สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

วัยทารกตอนปลาย (Babyhood)

วัยทารกตอนปลาย เริ่มต้นแต่ปลายสัปดาห์ที่สองหลังคลอดจนกระทั่งถึง 2 หรือ 2 ขวบครึ่ง เมื่อสิ้นสุดระยะนี้ทารกมีความสามารถช่วยตัวเองได้อย่างมากมาย เมื่อเทียบกับระยะวัยทารกตอนต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการทางด้านร่างกาย โดยทั่วไประยะวัยทารกตอนปลายมีการพัฒนาการทางกายในด้านต่างๆ เป็นลักษณะเจริญเติบโตทำงานตามหน้าที่ของมันได้ เช่น ทารกเรียนรู้ที่จะควบคุมความสมดุลของการเคลื่อนที่ นั่ง ยืน เดิน หยิบ ฉวย ถือสิ่งของได้ พูดภาษาได้บ้าง แม้จะไม่ถูกต้องสมบูรณ์ ฯลฯ เป็นระยะวางรากฐานของพฤติกรรมที่สำคัญๆ หลายประการ อาทิ ทัศนคติต่อตัวเองและบุคคลอื่น ลักษณะการแสดงอารมณ์ และลักษณะนิสัย เมื่อสิ้นสุดระยะนี้ผู้ที่เลี้ยงดูเด็กมักมองเห็น บุคลิกภาพเฉพาะตัวของทารกได้เด่นชัดแล้ว ในขณะที่ทารกกำลังพัฒนาความสามารถทางกายและภาษา เพื่อทำอะไรๆ ด้วยตัวเองในด้านต่างๆ นั้น ผู้เลี้ยงดูทารกต้องใช้ความระวังมาก หากผิดพลาดแล้ว บางอย่างแก้ไขให้ดีได้ยาก เช่น ถ้าเด็กล้มศีรษะฟาดพื้นบ่อยๆ อาจทำให้เด็กปัญญาอ่อนได้

พัฒนาการทางกาย
มีความเจริญเติบโตในด้านโครงสร้างของร่างกาย (Structure) การรู้จักใช้อวัยวะต่างๆ ตามหน้าที่ (Function) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัส (Sensorimotor) การพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็ว (เทียบได้ว่าคล้ายคลึงกับระยะวัยแรกรุ่น) ทารกจึงไม่ค่อยอยู่นิ่ง ชอบสำรวจสิ่งแวดล้อมประสบอุบัติเหตุได้ง่าย โดยเฉพาะในปลายปีที่สอง ส่วนในระยะขวบปีแรกอัตราการเจ็บป่วยค่อนข้างสูง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก ส่วนสูงเพิ่มขึ้นในอัตราช้ากว่าการเพิ่มของน้ำหนักตัว แต่ก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น เพศ กรรมพันธุ์ เชื้อชาติ อาหาร ในระยะ 6 เดือนแรก สัดส่วนของร่างกายไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ต่อจากนั้นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะปรากฏเด่นชัด ศีรษะที่โตค่อยๆ ดูเล็กลง ลำตัวและขายาวใหญ่ขึ้นเมื่อใกล้จะพ้นสองขวบ ทารกในวัยทารกตอนต้นแทบจะไม่ปรากฏช่วงคอให้เห็น แต่ในวัยทารกตอนปลายช่วงคอเริ่มเห็นชัดขึ้นบ้าง และยังคงสั้นอยู่ โครงกระดูกเจริญเติบโตรวด เร็วที่สุดในระหว่างขวบแรก แขนและขาจึงแข็งแรงขึ้น ทำให้มีการพัฒนาการมากมายทางการเคลื่อน ไหวและการใช้กล้ามเนื้อ ตลอดถึง การใช้ประสาทสัมผัส    ความแข็งแรงของกระดูกเกิดจากอาหารที่ได้รับ มีการขับฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ถ้ารู้สิ่งผิดปกติผิดขึ้นเกี่ยวกับความเจริญของกระดูก การเคลื่อนไหวและประสาทสัมผัสจะพัฒนาอย่างเชื่องช้า ถ้าผิดปกติรุนแรงอาจเป็นโรคกระดูก, กระดูกพิการ ทั้งในระยะวัยทารกหรือวัยอื่นๆ ในอนาคตได้ จมูกเป็นรูปเมื่อโครงกระดูกอ่อนเจริญ การพัฒนากล้ามเนื้อตาจะประสานกันดีขึ้น ทำให้สามารถมองดูสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ชัดเจน ส่วนในด้านการกิน ตอนแรกๆ ทารกต้องกินอาหารด้วยวิธีดูดกลืน อาหารจึงต้องมีลักษณะเหลว ละเอียดและอ่อน เนื่องจากฟันงอกในระยะนี้ ผู้เลี้ยงดูอาจให้อาหารที่ทารกสามารถเคี้ยวได้ แต่ต้องไม่แข็งเกินไป และจะเป็นการช่วยการบริหารฟันของทารกด้วย การฝึกหัดให้ทารกขับถ่ายเป็นเวลา และถูกที่ถูกทางควรเริ่มทำได้แล้ว ในระยะปลายวัยเด็กทารก แต่ก็ต้องคำนึงถึงความพร้อมของการบังคับอวัยวะกล้ามเนื้อหูรูดของทารกด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างสุขนิสัยในการขับถ่าย

