สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

วิธีแก้ไข Countertransferences ของนักจิตบำบัด

เนื่องจากนักจิตบำบัดเป็นมนุษย์ธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงต้องมี Countertransferences อยู่บ้าง ซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะต้องแก้ไขอย่างไร? คำตอบก็คือ จะต้องสำรวจความรู้สึกของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ตลอดเวลาที่รักษาคนไข้ และให้ถามตัวเอง ดังต่อไปนี้

1. เรามีความรู้สึกอย่างไรกับคนไข้?
2. เราเต็มใจรักษาคนไข้หรือไม่?
3. เราเข้าข้าง และสงสารคนไข้เกินไปหรือไม่?
4. เราโกรธ หรืออิจฉาคนไข้หรือไม่ ?
5. เรามีความสุขมากในการรักษาคนไข้หรือไม่ ?
6. เราเบื่อหน้าคนไข้หรือไม่ ?
7. เรากลัวคนไข้หรือไม่?
8. เราอยากปกป้องคุ้มครอง อยากทอดทิ้ง อยากลงโทษคนไข้หรือไม่?
9. คนไข้ทำให้เรารู้สึกประทับใจหรือไม่ ?

ถ้าคำตอบจากใจจริงของนักจิตบำบัด “ส่อ” ไปในทางสร้างปัญหาแล้ว นักจิตบำบัดจะต้องถามตัวเองว่า “ทำไมเราจึงรู้สึกอย่างนั้น?”คนไข้เป็นฝ่าย “ยั่วยุ” หรือ “กระตุ้น” ให้เรารู้สึกอย่างนั้นหรือไม่? คนไข้มีส่วนคล้ายกับคนที่เรารู้จัก ทั้งในอดีตและปัจจุบันหรือไม่? ถ้าเป็นเช่นนั้น เรา “ถ่ายทอด” ความรู้สึกที่เรามีต่อคนที่รู้จัก “ไปยัง” คนไข้หรือไม่? มีสิ่งอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เรารู้สึกอย่างนั้นอีกหรือไม่? เราต้องการแสดง “บทบาท” (Role) กับคนไข้อย่างไร ? (ตัวอย่างเช่น ต้องการเป็นบิดามารดา เพื่อน คู่รัก ครูอาจารย์ เจ้านาย ฯลฯ)

ถ้านักจิตบำบัดมีความ “จริงใจ” ต่อตนเอง พิจารณาและตอบคำถามเหล่านี้อยู่เสมอ ก็จะสามารถเอาชนะ Countertransferences ได้เกือบทั้งหมด ในกรณีที่ปฏิบัติเช่นนี้แล้ว ยังไม่สามารถเอาชนะความรู้สึกเหล่านี้ได้ นักจิตบำบัดจะต้องปรึกษาผู้มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ หรือจะต้องทำการวิเคราะห์จิตด้วยตนเองต่อไปอีก หรือโอนคนไข้ให้นักจิตบำบัดคนอื่นรักษาแทน

ในการทำจิตบำบัดชั้นสูงนั้น จะต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี เพราะฉะนั้น นักจิตบำบัดอาจจะมีอารมณ์ “หวั่นไหว” ไปบ้าง เป็นครั้งคราว เช่น พอใจ ไม่พอใจ โกรธ ชอบ ฯลฯ ได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่มีข้อแม้ว่า ความหวั่นไหวนั้น จะต้องไม่มาก พอที่จะรบกวนการรักษาได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า นักจิตบำบัดควบคุมความรู้สึกของตนเองได้

ตามความเป็นจริงนั้น คนไข้เป็นจำนวนไม่น้อย ที่มักสร้างปัญหา ก่อกวน ยั่วยวน เร้าอารมณ์ ฯลฯ ทำให้นักจิตบำบัดซึ่งเป็นมนุษย์ธรรมดาไม่อาจจะทนได้ แต่ถ้านักจิตบำบัดสำรวจอารมณ์อย่างสม่ำเสมอ ก็จะเอาชนะอุปสรรคในเรื่องนี้ได้เกือบทั้งหมด แต่มีคนไข้ จำนวนหนึ่ง ที่นักจิตบำบัดทุกคน (แม้กระทั่งเป็นนักจิตวิเคราะห์ก็ตาม) จะทนไม่ได้ในกรณีเช่นนี้ ขอแนะนำให้เปลี่ยนผู้รักษา

