สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พัฒนาการทางกายและอารมณ์วัยเด็กตอนต้น

วัยเด็กตอนต้น (Early Childhood)
ภาพรวมของวัยเด็กตอนต้น
นักเขียนชาวอเมริกันได้บรรยายลักษณะเด่นลักษณะหนึ่งของเด็กวัยเด็กตอนต้นไว้ในโคลงโต้ตอบระหว่างแม่กับลูก ดังต่อไปนี้

“I never did, I never did, I never did like”
‘Now take care, dear';
“I never did, I never did, I never did want”
‘Hold-my-hands’
“I never did, I never did, I never think much of’
‘Not up there, dear';
“It’s no good saying it. They don’t understand”
A.A.Mile, “Independence, When We Were Young.”

ระยะวัยเด็กตอนต้น หรือระยะวัยเด็กก่อนเข้าโรงเรียน เริ่มต้นตั้งแต่อายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง จนถึงประมาณ 6 ขวบ ลักษณะเด่นของเด็กวัยนี้คือ อยากเป็นอิสระ อยากเป็นตัวของตัวเอง อยากช่วยตัวเอง ชอบปฏิเสธ และหัวดื้อ ไม่สู้จะตามใจใครง่ายๆ วัยนี้จึงได้รับสมญาว่า “วัยช่างปฏิเสธ” (Negativistic period) ที่เป็นเช่นนี้เพราะสาเหตุหลายประการ เช่น

ก. เพิ่งพ้นจากความเป็นทารก เพิ่งมีความสามารถในการใช้ภาษา และในการเข้าใจสิ่งแวดล้อม เพิ่งรู้จักใช้ความสามารถที่เกี่ยวกับทางกาย เช่น นิ้ว มือ แขน ขา ฯลฯ ดังนั้นจึงต้องการแสดงความสามารถเหล่านี้

ข. มีความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ ในครอบครัวมากขึ้น และยังขยายวงไปยังเพื่อนเล่นใกล้บ้าน การติดต่อสังสรรค์กับผู้อื่น เพิ่มและเร้าให้มีความปรารถนาจะเป็นตัวของตัวเองมากยิ่งขึ้น มีความประสงค์ทั้งอยากตามใจตัวเอง และตามใจผู้อื่นในเวลาเดียวกันวัยเด็กตอนต้น

เด็กวัยเด็กตอนต้นมีทั้งความน่ารักและน่าชัง ช่างประจบผู้ใหญ่ ช่างอาสาช่วยเหลือ แต่บางครั้งก็ช่างหัวดื้อจนน่าเกลียด บิดามารดาบางคนอาจมีความรู้สึกไม่อยากให้เด็กโต เพราะเป็นวัยที่เด็กน่าเอ็นดู ระยะวัยเด็กตอนต้นเป็นระยะที่เด็กต้องได้รับการเรียนรู้กฎระเบียบต่างๆ ของสังคม เริ่มเรียน พฤติกรรมการอยู่รวมกลุ่มกับผู้อื่นทั้งร่วมวัยและต่างวัย เรียนพฤติกรรมตามบทบาททางเพศของตน อย่างหญิงหรือชายอย่างจริงจัง รู้จักว่าย่อมได้รางวัลเมื่อทำตามกฎเกณฑ์ และรู้จักว่าต้องถูกลงโทษเมื่อต่อต้านระเบียบวินัย รู้จักแพ้ชนะ รู้จักให้และรู้จักรับและอื่นๆ พัฒนาการทางกายในช่วงนี้มีอัตราค่อนข้างช้า พฤติกรรมต่างๆ มีลักษณะแตกต่างไปจากวัยทารกค่อนข้างมาก

