สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีการของนักจิตบำบัด

เคยได้เรียนให้ทราบแล้วว่า วัตถุประสงค์อันที่ 2 ของการทำจิตบำบัด ในระยะแรกนี้ คือฝึกให้คนไข้คุ้นเคยกับวิธีการรักษา ถ้าผู้รักษามีความชำนาญมากแล้ว ผู้ป่วยจะไม่ค่อยรู้สึกตัวว่าการสัมภาษณ์ครั้งแรก กับครั้งต่อๆ มา มีความแตกต่างกันมาก ผู้รักษามักจะ Active เล็กน้อย ในการสัมภาษณ์ครั้งแรกๆ เช่น ถามผู้ป่วยมากหน่อย พร้อมทั้งแสดงความ สนใจในสิ่งที่ผู้ป่วยเล่าให้ฟัง เมื่อเริ่มการรักษาไปได้ระยะหนึ่ง ผู้รักษามักจะใช้ความเงียบมากขึ้น และมีท่าทีคล้ายผู้สังเกตการณ์หรือ Quiet Observer

เมื่อผู้ป่วยพบผู้รักษา หรือจิตแพทย์หลายๆ ครั้งแล้ว ผู้ป่วยจะเรียนรู้วิธีการของนักจิตบำบัด สำหรับนักจิตบำบัดหัดใหม่ มักจะพบปัญหาว่า ถ้าคนไข้เงียบ คือ Silence นักจิตบำบัดหัดใหม่มักจะไม่ทราบว่าควรจะทำอย่างไร

วิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้ในระยะเริ่มต้นการรักษา มีอยู่ 3 วิธี คือ

1. ให้ถามว่า ผู้ป่วยกำลังคิดอะไรอยู่
2. ให้ถามผู้ป่วยเป็นเรื่องๆ ที่เรียกว่า Direct Question
3. เงียบ คอยจนกว่าผู้ป่วยจะพูดเอง

ส่วนวิธีแก้ปัญหาในระยะ Middle Course ของการรักษานั้น ต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง คือ

ประการแรก คือ ถามว่าผู้ป่วยกำลังคิดอะไรอยู่

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเริ่มต้นการรักษา โดยเล่าว่า อาทิตย์ที่ผ่านมา ได้ทำไรบ้าง เช่น ซื้อของใช้ ซื้อเสื้อผ้า แล้วผู้ป่วยก็หยุดพูด ผู้รักษาคอยประมาณ 30 วินาที แล้วจึงใช้วิธีถามความคิดของผู้ป่วย

ผู้รักษาแสดงท่าทีให้กำลังใจ แล้วพูดว่า “คุณกำลังคิดอะไรอยู่?”
ผู้ป่วยตอบว่า “ไม่ได้คิดอะไรเลย”
ผู้รักษาถามต่อไปว่า “ถ้าเช่นนั้น ก็ให้คุณพูดถึงความคิด ความรู้สึก ทุกๆ อย่าง ที่ผ่านเข้ามาในความคิดของคุณ” (Free Association)
ผู้ป่วยหัวเราะ แล้วพูดว่า “จิตใจของหนูว่างเปล่าจริงๆ ไม่ได้คิดอะไรเลย”
ผู้รักษาอธิบายว่า “ผมเข้าใจที่คุณพูด คุณอาจจะรู้สึกอย่างนั้น แต่ตามความจริงแล้ว เราจะต้องคิดอะไรอยู่เสมอ จิตใจจะหยุดนิ่งเฉยไม่ได้ เช่นเดียวกับหัวใจที่ต้องเดินตลอดเวลา”

ผู้ป่วยจึงพูดว่า “คุณหมอพูดถึงเรื่องหัวใจ ทำให้หนูคิดขึ้นมาได้ว่า คุณแม่เป็นโรคหัวใจ….” แล้วผู้ป่วยก็เล่าเรื่องต่างๆ ต่อไปได้

ข้อสังเกต
ผู้รักษาไม่ได้เอ่ยถึง Resistance ของผู้ป่วยเลย เพราะว่า เป็นตอนเริ่มต้นของการรักษา ผู้รักษาต้องการอธิบายให้ผู้ป่วยทราบเรื่อง Free Association เท่านั้น

ในการพบกันครั้งต่อมา ผู้ป่วยคนนี้เงียบอีก และผู้รักษาก็พยายามให้กำลังใจผู้ป่วยโดยพูดว่า

