สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

วิธีแก้นอนกัดฟัน

คุณคงเคยสะดุ้งตกใจเมื่อได้ยินใครกัดฟันขณะหลับ ผู้เป็นพ่อแม่ที่ไม่ เคยตกใจที่ถูกเด็กขณะหลับกัดเอาบ้างสักครั้ง ก็คงจะน้อยเต็มที

การบดฟัน หรือ การกัดฟัน ดังกรอดๆ รบกวนคนอื่นได้พอๆ กับเสียงกรน แต่ที่หนักไปกว่ารบกวนก็คือ เป็นการทำลายสุขภาพฟัน การกัด ฟันจะเกิดขึ้นตอนกลางคืนเมื่อนอนหลับ แต่บางครั้งก็เกิดได้ในตอนกลางวัน

กัดฟัน

ทันตแพทย์และนักจิตวิทยาเชื่อกันมานมนานแล้วว่า คนเราเมื่อมีอารมณ์ขุ่นหมองหรือขัดข้องทางจิตใจ จึงจะกัดฟัน นายแพทย์บางคนบอกว่า อาการเกร็งทุกอย่างทางร่างกาย ย่อมบ่งบอกถึงการควบคุมจิตใจ และเรามักจะส่งผลให้ระบบกล้ามเนื้อแสดงอารมณ์ออกมาแทน เมื่อเราไม่สามารถจะจัดการ กับปัญหาส่วนตัวของเราได้สมใจอยาก

นายแพทย์อเลกซานเดอร์ โลเวน เชื่อว่า เมื่อกล้ามเนื้อบริเวณกราม เกิดตึงขึ้นมา มักจะเป็นสัญญาณเตือนว่า คนกัดฟันพยายามจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งต้องใช้ความพยายามสูง เช่น อยากสอบได้ อยากมีหน้ามีตา เผชิญหน้ากับศัตรู เป็นต้น

บ่อยครั้งที่คนกัดฟันจะมีอารมณ์ค้าง เช่น โกรธ กลัว กังวล ในการ รักษา นายแพทย์คนนี้พร้อมคนไข้ จะใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อคลายความเกร็งของกล้ามเนื้อ และทำลายประสาทที่กดดันอารมณ์ เมื่อกระทำเช่นนี้ คนไข้ จะตระหนักถึงการขัดแย้งทางอารมณ์ของตน โอกาสแก้ปัญหาได้เองจะมีมากขึ้น หมอพยายามรักษาคนกัดฟันด้วยการใช้เครื่องมือ เช่น เครื่องมือที่ใส่กันไม่ให้ฟันบนกับฟันล่างกระทบกัน หรือการรักษาทางจิตมาเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ลักษณะอย่างนั้นถือเป็นเพียงความผิดปกติทางพฤติกรรมอย่างหนึ่ง จึงหันมาใช้วิธีรักษาด้วยทฤษฎีสร้างกำลังใจด้วยตนเอง เป็นเทคนิคทางจิตที่ค่อนข้างใหม่ในการแก้ความรำคาญอันเกิดจากฟัน เป็นเทคนิคที่ ต้องฝึกปฏิบัติอย่างหนักวิธีหนึ่ง

เทคนิคทางจิตในการรักษาโรคกัดฟัน
การรักษาโรคกัดฟัน มีประโยชน์ ๒ อย่าง คือ เป็นการรักษาสุขภาพ ของกราม ปาก และกล้ามเนื้อคอ และจะได้รู้ว่า เมื่อกล้ามเนื้อบริเวณเหล่านี้เกร็งหรือตึง จะได้รู้วิธีผ่อนคลาย ให้ปฏิบัติดังนี้

๑. อ้าปากให้กว้าง แหงนหน้าให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วอ้าปาก- หุบปากสลับกันไปมาหลายๆ ครั้ง จะรู้สึกว่าขณะที่คุณทำนั้น กล้ามเนื้อบริเวณ กราม บริเวณปาก และคอ จะตึงและเหน็ดเหนื่อย ขอให้สังเกตความแตกต่างระหว่างที่เกิดการตึงและการผ่อนคลาย จากนั้นให้ก้มศีรษะลงเล็กน้อย ปล่อยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายในช่วงกลางวัน หากคุณมีโอกาสได้ปล่อยให้กล้ามเนื้อบริเวณเหล่านี้พักผ่อน หรือคลายตัวได้มากเท่าไรยิ่งดี

๒. หุบปากถ่างฟัน ควบคู่ไปกับการฝึกตามข้อหนึ่งนั้น ยังมีวิธีการอีกอย่างที่ ดร.นาธาน ชอร์ แนะนำเอาไว้ วิธีนี้เรียกว่า “หุบปากถ่างฟัน” ดอกเตอร์คนนี้กล่าวว่า

“วิธีหนึ่งที่สำคัญในการรักษาการกัดฟันก็คือ สร้างสติสัมปชัญญะขึ้นมา ในขณะที่จะกัดว่า ให้หุบริมฝีปากแล้วถ่างฟันบนกับฟันล่างให้ห่างกัน จะทำให้กล้ามเนื้อ คลายความเกร็ง แต่โปรดจำไว้ว่า นิสัยกัดฟันย่อมจะไม่หายได้เพียงข้ามคืนเดียว จำต้องฝึกเป็นเวลาหลายวัน การที่เราหุบปากถ่างฟันนั้น นอกจากจะแก้การกัดฟันแล้ว ยังเพิ่มเสน่ห์ให้แก่ใบหน้าอีกด้วย เพราะใบหน้าได้พักผ่อน กล้ามเนื้อไม่เกร็ง ใบหน้าไม่เมื่อย”

หากเด็กของคุณนอนกัดฟัน ขอให้ช่วยนวดกล้ามเนื้อบริเวณกรามทั้ง สองข้าง สัก ๒-๓ นาที จะช่วยได้มาก โดยใช้ปลายนิ้วคลึงไปมา เพื่อช่วยคลายความเกร็งของกล้ามเนื้อ

ที่มา:ดร.ซัลวาตอร์ วี.ไดดาโต เขียน
ธรรมรงค์  น้อยคูณ แปล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า