พัฒนาการทางกายและอารมณ์
พัฒนาการทางกาย
พัฒนาการทางกายในระยะวัยเด็กตอนต้น ยังเป็นไปในแบบเจริญเติบโตเพื่อให้ทำงานเต็มที่ แต่อัตราการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับระยะวัยทารก    นํ้าหนักและส่วนสูงยังคงเพิ่มขึ้น แต่ไม่สู้มาก ส่วนสัดของร่างกายจะค่อยๆ เปลี่ยนไป ช่วงแขนยาวขึ้น ศีรษะดูยาวเล็กลง และเริ่มจะได้สัดส่วนกับลำตัว ลักษณะหน้าตาแบบทารกเริ่มจะหายไป หน้ายังเล็ก จมูกเล็กและค่อนข้างแบน ฟันน้ำนมยังไม่เจริญเต็มที่ แม้ว่าฟันจะเริ่มขึ้นมาแล้วตั้งแต่ระยะวัยทารกตอนปลาย ผมซึ่งนุ่มในวัยทารกจะหยาบและสีเข้มขึ้น หวีไม่ค่อยจะเรียบ ไหล่กว้าง แขนขายาวขึ้น ลำตัวยาวและกว้างขึ้นเป็นสองเท่าของทารกเกิดใหม่ มือและเท้าก็ใหญ่ขึ้นด้วยเช่นกัน กระดูกเพิ่มความแข็งแรงกว่าเดิม กล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ฉะนั้นจึงเป็นระยะที่เหมาะที่สุด ที่จะฝึกให้เด็กได้เล่นกีฬาประเภทเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เหมาะกับกำลังของเด็ก ซึ่งจะช่วยการเรียนรู้และพัฒนาพฤติกรรมด้านอารมณ์ สังคม และสติปัญญา เมื่อผ่านพ้นวัยเด็กตอนต้น เด็กต้องสามารถควบคุมอวัยวะเคลื่อนไหวทั้งอย่างหยาบและประณีตได้แล้ว (Gross and fine motor control)

การพัฒนาสมรรถภาพทางกายด้านต่างๆ ในวัยนี้ เป็นการเตรียมเด็กเพื่อช่วยตัวเอง และเพื่อการเรียนรู้ด้านต่างๆ ในวัยเด็กตอนกลาง เมื่อเด็กต้องใช้เวลาและชีวิตกับผู้ใหญ่และเพื่อนร่วมวัยนอกบ้านมากขึ้น ถ้าบิดามารดาผู้เลี้ยงดูเด็กไม่สนับสนุนส่งเสริมการช่วยตัวเองทางร่างกายต่างๆ ของเด็ก เช่น รับประทานอาหารเอง ใส่เสื้อผ้า ถอดเสื้อผ้าเอง ฯลฯ เด็กจะปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอกและบุคคลอื่นๆ นอกสังคมครอบครัวได้ค่อนข้างลำบาก เพราะโลกของเด็กเริ่มออกจากสังคมครอบครัวมากยิ่งขึ้น

สำหรับความเจ็บไข้ได้ป่วยของเด็กนั้น ระยะนี้เด็กรับเชื้อโรคต่างๆ ได้ค่อนข้างง่าย เช่น ไข้หวัด คางทูม อีสุกอีใส โรคที่เด็กมักจะเป็นมากในระยะนี้ เช่น โรคเกี่ยวกับการย่อยอาหาร เด็กเริ่มมีอาการโรคภัยทางร่างกาย ที่เป็นผลมาจากความไม่สบายใจ โดยเฉพาะความไม่สบายใจที่เกิดจากความสัมพันธ์กับบุคคลภายในบ้าน ในเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยนี้ บิดามารดาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กจะต้องให้ความสนใจอยู่บ้าง กล่าวคือ ถ้าเด็กป่วยแล้วบิดามารดาแสดงอาการตื่นเต้น กังวลใจ หงุดหงิดกับเด็ก เด็กจะเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย อาจไม่ต้องการเปิดเผยอาการเจ็บไข้ และหลีกเลี่ยงการเยียวยาดูแลรักษา หรืออาจใช้การเจ็บไข้เป็นวิธีแก้แค้นบิดามารดา ถ้าหากบิดามารดาทำให้เด็กรู้สึกว่าความเจ็บไข้เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์    เด็กจะไม่รู้สึกรุนแรงต่อความเจ็บไข้ได้ป่วย และอาจเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงและป้องกันความเจ็บไข้ได้อย่างถูกวิธี

การสร้างสุขนิสัยในการรับประทานอาหาร ควรทำอย่างจริงจังได้แล้วในระยะวัยเด็กตอนต้น เป็นข้อที่ผู้ปกครองต้องถือเป็นหน้าที่ที่จะอบรมเด็กของตนด้วย เพื่อให้เด็กรู้จักเลือกอาหารรับประทานอย่างถูกสุขลักษณะ ถูกเวลา และมีมารยาทในการรับประทานอาหาร ถ้าปล่อยปละละเลยจะทำให้หัดได้ยากเมื่อพ้นวัยนี้

