สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พัฒนาการทางสังคมวัยเด็กตอนกลาง

วัยเด็กตอนกลาง (Middle Childhood)
ภาพรวมของวัยเด็กตอนกลาง
วัยเด็กตอนกลางอยู่ในช่วงอายุประมาณ 6-12 หรือ 13 ปี เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วมา ช่วงวัยเด็กตอนกลางเป็นช่วงที่เด็กเริ่มเข้าโรงเรียน แต่ในโลกสังคมเศรษฐกิจปัจจุบัน ช่วงวัยเด็กตอนกลาง มักเป็นช่วงที่เด็กได้ผ่านการเรียนนอกบ้าน จากสถาบันการศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่งมาบ้างแล้ว

นักจิตวิทยาพัฒนาการรุ่นปัจจุบัน มักเรียกเด็กในวัยนี้ว่าเป็น “เด็กวัยเด็กตอนกลาง” มากกว่าวัยเด็กเข้าโรงเรียน (School age) และถ้าหากเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า วัยเข้าโรงเรียน ก็มักใช้ในความหมายว่า เป็นช่วงวัยที่เด็กเริ่มเรียนวิชาการที่โรงเรียนอย่างจริงๆ จังๆ เป็นเรื่องเป็นราววัยเด็กตอนกลาง

พัฒนาการทางกายของเด็กวัยนี้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น พัฒนาการทางสติปัญญาเจริญเติบโตไปอีกลำดับขั้นหนึ่ง พัฒนาการทางสังคมขยายขอบข่ายกว้างขวาง เด็กๆ มักใช้เวลากับผู้ใหญ่อื่นๆ ที่มิใช่พ่อแม่หรือและบุคคลในบ้านยาวนานขึ้น รู้จักคบหากับเพื่อนร่วมรุ่นได้ดีกว่าในวัยเด็กตอนต้น แม้ว่าพ่อแม่ยังคงมีบทบาทสำคัญในการอบรมดูแลบุตร แต่บุคคลที่เป็นผู้ใหญ่อื่นๆ นอกบ้าน ก็เริ่มมีบทบาทสำคัญในการอบรมดูแลเด็ก พอๆ กับพ่อแม่ผู้ปกครองที่บ้านหรือยิ่งกว่าสำหรับเด็กบางคน (หมายเหตุผู้เขียน : ปัจจุบันนี้ สังเกตเห็นว่า เด็กตั้งแต่วัยนี้ มักใช้เวลานอกบ้านกับผู้ใหญ่อื่นๆ นอกบ้าน เกือบทั้ง 7 วัน โดย 5 วัน เรียนในโรงเรียน อีก 2 วัน เรียนวิชาอื่นๆ เป็นพิเศษ เช่น กีฬา วิชาการซ่อมเสริม ฯลฯ ดังนั้นเด็กๆ ทุกวันนี้ จึงแทบจะไม่มีเวลาอยู่ร่วม หรือมีกิจกรรมร่วมกับบิดา มารดาผู้ปกครองที่บ้าน ทำให้เกิดคำถามว่า หากหน้าที่ของพ่อแม่คือการหาเงิน การอบรมเลี้ยงดูลูกและ ให้วิชาเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่อื่นนอกบ้าน การขาดความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างพ่อแม่-ลูก ตั้งแต่อยู่ในวัยเล็กขนาดนี้ จะมีผลดี-ร้ายต่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกในอนาคตหรือไม่?)

ลักษณะพัฒนาการที่สำคัญซึ่งควรบังเกิดขึ้นในช่วงนี้คือ “การเตรียมตัว” เพื่อเป็นเด็กวัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่สามารถรับผิดชอบตนเองในด้านต่างๆ ได้ สิ่งเหล่านี้ อาทิเช่น หัดทำอะไรด้วยตนเองได้ เรียนรู้ที่จะเล่นเรียนและทำงานกับเพื่อนร่วมวัย เรียนรู้ที่จะให้ความเป็นเพื่อนกับผู้อื่น และสร้างมิตรภาพ สาระเนื้อหาในที่นี้ จะได้กล่าวถึงพัฒนาการสังคม อารมณ์ สติปัญญา และทางกายของเด็ก วัยเด็กตอนกลางอย่างกว้างๆ