“คุณเงียบอีกแล้ว คุณควรจะพูดถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในความคิดของคุณ”
ผู้ป่วยตอบว่า “คิดถึงเรื่อง ไม่เป็นเรื่อง และคิดว่าไม่สำคัญอะไร”
ผู้รักษากระตุ้นอีกว่า “ถึงอย่างไร ก็พูดออกมาได้”
ผู้ป่วยยิ้ม แล้วตอบว่า “หนูไม่เห็นว่า มันจะสำคัญอะไร กำลังคิดว่า หนังสือในห้องของคุณหมอเป็นหนังสือเกี่ยวกับอะไรบ้าง แต่คิดว่า คงไม่เกี่ยวกับอาการป่วยของหนู”

ผู้รักษาจึงอธิบายว่า “คุณไม่อาจทราบได้หรอกครับว่า มันจะสำคัญ หรือไม่สำคัญ แต่ก็ยังดีที่คุณพูดออกมาได้ คุณคิดว่าหนังสือของผมเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรบ้าง”

ผู้ป่วยตอบว่า “คงจะเกี่ยวข้องกับวิชาจิตวิทยา และหนูเองก็สนใจในเรื่องนี้….”
แล้วผู้ป่วยก็สามารถเล่าเรื่องต่อไปได้

หมายเหตุ
ผู้รักษายังสอนให้ผู้ป่วยเคยชินกับการใช้ Free Association อีก ตามธรรมดานั้น ผู้ป่วยทุกคนจะต้องมีการระมัดระวังตัว หรือ Censor บ้าง ไม่มากก็น้อย แต่ผู้รักษาต้องการให้ผู้ป่วยใช้ Censorship ให้น้อยที่สุด

ประการที่ 2 การใช้ Direct Questions
หมายถึงการที่ผู้รักษา ถามเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่ไม่เกี่ยวกับการที่ผู้ป่วยเงียบ

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเป็นชาย หลังจากเล่าว่า บิดาของผู้ป่วยถึงแก่กรรมเมื่อ 3 ปีก่อน แล้วผู้ป่วยก็เงียบ

ผู้ป่วยพูดประโยคสุดท้ายว่า “ผมคิดว่า ได้เล่าให้คุณหมอฟังหมดแล้ว…..”

ผู้รักษาคอยอยู่ครู่หนึ่ง จึงถามว่า “หลังจากนั้น มารดาคุณทำอาชีพอะไร”

หมายเหตุ
ในการทำจิตบำบัด ผู้ป่วยจะค่อยๆ เรียนรู้ว่า บางคราวนักจิตบำบัดจะใช้ Interposition เมื่อผู้ป่วยเงียบ เพื่อหาข้อมูลที่สำคัญ

ประการที่ 3 การคอยให้ผู้ป่วยพูดต่อเอง
ผู้ป่วยจะเรียนรู้เองว่า นักจิตบำบัดจะชอบใช้วิธีนี้มากที่สุด การพูดกับนักจิตบำบัดนั้น ไม่เหมือนกับการพูดคุย หรือสนทนาโดยทั่วไป คือ นักจิตบำบัดจะไม่รู้สึกอึดอัด ถ้าคนไข้ เงียบ ประสบการณ์นี้จะทำให้ผู้ป่วยงง และแปลกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่ถือว่า คำพูดของผู้รักษานั้น หมายถึง เป็นการที่ผู้รักษาให้ความสนใจแก่ผู้ป่วยเป็นพิเศษ

ตัวอย่าง
ในการพบกับผู้ป่วยครั้งที่ 3 ผู้ป่วยซึ่งเป็นหญิง นั่งเงียบ ทำท่าเหมือนจะคอยให้ผู้รักษาพูด เมื่อเห็นผู้รักษาไม่พูด (ซึ่งนักจิตบำบัดหัดใหม่ มักจะทนไม่ได้) ผู้ป่วยทำท่าทางแปลกใจ และถามว่า
“ทำไมคุณหมอไม่พูดอะไรเลย”
ผู้รักษาตอบว่า “ผมกำลังคอยว่าคุณจะพูดอะไร”
ผู้ป่วยแสดงท่าทางงง และพูดว่า “หนูกำลังแปลกใจ ว่าทำไมคุณหมอไม่พูดอะไรเลย”

ผู้รักษาจึงอธิบายว่า “ผมต้องทราบเรื่องราวของคุณให้ดีเสียก่อน ผมจึงจะสามารถพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คุณ งานของผมก็คือ ฟัง ส่วนคุณมีหน้าที่พูด คุณไม่ต้องกังวลหรอกครับ เมื่อถึงเวลาแล้ว ผมจะพูดเอง”