ส่วนสุขนิสัยในการขับถ่าย ควรฝึกเด็กอย่างจริงจังได้ในวัยนี้ เนื่องจากสภาพทางร่างกายของเด็กพร้อมแล้ว เด็กสามารถคุมการขับถ่ายอุจจาระได้ก่อนปัสสาวะ และควบคุมการถ่ายปัสสาวะตอนกลางวันได้ดีกว่าตอนกลางคืน

การสร้างสุขนิสัยทั้งการกินและการขับถ่าย เป็นการเตรียมตัวให้เด็กออกไปเผชิญโลกและสังคมนอกบ้าน ถ้าไม่เตรียมตัวให้เด็กมีความพร้อมในเรื่องเช่นนี้ การปรับตัวต่อชีวิตภายนอกบ้านของเด็กจะเป็นสิ่งที่ยุ่งยากและน่าหนักใจ ซึ่งเป็นการสร้างทัศนคติที่ไม่ดีในการมองและเข้าใจโลก และสังคม

พัฒนาการทางอารมณ์
ระยะวัยเด็กตอนต้น เด็กมีอารมณ์หงุดหงิดง่ายกว่าเด็กในวัยทารก ดื้อรั้น เอาแต่ใจตัวเอง เจ้าอารมณ์ ทั้งนี้เพราะอยู่ในวัยช่วงปฏิเสธ (Negativisitc phase) ชีวิตประจำวันมีเรื่องยั่วอารมณ์ให้เด็ก หงุดหงิดวุ่นวายไม่รู้จบสิ้น ระหว่างความต้องการของเด็ก กับท่าทีการปฏิบัติของผู้ใหญ่และเพื่อนเล่น ตลอดจนมีสิ่งต่างๆ มากมายที่อยู่แวดล้อมตัวเด็ก ซึ่งเด็กอยากรู้อยากทดลองให้เข้าใจบางครั้งก็เข้าใจง่าย บางครั้งก็เข้าใจยาก บางคราวก็เจ็บตัว หรือโดนทำโทษ เด็กเริ่มมีลักษณะอารมณ์ประเภทต่างๆ อย่างที่ผู้ใหญ่มี เช่น อารมณ์โกรธ อารมณ์อิจฉา อารมณ์อาทรเห็นใจ อารมณ์อยากรู้ อารมณ์หรรษา อารมณ์ก้าวร้าว อารมณ์อวดดื้อถือดี

อารมณ์โกรธ เป็นอารมณ์ธรรมดาที่สุดของเด็กในวัยนี้ เพราะในระยะนี้เด็กโกรธง่าย เนื่องจากอยากเป็นตัวของตัวเอง ไม่ค่อยตามใจใคร เด็กบางคนอาจได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่า วิธีเอาชนะ ที่เร็วและง่ายที่สุด คือ การแสดงอารมณ์โกรธ เด็กอาจโกรธตัวเอง โกรธบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เด็กแสดงอารมณ์โกรธออกมาหลายวิธี เช่น กระทืบเท้า ร้องไห้กรี๊ด ๆ นอนดิ้นกับพื้น ทำร้ายตัวเอง กระโดด กวนใจ แสร้งทำเจ็บปวด ฯลฯ

อารมณ์อวดดื้อถือดี (Negativistic) เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นมากพอๆ กับอารมณ์โกรธ เป็นลักษณะเด่นของเด็กวัยเด็กตอนต้น ความดื้อรั้นสืบมาจากความต้องการทำอะไรๆด้วยตัวของตัวเอง เพื่อฝึกฝนทักษะใหม่ๆ ที่ได้พัฒนา เช่น อวัยวะกล้ามเนื้อแขน ขา ถ้าเด็กดื้ออย่างมากอาจวินิจฉัยได้ว่า เด็กนั้นถูกบังคับไม่ให้เป็นตัวของตัวเองมากเกินไป จึงเกิดความรู้สึกต้านทานอย่างรุนแรง เด็กแบบนี้บิดามารดาอาจระมัดระวังมากเกินไป รู้สึกเป็นเจ้าของมากเกินไป หรือเลี้ยงดูลูกแบบใช้อำนาจบังคับอย่างมาก การแสดงอารมณ์ดื้อมีหลายวิธี เช่น นิ่งเฉยไม่โต้ตอบ ทำเป็นไม่ได้ยินคำสั่ง ไม่เอาใจใส่ต่อกิจวัตรประจำวัน แสร้งทำกิจต่างๆ ให้ช้า ฯลฯ

