สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หน้าที่ของวิสัญญีแพทย์ ออกซิเจน ยาดมสลบ และยาชา

วิสัญญีวิทยาเป็นวิชาที่ต้องประยุกต์ใช้ความรู้กว้างขวาง ทั้งทางกายวิภาค เภสัชวิทยา สรีรวิทยา ฟิสิกส์ และพยาธิวิทยาของอวัยวะต่างๆ ทั้งยังต้องทราบจุดประสงค์และการรักษาของศัลยแพทย์ทุกสาขาที่ผ่าตัดผู้ป่วย (เช่น สูติแพทย์ ประสาทศัลยแพทย์ ศัลยแพทย์ทั่วไป จักษุแพทย์)

วิสัญญีแพทย์ต้องเข้าใจว่า แต่ละโรคทำให้เกิดความผิดปกติอะไรบ้าง ต้องผ่าตัดทำอะไรใช้เวลานานเพียงใด จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใดเกิดขึ้นกับผู้ป่วย ตั้งแต่ก่อนการผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัด และหลังการผ่าตัด ซึ่งวิสัญญีแพทย์จะสามารถช่วยให้ความปลอดภัย ให้เกิดอันตรายน้อยลง หรือช่วยบรรเทาทุกขเวทนาได้

ในบทความนี้ จะเล่าถึงลักษณะงานของวิสัญญีแพทย์ ออกซิเจน ยาดมสลบ และยาชา โดยแบ่งเป็นช่วงๆ แต่ละช่วงจะมีเรื่องราวทั้งในปัจจุบัน เมื่อยาแต่ละชนิดได้รับการศึกษาค้นคว้าโดยละเอียดแล้ว และเรื่องราวในอดีตเมื่อโลกเพิ่งค้นพบความมหัศจรรย์ของยาเหล่านั้น

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

หน้าที่ของวิสัญญีแพทย์

วิสัญญีแพทย์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “หมอดมยา” มีหน้าที่หลักคือให้การระงับความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยในระหว่างการผ่าตัด คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าเมื่อเข้ามาในห้องผ่าตัดแล้วจะได้รับการ “ดมยา” จนหลับใหล ไม่รู้สึกตัว

อันที่จริงการระงับความเจ็บปวดอาจแบ่งได้เป็น 2 แบบ แบบหนึ่งให้ยาสลบทั้งตัว คือทำให้หมดสติ และอีกแบบหนึ่งให้ยาชาเฉพาะที่ทำให้บริเวณที่ทำผ่าตัดไม่รู้สึกเจ็บปวด โดยผู้ป่วยไม่หมดสติ
วิสัญญีแพทย์ในปัจจุบันยังดูแลผู้ป่วยนอกห้องผ่าตัดอีกด้วย เช่น ดูแลผู้ป่วยหนักที่อยู่ในขั้นวิกฤต ในหออภิบาล อยู่ในทีมช่วยกู้ชีวิตให้ฟื้นคืนชีพ ให้การระงับความเจ็บปวดเรื้อรังในผู้ป่วยมะเร็ง รับปรึกษาเรื่อง การใช้เครื่องช่วยหายใจ และเปิดทางหายใจ ช่วยลดความกังวลหรือความหวาดกลัวในการทำฟันและการตรวจต่างๆ เป็นต้น
การฝึกอบรมเป็นวิสัญญีแพทย์หลังจากจบแพทยศาสตร์บัณฑิตแล้ว ใช้เวลาศึกษาและปฏิบัติงานในภาควิชาวิสัญญีวิทยาของโรงเรียนแพทย์อีก 3 ปี แล้วจึงทำการสอบวุฒิบัตรวิสัญญีวิทยาซึ่งอนุมัติโดยแพทย์สภาสำหรับราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทยนั้น เป็นองค์กรที่กำหนดมาตรฐาน ควบคุมดูแลการฝึกอบรม และจัดการศึกษาต่อเนื่องสำหรับวิสัญญีแพทย์ ตลอดจนเป็นตัวแทนแพทย์ไทยในชุมชนวิสัญญีแพทย์ของโลก

ในปัจจุบัน จำนวนวิสัญญีแพทย์ในประเทศไทยยังน้อยเมื่อเทียบกับประชากร จึงมีการฝึกอบรมวิสัญญี พยาบาลหลักสูตร 1 ปี เพื่อปฏิบัติงานภายใต้การดูแลของศัลยแพทย์