ข้อเขียนต่อไปนี้คือภาพคร่าวๆ ของเด็กวัยเด็กตอนกลาง
วันนั้นเป็นวันที่แม่ตื่นเต้นเป็นพิเศษ เมื่อกุ๊กกิ๊ก (อายุ 7 ขวบ) กลับมาบอกแม่ว่า “แม่รู้ไหม วันนี้กิ๊กอ่านหนังสือได้หมดเล่มเลย ครูให้กิ๊กอ่านเป็นตัวอย่างให้เพื่อนๆ ฟังด้วย” แม่สังเกตเห็นว่า กิ๊กไปยืมและเช่าหนังสือการ์ตูนต่างๆ มาอ่านเป็นจำนวนมากขึ้น บวก ลบได้เก่งขึ้น เมื่อแม่ใช้ไปซื้อของที่ตลาด ก็ทำได้ดี รู้ว่าถ้าให้เงินไป 100 บาท และซื้อของ 20 บาท แม่ค้าจะต้องทอนเงินกลับมาเท่าไร แม่สังเกตเห็นได้ว่า กิ๊กมักกลับมาบ้านและเล่าเรื่องครูสมศรี ครูสมยศ สอนเก่ง หรือไม่เก่ง หรือครูวนิดาสอนไม่รู้เรื่อง หรือไม่ก็เล่าเรื่องหนูนิดไม่ชอบหนูหน่อย เพราะหนูหน่อยชอบยืมดินสอปากกาแล้วไม่ยอมคืน หรือกิ๊กไม่ชอบยายก้อย เพราะยายก้อยชอบให้ใครๆ ต้องทำอะไรๆ เหมือนที่ตัวเองต้องการ โดยไม่ได้ถามว่าเพื่อนคนอื่นเขาอยากทำหรือไม่

แม่ยังแปลกใจด้วยอีกว่า กิ๊กเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่ออายุ 4 ขวบ เมื่อไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าด้วยกัน และกิ๊กอยากได้ของเล่น ถ้าแม่บอกว่า แม่เอาสตางค์มาไม่พอซื้อ กิ๊กจะไม่หน้างอหรือร้องไห้ หรืองอนไม่ยอมรับประทานอาหารกลางวัน ดูเหมือนว่ากิ๊กจะรู้จักคิดถึงใจเขาใจเรามากกว่าแต่ก่อน เข้าใจคำสั่งที่แม่บอก หรือรู้จักสร้างกฎระเบียบมาให้น้องหรือพี่ต้องทำตาม เช่น เขียนกระดาษ ปะที่ฝาห้องว่า “ห้ามคนอื่นมาค้นกระดาษบนโต๊ะกิ๊ก” เป็นต้น

กิ๊กยังบอกพ่อแม่ให้เก็บแสตมป์เก่าๆ ของพ่อแม่ไว้ให้กิ๊ก และกิ๊กยังบอกให้พ่อซื้อปลาและหมามาให้กิ๊กดูแลเองอีกด้วย

พัฒนาการทางสังคม
พัฒนาการทางสังคมในระยะนี้ มีลักษณะแตกต่างจากวัยเด็กตอนต้นหลายประการ อาทิ

1. เด็กคบเพื่อนร่วมวัย และผู้ใหญ่มากขึ้น

2. พัฒนาการด้าน Egocentric ลดลง ทำให้เด็กสามารถรวมกลุ่มเล่นกับเพื่อนได้ดียิ่งขึ้น สมรรถภาพทางความคิดนึกและพัฒนาการด้านศีลธรรมจรรยา ทำให้เด็กร่วมเล่น เรียน ทำกิจกรรมต่างๆ เป็น “กลุ่ม” ได้ดี

3. ความสำคัญของการเรียนที่มีต่อชีวิต ค่านิยมของการเรียนในโรงเรียนในสังคมปัจจุบัน ทำให้เด็กผูกพันกับเพื่อนที่โรงเรียนและครู ทำให้เด็กห่างเหินจากผู้ใหญ่ในบ้าน

ต่อไปนี้จะได้อภิปรายถึงพัฒนาการทางสังคมในแง่ต่างๆ ตามสมควร

กลุ่มเพื่อนร่วมวัย
ช่วงวัยเด็กตอนกลาง เป็นช่วงที่เด็ก “จับกลุ่ม” กับเพื่อนร่วมวัย ที่เป็นเพศเดียวกันเป็นส่วนมาก การที่เด็กเริ่มสามารถ “จับกลุ่ม” ได้นั้น ทำให้เด็กได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ที่ไม่ใช่บุคคลในครอบครัว รู้จักเคารพกฎเกณฑ์ระเบียบ รู้จักมารยาทสังคม รู้จักนิสัยใจคอของเพื่อน ลดนิสัยเด็กๆ เช่น “ค้อน” “เอาแต่ใจตัวเอง” “ดื้อ” แต่เด็กอาจยังคง “ค้อน, ดื้อ, เอาแต่ใจตัวเอง” กับบิดามารดาหรือและผู้ใหญ่ที่บ้าน เพราะเด็กรู้ว่า อย่างไรเสีย พ่อแม่ผู้ใหญ่ที่บ้านก็ยังยอมให้แสดงกิริยาอาการและอารมณ์ดังกล่าวได้ อนึ่ง การที่เด็กได้มีโอกาสแสดงออกดังกล่าวได้บ้างมีคุณค่าต่อเด็ก ทำให้การเปลี่ยนช่วงวัย เป็นการเปลี่ยนที่ค่อยเป็นค่อยไป

