเร็วเมื่อมาถึงโรงพยาบาล และถ้ามีเลือดออกมากก็ต้องห้ามเลือด โดยใช้คีมห้ามเลือดชั่วคราวหรือการใช้ผ้าก๊อซชนิดกดห้ามเลือด ก็จะทำให้ช่วยลดอัตราการติดเชื้อได้อีกวิธีหนึ่ง

การติดเชื้อในกระดูกหักที่มีแผลเปิดนั้น ระยะเวลาเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง การปล่อยให้ผู้ป่วยรอรับการรักษาเป็นเวลานาน ก็จะทำให้อัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยทุกขั้นตอนจึงต้องทำด้วยความรวดเร็ว

หัตถการต่างๆ ที่ควรจะทำในห้องผ่าตัด แต่พอจะทำที่ห้องฉุกเฉินหรือแผนกผู้ป่วยนอกได้ เช่นการเจาะเพื่อเอาเลือดหรือนํ้าไขข้อออก ในกรณีข้ออักเสบเพื่อการวินิจฉัย, การฉีดยาเข้าข้อ และการใส่ลวดเสียบกระดูกเพื่อดึง ถ้าทำโดยไม่ระมัดระวังจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย

การเจาะเพื่อตรวจหรือการรักษาที่ทำบ่อยๆ ได้แก่ ข้อเข่า ต้องพิถีพิถันในเรื่องความสะอาดปลอดเชื้อเป็นพิเศษ เพราะถ้ามีการติดเชื้อในข้อจะเกิดความพิการ คือ ข้ออักเสบ เป็นหนอง ข้ออาจจะติดแข็งในที่สุด ที่สำคัญคือการรักษาข้ออักเสบเป็นหนองนั้นยุ่งยาก ใช้เวลานาน หายยาก สิ้นค่าใช้จ่ายสูง และทำให้พิการได้ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อจึงมีผลคุ้มค่า เริ่มตั้งแต่การเตรียมบริเวณที่จะเจาะหรือฉีดยาเข้าไปในข้อ ได้แก่ การฟอกผิวหนังด้วยสบู่หรือนํ้ายาฆ่าเชื้อให้สะอาด เมื่อจะเจาะข้อต้องทายาฆ่าเชื้ออีกครั้งหนึ่ง เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย ผ้าเจาะกลาง เข็มฉีดยา (ถ้าเป็นไปได้ควรใช้ชนิดที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเพราะสะดวกและเข็มคม) เครื่องมืออื่นๆ ได้แก่ ผ้าก๊อซ ถุงมือ ฯลฯ อุปกรณ์เหล่านี้ต้องผ่านการทำให้ปลอดเชื้อแล้ว การเจาะทุกครั้งต้องสวมถุงมือ ปูผ้าเจาะช่องกลางเพื่อกันการปนเปื้อนเชื้อในระหว่างทำเข็มเจาะควรมีขนาดพอดีเช่นเบอร์ 18 การใช้เข็มเบอร์ 15 นั้นขนาดใหญ่เกินไป ทำให้ต้องฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณผิวหนังที่จะเจาะ ซึ่งนอกจากเป็นการเพิ่มงาน, สิ้นเปลืองแล้วยังเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีกด้วย เพราะยาชาเฉพาะที่ใช้ร่วมกันหลายครั้ง และบางครั้งเสียบเข็มคาไว้เป็นเวลานาน และปริมาณยาที่ฉีดจะทำให้เนื้อเยื่อบวมโดยไม่จำเป็นอีกด้วย ในขณะที่เจาะข้อควรระวังสภาพแวดล้อม ได้แก่การกระจายของฝุ่น ควรงดใช้พัดลม เพราะจะทำให้ฝุ่นกระจาย อาจทำให้บริเวณที่ เจาะข้อมีฝุ่นที่ปนเปื้อนเชื้อมาตก เป็นโอกาสให้เชื้อเข้าไปในข้อระหว่างเจาะข้อได้

หัตถการอย่างอื่น เช่น การเจาะใส่ลวดเสียบเพื่อดึงถ่วงกระดูก ก็ต้องระมัดระวังความสะอาดปลอดเชื้อเช่นเดียวกัน ภายหลังที่เจาะใส่ลวดเสียบแล้ว การระวังรักษาปลายลวดเสียบที่โผล่ออกจากผิวหนังทั้ง 2 ปลายมีความสำคัญ เพราะจะเป็นโอกาสให้มีการติดเชื้อตามช่องลวดเสียบได้ ทั้งนี้เป็นเพราะผิวหนังบริเวณที่ลวดเสียบโผล่อยู่จะเลื่อนไปมา แม้เป็นระยะทางสั้นๆ เป็นมิลลิเมตรก็จะมีโอกาสนำเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่บนลวดที่โผล่เข้าไปในแผลได้แม้จะมีการ ป้องกันไม่ให้มีการขยับของลวดไปมาอย่างดีแล้วก็ตาม ผิวหนังจะยังคงมีการเคลื่อนไหวเสียดสีกับลวดที่โผล่อยู่ เพราะในขณะที่กล้ามเนื้อส่วนที่ใกล้กับกระดูกหักหดตัวก็จะมีการเลื่อนออกมาของผิวหนังที่ลวดโผล่ และเมื่อกล้ามเนื้อคลายตัวผิวหนังก็จะกลับสู่ตำแหน่งเดิม ดังนั้น ลวดส่วนที่โผล่พ้นจากผิวหนังจึงต้องปลอดเชื้อ นั่นคือ ต้องปิดด้วยผ้าก๊อซปลอดเชื้อ และใช้น้ำยาเช็ดล้างลวดส่วนที่โผล่ให้มั่นใจว่าไม่มีเชื้อปนเปื้อน อาจแก้ปัญหานี้โดยการใช้ขี้ผึ้งที่มีส่วนประกอบเป็นยาฆ่าเชื้อ เพื่อขี้ผึ้งยานี้จะเกาะเคลือบผิวหนังและลวดบริเวณดังกล่าวได้ เป็นการรักษาให้มีการปลอดเชื้อในตำแหน่งนั้นได้ดี และคงอยู่เป็นระยะเวลานานกว่าวิธีอื่นๆ แต่ต้องเปลี่ยนขี้ผึ้ง และทำความสะอาดแผลเป็นระยะๆ เช่น ทุก 2-3 วัน