เนื่องจากการพัฒนาการทางกายในด้านต่างๆ ทั้งโครงสร้างและการฝึกฝนให้ทำหน้าที่ของมัน เป็นลักษณะเด่นในช่วงนี้    การพัฒนาการทางกายจึงมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ซึ่งไม่ใช่ความประสงค์ที่จะบรรยายโดยถี่ถ้วนในที่นี้    จึงขอให้ผู้สนใจศึกษาจากที่อื่นเพิ่มเติมต่อไปอีก รูปต่อไปนี้เป็นตัวแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาความเจริญเติบโตทางร่างกายบางอย่าง

Maturational Changes in Body Proportions
The body proportions of human beings change dramatically over the growth years as shown in this series of drawings.
health-0128 - Copy
ภาพจาก McGraw, 1987, หน้า 270

พัฒนาการทางการเคลื่อนไหว
ทารกเคลื่อนไหวร่างกายได้บ้างแล้วตั้งแต่เป็นตัวอ่อนอยู่ในครรภ์ เมื่อแรกคลอดออกมาก็แสดงอาการเคลื่อนไหวมือเท้าศีรษะได้บ้าง การเคลื่อนไหวในช่วงเวลาเหล่านี้ เป็นปฏิกิริยารีเฟลกช์ต่อสิ่งเร้าชนิดต่างๆ ทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ เมื่อทารกมีเวลาปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม พร้อมด้วยพัฒนาสมองในส่วนรู้ คิด และส่วนบังคับบัญชากล้ามเนื้อ ให้เคลื่อนไหวได้ตามเจตนา (ค่อยเป็นค่อยไป) ปฏิกิริยารีเฟลกซ์ก็ค่อยๆ ลดหน้าที่ลงให้การแสดงพฤติกรรมที่เกิดจากเจตนาเข้าทำหน้าที่แทน โดยอาศัยความเจริญทางกายและสมองที่พร้อมจะทำงาน ตามหน้าที่ให้เกิดเป็นพฤติกรรมใหม่ๆ ขึ้นได้ (วุฒิภาวะ)

สถาบันเกเซลล์ได้ศึกษาวุฒิภาวะแห่งการเคลื่อนไหว แล้วบันทึกผลการศึกษาไว้โดยพิสดารมาก ข้อสำคัญประการหนึ่งคือ ขั้นตอนพัฒนาการมีความเป็นจริงกับทารกทั่วโลกไม่ว่าเป็นเด็กเชื้อชาติใด อาจต่างกันเพียงอายุตามปีปฏิทิน ซึ่งกำหนดไว้กลางๆ ว่า อายุกี่เดือนควรจะทำพฤติกรรมอย่างใดได้บ้าง