เด็กจะปรับตัวเข้ากับกลุ่มเพื่อนได้ดีมากน้อยเพียงไร ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ อาทิ

1. พ่อแม่ผู้ปกครอง เตรียมตัวเด็กเพื่อให้มีกลุ่มเพื่อนในโรงเรียนหรือไม่ พ่อแม่ที่หวงลูก อาจทำให้เด็กมีปัญหาในการเข้ากลุ่ม ในทางตรงกันข้าม พ่อแม่ที่ปล่อยลูกมากเกินไปก็อาจทำให้เด็กกลายเป็นเด็กที่ไม่ติดบ้าน ไม่ติดพ่อแม่ ไม่เชื่อฟังใครๆ ที่บ้านเลย

2. ได้เตรียมตัวเพื่อใช้ชีวิตในโรงเรียนและกับเพื่อน จากโรงเรียนอนุบาล หรือ/และที่รับเลี้ยงเด็กมาบ้างหรือไม่ ในระดับใด

3. บุคคลในบ้าน เห็นใจและเข้าใจชีวิตกลุ่มของเด็กในแนวใหม่นี้หรือไม่

ความสำคัญของกลุ่มต่อการพัฒนาบุคลิกภาพด้านต่างๆ
เนื่องจาก “กลุ่มเพื่อนร่วมวัย” มีบทบาทอย่างมากต่อชีวิต ต่อความเจริญของเด็กระยะนี้ และจะเพิ่มความสำคัญมากเรื่อยๆ จนถึงขีดสูงสุดในระยะวัยรุ่น แล้วจึงค่อยลดความสำคัญลง เมื่อบุคคลผู้นั้น มีคู่ครองและสร้างสัมพันธภาพกับคู่ครองได้ ฉะนั้นจึงใคร่บรรยายเรื่อง “กลุ่ม” ต่อไปอีกสักเล็กน้อย

เมื่อเด็กเริ่มเปลี่ยนสังคมบ้านมาสู่สังคมที่โรงเรียน เด็กรู้สึกว้าเหว่ ขาดที่พึ่งทางความคิดและอารมณ์ ตอนแรกจะยังคงสร้างสัมพันธภาพกับครูและผู้ใหญ่นอกบ้านที่ต้องมีความสัมพันธ์กัน แต่ต่อมาเด็กเริ่มตีตัวจาก เพราะพบว่าการรวมกลุ่มกับเพื่อนร่วมวัยหลายๆ คน ให้ความรู้สึกอบอุ่นใจ สนุกสนาน มีความเข้าอกเข้าใจ ความเห็นใจ และเป็นเจ้าของซึ่งกันและกันได้ยั่งยืนกว่า แน่นแฟ้นกว่า ถ้าหากเด็กสามารถแสวงหากลุ่มเช่นนี้ได้ เด็กจะเห็นความสำคัญของสังคมในบ้านและผู้ใหญ่นอกบ้านน้อยลง (ปลายวัยเด็กตอนกลาง) กลุ่มเริ่มมีอิทธิพลต่อเด็กในด้านอารมณ์ ความคิดนึก ทัศนคติ ความมุ่งหวัง ความปรารถนา การประพฤติตนตามบทบาททางเพศ ค่านิยม อะไรเหมาะดี ควร ไม่ควร ฯลฯ ถ้าบรรดาสิ่งที่มีอิทธิพลต่อเด็กเหล่านี้ มีลักษณะใกล้เคียงกันกับลักษณะที่เด็กได้รับการอบรมจากทางบ้าน ความขัดแย้งระหว่างเด็กกับบิดามารดาผู้ปกครองก็มีไม่สู้มากนัก ถ้าต่างกันก็จะเกิดขัดแย้ง
ระหว่างผู้ปกครองกับเด็กไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เนื่องจากกลุ่มมีความสำคัญสำหรับเด็ก เด็กต้องการเข้าร่วมกลุ่ม เด็กจึงพยายามหาวิธีปฏิบัติ เพื่อให้เพื่อนรับเข้าร่วมกลุ่ม เด็กจะใช้วิธีการเช่นไรนั้นแตกต่างไปในแต่ละบุคคล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเพศ ลำดับที่พี่น้อง (คนโต คนกลาง คนสุดท้อง ลูกคนเดียว) ประสบการณ์ในวัยที่ผ่านมา ฐานะครอบครัว เศรษฐกิจ ฯลฯ อาทิ เด็กชาย ก. เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพราะเล่นเก่ง เด็กชาย ข. เป็นผู้ที่เพื่อนนับถือ เพราะมีนิสัยเป็นผู้นำ เด็กชาย ค. เพื่อนชอบเพราะเป็นผู้ตามและผู้ฟังที่ดี เด็กชาย ง. ได้รับความนิยมจากเพื่อนในบางครั้งและอยากกีดกันไม่ให้เข้ากลุ่มในบางโอกาส เพราะชอบวางอำนาจ แต่มีประโยชน์ต่อกลุ่ม เพราะสามารถต่อสู้กับกลุ่มอื่นที่มาทำอวดดีกับกลุ่มของเขาได้สำเร็จ เป็นต้น