การเข้าเฝือกในผู้ป่วยที่มีแผล แต่ไม่ใช่แผลจากกระดูกหัก ต้องระมัดระวังมากกว่าการเข้าเฝือกที่ไม่มีบาดแผล การปิดแผลและการระวังรักษาแผลในเฝือกต้องดีเป็นพิเศษในระยะก่อนเข้าเฝือกแม้เป็นแผลถลอก การปิดแผลจะต้องแน่ใจว่าได้ทำสะอาดและรู้ตำแหน่งแน่นอน จะได้เปิดช่องที่เฝือกเพื่อทำแผลได้ถูกต้อง การเข้าเฝือกก็ควรทำตามหลักการเข้าเฝือกที่ดีทั่วไปคือ หลีกเลี่ยงการกดรัดตามตำแหน่งต่างๆ และถ้ามีเลือดซึมหลังจากเข้าเฝือกจนมองเห็นรอยเลือดที่เฝือกแสดงว่ามีเลือดออกมาก ซึ่งจะหมักหมมและมีการปนเปื้อนเชื้อจากบริเวณรอบๆ หรือใกล้เคียงแผล หรือมีไข้สูง และปวดมากที่บริเวณแผลก็ต้องเจาะเฝือกบริเวณนั้นออกเป็นช่อง เพื่อตรวจสภาพบาดแผลว่ามีการติดเชื้อเป็นหนองหรือไม่ การที่มีเลือดคงในเนื้อเยื่อมักเป็นปัจจัยที่ ช่วยให้มีการติดเชื้อได้ ดังนั้นการใส่ท่อระบายต้องระวังไม่ให้หลุด การแนะนำให้ปฏิบัติภายหลังการเข้าเฝือก เพื่อป้องกันการบวม มีความจำเป็น ได้แก่ แนะนำให้ยกส่วนที่ผิดปกติไว้ให้สูงกว่าระดับหัวใจในแนวนอน อีกทั้งให้มีการเคลื่อนไหวส่วนที่ไม่ได้เข้าเฝือก คือข้อที่อยู่ใกล้เคียงตำแหน่งกระดูกหักให้มีการเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันการบวมและข้อติด

การป้องกันการติดเชื้อในห้องผ่าตัดออร์โธปิดิคส์
การป้องกันการติดเชื้อในห้องผ่าตัด มีความสำคัญทางออร์โธปิดิคส์เป็นอย่างมาก ความสะดวกสบายเล็กๆ น้อยๆ ของเจ้าหน้าที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงกับผู้ป่วย ที่เข้ารับการผ่าตัดในห้องผ่าตัด จะเห็นได้ว่าบุคลากรทุกประเภทที่ทำงานอยู่ในห้องผ่าตัด มีส่วนร่วมกันรับผิดชอบภาวะแทรกซ้อนอันเกิดจากการติดเชื้อภายหลังการผ่าตัด สถานที่และอุปกรณ์ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดภาวะการติดเชื้อหลังการผ่าตัดได้ด้วย

สถานที่และอุปกรณ์ เป็นปัญหาที่พบบ่อยในบ้านเรา ทั้งนี้เป็นเพราะการจัดตั้งห้องผ่าตัด ในสมัยก่อนไม่เหมาะสม หรือห้องผ่าตัดได้รับการดัดแปลงมาจากสถานที่อย่างอื่น แต่การจะแก้ไขโดยวิธีเปลี่ยนห้องผ่าตัดใหม่คงกระทำได้ยาก สิ่งที่ควรทำคือ การรักษาความสะอาดในด้านสถานที่เท่าที่มีอยู่ให้ดีที่สุด ปัญหาที่พบบ่อยในสถานที่ ได้แก่ ที่ตั้งห้องผ่าตัด ซึ่งบางครั้ง ตั้งอยู่ชั้นล่าง มีการรั่วของผนังและเพดานห้อง บางแห่งมีคนเดินพลุกพล่านผ่านห้องผ่าตัดบ่อยๆ ทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายเข้าไปในห้องผ่าตัดได้ ทางเข้าออกของผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ที่ใช้ร่วมกัน ผู้ป่วยที่ผ่าตัดเสร็จแล้วยังต้องอาศัยการขนย้ายย้อนออกทางเดิม, การกำหนดบริเวณสะอาดและบริเวณปลอดเชื้อยังไม่แน่นอน มีการลํ้าเขตเหล่านี้อยู่เสมอ, ทำให้ทั้ง 2 เขตกลายเป็นบริเวณไม่สะอาดทั้งคู่, ส้วมสำหรับเจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัดตั้งอยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสม ทำให้บุคลากรไม่ระมัดระวังในการเดินเข้าออกระหว่างห้องส้วมกับห้องผ่าตัด การขนส่งผู้ป่วยไม่ใช้วิธียกข้าม ผ่านช่องหน้าต่าง ทำให้โอกาสที่ฝุ่นติดมากับล้อเปลเข็นที่รับส่งผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ภายในห้องผ่าตัดเองบางครั้งมีทางติดต่อกับภายนอกทำให้ฝุ่นมีโอกาสเล็ดลอดเข้าไปภายในห้องผ่าตัดได้ ผนังห้องซึ่งควรจะปล่อยโล่ง บางครั้งมีตู้เก็บอุปกรณ์เป็นที่สะสมฝุ่น และการใช้พัดลมในห้องผ่าตัดทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย

เกี่ยวกับอุปกรณ์ในห้องผ่าตัดทางด้านออรโธปิดิคส์ ที่มีพิเศษไปจากห้องผ่าตัดอื่นๆ ได้แก่ เครื่องบันทึกภาพรังสีจอโทรทัศน์ (Image intensifying unit), เตียงผ่าตัดผู้ป่วยชนิดที่ดึงแขนขาได้, สว่านลม (air drill), กล้องจุลทรรศน์สำหรับผ่าตัด, เครื่องมือในการส่องตรวจช่องข้อ อุปกรณ์เหล่านี้มีขนาดใหญ่และมีบางส่วนที่จะต้องไปอยู่ในบริเวณผ่าตัด การรักษาเครื่องมือเหล่านี้ให้ปราศจากฝุ่นจึงมีความจำเป็น และการใช้เครื่องมือเหล่านี้ต้องใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว มิฉะนั้นจะทำให้เสียเวลาและมีการเคลื่อนไหวมากเกินจนทำให้ฝุ่นละอองหรือเชื้อปนเปื้อนกับส่วนที่ควรปลอดเชื้อของเครื่องมือ และในห้องผ่าตัดที่มีขนาดแคบๆ การใช้เครื่องมือเหล่านี้จะทำให้ปนเปื้อนได้ง่าย

อุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัดโดยทั่วไป เช่น ผ้าปู ควรมีขนาดใหญ่และหนาพอที่จะไม่มีรอยชำรุดเป็นทางติดต่อกับส่วนที่ไม่ปลอดเชื้อที่คลุมอยู่ การใช้ผ้าผืนเล็กๆ คลุมผู้ป่วย นอกจากจะทำให้เสียเวลาแล้วยังเป็นการเคลื่อนไหวที่มากเกินความจำเป็น ทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย ดังนั้น การใช้ผ้าขนาดต่างๆ ต้องเลือกใช้ให้ถูก กล่าวคือในตอนแรกควรคลุมตัวผู้ป่วยให้ทั่วเสียก่อน โดยใช้ผ้าขนาดใหญ่ ต่อมาจึงคลุมส่วนที่เหลือเฉพาะส่วนด้วยผ้าขนาดเล็กลงมาและในส่วนที่เป็นปลายแขนปลายขาไม่เกี่ยวกับบริเวณผ่าตัด ควรใช้ถุงผ้าที่มีขนาดพอเหมาะและมีความลึก เพียงพอที่จะห่อหุ้มปลายอวัยวะเหล่านั้นได้มิดชิด ถุงผ้าควรมีอย่างน้อย 2 ชั้น การใช้ผ้าสี่เหลี่ยมห่ออวัยวะเหล่านี้ นอกจากไม่สะดวกยังมีโอกาสปนเปื้อนได้ง่าย และสิ้นเปลืองผ้าพันโดยไม่จำเป็น การใช้ปลอกผ้ายืด (Stockinett) ยังมีขอจำกัดเพราะมีเศษผ้าเป็นขุยตามผิวของปลอกผ้ายืด บางครั้งอาจหล่นค้างในแผลผ่าตัดโดยไม่รู้ เป็นสิ่งแปลกปลอมส่งเสริมให้มีการติดเชื้อได้ การใช้แผ่นพลาสติคชนิดติดผิวหนัง (Steri-drape) มีประโยชน์เพราะยึดปิดผิวหนังได้ แนบสนิทไม่เปียกชื้นรอบบริเวณผ่าตัด กระดาษที่รองแผ่นพลาสติคเป็นกระดาษที่เคลือบมัน ไม่เปียกนํ้า ไม่ควรทิ้ง อาจนำมารองกันซึมที่บริเวณผ่าตัดได้

ในระหว่างผ่าตัด อุปกรณ์ที่ใช้ ได้แก่ ผ้าก๊อซซับเลือดควรพับให้เรียบร้อยไม่ควรตัดชาย เพราะจะทำให้มีเศษผ้าลุ่ยที่ชาย และอาจค้างอยู่ในแผลเป็นสิ่งที่แปลกปลอม แป้งที่ติดมากับถุงมือ ต้องระวังควรจะเช็ดหรือล้างออกให้หมดก่อนลงมือผ่าตัดหรือจับต้องเครื่องมือ และไม่ควรใช้แป้งทามือก่อนสวมถุงมือ เพราะจะเป็นฝุ่นฟุ้งกระจายในห้องผ่าตัด การใช้เครื่องจี้ห้ามเลือดด้วยไฟฟ้าถ้าใช้มากจะเป็นผลเสีย เพราะโปรตีนตกตะกอน ทำให้เนื้อเยื่อตาย ทำให้แผลหายช้า และติดเชื้อง่ายเป็นบริเวณกว้าง

เครื่องห้ามเลือดด้วยการรัด (Tourniquet) มีความจำเป็นในการผ่าตัดออร์โธปิดิคส์มาก แต่บางครั้งก็ก่อให้เกิดโทษ เช่น ในกระดูกหักมีแผลเปิด โรคของหลอดเลือด การใช้เครื่องห้ามเลือดมีอันตราย ข้อดีคือทำให้การผ่าตัดสะดวกเห็นส่วนต่างๆ ได้ชัดเจน แต่ไม่ควรประมาท คือไม่ควรเย็บปิดแผลก่อนการปล่อยเครื่องห้ามเลือด เพราะบางครั้งอาจมีหลอดเลือดฉีกขาด ซึ่งมองไม่เห็นในขณะผ่าตัด ทำให้มีเลือดคั่งในแผลผ่าตัด เป็นสาเหตุของการติดเชื้อได้ อนึ่ง การใช้เครื่องมือห้ามเลือดนานเกินกำหนดเป็นปัจจัยสำคัญเสริมให้ติดเชื้อได้ง่าย

การใส่ท่อระบายเลือดจากแผลผ่าตัดออกสู่ภายนอกมีความจำเป็นมากในการผ่าตัด ทางออร์โธปิดิคส์ เพราะปัญหาเลือดคั่งในแผลผ่าตัดที่กล่าวมาแล้วเป็นปัญหาสำคัญในการติดเชื้อหลังผ่าตัด ท่อระบายที่ดีควรมีขนาดใหญ่ และมีเครื่องดูดความดันลบและต้องปลอดเชื้อทั้งระบบ ในปัจจุบันมีผู้ให้ความเห็นว่าความดันลบที่มีแรงสูง เช่น 500 มม.ปรอท จะได้ผลดีในการป้องกันเลือดคั่งในแผลกว่าการใช้เครื่องระบายแบบเก่าที่มีความดันลบเพียง 200 มม.ปรอท ท่อระบายชนิดอื่น เช่น Penrose drain, Tube drain ที่ไม่มีเครื่องดูดความดันลบประกอบอยู่ด้วย ทางออร์โธปิดิคส์ไม่นิยมใช้ เพราะจะทำให้การระบายเลือดจากแผลผ่าตัดไม่ได้ผล

การเข้าเฝือกภายหลังการผ่าตัด ไม่ควรทำในห้องผ่าตัด ในกรณีที่จะต้องมีการผ่าตัดรายต่อไปในวันนั้น ; เพราะฝุ่นจากเฝือกจะฟุ้งกระจายมากขึ้น จึงควรย้ายไปเข้าเฝือกนอกห้องผ่าตัด

การป้องกันฝุ่นละออง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภายนอกห้องผ่าตัด นอกจากจะป้องกัน โดยวิธีไม่ให้คนนำติดตัวเข้าไปแล้ว ยังป้องกันโดยใช้ประตูที่เหมาะสม การกำจัดฝุ่นควรใช้พรมดักฝุ่นที่ติดไปกับรองเท้าของบุคลากรผู้ที่เดินเข้าออก เพื่อให้เศษวัสดุทั้งหลายรวมทั้งฝุ่นที่ติดใต้รองเท้าจะหลุดติดกับพรมที่มีพื้นหนาเหนียว การใช้อุลตราไวโอเล็ทฉายในห้องผ่าตัดในเวลาที่ปิดห้องผ่าตัดค้างคืนเพื่อให้ทำลายเชื้อ แต่การใช้รังสีนี้ไม่สามารถทดแทนมาตรการรักษาความสะอาดอื่นๆ ได้ ดังนั้นการใช้หลอดไฟฟ้าชนิดดังกล่าวจึงเป็นเพียงวิธีเสริมการรักษาความสะอาดในห้องผ่าตัดเท่านั้น

เกี่ยวกับสถานที่อีกประการหนึ่ง ได้แก่ การตั้งกระถางต้นไม้ประดับไว้ในบริเวณใกล้เคียงกับห้องผ่าตัด เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะอาจเกิดฝุ่นละอองจากดินที่ปลูกไม้ประดับปลิวฟุ้งเข้าไปในห้องผ่าตัดได้ และบางครั้งเกษรดอกไม้ก็ปลิวกระจายเข้าไปในห้องผ่าตัดได้ด้วย ในฝุ่นละอองเหล่านี้อาจมีแบคทีเรียชนิดต่างๆ ที่เกิดจากดิน เช่น บาดทะยัก เป็นต้น ในบริเวณห้องผ่าตัดไม่ควรจะมีการประดับด้วยแจกันดอกไม้ เพราะดอกไม้มีละอองเกษรเช่นเดียวกับต้นไม้ประดับ แม้แต่รูปภาพประดับที่ติดผนังก็ควรงดเว้น เพราะเป็นแหล่งสะสมฝุ่นละออง ดังนั้นในห้องผ่าตัดจึงไม่ควรมีส่วนประกอบเป็นตู้เป็นชั้นที่ผนังข้างฝาห้องด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว

สัตว์และแมลงต่างๆ ที่เล็ดลอดเข้าไปในห้องผ่าตัด เป็นสิ่งที่ต้องพยายามกำจัดแมลงวัน, แมลงหวี่, ยุง เป็นสัตว์ที่พบว่าพลัดหลงเข้าไปในห้องผ่าตัดได้บ่อย แมลงสาบ, หนู พบว่า อาศัยอยู่ในห้องผ่าตัดได้ ถ้ามีบริเวณที่สัตว์เหล่านี้อาศัยอยู่ได้

การปกิบัติของบุคลากรในห้องผ่าตัดเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด เพราะลำพังสถานที่แม้จะดี อุปกรณ์แม้จะทันสมัย แต่บุคลากรใช้อย่างไม่ถูกต้องก็จะทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับห้องผ่าตัด โดยเฉพาะในทางศัลยกรรมกระดูกและข้อ จึงต้องทราบความสำคัญของตนเองในส่วนที่จะเป็นสาเหตุของการติดเชื้อหลังผ่าตัด การที่เจ้าหน้าที่บางคนไม่รักษาความสะอาดก็จะทำให้การที่ส่วนใหญ่พยายามรักษาความสะอาดไร้ผล บุคลากรที่ละเลยไม่รักษาความสะอาด อาจเนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่เห็นความสำคัญในการ รักษาความสะอาด หรือเป็นเพราะนิสัยมักง่าย

การรักษาความสะอาดของเจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัด เริ่มตั้งแต่ในตัวเจ้าหน้าที่เอง เช่น ผม ความสะอาดของร่างกาย, เล็บ, ฯลฯ ผู้ที่ปฏิบัติงานในห้องผ่าตัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะเข้าไปเกี่ยวกับบริเวณเตียงผ่าตัด ได้แก่ การส่งเครื่องมือ, การเข้าช่วยผ่าตัด เป็นต้น ควรปฏิบัติให้ถูกกฎเกณฑ์ นิสัยที่เอะอะตึงตัง, ทำลุกลี้ลุกลน เช่น เปิดประตูห้องผ่าตัดโดยแรง ไม่ควรกระทำเพราะจะเป็นช่องทางให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจายในห้องผ่าตัด

การแต่งกายของเจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัด ชุดเข้าห้องผ่าตัดควรแต่งให้มิดชิด การนุ่งกางเกง ไม่ควรให้ขากว้างเกินไป จะทำให้กระพือฝุ่นฟุ้งได้มากกว่าขาแคบ และกางเกงน่าจะดีกว่ากระโปรง เพราะกระโปรงจะทำให้มีอากาศเคลื่อนไหวเวลาเดินได้มากกว่ากางเกง การสวมหมวก ผูกผ้าปิดปาก-จมูกควรปิดให้มิดชิดเช่นกัน ผมไม่ควรโผล่ออกมานอกขอบหมวก เพราะมีขี้รังแคหรือฝุ่น ตลอดจนเส้นผมเองอาจร่วงตกลงไปบนพื้นห้องผ่าตัด ต่อมาเมื่อมีลมพัดหรือการกระพือเวลาเดินผ่าน ฝุ่นละอองเหล่านี้จะฟุ้งกระจายและตกลงไปในแผลผ่าตัดขณะที่ทำการ ผ่าตัดอยู่ ผ้าปิดปาก-จมูกมีผู้ที่ใช้ไม่ถูกต้อง กล่าวคือมักจะผูกหลวมๆ หรือให้รูจมูกโผล่พ้นขอบผ้าออกมา ด้วยเหตุผลที่ว่าอึดอัดหรือร้อน หายใจไม่สะดวก ซึ่งในลมหายใจบางครั้งอาจหายใจเอาเชื้อโรคติดออกมากับละอองน้ำจากช่องปาก, จมูก ซึ่งจะตกเข้าแผลผ่าตัดได้ จึงต้องปิดผ้าปิดจมูกเสมอ

การกำหนดให้ผูกผ้าปิดปาก-จมูกและสวมหมวกโดยเคร่งครัดในบริเวณสะอาด จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและแม้แต่ผู้ป่วยเองถ้าทำได้ควรจะผูกผ้าปิดปาก-จมูกและสวมหมวกกันไม่ให้ฝุ่นละอองจากตัวผู้ป่วยเองตกค้างในห้องผ่าตัด เหตุผลที่ต้องสวมหมวกผูกผ้าปิดปาก-จมูกตั้งแต่ บริเวณสะอาดก็เพื่อจะได้ไม่เผลอเข้าไปในบริเวณปลอดเชื้อโดยไม่ผูกผ้าปิดปาก-จมูกหรือสวมหมวก

การฟอกมือ เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการผ่าตัด เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการสอนให้ฟอกมือจะไม่ทราบว่าเหตุใดจึงต้องฟอกมือให้นาน 8 นาที 10 นาที ศัลยแพทย์บางคนเสียอีกกลับเห็นว่า การฟอกนานๆ จะทำให้ติดเชื้อได้มากขึ้น ดังนั้นจึงมีศัลยแพทย์หรือเจ้าหน้าที่บางคนฟอกมือนานน้อยไป และก่อให้เกิดการติดเชื้อแก่ผู้ป่วยได้

เจ้าหน้าที่มักจะไม่ทราบเหตุผลและข้อดีของการฟอกมือให้นานพอ ส่วนใหญ่ก็ทำกันโดยไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงจนทำให้ไขว้เขวไปว่าฟอกระยะเวลาสั้นน่าจะได้ ที่ถูกต้องนั้นการฟอกมือควรฟอกให้นานพอที่เหงื่อจะออกจากผิวหนังได้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อขับถ่ายเอาเหงื่อที่ค้างอยู่ในท่อต่อมเหงื่อออกมา เป็นการชำระล้างส่วนรูเปิดและท่อต่อมเหงื่อให้ปราศจากเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นถ้าเจ้าหน้าที่ได้รับการสอนมาด้วยเหตุผลนี้ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่เต็มใจจะปฏิบัติตาม ผู้ทีผ่าตัดหรือช่วยผ่าตัดที่มีแผลที่มือหรือแขน ควรงดปฏิบัติการเพราะว่าอาจนำเชื้อโรคเข้าสู่แผลผู้ป่วยเมื่อถุงมือรั่วหรือขาด ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ อนึ่ง ตามหลักทั่วไปภายหลังฟอกมือเสร็จไป 10 นาทีแล้ว ไม่ควรถืออีกต่อไปว่าปลอดเชื้อ, เพราะเหงื่อที่ขับตลอดเวลาจากผิวหนัง จะขับเอาสิ่งที่ค้างอยู่ในต่อมเหงื่อออกมา โดยเหตุผลเดียวกันผิวหนังของผู้ป่วยในบริเวณผ่าตัด ถ้าทิ้งไว้นานก็จะมีเหงื่อออก การจับต้องผิวหนังผู้ป่วยเวลาผ่าตัดไม่ควรกระทำ ในศัลยกรรมกระดูก เพราะอาจนำเชื้อเข้าไปในแผลผ่าตัดโดยเฉพาะปนเปื้อนกับกระดูกหรือข้อที่กำลังผ่าตัดอยู่ได้ การล้างฟอกมือควรใช้นํ้าที่อุ่นเพราะจะได้เร่งให้เหงื่อขับออกมากๆ เพื่อผลในการชำระล้างต่อมเหงื่อที่บรรจุนํ้ายาฟอกมือควรใช้ชนิดใช้มือและข้อศอกกดมากกว่าใช้ชนิดที่ใช้เท้าเหยียบ ซึ่งมีเชื้อปนเปื้อนเข้าไปในนํ้ายาได้ง่ายกว่า