นอกจากต้องมีความรู้ความสามารถเหมาะสมเพียงพอและทันสมัยแล้ว วิสัญญีแพทย์ต้องมีการตัดสินใจที่ฉับไว เนื่องจากภาวะผิดปกติที่เกิดกับผู้ป่วยต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว เช่น ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น ภาวะช็อค เป็นต้น ต้องสามารถสื่อความหมายให้ผู้ป่วยเข้าใจ ร่วมมือ และปลอดจากจากความกังวล เพราะผู้ป่วยไทยจำนวนไม่น้อยหวาดกลัวการดมยาสลบ และอาจมีความเข้าใจผิดๆ ว่าการดมยาสลบทำให้เกิดผลเสียต่อระบบสมองและความจำ ในห้องผ่าตัดวิสัญญีแพทย์หรือวิสัญญีพยาบาลจะเป็นเพื่อนผู้ป่วย คอยดูแลผู้ป่วย ตลอดเวลาแม้ในขณะหมดสติ โดยวัดความดันเลือดและชีพจร สังเกตคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และดูแลออกซิเจนที่ผู้ป่วยได้รับ เป็นต้น
ว่ากันว่าในสมัยก่อนการแพทย์แผนปัจจุบัน ศัลยแพทย์เริ่มต้นมาจากช่างตัดผมซึ่งใช้มีดช่วยบ่งและทำแผลเล็กๆ น้อยๆ ถ้าเป็นการผ่าตัดใหญ่ต้องทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวน้อยลง เช่น ดื่มเหล้า กินฝิ่น หรือให้ผู้ช่วยหลายๆ คนจับแขนขาผู้ป่วยตรึงไว้ไม่ให้สู้หรือหนี แล้วจึงจะทำการผ่าตัดได้
ในปี พ.ศ. 2390 นายแพทย์แซมมวล เรย์โนลต์ เฮาส์ (Samuel Reynolds House) ได้ใช้ยาสลบ อีเธอร์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย (และอาจจะเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชียด้วย) โดยท่านทำหน้าที่เป็นศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ไปด้วย เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีวิสัญญีแพทย์ในประเทศไทย

ศัลยแพทย์ยังทำหน้าที่เช่นนี้เรื่อยมาโดยมีพยาบาลและคนงานเป็นผู้ช่วย จนกระทั่งมีการส่งแพทย์ไปฝึกอบรมด้านวิสัญญีวิทยาโดยตรงที่ต่างประเทศ และแยกหน่วยงานออกจากภาควิชาศัลยศาสตร์เป็นภาควิชาวิสัญญีวิทยาครั้งแรกในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อ พ.ศ. 2508 ในยุคนั้นอุปกรณ์ต่างๆ ยังมีน้อย แพทย์ต้องช่วยกันผลิตเครื่องมือเครื่องใช้บางอย่างเอง
ออกซิเจน : ก๊าซจำเป็นสำหรับชีวิต
ก๊าซซึ่งเปรียบเสมือนเงินก้นถุงหรือวัสดุก้นกระเป๋าของวิสัญญีแพทย์คือออกซิเจน ซึ่งใช้ทั้งในระหว่างให้ยาสลบและยาชาเฉพาะที่ ออกซิเจนจำเป็นมากสำหรับผู้ป่วยที่มีการหายใจหรือการทำงานของหัวใจล้มเหลว และผู้ป่วยช็อค แต่ออกซิเจนก็มิใช่จะไร้อันตราย เนื่องจากการให้ออกซิเจนในทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนดอาจทำให้ตาบอดหรือการทำงานของปอดล้มเหลวได้ แม้แต่ในผู้ใหญ่ถ้าได้รับออกซิเจนมากเกินไป หรือเป็นเวลานานเกินไปก็มีอันตรายต่อปอดได้