การรวมกลุ่มเป็นการรวมอย่างไม่มีรูปแบบกฎเกณฑ์ (Unstructure) แต่ละกลุ่มมีผู้นำ มีผู้ตาม กลุ่มวัยเด็กตอนกลาง มักมีสมาชิกมากกว่ากลุ่มวัยเด็กตอนต้น (ซึ่งมักเป็นเพศเดียวกัน) ผู้นำและสมาชิกของกลุ่มเปลี่ยนแปลงได้ การรวมกลุ่มในระยะวัยเด็กตอนกลางค่อนข้างจะยั่งยืนกว่าระยะวัยเด็กตอนต้น กลุ่มแต่ละกลุ่มมีแนวคิด ทัศนคติ ค่านิยม ภาษา กฎระเบียบ ฯลฯ ซึ่งเป็นเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเหมือนบ้างต่างบ้างจากกลุ่มอื่นๆ ลักษณะต่างๆ เหล่านี้เรียกว่าวัฒนธรรมกลุ่ม (Peer culture) เด็กที่เข้าร่วมกลุ่ม จะพยายามประพฤติปฏิบัติตามวัฒนธรรมกลุ่ม เพื่อเป็นสมาชิกของกลุ่ม เพื่อให้เพื่อนยอมรับเข้ากลุ่ม ความประพฤติเช่นนี้ บางครั้งก็ขัดกับกฎระเบียบของโรงเรียน หรือของสังคม หรือการอบรม ที่เด็กได้รับมาจากบ้าน

การอยากเป็นสมาชิกของกลุ่มและให้กลุ่มยอมรับ มีอิทธิพลต่อการพัฒนาทางอารมณ์ของเด็กด้วย เด็กเรียนรู้ว่าการแสดงออกของอารมณ์ทุกอย่างที่บังเกิดขึ้นกับตน โดยไม่เลือกสถานที่ เวลา บุคคล เหมือนวัยที่ผ่านมาเมื่ออยู่ที่บ้านนั้น ไม่เป็นที่ยอมรับจากผู้ใหญ่นอกบ้าน จากเพื่อนทั้งในกลุ่ม และนอกกลุ่ม ดังนั้นเหตุการณ์จะบังคับให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ และเลือกแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเหมาะสม ในแบบที่สังคมและเพื่อนยอมรับ เด็กสามารถควบคุมอารมณ์ได้มากน้อยเพียงไร แสดงอารมณ์ออกมาอย่างไรนั้น อยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งบันดาลหลายประการ เช่น อิทธิพลของกลุ่มหรือวัฒนธรรมกลุ่ม ความรู้สึกผูกพันกับกลุ่ม ความรู้สึกอยากเป็นสมาชิกของกลุ่ม สังคมวัฒนธรรมของโรงเรียนและครอบครัว

การร่วมกลุ่มของเด็กสร้างนิสัยแข่งขัน และร่วมมือ ซึ่งติดตัวสืบไปภายหน้าทั้งอย่างรู้ตัว และอย่างไม่รู้ตัว เมื่ออยู่ในกลุ่มเด็กจะแข่งขันกันในทุกๆ ด้านของชีวิต เช่น ความร่ำรวย ความฉลาด ความสามารถ การเรียน การเล่น ฐานะทางสังคมของครอบครัว ความมีหน้ามีตา มีเกียรติ การได้รับความสนใจจากผู้อื่น คู่แข่งมีทั้งระหว่างเพื่อนในกลุ่มและเพื่อนนอกกลุ่ม การแข่งขันอาจนำไปสู่ความ อิจฉาริษยา การทะเลาะเบาะแว้ง การกลั่นแกล้ง การแตกกลุ่ม ฯลฯ เด็กชายมีนิสัยชอบแข่งขันมากกว่าเด็กหญิง ซึ่งเชื่อกันว่าเพราะได้รับการเรียนรู้จากค่านิยมของสังคม เด็กหญิงให้ความร่วมมือและออมชอมซึ่งกันและกันในกลุ่มมากกว่าเด็กชาย (Lefrancois, 1990, หน้า 384)

การร่วมกลุ่ม ทำให้เด็กรับการสนองตอบด้านความต้องการทางสังคมขั้นพื้นฐาน เช่น คำยกย่อง การได้เป็นคนสำคัญ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ ความรู้สึกอยากให้มีผู้สนใจร่วมกิจกรรมกับตน ตนได้มีโอกาสร่วมและรับรู้ในกิจกรรมของผู้อื่น ความมั่นคงทางจิตใจความรู้สึกว่าตนนั้นมีเจ้าของและเป็นเจ้าของ ความรู้สึกว่ามีเพื่อนร่วมทุกข์และร่วมสุขกับเรา ฯลฯ