เมื่อล้างมือเสร็จควรยกชูแขนให้สูง นํ้าที่ค้างอยู่ที่มือจะได้ไหลลงมาทางข้อศอก การใช้มือจุ่มแช่ลงในนํ้ายาฆ่าเชื้อก่อนเข้าห้องผ่าตัด ดังที่มีผู้ปฏิบัติกันอยู่ประปราย ดูจะเป็นการสวนทางกับความสะอาด เพราะนํ้าที่ไหลย้อนจากศอกลงไปในอ่างนํ้ายา นํ้ายาจะสกปรก เป็นการกระทำที่เสียประโยชน์ทั้งเปลืองนํ้ายาและไม่สะอาดได้ดังที่ตั้งใจไว้

เครื่องแต่งตัว ของเจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัด โดยเฉพาะทางออรโธปิดิคส์ควรใช้เหมือนกัน ทั้งหญิงและชาย และควรเป็นกางเกงให้หมดไม่ควรใช้กระโปรง ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว เสื้อและกางเกงควรมีขนาดพอดีไม่หลวมหรือคับเกินไป ควรสวมหมวกก่อนจึงสวมเสื้อ แล้วจึงสวมกางเกงทับชายเสื้อให้มิดชิด เหตุที่แนะนำให้สวมหมวกก่อนสวมเสื้อ คือหมวกจะช่วยคลุมผมบนศีรษะที่อาจมีฝุ่นละอองติดอยู่จะได้ไม่หลุดติดกับเสื้อ การเปลี่ยนเสื้อผ้าต้องเปลี่ยนจนหมดเหลือแต่ชุดชั้นใน ไม่ควรสวมทับลงไปบนเสื้อผ้าที่ใช้นอกห้องผ่าตัดโดยตรง

การสวมถุงเท้าจากภายนอกเข้าไปในห้องผ่าตัด โดยเปลี่ยนเฉพาะรองเท้ามีอันตราย เพราะถุงเท้าอาจมีฝุ่นละอองติดมาจากดินตามถนนหรือพื้นห้องภายในโรงพยาบาล ซึ่งอาจมีเชื้อแบคทีเรีย, การออกจากห้องผ่าตัดโดยใช้เสื้อคลุมสวมทับชุดเข้าห้องผ่าตัดออกไปแล้วกลับเข้า ห้องผ่าตัดใหม่ในชุดเดิม เป็นการกระทำที่ควรห้ามเพราะเสื้อคลุมไม่สามารถคลุมชุดห้องผ่าตัดได้มิดชิด, อาจมีฝุ่นละออง, เชื้อโรคติดชุดผ่าตัด, ผู้เข้าไปดูผ่าตัดไม่ควรอนุญาตให้ใช้เฉพาะเสื้อคลุมเป็นอันขาด แต่ให้ปฏิบัติตัวเช่นเดียวกันกับผู้ที่จะเข้าผ่าตัดทุกประการ การถอดเสื้อคลุมสำหรับสวมเวลาผ่าตัดเมื่อเสร็จการผ่าตัดแล้ว ไม่ควรถอดในห้องผ่าตัด เพราะจะทำให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย

การเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัด จะทำให้ฝุ่นกระจายฟุ้ง ดังนั้นจึงควรเคลื่อนไหวน้อยที่สุด แม้แต่การเคลื่อนไหวของลมที่ออกจากปากเวลาพูดก็จะกระพือทำให้ฝุ่นละอองอยู่ในอากาศในห้องผ่าตัดกระจายออกไปตามแรงลม มีผู้เคยศึกษาไว้ว่าคนอยู่ในห้องผ่าตัด จะทำให้ฝุ่นกระจายในอากาศห้องผ่าตัดเพิ่มขึ้นอีก 10,000 ถึง 100,000 ละอองต่อนาที และในละอองฝุ่น ที่กระจายอยู่นี้ 1,000 ละออง จะมีเชื้อจุลินทรีย์ชนิดที่ทำให้เกิดโรคได้เกาะอยู่ และเมื่อคนที่เข้าไปอยู่ในห้องนั้นเดินไปมาในห้องผ่าตัดจะทำให้ละอองฝุ่นฟุ้งกระจายเพิ่มเป็น 7 ล้านละอองต่อนาที และถ้าวิ่งในห้องผ่าตัดจะทำให้เพิ่มจำนวนเป็น 15-20 ล้านละอองต่อนาที, การพูด, การไอการจาม ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดฝุ่นกระจายทั้งสิ้น และแม้แต่การเคลื่อนไหวในขณะที่กำลังผ่าตัด เช่น การชะโงกศีรษะไปดูแผล หรือเวลาที่ศีรษะชนหรือกระทบกันโดยบังเอิญ ก็จะทำให้ฝุ่น หรือเศษผ้าตลอดจนเส้นผม, ขี้รังแคกระจายหล่นลงไปในแผลได้ การผ่าตัดทางออร์โธปิดิคส์บางครั้ง ที่ผู้ผ่าตัดนั่ง และผ่าเข้าไปในแนวนอน จะเป็นผลดีกว่าที่ผู้ผ่าตัดยืนและก้มศีรษะลงผ่าตัด เช่นในการผ่าตัดใส่ข้อตะโพกเทียม อาจให้ผู้ป่วยนอนตะแคงและผู้ผ่าตัดยืนก้มลงผ่า หรือผู้ป่วยนอนหงายแต่ผู้ผ่าตัดนั่งเก้าอี้ผ่าเข้าไปแนวนอน โอกาสจะรับฝุ่นจึงน้อยกว่า