ขั้นตอนดังกล่าวนำมาเขียนไว้ต่อไปนี้ เพื่อประกอบภาพรวมแห่งพัฒนาการของทารกให้เต็มรูป

ขั้นตอนพัฒนาการตั้งแต่ทารกคลอดจนเดินได้: พรรณนาตามอายุและลักษณะพฤติกรรมการเคลื่อน ไหว คือ

ขั้นตอนพัฒนาการตั้งแต่ทารกคลอดจนเดินได้
อายุ 1 เดือน ชันคอได้เมื่ออุ้มให้นั่ง และอาจจะคว่ำ และยกคางขึ้นได้
อายุ 2 เดือน นอนคว่ำ ยกหน้าอกขึ้นได้
อายุ 3 เดือน ยกมือเพื่อจับสิ่งของได้ (ในท่านอน)
อายุ 4 เดือน นั่งได้เมื่อมีคนช่วย
อายุ 5 เดือน นั่ง พยายามหยิบจับสิ่งของ
อายุ 6 เดือน นั่งเก้าอี้ที่มีกรอบล้อมรอบ หยิบวัตถุสิ่งของที่อยู่ตรงหน้าได้
อายุ 7 เดือน นั่งเมื่อมีผู้ช่วยจับ รู้จักใช้แขนคํ้ายันตัวไม่ให้ล้ม
อายุ 7 1/2 เดือน นั่งเองตัวตรงได้
อายุ 8 เดือน จับให้ยืนโดยมีผู้ช่วย ขาของทารกจะพยุงตัวได้เอง
อายุ 9 เดือน ยืนเกาะเครื่องเรือนได้
อายุ 10 เดือน คลานได้
อายุ 11 เดือน เดินโดยมีผู้จูงได้
อายุ 12 เดือน คุกเข่าเพื่อยืน เหนี่ยวเครื่องเรือนดึงตัวขึ้นยืน ยืนโดยปล่อยมือตั้งไข่
อายุ 13 เดือน ไต่ขึ้นบันไดได้เอง
อายุ 14 เดือน ยืนด้วยตนเองได้
อายุ 15 เดือน เดินได้

พฤติกรรมของทารกด้านการเคลื่อนไหว ที่ต้องพัฒนาการไปภายใต้กฎวุฒิภาวะเป็นขั้นตอนดังกล่าวข้างต้นนี้ ถ้าผู้ใดฝึกทารกเพื่อเร่งให้เร็ว โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมทางกายและสมองนั้นเป็นโทษแก่ทารก เช่น ทารกที่กล้ามเนื้อลำตัวยังไม่พัฒนาพอที่จะเหนี่ยวยึดกระดูกสันหลัง ให้อยู่ในรูปที่ถูกต้อง ถูกคนเลี้ยงจับหัดให้นั่งนานๆ โดยประสงค์อย่างใดก็ตาม ทารกอาจจะเป็นคนหลังโกงไปตลอดชีวิต ฉะนั้นขอได้โปรดกำหนดในใจให้แน่นอนว่า ความก้าวหน้าสามารถเคลื่อนไหวแต่ละขั้นของทารก จะต้องเป็นไปตามวุฒิภาวะโดยลำดับไม่มีการข้ามขั้นได้เลย ต่างกันเพียงแต่บางคนอาจผ่านไปเร็วบ้าง บางคนช้าไปบ้าง กำหนดอายุที่ว่าทารกสามารถทำพฤติกรรมขั้นหนึ่งขั้นใดได้ดังแสดงไว้ใน รายการข้างต้น ขอให้ถือเป็นเกณฑ์ปานกลางสำหรับทารกที่มีอนามัยสมบูรณ์เป็นปกติ