ในการทำจิตบำบัดนั้น มีหลักการอยู่อย่างหนึ่งว่า เมื่อได้ทำการสัมภาษณ์ผู้ป่วยครั้งแรกแล้ว ในครั้งต่อๆ ไป นักจิตบำบัดจะต้องเงียบในตอนต้นชั่วโมง เพื่อคอยให้คนไข้ เป็นฝ่ายพูดก่อน แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นฝ่ายเงียบบ้าง นักจิตบำบัดจึงจะพูด หรือถามผู้ป่วย เมื่อได้รอหรือให้โอกาสแก่ผู้ป่วยตามสมควร เหตุผลก็คือ ให้ผู้ป่วยเป็นฝ่ายเลือกว่า จะพูดเรื่องอะไร

ในกรณีที่ผู้ป่วยซึมเศร้ามากๆ ผู้ป่วยมักจะไม่ค่อยยอมพูด นักจิตบำบัดควรจะรอให้ผู้ป่วยพูดก่อนเช่นเดียวกัน แต่ว่าไม่ใช้เวลารอนานเกินไป นักจิตบำบัดจะต้องมีความอดทน และปรับตัวให้เข้ากับการเริ่มต้นช้าของผู้ป่วยด้วย พร้อมทั้งให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย และช่วยเหลือให้ผู้ป่วยพูด
เมื่อผู้ป่วยมีประสบการณ์มากขึ้น ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นว่า เมื่อตัวเองเงียบ นักจิตบำบัดก็มักจะเงียบด้วย ปรากฏการณ์นี้ เป็นประสบการณ์ใหม่ ไม่เหมือนกับการพูดจาสนทนากันตามธรรมดา ความเงียบนี้ เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเครียดและวิตกกังวล เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยบางคนจะพยายามระบายความเครียด และความวิตกกังวล โดยการถามนักจิตบำบัด เพื่อที่จะให้นักจิตบำบัดเป็นฝ่ายพูด นักจิตบำบัดที่ดีนั้น ส่วนมากจะไม่พูด หรือพูดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ประสบการณ์เช่นนี้ ทำให้ผู้ป่วย “งง” หรือ “ประหลาดใจ” เนื่องจากเคยชินกับการสนทนา ตามธรรมดา ซึ่งมีการพูดจาโต้ตอบกัน ตามที่ควรจะเป็น

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเป็นหญิงวัยกลางคน ได้รับการรักษาโดยวิธีจิตบำบัดมาหลายครั้งแล้ว คราวนี้ผู้ป่วยทำท่าคอยให้นักจิตบำบัดพูด แต่เมื่อเห็นว่านักจิตบำบัดไม่พูด ผู้ป่วยจึงตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า

“ดิฉันรู้สึกแปลกใจ และคิดเสมอว่า ทำไมคนเราต้องเลือกอาชีพประเภทนี้ บอกหน่อยได้ไหมว่า ทำไมคุณหมอจึงเลือกเป็นจิตแพทย์”

ในกรณีนี้ ผู้รักษามีความประสงค์อยู่ 2 ประการ คือ ให้ผู้ป่วยทราบว่า คำถามของผู้ป่วยนั้น นักจิตบำบัดจะถือว่าเหมือนกับการพูด การแสดงความคิดเห็นของผู้ป่วย ซึ่งผู้รักษาอาจจะตอบ หรือไม่ตอบก็ได้

ประการที่ 2 ผู้รักษาต้องการจะศึกษาความคิดที่เกี่ยวกับ Transference ของผู้ป่วยซึ่งอาจจะเป็น Resistance ต่อการรักษา เพราะฉะนั้นนักจิตบำบัดจึงเงียบ ไม่ตอบอะไรเลย

ผู้ป่วยมีท่าทางไม่พอใจ แล้วพูดขึ้นมาว่า “ทำไมคุณหมอไม่ตอบมันไม่ใช่คำถามที่มีเหตุผลหรือ?”