ตัวอย่างของการแก้ไข Countertransferences ที่รุนแรงมาก มีดังนี้ สมมติว่า คนไข้เป็นชายและเป็นชู้กับภรรยาของเพื่อนสนิทของเขาเอง ผู้ป่วยมีความสุขและพอใจมาก จากการมีเพศสัมพันธ์ในลักษณะนี้ ถ้านักจิตบำบัดเป็นหญิงที่ทรงคุณธรรมสูง ก็ย่อมจะต้องไม่พอใจเป็นธรรมดา เมื่อรู้สึกเช่นนี้ ก็จะมีแนวโน้มที่จะ “แปลความหมาย” พฤติกรรมของคนไข้ไปในทางลบ และอาจจะ “บังคับ” ให้คนไข้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งนักจิตบำบัดกระทำไปโดย “ไม่รู้สึกตัว”

เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนี้ คนไข้ก็จะรู้สึกโกรธเคือง และถือว่านักจิตบำบัดโหดร้าย ทารุณ เหมือนกับมารดาของคนไข้ ที่เคยกระทำมาก่อน คือ พรากความสุขส่วนตัวของผู้ป่วย และทำลายความเป็นอิสรเสรีของผู้ป่วยด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมจะเป็นอันตรายต่อการรักษา ผู้ป่วยอาจจะต้อง “จำยอม” เลิกพฤติกรรมของตน แต่จะเกิดความรู้สึกโศกเศร้าและผิดหวัง เพราะต้องสูญเสีย “ความสุข” ของตนไป นอกจากนี้ จะยิ่งรู้สึกว่าตนถูกริดรอนอิสรภาพอีกด้วย แบบเดียวกับที่มารดาของผู้ป่วยเคยกระทำมาก่อน

แต่ถ้านักจิตบำบัดสามารถ “ควบคุม” ความรู้สึกส่วนตัวของนักจิตบำบัดได้ โดยอาจคิดขึ้นมาได้ว่า การจะสอนคนไข้เรื่องศีลธรรมและคุณธรรมนั้น หาใช่หน้าที่ของนักจิตบำบัดไม่ คนไข้มีสิทธิที่จะเลือกดำเนินชีวิตของตนอย่างเสรี เมื่อคิดได้ดังนี้ นักจิตบำบัดก็จะทำหน้าที่ได้ดีกว่าเดิม โดยอาจจะพูดกับคนไข้ว่า

“เรื่องราวของคุณน่าสนใจ คุณมีความสุขในการกระทำของคุณ แต่ว่าอาจจะสร้างปัญหาให้แก่คุณได้เหมือนกัน ดิฉันคิดว่าน่าจะลองพิจารณากันดูถึงผลดีผลเสีย เพื่อจะให้เป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจของคุณว่า คุณควรจะทำอย่างไรดี”

เมื่อนักจิตบำบัดเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้พูด ได้ระบายความรู้สึกแล้ว ก็อาจจะกล่าวเพิ่มเติมว่า

“พฤติกรรมของคุณมีทั้งข้อดี และข้อเสีย เพราะฉะนั้น คุณจะต้องตัดสินใจว่า คุณจะทำอย่างไรต่อไป”

การที่นักจิตบำบัดกระทำเช่นนี้ หมายความว่า นักจิตบำบัดไม่ได้เอาความรู้สึกของตนเองไป “ยัดเยียด” ให้คนไข้ คนไข้จะรู้สึกดีขึ้น เพราะว่า เขา “มีสิทธิ์” ที่จะกระทำตามความรู้สึกของตนเองไม่ได้ถูกริดรอนเสรีภาพและยังเป็นการสอนให้คนไข้มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองด้วย ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการทำจิตบำบัดชั้นสูง

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า