เพราะกลุ่มมีความสำคัญต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กในวัยนี้ดังกล่าว การสนับสนุนให้เด็กได้เข้ากลุ่มที่เหมาะสมกับตน จึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ มิฉะนั้นแล้วเด็กอาจไม่มีพัฒนาการสมวัย อาจสูญเสียประสบการณ์หลายๆ อย่างในชีวิต ที่เด็กพึงได้รับไปอย่างน่าเสียดาย ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลปกครองเด็ก นอกจากควรสนับสนุนเขาแล้ว ยังควรแนะนำช่วยเหลือให้โอกาสเด็กสร้างกลุ่ม ที่เป็นช่องทางให้เด็กได้เรียนรู้จักโลก สังคมและชีวิตด้วย

โดยสรุป กลุ่มมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการด้านบุคลิกภาพของเด็กโดยประการต่างๆ เหมือนดังที่ Lefrancois (1990) ได้แสดงทัศนะว่า กลุ่มมีอิทธิพลต่อกระสวนพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กในทุกทาง อาทิ อารมณ์ แนวคิด ทัศนคติ ค่านิยม ฯลฯ แต่อิทธิพลของกลุ่มจะลึกซึ้งเพียงไรนั้น ยังขึ้นอยู่กับการเรียนและประสบการณ์ที่เด็กได้รับมาจากทางบ้านในวัยที่ผ่านมา

เด็กเก็บตัว (Social isolation)
ไม่ใช่ว่าเด็กทุกๆ คน ได้รับความสุขจากการได้คบหากันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ หรือมีเพื่อนในกลุ่มที่รักใคร่ชอบพอมากมาย เด็กบางคน (เช่นเดียวกับผู้ใหญ่บางคน) เป็นเด็กเก็บตัว ขี้อาย มีกลุ่มเล็กๆ มีเพื่อนน้อยคน หรือบางคนไม่มีใครคบเป็นเพื่อน หรือเพื่อนไม่ให้เล่นในกลุ่ม เราอาจเรียกเด็กประเภทนี้ว่า “เด็กเก็บตัว”

เด็กเก็บตัวมี 2 ประเภท คือ ประเภทที่มีเพื่อนน้อยไม่ชอบสังสรรค์กับใคร กับประเภทที่เพื่อนๆ ไม่อยากจะคบหาสมาคมด้วย เด็กประเภทหลังเมื่อถามความเห็นจากเพื่อนๆ เพื่อนๆ มักจะตอบว่า “ฉันไม่ชอบเขามากๆ เลย” “ไม่เห็นสนุกเลย เมื่อเล่นกับเขา ” “เขาซื่อบื้อจะตายไป”

นักจิตวิทยาเสนอแนวคิดว่า ในการศึกษาเรื่องพฤติกรรมทางสังคมของเด็ก จะต้องตระหนักเสมอว่า มีความแตกต่างอย่างมากในกลุ่มเด็กๆ ในด้านพฤติกรรมกลุ่ม เราไม่อาจคาดหวังได้ว่า เด็กทุกๆ คนต้องเป็นเด็กช่างสังคม ช่างเจรจา ช่างแสดงตัว หลายๆ คนเป็นเด็กเงียบ เก็บตัว ขี้อาย แต่อย่าหลงเข้าใจผิดว่าเด็กเงียบๆ เก็บตัว พูดน้อยเหล่านี้ จะเป็นเด็กที่ไม่มีทักษะเชิงสังคม ไม่มีกลุ่ม จากการศึกษาพบว่า เด็กพวกนี้ก็มีทักษะทางสังคมที่ดีเช่นกัน และอาจมีกลุ่มเพื่อนสนิทด้วย แต่อาจมีจำนวนน้อยกว่าเด็กพวกแรก โดยมีเพื่อนที่เล่นหัวคบหาเป็นกลุ่มเพียงสองสามคน (Lefrancois, 1990, หน้า 388-389)

มีบางท่านเชื่อว่า ความชอบสังคมหรือชอบเก็บตัว ส่วนหนึ่งเป็นยีนในพันธุกรรม และส่วนหนึ่ง เกิดจากวิธีอบรมเลี้ยงดูในวัยทารก เด็กทารกที่มีการพัฒนาความผูกพันทางสังคม (Social attatchment) ที่มั่นคง มักเป็นเด็กชอบสังคม ในครอบครัวที่พ่อแม่ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับลูกๆ เด็กก็มักจะมีความสัมพันธ์เชิงสังคมที่มั่นคงและสนุกสนานกับเพื่อนร่วมวัย และผู้ใหญ่อื่นๆ (Lefrancois, 1990 หน้า 391) เด็กเก็บตัวที่มีเพื่อนน้อยไม่น่าเป็นห่วง แต่เด็กที่เก็บตัวเพราะเพื่อนไม่ชอบ เพราะไม่ สามารถเข้ากับเพื่อนได้เลยนั้น เป็นเด็กที่น่าเป็นห่วง และครูพ่อแม่ ควรให้ความช่วยเหลือแก่เด็กเหล่านี้ หากไม่ได้รับการแก้ไข เขาจะมีปัญหาทางสังคมต่อไปในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่