ในปัจจุบัน ออกซิเจนได้รับการศึกษามาแล้วอย่างลึกซึ้ง มีระบบอุตสาหกรรมสำหรับเตรียมออกซิเจน บรรจุในภาชนะซึ่งมีระหัสและระบบควบคุมความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดการสับสนกับก๊าซอื่นหรือเกิดการระเบิด สำหรับผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังที่เป็นรุนแรงและต้องการออกซิเจนตลอดเวลา ก็มีเครื่องผลิตออกซิเจนจากอากาศสำหรับให้ใช้ตามบ้านเหมือนกับยาทั่วๆ ไป
กว่า 200 ปีมาแล้ว คือเมื่อปี ค.ศ. 1775 ออกซิเจนค้นพบโดยโจเซฟ พริสต์ลีย์ (Joseph Priestley) ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร พริสต์ลีย์ได้บันทึกการค้นคว้าไว้อย่างละเอียด พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตถึงประโยชน์และโทษของออกซิเจน ตลอดจนพยากรณ์วิธีนำออกซิเจนไปใช้อย่างน่าสนใจยิ่ง ดังนี้
‘‘ข้าพเจ้าเอาหนูที่โตเต็มที่แล้วตัวหนึ่ง ใส่ลงในภาชนะแก้วซึ่งบรรจุอากาศที่เอาเชื้อลุกไหม้ออกแล้ว 2 ออนซ์ (dephlogisticated air)* ถ้าเป็นอากาศธรรมดา หนูจะมีชีวิตอยู่ในภาชนะได้เพียง 15 นาที แต่การทดลองนี้ใช้เวลา 30 นาที และเมื่อนำตัวหนูซึ่งเหมือนกับตายไปแล้วออกมาวางใกล้ไฟ ก็พบว่าหนูฟื้นขึ้นมาใหม่และดูจะไม่ได้รับอันตรายใดๆ … เมื่อทดลองหย่อนเทียนที่จุดแล้วลงไปในขวดซึ่งบรรจุอากาศดังกล่าว ข้าพเจ้าพบว่าเปลวไฟลุกสว่างขึ้น ให้ความร้อนมากขึ้น และยังมีเสียงดังขึ้นอีกด้วย”
“ข้าพเจ้าคาดว่าอากาศที่เอาเชื้อลุกไหม้ออกแล้วเป็นอากาศอย่างดี ซึ่งถ้าสามารถบรรจุใส่ภาชนะนำเข้าไปในห้องที่ผู้คนอยู่แออัด หรือสามารถใส่เข้าไปในห้องดังกล่าวให้เร็วที่สุดเท่าที่จะผลิตใหม่ทัน ก็จะช่วยให้อากาศในห้องนั้นซึ่งไม่ใช่อากาศอย่างดี เพราะได้ถูกหายใจไปแล้วหรือปนเปื้อนอื่นๆ กลับ ‘ดี’ ขึ้นมาใหม่ได้” (* หมายเหตุ ที่เรียกเช่นนี้เพราะก่อนการค้นพบออกซิเจน เชื่อว่าระหว่างการลุกไหม้มี “เชื้อลุกไหม้” เกิดขึ้น)
ยาดมสลบ
ในบรรดา “ยา”ทั้งหลายที่แพทย์ใช้วิสัญญีแพทย์เป็นผู้ใช้ยาที่แรงมากที่สุดประเภทหนึ่ง นั่นคือ “ยาดมสลบ” ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหมดสติอย่างรวดเร็วและลึก จนไม่รู้สึกตัวถึงความเจ็บปวดอันร้ายแรงจากมีดผ่าตัด แต่คุณสมบัติที่สำคัญของยาดมสลบก็คือ เมื่อค่อยๆ ลดยาจนหยุดให้ยาแล้ว ผู้ป่วยซึ่งแน่นิ่งไม่รู้สึกตัวนั้นจะค่อยๆ ฟื้นคืนสติกลับมาใหม่ โดยไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อสมองต่อไปอีก และผู้ป่วยไม่สามารถระลึกถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างผ่าตัดได้เลย