การสวมถุงมือ 2 ชั้น สำหรับการปูผ้า เมื่อปูผ้าเรียบร้อยแล้ว จึงถอดถุงมือออกเสียชั้นหนึ่ง แล้วลงมือผ่าตัดนั้นเป็นวิธีปลอดภัย เพราะการปูผ้าอาจปนเปื้อนจากตัวผู้ป่วยในขณะปูผ้าโดยไม่รู้, ระหว่างผ่าตัดถ้าถุงมือรั่วควรรีบเปลี่ยนโดยเร็ว เพราะแม้แต่จะฟอกมือจนสะอาด ปราศจากเชื้อ แต่ถ้านานพอก็จะทำให้เหงื่อที่ขับออกมาจากผิวหนังขับเอาเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ตามท่อต่อมเหงื่อออกสู่ภายนอกได้ดังกล่าวมาแล้ว ในทางออร์โธปิดิคส์ แพทย์ที่จะทำการผ่าตัดไม่ควรหยิบเสื้อคลุมผ่าตัดมาสวมเอง หรือแม้แต่การสวมถุงมือก็ไม่ควรจะสวมเอง เพราะโอกาสที่จะปนเปื้อนมีมาก พยาบาลที่เข้าไปคนแรกหลังจากจัดเครื่องมือแล้วหรือแม้ยังจัดไม่เสร็จก็ต้องช่วยแพทย์ในการสวมเสื้อคลุมและสวมถุงมือ ทั้งนี้เพื่อความสะอาดถูกต้อง อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นการให้บริการแก่แพทย์เกินไป เพราะการผ่าตัดทางออร์โธปิดิคส์ที่ต้องใส่เครื่องมือโลหะหรือสารสังเคราะห์ เช่น พลาสติค, ซีเมนต์ยึดกระดูก, เข้าไปในร่างกายผู้ป่วย จะมีปฏิกิริยาของร่างกายต่อต้านสิ่งแปลกปลอมอยู่แล้ว ดังนั้นการที่ยิ่งเพิ่มสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ จำพวก ฝุ่น, ละออง, เศษผ้า หรือวัสดุอื่นๆ เช่น แป้งจะยิ่งเสี่ยงต่ออันตรายในการติดเชื้อหลังผ่าตัด

การทายาบริเวณที่จะผ่าตัด ถ้าใช้นํ้ายาชนิดที่สีใสทาไปแล้วไม่เห็นขอบเขตที่ทาชัดเจน ต้องทา 2 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าทาได้ทั่วแล้ว แต่นํ้ายาที่มีสีเข้มทาไปบนผิวหนังก็จะแลเห็นได้ชัด ทำให้ทาได้อย่างทั่วถึง ในห้องผ่าตัดทางออร์โธปิดิคส์จึงควรใช้นํ้ายาทาผิวหนังก่อนผ่าตัดด้วย นํ้ายาที่มีสีเข้ม และไม่ควรประหยัดนํ้ายาที่ใช้ทาจนเกินไป

การใช้คีมหนีบผ้าที่มีปลายแหลม (towel clip) ถ้าใช้หนีบผ้าไปแล้วต้องถือว่าไม่ปลอดเชื้ออีกต่อไป ห้ามปลดหรือย้ายเด็ดขาดภายหลังจากการใช้ แม้ว่าจะเป็นบริเวณที่ปลอดเชื้อก็ตาม อีกประการหนึ่งการใช้คีมหนีบผ้าไม่มีความจำเป็นต้องหนีบผิวหนัง เพราะนอกจากทำให้ผิวหนัง บาดเจ็บแล้วอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนได้ ในการปูผ้าถ้าพื้นเตียงผ่าตัดเปียกนํ้ายา หรือนํ้าจากการฟอกทำความสะอาดบริเวณผ่าตัด ก็ควรจะซับให้แห้งเสียก่อน เพราะนํ้าที่เปียกจะซึมผ่านผ้าที่ปูทับลงไปและขยายขึ้นมายังบริเวณผ่าตัด ทำให้ปนเปื้อนเชื้อโรคได้ง่าย

การใส่กรอบกันไม่ให้ผ้าปูทับไปบนหน้าผู้ป่วยเวลาผ่าตัด ควรทำทุกรายในการผ่าตัดทางออร์โธปิดิคส์ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการฉีดยาชาเฉพาะที่ จึงยังรู้สึกตัวและรู้สึกอึดอัดถ้าผ้าคลุมทับหน้าในขณะผ่าตัด การวางแขน, มือ บางครั้งมีความจำเป็นมากที่จะต้องทำให้รอบคอบ ไม่เกิดความยุ่งยากในขณะผ่าตัด เช่น แขน อาจจะต้องผูกแขวนกับกรอบกันผ้าปูคลุมหน้าผู้ป่วย เพื่อให้ความสะดวกในการนำเครื่องฉายภาพรังสีชนิดจอโทรทัศน์เข้ามาประชิดตัวด้านข้างในกรณีที่จะฉายในทางข้างบริเวณตะโพก ถ้าแขนกางออกเครื่องจะเข้าประชิดตัวไม่ได้ ทำให้ภาพที่จอโทรทัศน์ไม่ชัดเป็นต้น

การใช้เครื่องมือพิเศษ ถ้าผู้ช่วยและผู้ผ่าตัดเองใช้ไม่ชำนาญจะเกิดปัญหาเวลาทำผ่าตัดและมีโอกาสปนเปื้อนได้ง่ายมาก โดยเฉพาะการใส่โลหะโดยไม่ผ่าตัดบริเวณกระดูกหักโดยตรง (Close nailing)

ในการจัดตำแหน่งเตียงผ่าตัด บางครั้งต้องคำนึงถึงโคมไฟและบริเวณที่ตั้งจอโทรทัศน์ ดังนั้นต้องมีการวางแผนไว้ก่อนการลงมือปูผ้า มิฉะนั้นอาจเกิดความไม่สะดวกในระหว่างทำการผ่าตัด เช่น โคมไฟเคลื่อนไปส่องบริเวณแผลผ่าตัดไม่ได้ หรือห้องผ่าตัดกว้างไม่พอทำให้อุปกรณ์ที่จะใช้ชิดผนังจนคนเดินผ่านห้องผ่าตัดโดยรอบไม่ได้

ในระหว่างการผ่าตัด การดึงแขนขาผู้ป่วย เพื่อให้ชิ้นกระดูกหักหรือส่วนข้อที่หลุดเข้าที่นั้นอาจต้องใช้แรงมาก แขนขาที่ผ้าคลุมไว้ถ้าไม่มิดชิด และถ้าผู้ดึงไม่ระมัดระวังอาจทำให้ผ้าที่คลุมไว้หลุดเลื่อน เกิดการปนเปื้อนได้ง่าย และการดึงไปทางด้านใดด้านหนึ่งจะต้องมีแรงต้านอีกด้านหนึ่งเสมอ เช่น อาศัยผู้ช่วยที่อยู่ในห้องดึงตัวต้านไว้ ดังนั้นการทำถุงผ้าหนาสำหรับสวมแขน-ขา ส่วนที่นอกบริเวณผ่าตัดจึงจำเป็นเพื่อให้ง่ายแก่การถือหรือดึง เพราะการใช้ผ้าห่อ แม้จะดีปานใดก็หลุดเลื่อนได้ โอกาสปนเปื้อนมีมากกว่าวิธีใช้ถุงผ้าคลุม

สิ่งที่ผู้ผ่าตัดต้องคำนึงถึงอีกประการหนึ่ง คือระหว่างเริ่มการผ่าตัดยังไม่ได้ใช้แผ่นพลาสติคปิดยึดผิวหนัง ไม่ควรใช้มือจับต้องผิวหนังผู้ป่วยเป็นอันขาด เพราะผิวหนังไม่ปลอดเชื้อตลอดเวลา ดังได้กล่าวกันมาแล้ว