การเลียนและเรียนบทบาททางเพศ (Sex role identification)
การเลียนและเรียนบทบาททางเพศ เป็นกระบวนการด้านหนึ่งของพัฒนาการทางสังคมสืบเนื่อง มาจากวัยเด็กตอนต้น ในระยะวัยนี้เด็กเลียนแบบและเรียนบทบาททางเพศจากผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับเด็ก และเด็กรัก ซึ่งได้พบเห็นรู้จักในครอบครัว แต่ในระยะวัยเด็กตอนกลาง เด็กขยายการเลียนแบบ พฤติกรรมตามเพศตนอย่างกว้างขวาง บุคคลที่ถูกเด็กเลียนมีจำนวนมากขึ้น ได้แก่เพื่อนในกลุ่ม หัวหน้า กลุ่มครูที่เด็กรัก บุคคลที่เด็กได้พบเห็น และจากการได้ฟัง ได้รู้จากการอ่าน การเขียน การดูภาพยนตร์ การดูโทรทัศน์

ความต้องการเป็นสมาชิกของกลุ่ม เป็นแรงกระตุ้นให้เด็กต้องประพฤติสมบทบาททางเพศของตน เด็กชายมักปฏิเสธไม่ยอมให้เพื่อนชายผู้มีนิสัยที่พวกเขาคิดว่า “เป็นลักษณะเฉพาะของหญิง” เช่น ช่างฟ้อง โยเย ไม่กล้าหาญ ติดพ่อแม่ ฯลฯ เข้าร่วมกลุ่มพวกเขา ฝ่ายกลุ่มเด็กหญิงก็ไม่ชอบให้เพื่อนหญิงผู้มีนิสัยที่พวกหล่อนเชื่อว่า “เหมาะสำหรับชาย” เช่น นิสัยก้าวร้าว เอะอะ โวยวาย ไม่นุ่มนวล หยาบคาย ฯลฯ เข้ามาร่วมกลุ่มพวกตน ผู้ถูกกีดกันไม่ยอมให้เข้ากลุ่มเพศเดียวกันเหล่านั้น อาจต้องเข้าร่วมกลุ่มกับเพศตรงข้าม เพราะรู้สึกว่าสบายใจดีกว่า สัมพันธภาพชนิดนี้ถ้าแก้ไม่ทันและฝังรากลึก อาจติดตัวไปจนถึงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ดังสังเกตเห็นได้ว่า ผู้หญิงบางคนมีเพื่อนชายมากกว่าเพื่อนหญิง และผู้ชายบางคน มีเพื่อนหญิงมากกว่าเพื่อนชาย

อาจเป็นไปได้ว่า ความต้องการที่จะประพฤติตนให้สมบทบาททางเพศนี้เอง เป็นแรงกระตุ้นให้เด็กวัยเด็กตอนกลาง ชอบจับกลุ่มเล่นเฉพาะเพศของตน และยินยอมให้เพื่อนต่างเพศมาร่วมกลุ่มด้วย เฉพาะบางครั้งบางคราว การได้ร่วมกลุ่มเฉพาะเพศเดียวกัน ช่วยทำให้การเลียนและเรียนบทบาททางเพศ ง่าย สะดวก และเร็วยิ่งขึ้น

การเลียนบทบาททางเพศในระยะวัยเด็กตอนกลางนี้ ต้องนับว่าเป็นพัฒนาการที่สำคัญของมนุษย์เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ เพราะถ้าเด็กไม่ได้เรียนรู้เรื่องเช่นนี้แล้ว เมื่ออย่างเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในระยะวัยรุ่นเด็กจะมีความกังวลสูง มีความรู้สึกขัดแย้งในด้านความต้องการประพฤติตนให้สมตามบทบาททางเพศอย่างชายหนุ่มหญิงสาว ทั้งนี้เพราะในระยะนั้นชายและหญิงต่างเริ่มต้นให้ความสนใจซึ่งกันและกัน ด้วยลักษณะที่เป็นสิ่งจำเพาะเพศของตน ไม่ว่าทางด้านร่างกาย ลักษณะอารมณ์ การแสดงออกของอารมณ์ ค่านิยม ทัศนคติ แนวความคิดและอื่นๆ ถ้าชายประพฤติอย่างหญิงหรือหญิงประพฤติอย่างชายเสียแล้ว ความรู้สึกสนใจซึ่งกันและกันก็อาจลดน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น

