สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

วัยทารกแรกเกิด (Infancy)

วัยทารก (Infancy and Babyhood)
วัยทารกเริ่มนับตั้งแต่ทารกคลอดจากครรภ์มารดาไปจนกระทั่งถึงประมาณปีที่ 2 เกือบเข้าปีที่ 3 มีลักษณะเด่นน่ารู้คือ การปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ การเปลี่ยนสภาวะจากอนุชีพ (Parasite) มาสู่ความเป็นเอกัตบุคคล (Individuality) เป็นระยะวางรากฐานบุคลิกภาพในแง่ต่างๆ ซึ่งเกิดจากผลรวมของกรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม และการเรียนรู้ นักจิตวิทยาส่วนมากแสดงทัศนะว่าช่วง 2 ขวบแรก เป็นระยะที่สำคัญยิ่งในการวางรากฐานพัฒนาการด้านต่างๆ เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์มีการพัฒนาการด้านการเจริญเติบโตมากที่สุด เรียนรู้มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับวัยอื่นๆ ในช่วงยาวของชีวิต ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ

วัยทารกอาจแบ่งออกเป็น 2 ตอนย่อยๆ ได้คือ วัยทารกแรกเกิด (Infancy) และวัยทารกตอนปลาย (Babyhood)
วัยทารก
วัยทารกแรกเกิด (Infancy)
การปรับตัว
วัยทารกแรกเกิดกินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด เป็นระยะที่ทารกต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่รอบตัวเขา ซึ่งผิดกับสิ่งแวดล้อมเดิมในมดลูก ต้องเปลี่ยนวิธีการดำรงชีวิต การพัฒนาการในระยะนี้เป็นไปอย่างช้าๆ น้ำหนักของทารกอาจจะลด อาจจะมีความเจ็บไข้เกิดขึ้นได้ ทารกต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมหลายประการ อาทิ

ก. การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ จากอุณหภูมิราว 100 องศาฟาเรนไฮท์ในครรภ์มารดา มาเป็นอุณหภูมิระดับต่างๆ แล้วแต่ความผันแปรของอากาศในภูมิประเทศ สถานที่ที่ทารกเกิด

ข. การหายใจ จากการรับออกซิเจนทางรก มาเป็นทางปอดด้วยการหายใจ

ค. การดูดกลืนและการย่อยอาหาร ต้องทำด้วยตนเองแทนการรับอาหารที่ย่อยแล้ว จากผนังมดลูกที่ติดต่อโดยสายสะดือ

ง. การขับถ่าย ต้องขับถ่ายออกทางอวัยวะขับถ่ายแทนทางสายสะดือ

ถ้าทารกไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และการดำรงชีวิตอย่างใหม่ อาจตายในช่วงนี้ มีคำพังเพยของไทยว่า “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน” ส่อให้เห็นว่า ทารกแรกเกิดที่ปรับตัวเข้ากับสภาพใหม่ๆ ไม่ได้ มักตายภายใน 3 วัน ทารกปรับตัวได้มากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการ เป็นต้นว่า
กระบวนพัฒนาการระหว่างอยู่ในมดลูก
ลักษณะการคลอด-การคลอดก่อนหรือหลังกำหนด
วิธีการดูแลทารกหลังคลอด
ภาวะอารมณ์ของแม่ก่อนและหลงคลอด
การบำรุงรักษาตัวของแม่หลังคลอด

มีการเปรียบเทียบความสามารถในการปรับตัวระหว่างทารกชายกับทารกหญิง ปรากฏว่า ทารกชายมักปรับตัวไม่ได้ดีเท่ากับทารกหญิง อัตราการตายของทารกชายมากกว่าของทารกหญิง ทารกทั้งสองเพศที่อยู่ใกล้ชิดมารดา ปรับตัวได้ง่ายและรวดเร็ว มีหลักฐานจากการศึกษาวิจัยได้ผลว่า ท่าทีความรู้สึกของแม่ ที่มีต่อทารก มีอิทธิพลเป็นอันมากต่อการปรับตัวของทารก ต่อพัฒนาการทางอารมณ์และ บุคลิกภาพด้านต่างๆ ตลอดจนความเจริญเติบโต ความเจ็บไข้ได้ป่วยทางกายของทารก (McGraw, 1987)

พัฒนาการทางกาย
ขนาดและน้ำหนักของทารกแตกต่างไปตามความแข็งแรงเมื่อเด็กแรกเกิดตามลักษณะกรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อมและลักษณะการคลอดสองสามวันแรกหลังคลอดน้ำหนักตัวของทารกลดลงเล็กน้อย ถ้ามีการปรับตัวที่ดี จะเพิ่มขึ้นในปลายสัปดาห์ที่สอง ลักษณะกล้ามเนื้อและกระดูกเล็ก ควบคุมไม่ได้ จึงอาจเสียรูปได้ง่าย ผิวหนังอ่อนนุ่มเป็นสีชมพู เนื้อแน่นและยืดหยุ่น ศีรษะมักใหญ่ไม่ได้สัดส่วนกับร่างกาย ลำคอสั้นจนแทบมองไม่เห็น แขนและขาไม่ได้สัดส่วน มือ แขน เท้า เล็กมาก สายตาซ้ายขวายังเล็งไปจุดเดียวกันไม่ได้ ฉะนั้นบางทีจะจำกัดการเห็นทางลึก ภาวะนี้มีอยู่จนสิ้นเดือนที่สอง

พัฒนาการทางอารมณ์
เด็กทารกยังไม่มีอารมณ์อะไรมากมายนัก เมื่อแรกเกิดมีอารมณ์ตื่นเต้น โดยทั่วไปแล้วอาจแบ่งอารมณ์ของทารกออกเป็น 2 ประเภทกว้างๆ คือ อารมณ์ไม่แจ่มใส กับอารมณ์ชื่นบาน ทารกรู้สึกแจ่มใสเมื่อได้รับการตอบสนองทางด้านความต้องการทางร่างกาย ไม่แจ่มใสและโยเยเมื่อไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทางร่างกาย ไม่ได้รับการอุ้มชู หรือเจ็บป่วย

พัฒนาการทางบุคลิกภาพ
นักจิตวิทยาบางกลุ่มเชื่อว่า บุคลิกภาพพัฒนามาแล้ว ตั้งแต่พัฒนาการในระยะวัยก่อนเกิด ฉะนั้น เมื่อทารกเกิดออกมา จึงเห็นความแตกต่างของทารกได้แล้ว เช่น ทารกบางคนจู้จี้ กวน ทารกบางคนเลี้ยงยาก ทารกบางคนเลี้ยงง่าย เป็นต้น จากรากฐานบุคลิกภาพนี้ ทารกจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบสิ่งแวดล้อม และจะพัฒนาบุคลิกภาพให้เป็นไปในแบบต่างๆ สืบไป

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า