อารมณ์อยากรู้อยากเห็น  เด็กในระยะนี้บางทีได้รับสมญาว่า วัยช่างซัก (Questioning age) เพราะเด็กเริ่มรู้จักใช้เหตุผล เริ่มมีความต้องการเป็นตัวของตัวเอง จึงอยากรู้ อยากเห็น ช่างตั้งคำถาม โน่นอะไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ฯลฯ เด็กเริ่มช่างซัก เมื่ออายุ 2-3 ขวบ ซักมากที่สุดเมื่ออายุ 6 ขวบ ถ้าผู้ปกครองสนองตอบอารมณ์ชนิดนี้ของเด็ก จะช่วยการใช้เหตุผลของเด็กให้พัฒนาได้เร็ว และยังช่วยให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเด็กเอง สังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วย ผู้ปกครองที่ต้องการให้เด็กของตนเป็นคนเจ้าเหตุผล จะต้องเข้าใจอารมณ์ชนิดนี้ของเด็ก และคอยตอบคำถามของเขาอย่างเอาใจใส่ เหมาะกับวัยและสติปัญญาของเขา ถ้าเด็กรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่พอใจหรือได้รับโทษจากการซักถาม การซักถามจะค่อยๆ หยุดไป เด็กจะมีนิสัยไม่อยากรู้อยากเห็น เกิดนิสัยเชื่อง่ายๆ เมื่อเติบโตขึ้นจะเสียเปรียบเด็กประเภทที่กล่าวข้างต้นในด้านการรู้จักใช้เหตุผล

อารมณ์ก้าวร้าว  อารมณ์ก้าวร้าวไม่ว่าในเด็กหรือผู้ใหญ่มีสาเหตุมาจากความรู้สึกเคร่งเครียด กดดัน จึงแสดงอาการก้าวร้าวออกมา หรืออาจพัฒนามาจากการเรียนรู้จากบุคคลต่างๆ ที่เด็กได้พบเห็น โดยเฉพาะบุคคลในครอบครัว เด็กอาจแสดงอาการก้าวร้าวออกมาหลายวิธี ซึ่งเปลี่ยนไปตามวัยและการเรียนรู้ เช่น จากการร้องไห้ไปสู่การใช้กำลัง บางรายเลิกใช้คำพูดไปใช้วิธีหลีกหนีไม่อยากเผชิญหน้าหรือเรียกร้องความสนใจ เมื่อเด็กอายุ4-5 ขวบ จะแสดงความก้าวร้าวออกมาโดยใช้คำพูดมากกว่าใช้กำลังต่อสู้กัน และแทนที่จะสู้ไปร้องไห้ไปเหมือนเมื่อยังเด็ก กลับใช้วิธีเรียกผู้ใหญ่และฟ้อง เด็กบางคนอาจเรียกร้องความสนใจโดยการรังแกเพื่อน หรือทำร้ายตัวเอง

อารมณ์ก้าวร้าวเกิดขึ้นกับมนุษย์เป็นธรรมดาเหมือนอารมณ์โกรธ บางครั้งการแสดงอารมณ์ก้าวร้าวเป็นไปเพื่อป้องกันตัวเอง ฉะนั้นตั้งแต่วัยนี้ เด็กๆ ควรได้รับการแนะนำให้รู้จักแสดงอารมณ์ก้าวร้าวออกมาในลักษณะที่สังคมยอมรับ เช่น การเล่นแข่งขันโดยออกกำลังกาย ดีกว่าเก็บกดอารมณ์ชนิดนี้เอาไว้จนกระทั่งรุนแรง และระเบิดออกมาอย่างทำลายล้าง ให้โทษทั้งแก่ตนเอง และสังคม