การเล่น
การเล่นในระยะนี้ เป็นการเล่นเชิงสังคมส่วนใหญ่ การเล่นยังคงเป็นพฤติกรรมที่สำคัญและจำเป็นสำหรับเด็กวัยนี้ ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุน สถานที่อบรมและเลี้ยงดูเด็กไม่ว่าอยู่ในรูปใด จะต้องจัดที่สำหรับให้เด็กได้มีโอกาสเล่น เพราะการเล่นสนองความต้องการและช่วยพัฒนาความเจริญเติบโตของเด็กในหลายด้าน ดังเช่น
1. สนองความต้องการรวมกลุ่ม ซึ่งดังได้บรรยายมาแล้วว่า สำคัญต่อชีวิตจิตใจเด็กอย่างไร อาทิ ช่วยส่งเสริมทักษะในการอยู่ร่วมกลุ่ม เล่นเป็นกลุ่ม และซึ่งจะช่วยให้เข้าใจการทำงานเป็นกลุ่มในอนาคต เช่น การรู้จักเป็นผู้นำ เป็นผู้ตาม เคารพกฎวินัย รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักอภัย

2. ช่วยพัฒนาความแข็งแรงของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เด็กมีสุขภาพดี

3. การเล่นเป็นหนทางระบายอารมณ์เคร่งเครียด อารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา

4. ช่วยส่งเสริมความคิดนึก การเข้าใจโลก สังคม และชีวิต

5. การเล่นเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงตัวในด้านต่างๆ การได้มีโอกาสเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขภาพจิตที่ดี

6. การเล่นช่วยให้เด็กเข้าใจตนเอง ระยะนี้เด็กเริ่มต้องการรู้จักตัวเองแล้ว จากการเล่นกับเพื่อน เด็กจะเรียนรู้ว่าเพื่อนเข้าใจตัวเขาอย่างไร เขาเข้าใจเพื่อนอย่างไร อะไรที่เขาชอบและไม่ชอบเกี่ยวกับเพื่อน อะไรที่เพื่อนชอบและไม่ชอบเกี่ยวกับตัวเขา

7. การเล่นช่วยพัฒนาการรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นที่มีต่อเขา และที่เขามีต่อเพื่อน แม้ว่าเด็กยังรับรู้ไม่ได้มาก แต่ก็มีความแตกต่างไปในแต่ละบุคคล เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องให้เกิดมีขึ้น ในกระสวนบุคลิกภาพของเด็ก เพื่อชีวิตทางการงานและสังคมในภายหน้า

เพราะการเล่นมีคุณค่านานาประการดังได้กล่าวมาแล้ว นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ จึงได้ใช้การเล่นเป็นเครื่องมือหรือวิธีการอย่างหนึ่งในการช่วยแก้ไขความบกพร่องและปัญหาทางอารมณ์และจิตใจของเด็ก (Play therapy)

การเล่นของเด็กในระยะนี้ มีลักษณะดังต่อไปนี้
1. เด็กหญิงและเด็กชายนิยมเล่นแยกกัน เล่นรวมกันบ้างเป็นครั้งคราวในชนิดของการเล่นที่ รวมกลุ่มได้ เกมส์ที่เล่นบางประเภทเป็นเกมส์ที่นิยมเฉพาะชาย บางประเภทเป็นเกมส์ที่นิยมเฉพาะหญิง เด็กชายนิยมเล่นเกมส์ที่ต้องใช้พละกำลังมากๆ มีความตื่นเต้นและต้องใช้การต่อสู้มากๆ

2. เกมส์ที่เล่นมีกฎระเบียบซับซ้อนมากขึ้น ไม่สู้จะนิยมเกมส์ง่ายๆ

3. ระยะนี้เด็กเล่นคนเดียวน้อยลง การเล่นสมมุติ เพื่อนสมมุติ ซึ่งมีมากในระยะวัยเด็กตอนต้น จะค่อยๆ หายไป เพราะเด็กมีโอกาสได้เล่นกับเพื่อนจริงๆ มากขึ้น ซึ่งสนุกสนานกว่า แต่เด็กบางคนที่ไม่สามารถเข้ากลุ่มได้ อาจยังคงเล่นสมมุติ และมีเพื่อนสมมุติ ลักษณะเช่นนี้ไม่เป็นไปสมตามวัย จำต้องทำการแก้ไขปรับปรุง

4. ลักษณะการเล่นและเกมส์ที่เด็กเลือกเล่น ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างเพศ ความถนัด ความสนใจ สติปัญญา บุคลิกภาพของเด็ก

5. เด็กบางคนอาจเริ่มเล่นประเภทงานอดิเรกบ้างแล้วในระยะนี้

พัฒนาการทางศีลธรรมจรรยา : ความดี-ชั่ว
วัยเด็กตอนปลายเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมาก ที่จะสอนให้เด็กเรียนรู้ว่าพฤติกรรมใดถูกผิด-ดี ชั่ว ซึ่งมาตรฐานในการกำหนดว่าอะไรดี-ชั่ว ถูก-ผิด มีความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรม แต่ก็มีกฎเกณฑ์ที่เป็นแนวคิดร่วม เช่น การลักขโมย การด่าว่าผู้อื่นที่ไม่มีความผิดเป็นสิ่งไม่ดี เป็นต้น