ผู้รักษาแสดงท่าทีเห็นด้วย และตอบว่า “เป็นคำถามที่มีเหตุผล แต่ว่าในการทำจิตบำบัดนั้นไม่ใช่การสนทนาแบบถามคำ ตอบคำ เมื่อมีความคิดอะไรก็ตามผ่านเข้ามาในจิตใจของคุณ เราจะกระทำเหมือนความคิดทั่วๆ ไป ไม่ได้หมายความว่า คุณไม่ควรถาม เพียงแต่ว่า ผมอาจจะตอบหรือไม่ตอบก็ได้ ที่คุณถามผมมานั้น คุณคงมีความข้องใจเกี่ยวกับตัวผม”

ผู้ป่วยแสดงท่าทางยอมรับ และพูดขึ้นว่า “อ๋อ ใช่ค่ะ ดิฉันสงสัยเกี่ยวกับตัวคุณหมอ คือ คุณหมอไม่น่าจะเป็นจิตแพทย์”
ผู้รักษาจึงถามว่า “ทำไมหรือ?”

Dynamics ของคำถามของผู้ป่วย
จากตัวอย่างที่แสดงให้เห็นนี้ จะสังเกตได้ว่า ผู้ป่วยพยายามเลี่ยง ไม่ยอมพูดถึงความรู้สึกของตนเอง แต่กลับพยายามให้ผู้รักษาเป็นฝ่ายพูดแทน

สิ่งที่ผู้รักษาจะต้องพึงสังวรไว้เสมอก็คือ เหตุการณ์ชนิดนี้จะเกิดขึ้นในเวลาไหน และหาความหมายที่แท้จริงของคำพูด หรือคำถามเหล่านี้

ตัวอย่างที่ 1
ผู้ป่วยเป็นหญิง มีลูกชาย 2 คน เมื่อมาพบจิตแพทย์ ก็เล่าเรื่องที่ผู้ป่วยปฏิบัติ ต่อลูกชายทั้งสองคน ผู้ป่วยได้อ่านหนังสือทางจิตวิทยาหลายเล่ม แต่ก็ช่วยอะไรผู้ป่วยไม่ได้ ลูกๆ มักจะเกาะผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา เมื่อลูกๆ ทะเลาะกัน ก็มักจะกล่าวหาว่าผู้ป่วยเข้าข้างลูกคนใดคนหนึ่ง

เมื่อเล่าถึงเรื่องนี้ ผู้ป่วยเริ่มแสดงความกังวลใจและละอาย ในที่สุด ผู้ป่วยก็สารภาพว่า ผู้ป่วยรักลูกคนเล็กมากกว่าลูกคนโต เพราะว่าลูกคนเล็กช่างประจบ และว่านอน สอนง่าย จากตำราจิตวิทยาที่ผู้ป่วยได้อ่านมา กล่าวว่า ไม่ควรลำเอียง เพราะจะทำให้เด็กมีปัญหา ผู้ป่วยจึงถามนักจิตบำบัดว่า

“เป็นความจริงใช่ไหม ที่ลูกอาจมีปัญหาทางจิตใจ ถ้ารักลูกไม่เท่ากัน”
ในกรณีนี้ คำถามโดยตรง หรือที่นักจิตบำบัดนิยมเรียกว่า Manifest Question นั้น ผู้ป่วยถามผู้รักษาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกที่ถูกต้อง ควรจะทำอย่างไร

แต่ความหมายของคำถาม Implied Question นั้น เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของผู้ป่วยเอง คือ ผู้ป่วยมีความรู้สึกว่าได้ทำ “ผิด” อยู่ในใจ เพราะฉะนั้น ความหมายของคำถามนี้ก็คือ “คุณหมอคิดว่า ดิฉันเป็นแม่ที่เลวไหม ที่รักลูกไม่เท่ากัน?”

ถ้านักจิตบำบัด “เข้าใจ” ความหมายของคำถาม หรือ Implied Question แล้ว จะต้องตัดสินใจว่า ควรจะตอบในแง่ไหน สำหรับกรณีนี้ อาจทำได้ 2 ทาง คือ ถ้าตอบ Manifest Question ก็อาจจะตอบเป็นทำนองว่า
“บางครั้งก็อาจจะเป็นอย่างที่คุณว่า แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป ไม่มีใครสามารถแบ่งความรักออกเป็นส่วนๆ ที่เท่ากันได้ คุณสังเกตเห็นความผิดปกติในลูกชายคนโตหรือ จึงทำให้คุณไม่สบายใจ”

ถ้านักจิตบำบัดต้องการจะตอบ Implied Question ก็อาจจะพูดว่า
“ผมคิดว่า สิ่งที่คุณถามผมก็คือ คุณเป็นแม่ที่เลวไหม ในการรักลูกไม่เท่ากัน”