ยาดมสลบซึ่งเป็นก๊าซและไอระเหย เข้าสู่ผู้ป่วยโดยผ่านทางเครื่องดมยาสลบ ในห้องผ่าตัดผู้ป่วยอาจจะตื่นเต้นจนไม่ทันสังเกตเห็นว่าเครื่องดมยาสลบเต็มไปด้วยสายระโยงระยาง โครงเหล็ก ลิ้นเปิดปิดลดความดัน และมาตรวัด ตลอดจนอุปกรณ์ชิ้นเล็กชิ้นน้อย และต้องผ่านหลายทอดกว่าจะมาถึงหน้ากากครอบปากจมูกผู้ป่วยซึ่งเป็นทางที่ผู้ป่วยได้รับยาดมสลบ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจไม่มีโอกาสได้เห็นหน้ากากครอบปากจมูก เพราะ วิสัญญีแพทย์จะฉีดยานำสลบซึ่งเป็นของเหลวเข้าทางสายน้ำเกลือเพื่อทำให้ผู้ป่วยเริ่มหมดสติก่อน แล้วจึงครอบหน้ากากลง และเปิดก๊าซไนตรัสออกไซด์ (nitrous oxide) และไอระเหยของฮาโลเธน (halothane) ออก จากเครื่องดมยาสลบ เพื่อให้ผู้ป่วยสลบลึกและนานอยู่ตลอดเวลาที่ทำการผ่าตัด
อันที่จริง นอกจากยาดมสลบและยานำสลบแล้วยังมียาระงับปวด ยาหย่อนกล้ามเนื้อ ยาต้านฤทธิ์ยา หย่อนกล้ามเนื้อ และยาอื่นๆ อีกที่ผู้ป่วยอาจได้รับ ยาบางขนานมีทั้งคุณและโทษ และอาจทำให้เกิดอาการ แทรกซ้อนได้ ได้แก่ ฤทธิ์ต่อหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำ, ฤทธิ์ต่อระบบหายใจซึ่งทำให้ผู้ป่วยหายใจน้อยไปหรือหลอดลมตีบ, ฤทธิ์ต่อตับไต, และปฏิกิริยาระหว่างยาชนิดต่างๆ ดังนั้น ใน ระหว่างที่ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์หรือวิสัญญีพยาบาลจะต้องคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
ในปัจจุบัน ยาดมสลบที่ใช้กันมากในประเทศไทยก็คือฮาโลเธนและไอโซฟลูเรน (isoflurane) ยังมีความพยายามที่จะค้นคว้าหายาใหม่ๆ ที่มีความปลอดภัยสูงขึ้นกว่านี้อีก แต่ยาทั้งสองชนิดก็นับว่าเป็นมีความ ปลอดภัยและสะดวกต่อการใช้งานมากกว่าในสมัยแรกที่มีการนำเอาไอระเหยของไดเอธิลอีเธอร์ (diethylether) มาใช้ เมื่อทันตแพทย์วิลเลียม มอร์ตัน (William Morton) แสดงการดมยาสลบที่รัฐแมสซาชูเซตต์ สหรัฐ- อเมริกา ในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1846 ทำให้มีผู้สนใจและตื่นเต้นกันไปทั้งสองคาบมหาสมุทรแอตแลนติก ดังในจดหมายที่ศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน จาคอบ บิเกโลว์ (Jacob Bigelow) เขียนไปถึงเพื่อนแพทย์ชาวอังกฤษ ฟรานซิส บูธ (Francis Booth) หลังจากนั้น การใช้อีเธอร์สำหรับดมยาสลบแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว และศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าตัดที่ใหญ่ขึ้นและนานขึ้น โดยผู้ป่วยไม่ได้รับทารุณกรรมเหมือนในสมัยก่อนซึ่งใช้วิธีกดตัวผู้ป่วยที่ดิ้นรนร้องครางด้วยความเจ็บปวด ข้อความในจดหมายมีดังนี้
“บูธที่รัก ผมส่งบทความเกี่ยวกับความก้าวหน้าใหม่ซึ่งอาจจะเป็นการค้นพบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ของยุคปัจจุบันมาให้คือ วิธีทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวดระหว่างทำการฝาตัด ได้มีการตัดแขน ขา เต้านม ผูกเส้นเลือด ตัดก้อนเนื้อ และถอนฟัน จำนวนมากครั้งโดยผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวเลย ผู้ค้นพบคือทันตแพทย์มอร์ตัน ซึ่งใช้ไอระเหยของอีเธอร์ให้ผู้ป่วยดม”