ในทางออรโธปิดิคส์ การผ่าตัดบางครั้งต้องหยิบชิ้นกระดูกหักที่หลุดอยู่ในแผลออกไว้ข้างนอกก่อน หรือบางครั้งชิ้นกระดูกสำหรับปลูกที่นำออกมาจากแหล่งเก็บกระดูก เช่น กระดูกปีกตะโพก และแม้แต่วัสดุอุปกรณ์ที่จะใส่ลงไปในผู้ป่วยเพื่อยึดตรึงกระดูกหรือเพื่อเปลี่ยนใส่ข้อเทียม การหยิบของเหล่านี้ส่งผ่านมือคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งต้องระวังมากที่สุด เพราะอาจตกลงบนพื้นห้องได้ง่ายถ้าพลาดมือ ดังนั้นนิยมใช้มือ 2 มือประคองกันพลาด, เพราะการพลั้งพลาด อาจทำให้เสียเวลาและบางครั้งอาจทำให้เสียของ เช่น ชิ้นกระดูกไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกเลย เพราะตกไปบนพื้นห้องแล้ว สิ่งเหล่านี้นอกจากระวังไม่ให้หลุดพลาดเวลาส่งแล้วยังต้องเก็บ ไว้ให้มิดชิด เช่น มีผ้าคลุมหรือใส่ภาชนะรองรับไว้

การผ่าตัดทางกระดูกและข้อ บางครั้งต้องใช้แรงมาก ผู้ผ่าตัดจึงเหนื่อย บางครั้งเหงื่อออกมากที่หน้าอาจไหลรวมกันเป็นหยดๆ และอาจหยดลงจากใบหน้าลงไปในแผล ดังนั้นต้องระวังเป็นพิเศษ,ในห้องผ่าตัดทางออร์โธปิดิคส์

เครื่องมือที่มีคมที่ใช้ทางออร์โธปิดิคส์ เช่น สิ่ว อาจพลาดได้ แม้แต่เครื่องมือที่ใช้ลอกเยื่อหุ้มกระดูกก็อาจทำให้เกิดบาดแผลทะลุถุงมือได้ ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ การทำให้เกิดเสียงดังในห้องผ่าตัด เช่น การปลดสายต่อสว่านลม ซึ่งจะทำให้เกิดเสียงดังจะต้องแจ้งให้ทีมผ่าตัดทราบ มิฉะนั้นจะสะดุ้งอาจทำให้มีการพลั้งพลาดทำให้มีการปนเปื้อนได้ การใช้ผ้าก๊อซยัดไว้ในแผลเพื่อห้ามเลือด เช่น ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังภายหลังลอกกล้ามเนื้อออกจากผิวกระดูก แล้วใส่ผ้าก๊อซลงไปในแผลเพื่อห้ามเลือดต้องปล่อยชาย
ผ้าก๊อซออกมาภายนอกเล็กน้อยพอให้เป็นที่สังเกตว่าจะต้องนำเอาออกภายหลังเมื่อผ่าตัดเสร็จ เพื่อป้องกันการลืมผ้าก๊อซไว้ไนแผลผ่าตัด ทำให้แผลผ่าตัดไม่หาย และมีการติดเชื้อหลังการผ่าตัดเกิดขึ้น

ในระหว่างผ่าตัดต้องระวังการกระเด็นของชิ้นส่วนอันเนื่องมาจากการตัด เช่น การตัดปลายลวดต้องใช้มือป้องไม่ให้ปลายลวดที่ถูกตัดกระเด็นไปถูกบริเวณไม่สะอาด และการตัดกระดูกโดยใช้คีมหนีบตัดกระดูก อาจทำให้ชิ้นกระดูกกระเด็นได้, นอกจากนี้การใช้เครื่องมือ เซาะกระดูกหรือตัดชิ้นกระดูก เครื่องมือที่ยาวควรใช้ 2 มือ ประคองเครื่องมือ เพื่อให้ถือได้อย่างมั่นคง, ไม่หลุดไถล ทำให้เกิดอันตรายแก่เนื้อเยื่อโดยรอบบริเวณผ่าตัด และทำให้มีการปนเปื้อน ; การใช้สว่านลม, เลื่อยลมก็ดี การถือต้องมั่นคง 2 มือ ใช้ข้อศอก 2 ข้างหนีบกับลำตัวไว้เพื่อจะได้มั่นคงทั้งการถือและทิศทางที่จะเคลื่อนเครื่องมือ อีกทั้งป้องกันการหลุดไถลจะได้ปลอดภัยไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่เนื้อเยื่ออื่น

การใช้เครื่องมือไม่ถูกต้อง เช่นโลหะต่างชนิดกันนำไปใช้ด้วยกัน การทำสว่านหักคาในกระดูกล้วนแต่ส่งเสริมให้เกิดการติดเชื้อหลังผ่าตัดทั้งสิ้น ซึ่งผู้ผ่าตัดต้องระมัดระวังไม่ให้ภาวะเหล่านี้เกิดขึ้น ทั้งนี้รวมไปถึงการทำให้เนื้อเยื่ออ่อนชอกชํ้ามาก ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนชอกชํ้าได้ไม่ดี ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้มาก การตัดเล็มแผลกระดูกหักชนิดมีแผลเปิดสำคัญมาก ต้องทำให้ถูกวิธี และละเอียดละออ และตัดให้หมด เพราะเนื้อเยื่อที่ตายค้างในแผลผ่าตัดก็เป็นแหล่งให้แบคทีเรียแบ่งตัวและทำให้เกิดเป็นการติดเชื้อได้

การใส่ท่อระบายเลือด ในทางออร์โธปิดิคส์ การใช้ท่อระบายเลือดที่ต่อกับขวดสูญญากาศ ดูดเอาเลือดที่คั่งในแผลผ่าตัดออกมาเป็นมาตรการจำเป็นที่ต้องทำแทบทุกราย การใส่ท่อระบายธรรมดานอกจากไม่มีแรงดูดแล้วเลือดยังซึมออกมาเปื้อนแผลทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น การใส่ท่อระบายซึ่งเป็นพลาสติคและมีรูเล็กๆ ให้เลือดไหลเข้ารูเหล่านี้จากก้นแผล โดยใช้ต่อกับเข็มโลหะใหญ่แทงทะลุผิวหนังออกสู่ภายนอกในกรณีที่ดึงออกไปมากเกินไปไม่ควรจะดึงกลับเข้ามาอีก เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อนจากผิวหนัง ซึ่งมีแบคทีเรียกลับเข้าไปในแผลอีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันขวดสูญญากาศสามารถทำให้เกิดแรงดูดเป็นลบได้มาก ซึ่งจะช่วยให้ดูดเลือดที่ค้างออกได้ดีกว่าแรงลบตํ่าๆ