อารมณ์อิจฉาริษยา  อารมณ์อิจฉาริษยาเกิดขึ้นเนื่องจากตนรู้สึกว่า กำลังจะสูญเสียสิ่งที่ตนรัก และเป็นสมบัติพิเศษของตนไปให้แก่บุคคลอื่น สิ่งที่ตนรักนั้นอาจเป็นวัตถุสิ่งของหรือสิ่งที่เป็นนามธรรมก็ได้ เช่น ความรัก ความสนใจ การอิจฉาของเด็กในระยะนี้มักจะเป็นการอิจฉาพี่น้องมากที่สุด เด็กรู้สึกอิจฉาน้อง เพราะพ่อแม่โอ๋น้อง ให้ความสนใจน้องมากกว่า เด็กชายบางคนอาจอิจฉาแม้แต่พ่อ เพราะการอยู่ใกล้ชิดกับแม่ ทำให้ฝังใจว่าตนเป็นเจ้าของแม่ ดังนั้นจึงรู้สึกขุ่นเคืองเมื่อพ่อแสดงความรักต่อแม่ และแม่แสดงต่อพ่อให้เด็กเห็น ความอิจฉาบุคคลในบ้านจะน้อยลง เมื่อเด็กเริ่มมีชีวิตนอกบ้านได้ติดต่อสังสรรค์กับผู้อื่นมากขึ้น มีความสนใจมากขึ้น ได้มีการศึกษาพบว่าพี่น้องที่อิจฉากันมากคือเด็กหญิงกับเด็กหญิงด้วยกัน พี่น้องที่อายุแตกต่างกันมากไม่ค่อย อิจฉากัน แต่กลับเป็นมิตรกัน

ในบางรายความอิจฉาริษยาในสมัยเด็กไม่หายจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ เพราะฝังแน่นในอารมณ์ และจิตใจ และขาดสิ่งพอใจมาทดแทน เมื่อเด็กโตขึ้นก็มักอิจฉาผู้อื่นที่ตนได้ไปสมาคมเกี่ยวข้องด้วย ถ้าอารมณ์อิจฉาติดตัวไปถึงวัยผู้ใหญ่แล้ว ไม่ง่ายเลยที่จะแก้ไข อาจเกิดผลร้ายทั้งแก่ตัวเองและผู้อื่นนานาประการ ผู้ใหญ่ขี้อิจฉามักกีดกันผู้อื่นไม่ให้ความร่วมมือ วุฒิภาวะทางอารมณ์ต่ำ ทุกข์ร้อนเมื่อผู้อื่นได้ดีเกินหน้า ฯลฯ การป้องกันไม่ให้ผู้ใหญ่มีอารมณ์อิจฉาริษยาซ่อนเร้นอยู่ในใจในระดับลึกซึ้ง จำเป็นต้องป้องกันและแก้ไขตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก เช่น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กอิจฉาน้อง พ่อแม่จำเป็นต้องเตรียมตัวเตรียมใจเด็ก บอกให้เด็กทราบเมื่อน้องใหม่จะคลอด ไม่แสดงอาการโอ๋น้องใหม่จนออกหน้าออกตาและลืมเด็กที่เป็นพี่

อารมณ์หวาดกลัว ระยะนี้เด็กรู้จักกลัวสิ่งที่น่ากลัวและสมควรกลัวมากกว่าวัยทารกเพราะรู้จักใช้เหตุผล สิ่งที่เร้าให้เด็กกลัวจึงมีเพิ่มมากขึ้นทั้งที่สามารถประสบพบเห็นเองโดยตรง หรือเป็นประสบการณ์ทางอ้อมก็ได้ พฤติกรรมแสดงอาการหวาดกลัวทำได้หลายวิธี เช่น หลบซ่อน หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้ตกใจกลัว วิ่งเข้าหาผู้ใหญ่ ฯลฯ

อารมณ์หรรษา  เด็กที่มีอารมณ์ชนิดนี้มาก คือ เด็กที่ประสบความสำเร็จในการเป็นตัวของตัวเองได้สมใจ สามารถแสดงสมรรถภาพใช้ทักษะกล้ามเนื้อ และประสาทสัมผัสได้เต็มที่ ทำให้เด็กมีความรู้สึกปลื้มปิติ และยังเกิดจากการที่เด็กสามารถสร้างสัมพันธภาพกับผู้ใหญ่ในบ้านได้อย่างน่าพอใจ ซึ่งจะเกิดได้ต่อเมื่อผู้ปกครองเข้าใจและยอมรับลักษณะธรรมชาติของเด็ก

เนื่องจากได้บรรยายอารมณ์ชนิดต่างๆ ที่เกิดกับเด็กในวัยนี้ว่า เกิดจากสาเหตุอะไร ควรจะเป็นอย่างไร ฯลฯ มามากพอสมควร ผู้สนใจโปรดระลึกว่า เท่าที่ได้บรรยายมาเป็นเฉพาะตัวอย่าง ขอให้ค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องอารมณ์นี้ต่อไปอีก

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า