‘‘ผมจะเล่าตัวอย่างให้คุณฟัง ผมพาแมรี่ลูกสาวของผมไปถอนฟันกับคุณหมอมอร์ตัน เธอหายใจเอาอีเธอร์เข้าไปประมาณ 1 นาที แล้วก็หลับสนิทอยู่บนเก้าอี้ หมอได้ถอนฟันกรามออก 1 ซี่ โดยไม่มีการขยับตัว แม้แต่น้อย อีกนาทีต่อมาเธอตื่นขึ้น ยิ้ม บอกว่ายังไม่ได้ถอนฟัน ไม่เจ็บปวด และไม่รู้ตัวเลยว่าเกิดการ ถอนฟันขึ้น”
ยาชาเฉพาะที่
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการระงับความรู้สึกระหว่างผ่าตัดโดยใช้ยาชาเฉพาะที่
สตรีครรภ์แก่รายหนึ่งเคยผ่าตัดเอาลูกออกทางหน้าท้องมาแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน ครั้งนี้สูติแพทย์ลงความเห็นว่าต้องผ่าตัดเช่นเดิมอีก ผู้ป่วยได้รับคำอธิบายจากวิสัญญีแพทย์ว่า ครั้งนี้จะให้การระงับความเจ็บปวด โดยฉีดยาชาเฉพาะที่ ซึ่งต่างจากครั้งที่แล้วที่ให้ยาดมสลบ
เมื่อถูกเข็นเข้ามาในห้องผ่าตัด ผู้ป่วยได้รับคำอธิบายและปลอบใจเพิ่มเติมจนคลายความกังวลใจ หลังจากนั้น วิสัญญีแพทย์ให้ผู้ป่วยนอนตะแคง ใช้ยาฆ่าเชื้อโรคทาบริเวณหลังเป็นวงกว้าง และฉีดยาชา ด้วยเข็มเล็ก แล้วตามด้วยการสอดเข็มใหญ่เข้าไประหว่างกระดูกสันหลังเพื่อหาตำแหน่งที่จะฉีดยาชา วิสัญญีแพทย์สอดท่อซึ่งเป็นสายเล็กๆ ปลอดเชื้อเข้าไปด้วย เพื่อว่าเมื่อเอาเข็มออกแล้วจะได้สามารถเติมยาเข้าช่องใต้เยื่อบุไขสันหลังผ่านท่อนี้เป็นระยะๆ
หลังจากฉีดยาชาแล้วรอสักครู่ใหญ่การผ่าตัดจึงเริ่มขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกชาตั้งแต่ระดับทรวงอกลงไปถึงปลายเท้า ตลอดเวลาที่แพทย์ทำการผ่าตัดผู้ป่วยจะรู้สึกตัวและสามารถได้ยินเสียงแพทย์หรือพยาบาลพูดจากัน แต่จะไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยไม่สามารถมองเห็นการผ่าตัดได้เนื่องจากมีม่านเตี้ยๆ บังสายตาอยู่ เมื่อแพทย์ผ่าตัดเอาเด็กออกมาแล้ว พยาบาลได้เอาผ้าห่อตัวเด็กให้อบอุ่น แล้วนำไปให้ผู้ป่วยซึ่งยังคงนอนบน เตียงผ่าตัดได้ชื่นชม
การระงับความรู้สึกโดยใช้ยาชาเฉพาะที่ บางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียงบ้าง เช่น คลื่นไส้ จุกแน่น แต่การระงับความรู้สึกแบบนี้มีข้อดีตรงที่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ยาหลายๆ ชนิด ซึ่งใช้ในการดมยาสลบ และการที่ผู้ป่วยยังคงตื่นอยู่ในระหว่างการผ่าตัดมีข้อดีหลายประการ เช่น ในกรณีที่ผ่าตัดเอาลูกออกจากทางหน้าท้องดังที่กล่าวข้างต้น แม่จะได้ยินเลียงลูกร้องและเห็นหน้าของลูกทันทีเมื่อแรกเกิด และลดอัตราการสำลักอาหารเข้าหลอดลม
การดมยาสลบและการฉีดยาชาเฉพาะที่มีทั้งข้อดีข้อเสีย และจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันไปสำหรับโรคต่างๆ ที่ผู้ป่วยเป็น ซึ่งวิสัญญีแพทย์จะต้องเลือกใช้และให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยตามความเหมาะสม
ในปัจจุบันนี้ ยาชาที่ใช้แพร่หลายในประเทศไทยคือลิโดเคน (lidocaine) และบิวพิวาเคน (bupivacaine) ซึ่งมีความปลอดภัยสูง ใช้ได้ทั้งฉีดที่ผิวหนังเวลาทำแผลเล็กๆ น้อยๆ ฉีดเข้าไปในช่องเหนือหรือใต้เยื่อบุไขสันหลังเพื่อทำการผ่าตัดช่องท้องหรือผ่าตัดขา พ่นในปากเพื่อใส่เครื่องมือส่องตรวจลำคอ กระเพาะอาหาร หรือหลอดลม และฉีดที่เหนือไหปลาร้าเพื่อทำการผ่าตัดบริเวณแขน เป็นต้น
อย่างไรกิตาม การใช้ยาชาต้องระมัดระวัง เพราะถ้าให้ปริมาณมากเกินไป หรือฉีดผิดตำแหน่ง อาจเกิดอันตรายรุนแรงได้ เช่น เกิดอาการชัก ความดันโลหิตต่ำ หยุดหายใจ หรือเสียชีวิตได้ถ้าแก้ไขไม่ทันท่วงที ดังนั้น แพทย์จะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ทั้งระบบหายใจและระบบการไหลเวียนเลือด
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าโคเคน (cocaine) เป็นยาเสพติดที่เป็นมหันตภัยคุกคามมนุษย์ แต่น้อยคนจะทราบว่าเมื่อสัมผัสกับเส้นประสาทโคเคนมีฤทธิ์ทำให้ชา นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของการฉีดยาชาเพื่อระงับความเจ็บปวด และโคเคนเป็นยาชาขนานแรกที่มีใช้กัน
จากการค้นคว้าร่วมกับซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นายแพทย์คาร์ล โคลเลอร์ (Karl Koller) แห่งกรุงเวียนนา ได้ตีพิมพ์ผลงานการศึกษาของเขาในปี ค.ศ.1884 เล่าถึงประสบการณ์ในการใช้ยาชาเพื่อลดความเจ็บปวดที่ดวงตา (ซึ่งปกติไวต่อความเจ็บปวดมาก) มีข้อความดังนี้
“ข้าพเจ้าได้ใช้โคเคน 2 วิธี วิธีแรกใช้เป็นยาระงับปวดสำหรับความเจ็บปวดที่ลูกตา วิธีที่ 2 ใช้เป็นยาชาสำหรับกาผ่าตัดที่ลูกตา
ในวิธีที่ 1 ใช้รักษาความผิดปกติของแก้วตาและเยื่อบุตาที่เจ็บปวดและเคือง โดยใช้สารละลายโคเคน ร้อยละ 2 หยดลงไป พบว่าอาการปวดและเคืองตาของผู้ป่วยน้อยลงทันที แต่ต่อจากนั้น 2-3 ชั่วโมง อาการกลับมาเหมือนเดิมอีก”
วิธีที่ 2 ดีมากสำหรับช่วยเอาเศษวัตถุแปลกปลอมออกจากแก้วตา ซึ่งผมได้ทำมาแล้วในผู้ป่วย ประมาณ 30 ราย โดยให้ผู้ป่วยนั่งหรือยืนก็ได้ มองลงไปที่พื้นและผมใช้โคเคนหยดลงไป 2 หยด แล้วซํ้าอีกครั้งหลังจากนั้น 3-5 นาที ผู้ป่วยจะหายเคืองตา และผมสามารถใช้เข็มเขี่ยเศษวัตถุแปลกออกจากแก้วตา โดยผู้ป่วยไม่เจ็บเลยแม้แต่น้อย”
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ท่านก็ได้ทราบสิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวกับวิสัญญีวิทยาแล้ว หากจำเป็นต้องรับการผ่าตัด ท่านจะสามารถมั่นใจได้ว่าระหว่างที่ท่านสลบไม่รู้สึกตัวหรือหลับอยู่นั้น มีวิสัญญีแพทย์หรือวิสัญญีพยาบาล คอยดูแลท่านอยู่ตลอดเวลา และทำหน้าที่เป็น “เพื่อนในยามยาก” ของท่าน
ที่มา:จริยา เลิศอรรฆยมณี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า