การจะเย็บท่อระบายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจผู้ผ่าตัด เพราะถ้าไม่เย็บท่ออาจหลุดได้ แต่ถ้าเย็บยึดติดผิวหนังก็อาจจะยุ่งยากตอนเอาออก คือต้องเลาะเฝือกตัดไหมที่เย็บยึดไว้กับผิวหนัง ดังนั้นอาจใช้วิธีผูกยึดภายนอกโดยใช้ผ้าก๊อซขนาดเล็กผูกท่อให้แน่นและผูกคล้องรอบแขนขา ก็จะกันไม่ให้ท่อระบายหลุดได้

การเย็บปิดแผลถ้าเย็บแน่นเกินไปอาจทำให้ผิวหนังที่ถูกเย็บขาดเลือดไปเลี้ยงก็จะทำให้แผลหายช้า, ติดเชื้อง่าย ดังนั้นเมื่อเย็บและผูกแล้ว ผิวหนังที่ถูกรวบเข้าหากันต้องไม่เปลี่ยนสี เป็นสีซีด หรือบริเวณที่ถูกเย็บบุ๋มลงไปและส่วนข้างๆ นูนออกมาเป็นเปลาะๆ คล้ายมัดด้าย หรือข้าวต้มมัด

การเตรียมผู้ป่วยผ่าตัด    ผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุและต้องรับการผ่าตัดทันที แม้มีแผลก็ต้องผ่าตัด การเตรียมก็เพื่อขจัดความสกปรก แต่ในผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่การบาดเจ็บ การผ่าตัด ต้องเตรียมไว้ล่วงหน้าโดยแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่าจะทำอะไรและขั้นตอนการรักษาหลังผ่าตัด เป็นอย่างไร การสอนวิธีปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด ตั้งแต่การหัดนอนถ่ายอุจจาระ, ปัสสาวะบนเตียง การนอนท่าที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้จำเป็นมิฉะนั้นอาจมีอาการแทรกซ้อนและนำไปสู่การติดเชื้อได้

การเตรียมผิวหนังบริเวณผ่าตัดควรเตรียมที่หอผู้ป่วยใน คือทำความสะอาด โกนขนฟอกและปิดคลุมด้วยผ้าปิดแผล ในขั้นตอนนี้ที่ต้องเน้นและระวังเป็นพิเศษคือการโกนขน ต้องระวังไม่ให้มีดโกนบาดผิวหนัง เพราะบาดแผลแม้ว่าจะเกิดสดๆ ก็ปนเปื้อน ดังนั้นผู้ป่วยประเภทนัดผ่าตัดล่วงหน้า ถ้าโกนขนแล้วมีบาดแผลเกิดขึ้นก็ต้องเลื่อนการผ่าตัดออกไปจนพ้นอันตราย เช่น 1 สัปดาห์ นอกจากนั้นการเตรียมผ่าตัดก็เหมือนกับการเตรียมทั่วไป

การให้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันการติดเชื้อ ส่วนใหญ่ให้เข้าหลอดเลือดดำและให้ก่อนลงมือผ่าตัด 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้ระดับยาในเลือดสูงเพียงพอ ควรให้ในรายที่ผู้ป่วยสูงอายุ, สภาพร่างกายไม่แข็งแรง และผ่าตัดใช้เวลานาน และผ่าตัดใช้เครื่องมือที่ใส่เข้าไปในร่างกาย หรือ พวกเปลี่ยนใส่ข้อเทียมทุกแห่งของร่างกาย

การจัดลำดับผู้ป่วยเพื่อเข้าผ่าตัดมีความสำคัญมาก ต้องเลือกรายที่สะอาดที่สุด และเสี่ยงต่อการติดเชื้อก่อน แล้วจึงค่อยเรียงไปตามลำดับ จนถึงรายที่ติดเชื้อเอาไว้ท้ายสุด ในกรณีที่ทราบโดยบังเอิญว่ามีหนองหรือมีการติดเชื้อ มาตรการที่ใช้ในห้องผ่าตัดสำหรับการติดเชื้อต้อง นำเอามาใช้อย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นเชื้อจะแพร่กระจายออกไปและทำให้เกิดการติดเชื้อในผู้ป่วยรายอื่นๆ ต่อไป

การป้องกันการติดเชื้อหลังผ่าตัดที่หอผู้ป่วยใน
ผู้ป่วยที่ผ่าตัดแล้ว หรือผู้ป่วยที่รักษาในหอผู้ป่วยในที่ไม่ได้รับการผ่าตัด มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อได้ ถ้ามีบาดแผลซึ่งอาจเกิดจากแผลผ่าตัด, แผลการทำการดึงถ่วงกระดูก, แผลบาดเจ็บที่เกิดร่วมกับโรคอื่นๆ มาตรการการป้องกันแผลที่เกิดจากการดึงถ่วง ทำได้โดยใช้ขี้ผึ้งยาฆ่าเชื้อ หรือขี้ผึ้งปฏิชีวนะป้องกันไม่ให้แผลที่ลวดเสียบโผล่จากผิวหนังติดเชื้อ

ในผู้ป่วยหลังผ่าตัดควรยกส่วนแขนขาที่ผ่าตัดแล้วให้สูง ไม่ให้เลือดคั่ง แผลจะหายเร็ว และไม่ติดเชื้อ การเปิดตรวจแผลผ่าตัดไม่ควรบ่อยโดยไม่มีข้อบ่งชี้ เช่น มีการบวมมาก, มีไข้, หรือเลือดออกไม่หยุดจากแผลผ่าตัด การเปิดตรวจแผลที่หอผู้ป่วยต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะ สภาพแวดล้อมไม่อำนวยที่จะเปิดตรวจแผลเสี่ยงต่อการติดเชื้อ การเปิดต้องระวังฝุ่นกระจายตกลงไปในแผลเพราะฝุ่นในพื้นห้องอาจมีเชื้อโรคที่มักจะดื้อยาอยู่

การระวังรักษาเฝือก ต้องคอยดูว่าเฝือกมีเลือดซึมชุ่มหรือไม่ จะได้แก้ไขทันท่วงที และทั้งนี้ยังต้องระวังแผลเฝือกกด เพราะถ้าเกิดขึ้นก็เสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อต่อไป การวางส่วนที่เข้าเฝือกให้สูง, การเจาะช่องทำแผลในบางรายอาจต้องทำเพราะแผลที่เกิดจากการบาดเจ็บต้องตรวจ และทำแผลบ่อยๆ  แผลที่กระดูกโผล่มีโอกาสติดเชื้อที่กระดูกได้มาก, การเข้าเฝือกในบางรายที่แผลเกิดโดยรอบแขนขา อาจกระทำไม่ได้ต้องใช้เครื่องยึดกระดูกภายนอก (external fixator) แทน

การเอาท่อระบายเลือดออก ควรกระทำหลังจากผ่าตัด 24 ชั่วโมง ถ้าปริมาณเลือดเพิ่ม ขึ้นอย่างรวดเร็วก็ยังเอาออกไม่ได้ต้องรอให้เลือดที่ออกจากแผลหยุดเสียก่อน แผลผ่าตัดหรือแผลบางชนิดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่มีขนาดใหญ่ ไม่ควรเปิดในหอผู้ป่วยใน ควรไปเปิดทำการรักษาที่ห้องผ่าตัด

ที่มา:ยงยุทธ  วัชรดุลย์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า