ตัวอย่างที่ 2
ผู้ป่วยเป็นนักศึกษาวิชาฟิสิกส์ เป็นคนฉลาดมาก มาพบจิตแพทย์เพราะว่ามีปัญหากับเพื่อนหญิงโดยที่ทั้งสองทะเลาะกันอย่างรุนแรง ในเรื่องการเมือง ศาสนา และปรัชญา ผู้ป่วยเป็นคนชอบทะเลาะวิวาทมาตั้งแต่เล็กๆ และในขณะเดียวกัน ก็ภูมิใจว่าตนเองเป็นคนฉลาด แต่ขณะนี้ เพื่อนหญิงขู่ว่าจะเลิกคบกับผู้ป่วย ถ้ายังไม่เปลี่ยนนิสัยก้าวร้าวดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังชอบโต้เถียงกับอาจารย์ของตนในมหาวิทยาลัยด้วย อาจารย์คนหนึ่งบอกกับผู้ป่วยว่า เขามีนิสัยก้าวร้าวเกินไป ควรจะไปพบจิตแพทย์

เมื่อได้รับการรักษามาหลายชั่วโมง  ผู้รักษาพบว่า ผู้ป่วยเป็นคนสุภาพ ให้ความร่วมมือดี (เนื่องมาจาก Reaction Formation) แต่ขี้บ่นเล็กน้อย ผู้ป่วยมาก่อนเวลาเสมอ และเรียกผู้รักษาว่า “ท่าน” มักจะขอโทษ ถ้าพูดจาคลุมเครือ หรือตอบไม่ตรงประเด็น

ในการพบกันวันหนึ่ง ผู้ป่วยกล่าวว่าตนสนใจวิชาจิตวิทยา ได้อ่านตำราจิตวิทยามาแล้วหลายเล่มและถกเถียงกับเพื่อนๆ ในเรื่องที่ได้อ่านมา ครั้งหนึ่ง ผู้ป่วยเคยคิดจะเปลี่ยนจากวิชาฟิสิกส์มาเป็นจิตวิทยา แต่ผู้ป่วยไม่เห็นด้วยกับ Concepts หลายอย่างในวิชาจิตวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ แล้วผู้ป่วยก็พูดขึ้นว่า

“ยกตัวอย่างเช่น จิตไร้สำนึก เป็นต้น คุณหมอคิดว่า มีจิตไร้สำนึกจริงๆ หรือ ?”

Manifest Question ในที่นี้ คือ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ เป็นสิ่งที่เชื่อถือได้ ตาหลักวิทยาศาสตร์หรือไม่?

แต่ความหมายที่แท้จริง หรือ Implied Question คือ ผู้ป่วยกำลังท้าทายนักจิตบำบัด เป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยเริ่มจะแข่งขัน หรือโต้เถียงนักจิตบำบัดอย่างเดียวกับที่ผู้ป่วยเคยกระทำกับคนอื่นๆ ภาษาทางจิตวิเคราะห์ เรียกพฤติกรรมเช่นนี้ว่า Repetition Compulsion

ตัวอย่างที่ 3
ผู้ป่วยเป็นทหารผ่านศึก วันหนึ่งในขณะรักษา ผู้ป่วยถามผู้รักษาว่า มะเร็งมักเกิดขึ้นในคนอายุเท่าใด ในขณะนั้น ผู้รักษานึกไม่ออกว่าสิ่งที่ผู้ป่วยถามนั้น มีความหมายว่าอย่างไร ผู้รักษาจึงตอบว่า

“มะเร็งเกิดได้ในคนทุกอายุ แต่ส่วนมากมักจะเกิดในวัยสูงอายุ ทำไมคุณจึงถาม ?”

ผู้ป่วยตอบว่า “คุณแม่เขียนจดหมายมาบอกผมว่า เพื่อนของผมซึ่งมีอายุเพียง 38 ปี ตายเสียแล้วด้วยโรคมะเร็ง เพื่อนคนนี้ โตมาด้วยกัน เป็นทหารด้วยกัน เป็นคนดีมาก ผมรู้สึกสลดใจมาก คุณแม่บอกว่า เขาตายด้วยโรคมะเร็งของลำไส้”

มาถึงตอนนี้ ผู้รักษาจำได้ว่า ผู้ป่วยเคยเป็นโรคบิดเรื้อรัง แม้ในปัจจุบัน ก็ยังมีอาการท้องเสียอยู่บ่อยๆ ผู้รักษาก็เข้าใจทันทีว่า ผู้ป่วยกลัวจะเป็นมะเร็ง จึงถามขึ้นว่า

“เดี่ยวนี้ คุณยังท้องเสียอยู่อีกไหม?”