การสอนเด็กในวัยนี้ในเรื่องดังกล่าว สามารถสอนโดยให้เหตุผลได้แล้ว เพราะเด็กมีการพัฒนาความคิดเข้าใจเหตุผล (ดังได้กล่าวมาแล้ว)

Gormly & Brodzinsky (1989) ได้อ้างการศึกษาเรื่องพัฒนาการทางศีลธรรมจรรยาของ Piaget (1965) ดังนี้

เพียเจท์แบ่งระยะพัฒนาการทางศีลธรรมจรรยาเป็น 3 ขั้นตอน โดยมีแนวคิดว่า การมีศีลธรรมจรรยาคือการเคารพกฎเกณฑ์ ซึ่งพัฒนาไปตามลำดับ ดังนี้

ขั้นที่ 1 ก่อนที่จะรู้จักคิดตัดสินใจเรื่องศีลธรรมจรรยาได้ (Premoral judgement) อายุ 2-5 ปี เด็กในระยะนี้ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ถูกต้องว่าอะไรถูกอะไรผิด เขาไม่สำนึกว่าการร่วมอยู่ในสังคมต้องมีกฎระเบียบ หรือสำนึกรู้ว่ามีกติกาสังคม ตัวอย่างเช่น เพียเจท์ทดลองให้เด็กเล่นดีดลูกหิน เด็กๆ จะเอาแต่สนุกสนานอย่างเดียว ไม่ค่อยคำนึงหรือทำตามกฎเกณฑ์การเล่น

ขั้นที่ 2 เห็นข้อเท็จจริงเรื่องศีลธรรมจรรยา (Moral realism) อายุ 5-9 ปี ระยะนี้เด็กจะรู้จักเคารพกฎเกณฑ์ ข้อตกลง และจะรู้จักนำกฎนี้มาเป็นแนวทางในการตัดสิน การกระทำ ถูก-ผิด, ชั่ว-ดี เด็กจะเคารพกฎต่างๆ อย่างไม่ตั้งคำถาม ไม่สงสัย

ดังนั้นในระยะนี้ เด็กๆ มักจะพูดว่า “ทำอย่างนั้นไม่ดี” “เขาเป็นเด็กไม่ดี” “ก้อยเป็นคนไม่ดี นะพ่อนะ” (ถ้าเป็นเด็กอเมริกันมักจะพูดว่าไม่ยุติธรรมที่จะทำอย่างนั้น หรืออย่างนี้ “It’s not fair” …ผู้เขียน) เพราะเด็กไม่ทำตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เด็กๆ จะเข้าใจว่าการทำโทษ คือการทำผิดกฎระเบียบ และมักจะยอมรับการทำโทษ ถ้าเขารู้ว่าเขาทำผิดกฎเกณฑ์ระเบียบ เด็กถือว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นมาตรฐาน ทางศีลธรรมที่ต้องเคารพและทำตาม เขารู้สึกพอใจที่เด็กผู้ทำผิดกฎระเบียบได้รับการลงโทษ

ขั้นที่ 3 เข้าใจเรื่องศีลธรรมจรรยาอย่างมีเหตุผล (Autonomous morality) อายุ 10 ขวบขึ้นไป ระยะนี้เป็นระยะที่เด็กสามารถใช้เหตุผลเข้าใจว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ มีไว้เพื่อควบคุมการกระทำ ของคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข ถ้ากฎใดๆ ที่ไม่สามารถทำได้ดังกล่าว เด็กก็จะไม่ยอมเชื่อถือกฎเกณฑ์นั้น ถ้าเด็กเล่นกัน เด็กก็จะสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นเองสำหรับการเล่น และจะยอมรับการลงโทษ หรือกำหนดการลงโทษเมื่อเล่นอะไรๆ กันในหมู่เด็กๆ เด็กจะเข้าใจได้ว่าการลงโทษเป็นวิธีที่จะควบคุมคนที่ทำอะไรไม่อยู่ในร่องในรอย การมีกฎเกณฑ์และการลงโทษ ทำให้การเล่นหรือการทำงานเป็นหมู่คณะ ดำรงอยู่ได้

หมายเหตุผู้เขียน หากเราเชื่อตามทฤษฎีของเพียเจท์แล้ว ระยะนี้ก็น่าจะเป็นระยะที่เหมาะสมสำหรับสอนเด็กให้เข้าใจเรื่องผลร้ายของการทำลายธรรมชาติ หรือสอนกฎเกณฑ์การจราจร และสอนการเคารพกฎระเบียบวินัย หากเราสามารถสอนให้เด็กเข้าใจดีแล้วก็จะฝังใจ ติดเป็นนิสัยเด็กไปจนเป็นผู้ใหญ่ และอาจแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และความไร้ระเบียบในสังคมไทยได้มาก

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า