สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

วิธีรักษาโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าคืออะไร
การคิดมากและกังวลจนทำให้รู้สึกเครียด ความรู้สึกเบื่อและเซ็งทำอย่างไรก็ไม่หายหรือไม่ดีขึ้น แต่เป็นหนักขึ้นทุกทีถึงขั้นซึมเศร้า ใจคอหดหู่นานเป็นสัปดาห์ เรียกว่าโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นการเจ็บป่วยของจิตใจ โรคนี้พบได้ค่อนข้างบ่อย พบทุกเพศทุกวัย ทุกอายุและอาชีพ ทุกเชื้อชาติ ประมาณกันว่าคนทั่วไป 1 ใน 10-20 คน (หรือร้อยละ 10) มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า

ผู้ที่ป่วยโรคซึมเศร้าจะรู้สึกหดหู่ อารมณ์ท้อแท้ เศร้าหมอง เบื่อหน่าย หรือหงุดหงิดฉุนเฉียว ใจลอยไม่มีสมาธิ หลงๆ ลืมๆ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เงียบซึมไม่อยากพูดคุยหรือพบปะกับใครและอาจมีอาการอื่นๆ ทางร่างกาย เช่น ปวดมึนศีรษะ จุกเสียดแน่นท้อง ใจสั่น ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
โรคซึมเศร้ามีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวได้มาก ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกหมดหวัง ถึงขั้นฆ่าตัวตายด้วยอารมณ์ชั่ววูบทำให้เสียชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย
โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้ามีสาเหตุจากอะไร
โรคซึมเศร้ามีสาเหตุมาจากปัจจัยรวมๆ ทางด้านจิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม และชีวภาพ โรคซึมเศร้ามักเกิดตามหลังความผิดหวังหรือการสูญเสียจากพราก เช่น บุคคลที่รักตายจาก คนรักตีจาก ความกดดันด้านสังคม การเรียน การงานหรือการเงิน สภาพชีวิตที่โดดเดี่ยวว้าเหว่ ขาดความรักความอบอุ่น เป็นต้น

จะเห็นว่าสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคซึมเศร้ามีมากมาย ที่สำคัญคือ โรคซึมเศร้ามิได้เกิดจากสภาพจิตใจที่เปราะบาง อ่อนแออย่างที่เข้าใจกันผิดๆ หากแต่มีหลักฐานจากการวิจัยมาตลอด 20 ปีนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสมดุลย์ของสารเคมีซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง มีผลต่ออารมณ์ซึมเศร้าของคน (โดยเฉพาะสารสีโรโทนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน) แต่น่าเสียดายที่ยังไม่ทราบว่าอะไรทำให้ระดับของสารเหล่านี้เปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม เรายังโชคดีที่มีการคิดค้นยารักษาโรคซึมเศร้าได้สำเร็จ ในรายที่มีอาการไม่รุนแรงนัก อาการอาจค่อยๆ ดีขึ้นได้เองจากการพยายามข่มใจ ทำใจ หาทางระบายความคับข้องใจในรูปแบบต่างๆ เช่น ฟังดนตรี เล่นกีฬา อ่านหนังสือให้ผ่อนคลาย หรือพูดคุยปรับทุกข์กับผู้อื่น เป็นต้น ตรงกับธรรมะที่เน้นว่า เรื่องทุกข์สุขของคนเราอยู่ที่ (จิต)ใจ เดล คาร์เนกี้ กล่าวว่า ความสุขของคนเราไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่ได้หรือสิ่งที่มี แต่อยู่ที่ความคิด ถ้าคิดในสิ่งที่ดีเรื่องดีๆ จิตใจก็สบาย มีแต่ความสุขใจ ถ้าคิดเรื่องร้ายๆ จิตใจก็เศร้าหมอง อย่างไรก็ตาม คนที่มีอารมณ์ซึมเศร้ารุนแรงจะบังคับควบคุมจิตใจตนเองแทบไม่ได้เลย จะคิดแต่ในเรื่องร้ายๆ และสิ้นหวัง จำเป็นต้องรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้าเพื่อให้อาการดีขึ้นไม่ต้องทุกข์ทรมานใจอยู่นานเป็นเดือนๆ

การรักษาโรคซึมเศร้าด้วยยา
แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ชนิดของยาแก้ซึมเศร้าโดยอาศัยปัจจัยต่างๆ เช่น ลักษณะของอาการ และความรุนแรง ระยะเวลาว่าป่วยมานานเท่าใด ประกอบอาชีพหรือดำรงชีวิตอย่างไร มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง และกำลังรับประทานยาชนิดใดอยู่ เพื่อเลือกยาแก้ซึมเศร้าที่เหมาะสมที่สุดแก่ผู้ป่วย

โดยทั่วไปผู้ป่วยร้อยละ 70-80 จะรู้สึกดีขึ้น หลังได้รับยา และจะแจ่มใสเป็นปกติในเวลา 1-2 เดือน แต่บางคนอาจรู้สึกดีขึ้นเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์

ยาแก้ซึมเศร้า
ยาแก้ซึมเศร้าส่วนใหญ่มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึม สารสื่อประสาท กลับเข้าเซลล์ จึงทำให้มีปริมาณสารสื่อประสาทเพิ่มขึ้นหรือสมดุลย์ขึ้นข้อสำคัญคือยาแก้ซึมเศร้าไม่มีฤทธิ์เสพย์ติด