ผู้ป่วยตอบว่า “ไม่บ่อยครับ แต่คุณหมอเข้าใจผมถูกต้อง เมื่อตอนเป็นบิด ผมเคยกลัวว่าจะเป็นมะเร็ง เดี๋ยวนี้ ถ้าวันไหนผมปวดท้อง ก็ยังกลัวว่าจะเป็นมะเร็ง”

จากตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่า Implied Question ซึ่งในตอนแรก ไม่ทราบความหมายนั้น เดี๋ยวนี้ก็เป็นเรื่องชัดเจน คือ ผู้ป่วยถามว่า

“คนอายุขนาดผม จะเป็นมะเร็งได้ไหม?” นั่นเอง

จากตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า นักจิตบำบัดมีวิธีการที่ “ยืดหยุ่น” หลายรูปแบบในการตอบคำถามของคนไข้ ในการทำจิตบำบัดชั้นสูง ผู้รักษามักจะเงียบ หรือไม่ก็ตอบ Implied Question ส่วนในการทำจิตบำบัดชั้นต้นและชั้นกลางนั้น ผู้รักษามักจะตอบ Manifest Question และในบางกรณี ก็อาจจะต้องอธิบาย หรือให้ความรู้แก่ผู้ป่วยด้วย

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเป็นหญิง มีอาชีพเป็นครู มีอาการ Phobia ทุกครั้งที่มาพบจิตแพทย์จะต้อง ถาม Manifest Question มากมาย เมื่อรับการรักษาไปได้ระยะหนึ่ง ผู้ป่วยเริ่มชินว่า ผู้รักษามักไม่ค่อยตอบคำถาม แต่ผู้ป่วยก็ยังรบเร้าจะเอาคำตอบให้จงได้ ผู้รักษาจึงประเมินสถานการณ์ ว่า ถ้าไม่ตอบคำถามเลย จะทำให้ผู้ป่วยคิดว่า ผู้รักษาเป็นคนเย็นชา พร้อมทั้งแสดงความโกรธเคือง ซึ่งจะเป็นผลเสียหายต่อการรักษา เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้รักษาจึงต้องผ่อนปรนบ้าง แต่ก็พยายามหาทางเลี่ยงไปพูดเรื่องสำคัญ

ผู้ป่วยพูดขึ้นว่า “เดี๋ยวนี้ หนูกำลังกังวลใจว่าจะท้อง คุณหมอเป็นหมอ คงจะรู้ว่า การใช้ Diaphragm นั้น ปลอดภัยหรือไม่ คุณหมอคิดว่าหนูมีเหตุผลที่จะกังวลใจไหม?”

ผู้รักษาตอบว่า “เท่าที่ผมทราบ การใช้ Diaphragm เป็นการคุมกำเนิดที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง แต่ผมก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้”

ผู้ป่วยแสดงท่าทีจะเร่งรัดเอาคำตอบให้ได้ โดยพูดต่อไปว่า

“ถ้าเช่นนั้น การใช้ Diaphragm ก็อาจจะพลาด และตั้งครรภ์ได้ ถ้าสมมติว่า ขนาดมันใหญ่หรือเล็กเกินไป คุณหมอแน่ใจหรือว่า การใช้สิ่งนี้จะปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์”

ผู้รักษาตอบว่า “อย่าเอาความเห็นของผมเป็นเกณฑ์ ถ้าคุณสงสัย ก็ควรจะไปปรึกษาสูติแพทย์”

ผู้ป่วยไม่ยอมฟังคำแนะนำ และพูดต่อว่า

“ทำไมคุณหมอถึงไม่ยอมตอบ หนูไม่ได้ถามอย่างโง่ๆ นะ หนูเคยมีท้องครั้งหนึ่ง และต้องทำแท้ง โอย ! แทบจะทนไม่ไหว จึงไม่ต้องการทำอีก”

ผู้รักษารีบพูดขึ้นทันทีว่า “เรื่องมันเป็นอย่างไร?”

ข้อสังเกต
ผู้รักษารีบฉวยโอกาสเปลี่ยนเรื่องทันที โดยให้ผู้ป่วยเล่าเรื่องที่เคยทำแท้งมา ซึ่งเป็นการศึกษาความกลัวเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของผู้ป่วยด้วย

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า