สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

วิธีศึกษาบุคลิกภาพมนุษย์แบบไบโอเอ็นเนอร์เจติคส์

ไบโอเอ็นเนอร์เจติคส์(Bioenergetics)

เป็นวิธีการศึกษาและทำความเข้าใจกับบุคลิกภาพของมนุษย์ ในแง่ของสภาวะของร่างกายและกระบวนการที่เกี่ยวกับพลังงานของร่างกาย ทฤษฎีนี้เชื่อว่าร่างกายและจิตใจมีหน้าที่ในการทำงานเหมือนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดจิตใจจะสะท้อนให้เห็นที่ร่างกาย และสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายก็สะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดและจิตใจด้วย

หลักการนี้เชื่อว่า มีพลังงานในรูปแบบหนึ่งอยู่ที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและจิตใจ โดยที่จะควบคุมภาวะทางร่างกายและจิตใจของเรา ที่เรียกกันว่า พลังชีวิต แต่อาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปอีกหลายชื่อ เช่น พลังชี(chi) พลังปราน ฯลฯ

หลักไบโอเอ็นเนอร์เจติคเชื่อว่า ปัญหาทางจิตวิทยาของบุคคลจะส่งผลกระทบต่อท่านั่ง ยืน เดิน และการหายใจเสมอ เช่น ปัญหาจากความเครียด ทัศนคติในทางลบและอารมณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับความโกรธ หรือความกลัว โดยจะสังเกตเห็นว่าคนที่ดื้อดึงมักจะมีกริยาคล้ายๆ กับพยายามดันส้นเท้าให้จมลงไปเสมอ

การช่วยให้คนได้รู้ถึงนิสัยในการวางท่านั่ง ยืน เดิน ฯลฯ ของตนเอง รวมทั้งอารมณ์ที่สัมพันธ์กับท่าทางเหล่านั้นเป็นวัตถุประสงค์ของการบำบัดรักษาแบบไบโอเอ็นเนอร์เจติคส์ เพื่อให้ปลดปล่อยหรือระบายอารมณ์ที่ไม่ดีออกไปแล้วร่างกายก็จะได้ฟื้นความสามารถในการทำงานอย่างมีอิสระและเป็นธรรมชาติขึ้น

อเล็กซานเดอร์ โลเวน(Alexander Lowen) คือผู้ที่พัฒนาไบโอเอ็นเนอร์เจติคส์ โดยอาศัยพื้นฐานจากงานของวิลเฮล์ม ไรค์(Wilhelm Reich) ซึ่งไรค์เป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิเคราะห์จิตชาวอเมริกาที่เคยร่วมงานกับซิกมันด์ ฟรอยด์ ในยุคแรกๆ

โลเวน เกิดในปี ค.ศ.1910 ที่นิวยอร์คซิตี้ ในปี ค.ศ.1936 หลังจากที่เขาได้รับปริญญาทางด้านกฎหมายแล้วก็ได้เริ่มสอนวิชากฎหมายในช่วงปิดภาคเรียนในฤดูร้อน และเขาก็ได้สอนกีฬาสำหรับผู้ใหญ่ตามค่ายฤดูร้อนหลายแห่ง

โลเวนได้พบว่า โปรแกรมการออกกำลังกายและกิจกรรมของเขาที่ทำอยู่เป็นประจำ ไม่เพียงแต่จะช่วยปรับปรุงสุขภาพทางกายเท่านั้น แต่มันยังส่งผลดีต่อภาวะจิตใจของเขาด้วย และเมื่อเขาได้วิจัยค้นคว้าเรื่องนี้ก็ได้พบว่า ผู้ที่เคยศึกษาเรื่องนี้และได้ผลตรงกับความรู้สึกอันแรงกล้าของเขาที่ว่า การฝึกกายอาจมีอิทธิพลต่อทัศนคติและความคิดได้ คือเอมิล จาคส์-ดาล์โครซ์(Emile Jaques-Dalcroze) และเอ็ดวิน จาค็อบสัน(Edwin Jacobson)

อเล็กซานเดอร์ โลเวน ได้พบกับวิลเฮล์ม ไรค์ ที่นิวสคูลฟอร์โซเชียลรีเซิร์จ(New School for Social Research) ในนิวยอร์คซิตี้ปี ค.ศ.1940 ในช่วงระหว่างปี 1940-1952 ไรค์ได้กลายมาเป็นครูให้เขา และก่อนที่เขาจะพบกับไรค์ โลเวนเคยสอบสวนความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับจิตใจด้วยตนเอง ประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับกิจกรรมทางร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาและการเพาะกายทำให้เกิดความสนใจของเขาขึ้นมา

โลเวนเริ่มทำงานวิเคราะห์กับไรค์ในปี ค.ศ.1942 และได้ดำเนินงานไปจนถึงปี 1945 ได้มีผู้ต้องการเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการตามแบบของไรค์เพิ่มขึ้นหลังจากที่หนังสือเรื่อง The Function of the Orgasm ของไรค์ได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1941 และโลเวนได้เป็นผู้ให้การบำบัดรักษาในแนวของไรค์เมื่อปี ค.ศ.1945 เขาได้ไปเรียนแพทย์ที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ในปี 1947 และในปี ค.ศ.1951 ได้รับปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิต

ในปี 1952 โลเวนกลับมาสหรัฐ และได้ผ่านการเป็นแพทย์ฝึกหัดมาได้เรียบร้อย แล้วเขาก็ได้ร่วมงานกับ ดร.จอห์น ซี.เพียร์ราคอส(John C.Pierrakos)ซึ่งเป็นศิษย์อีกคนหนึ่งของไรค์เช่นกันในปี 1953 และได้มี ดร.วิลเลียม บี.วอลลิ่ง(William B. Walling) เพื่อนร่วมชั้นเรียนกับเพียร์ราคอสมาร่วมงานด้วยในปีถัดมา จิตแพทย์ทั้ง 3 ได้ทำงานร่วมกันในการเสนอรายงานสำหรับการสัมมนาต่างๆ เพื่อสอนแพทย์คนอื่นๆ เกี่ยวกับแนวคิดที่เน้นการใช้ร่างกายเป็นตัวหลักในการบำบัดรักษาทางจิต ต่อจากนั้นในปี ค.ศ.1956 ก็ได้มีการก่อตั้งสถาบันเพื่อการวิเคราะห์ในด้านไบโอเอ็นเนอร์เจติคส์(Institute for Bioenergtica Analysis) ขึ้น เพื่อที่จะดำเนินงานตามจุดมุ่งหมายของการสัมมนาให้ลุล่วง

โลเวนได้ทราบว่า ร่างกายของเขายังมีความตึงเครียดในกล้ามเนื้ออย่างเรื้อรังอีกมากมายที่ทำให้เขาไม่อาจประสบกับความเบิกบานใจอย่างที่ใฝ่หาได้ แม้ว่าจะได้เรียนจนจบหลักสูตรการบำบัดรักษาตามแบบของไรค์มาแล้วก็ตาม และเขาก็ได้เข้ารับการบำบัดกับจอห์น เพียร์ราคอฟ อีก 3 ปี โลเวนได้พัฒนาท่าและการออกกำลังกายขั้นพื้นฐานขึ้นมาระหว่างที่รักษาตัวเองอย่างจริงจังอยู่นั้น ซึ่งท่าเหล่านี้เป็นท่ามาตรฐานของไบโอเอ็นเนอร์เจติคส์ในปัจจุบัน

มีการกล่าวเน้นของ วิลเฮล์ม ไรค์ ไว้เสมอถึงความสำคัญของการวิเคราะห์ลักษณะนิสัย โลเวนจึงได้รู้ว่า การวิเคราะห์นิสัยและพฤติกรรมของบุคคลอย่างถี่ถ้วนก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่างานที่เกี่ยวกับความตึงของกล้ามเนื้อ เขาได้ศึกษาด้านนี้อย่างจริงจังและในปี 1958 ก็ได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง The Physical Dynamics of Character Structure ออกมาจำหน่าย ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นรากฐานของงานด้านลักษณะนิสัยทุกอย่างที่ได้ทำกันไปในด้านไบโอเอ็นเนอร์เจติคส์

การทำงาน ความสัมพันธ์ วิกฤตการณ์ในครอบครัว สุขภาพ ฯลฯ ซึ่งเป็นความเครียดทางอารมณ์จากชีวิตประจำวัน ล้วนก่อให้เกิดความตึงเครียดขึ้นกับร่างกายทั้งนั้น หรือคนเราจะแสดงปฏิกิริยาต่อความเครียดในชีวิตด้วยการเกร็งกล้ามเนื้อ

ความตึงเครียดที่กล้ามเนื้อ ถูกสร้างขึ้นมาในร่างกายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วกลายมาเป็นความเครียดเรื้อรัง และส่งผลต่ออารมณ์ ทำให้พลังงานต่ำลง สมรรถภาพในการทำงานก็ถูกกำจัดไปโดยอัตโนมัติในการแสดงความเป็นตัวของตัวเองซึ่งจะขัดขวางไม่ให้บรรลุถึงความพึงพอใจในเรื่องต่างๆ ในชีวิตได้

ไบโอเอ็นเนอร์เจติคส์ให้ความสำคัญอย่างมากกับแบบแผนของความตึงเครียดที่กล้ามเนื้อและความสัมพันธ์ของมันที่มีต่อการเคลื่อนไหว การหายใจ ท่านั่ง-ยืน-เดิน ฯลฯ และการแสดงออกทางอารมณ์ ลักษณะเฉพาะตัวเหล่านี้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับประวัติทางอารมณ์ของคนๆ นั้น และจะสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่มีกับบุคคลต่างๆ ในสมัยวัยเด็กตอนต้น

วิธีนี้จะมุ่งเพื่อกระตุ้นร่างกายด้วยท่าออกกำลังกายต่างๆ โดยมีเป้าหมายอยู่ 3 ประการเป็นหลัก คือ
1. เพื่อให้แต่ละบุคคลเข้าใจถึงบุคลิกภาพของตนจากสภาพร่างกายของตัวเอง

2. เพื่อปรับปรุงการทำงานทุกอย่างที่เกี่ยวกับบุคลิกภาพ ด้วยการระดมพลังงานที่ถูกความตึงเครียดจากกล้ามเนื้อพันธนาการเอาไว้ออกมาใช้งาน

3. เพื่อเพิ่มความเบิกบานใจด้วยการแก้ไขทัศนคติตามลักษณะนิสัยที่ได้กลายเป็นนิสัยติดตัวไปแล้ว และที่เข้าไปรบกวนการเคลื่อนไหวอย่างมีจังหวะจะโคนและอย่างเป็นเอกภาพ

สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมโดยละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการด้านไบโอเอ็นเนอร์เจติคส์ ได้จากหนังสือเรื่อง Bioenergetics ของอเล็กซานเดอร์ โลเวน

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า