ยาแก้ซึมเศร้าก็มีผลข้างเคียงได้ดังยาอื่นๆ เช่น ทำให้มึนๆ ง่วงๆ แต่มักจะเป็นอยู่ช่วงสั้นไม่กี่วันก็หาย หากมีอาการมากจนรบกวนกิจวัตรประจำวัน ผู้ป่วยควรติดต่อแพทย์ผู้รักษาเพื่อขอคำแนะนำในการแก้ไข หรือปรับเปลี่ยนยา

ผลข้างเคียงจากยาแก้ซึมเศร้าชนิดเก่าที่ใช้กันมานานได้แก่ อาการหวิวๆ หน้ามืดจะเป็นลม หรือตาพร่า ปากแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะขัดและอ้วนขึ้น เป็นต้น ส่วนผลข้างเคียงจากยาซึมเศร้าชนิดใหม่ๆ (ซึ่งมีราคาแพง เม็ดละหลายสิบบาท) ได้แก่ อาการคลื่นไส้ ปวดมึนศีรษะ และง่วงซึม เป็นต้น

ต้องรับประทานยาแก้ซึมเศร้านานเท่าใด
ถ้าได้ผลดี ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายใจและอาการดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์หลังจากรับประทานยาแก้ซึมเศร้า (เนื่องจากยาต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งในการออกฤทธิ์) หลังจากนั้นควรรับประทานยาต่อไปแม้ว่าจะรู้สึกดีขึ้นแล้ว หากหยุดรับประทานยาเร็วเกินไปอาจกลับมีอาการซึมเศร้าได้อีก องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าควรรับประทานยาต่อไปนาน 4-6 เดือน เพื่อป้องกันอาการซึมเศร้ากำเริบอีก มีผู้ป่วยร้อยละ 20 ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องไปหลายๆ ปี

การให้คำปรึกษาแนะนำ
ผู้ป่วยและครอบครัวจำเป็นต้องได้รับคำปรึกษาแนะนำร่วมไปกับการรับประทานยาแก้ซึมเศร้า ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำอาจเป็นจิตแพทย์หรือแพทย์ผู้รักษา นักแนะแนวหรือนักจิตวิทยา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปรับตัว ปรับใจกับปัญหาชีวิตได้ดีขึ้น

หากผู้ป่วยได้รับการรักษาติดต่อกันตามคำแนะนำของแพทย์ โดยรับประทานยาสม่ำเสมอ ในเวลา 6 เดือนจะรู้สึกเหมือนฝันร้ายได้ผ่านพ้นไป

ข้อพึงตระหนัก

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตาย

โรคซึมเศร้ามิได้บ่งถึงจิตใจที่อ่อนแอ “คิดมากไปเอง” อย่างที่เข้าใจผิดกัน

โรคซึมเศร้าเป็นการเจ็บป่วยที่ครอบครัวผู้ป่วยควรให้ความเห็นใจ และจัดการให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ถ้าผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือเพราะไม่ตระหนักถึงความเจ็บป่วยของตัวเอง อาจจำเป็นต้องขอร้องแกมบังคับให้มาพบแพทย์

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ หากอาการรุนแรงมากหรือรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล ก็จำเป็นต้องรักษาโดยใช้ไฟฟ้ากระตุ้นซึ่งปลอดภัยและได้ผลดีกว่าการใช้ยาเสียอีก

สรุป
อารมณ์ซึมเศร้าเป็นภาวะที่พบได้บ่อย ประมาณว่าประชากร 1 ใน 20 คนกำลังมีภาวะซึมเศร้าอยู่ คำถามกรองว่าท่านมีอารมณ์ซึมเศร้าหรือไม่ มีดังนี้
ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านมีอาการเช่นนี้หรือไม่

-รู้สึกกลุ้มใจ ซึมเศร้า ทุกๆ วัน หรือทั้งวัน หรือไม่
-รู้สึกเบื่อทุกๆ สิ่งหรือไม่
-เบื่ออาหารหรือไม่
-มีปัญหาในการนอนหลับหรือไม่
-รู้สึกกระวนกระวาย (หรือซึมๆ เนือยๆ) หรือไม่
-รู้สึกเพลีย เหนื่อยง่าย หรือไม่
-รู้สึกผิด ไร้ค่า ไร้ความสามารถ หรือไม่
-รู้สึกใจลอย ไม่มีสมาธิ หรือไม่
-รู้สึกเบื่อชีวิต คิดอยากฆ่าตัวตาย หรือไม่

ถ้าท่านมีอารมณ์เศร้า เบื่อทุกๆ อย่าง นานกว่า 2 สัปดาห์ และมีอาการต่อไปนี้อีกอย่างน้อย 4 ข้อ ท่านอาจเป็นโรคซึมเศร้า
-เบื่ออาหาร ผอมลง
-นอนไม่หลับ
-กระวนกระวาย หรือซึมๆ เนือยๆ
-อ่อนเพลียง่าย
-รู้สึกผิด ไร้ค่า
-ขาดสมาธิ
-คิดอยากตาย

โรคซึมเศร้าเป็นการเจ็บป่วยของจิตใจ ผู้ป่วยร้อยละ 70-80 รักษาได้ด้วยยาแก้ซึมเศร้า หากท่านหรือญาติพี่น้องของท่านมีอาการซึมเศร้าโปรดติดต่อแพทย์ของท่านหรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช

ที่มา:ดวงใจ กสานติกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า