พัฒนาการการใช้มือและนิ้วจับฉวย
ในบรรดาพัฒนาการโดยใช้ส่วนของร่างกายนั้น พัฒนาการใช้มือและนิ้วจับฉวยนับว่าน่าสนใจศึกษามาก ผู้ที่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องราววิวัฒนาการของมนุษย์ตังแต่ดึกดำบรรพ์นับล้านปีมาแล้ว คงได้ทราบว่าบรรพบุรุษมนุษยชาตินั้น เดิมด้านกายภาพก็ไม่ดีวิเศษกว่าสัตว์มีมืออื่นๆ มากนัก เมื่อนักศึกษาวิชาการสาขาโบราณคดีขุดค้นพบโครงกระดูกของบรรพบุรุษมนุษยชาติเหล่านี้ ที่มีชีวิตอยู่ในโลกใกล้สมัยปัจจุบันเข้ามาเรื่อยๆ ก็สังเกตว่ามีวิวัฒนาการหลายด้าน โดยเฉพาะสังเกตกระดูกมือและนิ้วมือ พบการแปรรูปให้ใช้งานดีขึ้นต่อเนื่องมาตลอดเวลาช้านานจนสามารถใช้ทำงานได้ดีกว่ามือของสัตว์มีมืออื่นๆ ครั้นถึงขั้นมือทำหน้าที่ใช้อาวุธและเครื่องมือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่มนุษยชาติมีวิวัฒนาการล้ำหน้าสัตว์โลกเหล่าอื่นตั้งแต่นั้นมา

โดยที่ความสำคัญของการพัฒนาการใช้มือและนิ้วมือมีดังนี้ มีผู้สังเกตและศึกษาพัฒนาการการใช้มือ-นิ้วของทารก โดยจัดให้ทารกจับฉวยลูกบาศก์ โปรดดูภาพข้างล่างนี้ พร้อมด้วยคำบรรยายต่อเนื่องไป
health-0131 - Copy
ภาพจาก Papalia&Olds, 1975, หน้า 156

Papalia & Olds (1975, หน้า 156) รายงานว่า Halverson (1931) ศึกษาการใช้มือของทารกแล้ว ได้รายงานมีความว่า ทารกแรกเกิดจับลูกบาศก์ด้วยปฏิกิริยารีเฟลกซ์ แต่พออายุ 16 สัปดาห์ (4 เดือน) (รูปที่ 1 ข้างต้น) กลับไม่จับลูกบาศก์ (เห็นได้ว่าปฏิกิริยารีเฟลกซ์หายไปแล้ว และการจับฉวยโดยเจตนายังทำไม่เป็น) พออายุ 20 สัปดาห์ (รูปที่ 2-3) ตะปบด้วยอุ้งมือ แต่ยังไม่จับฉวย อายุ 24 สัปดาห์ (รูปที่ 4) พัฒนาขึ้น แต่ยังไม่จับฉวยอยู่นั่นเอง อายุ 28 สัปดาห์ (รูปที่ 5-6) เอาลูกบาศก์ไว้ใต้อุ้งมือ แต่ยังไม่รู้จักใช้นิ้วหัวแม่มือ อายุ 32 สัปดาห์ (รูปที่ 7) พัฒนาขึ้นแต่กุมไม่แน่น อายุ 36 สัปดาห์ (รูปที่ 8) จึงรู้จักใช้นิ้วหัวแม่มือช่วยนิ้วอื่น อายุ 52 สัปดาห์ (รูปที่ 9-10) พัฒนาขึ้นอีกจนกระทั่งทารกอายุ 60 สัปดาห์ (15 เดือน) การจับฉวยด้วยมือทั้งมือด้วยเจตนาจะจับจึงบรรลุวุฒิภาวะ

พัฒนาการทางอารมณ์
อารมณ์ของเด็กวัยทารกตอนปลายมีหลายประเภท เปลี่ยนแปลงง่ายรวดเร็วขึ้นอยู่กับสิ่งเร้า (ถ้าหากลักษณะอารมณ์ของผู้ใหญ่ยังเป็นเช่นนี้อยู่ ก็กล่าวได้ว่ายังติดข้องอยู่ในระยะวัยทารก) อารมณ์ โกรธมีมากกว่าอารมณ์อื่นๆ เพราะเป็นระยะที่เด็กพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง เด็กกำลังพยายามฝึกฝนตนเองเพื่อให้สามารถช่วยตัวเองทางสมรรถภาพของร่างกาย เช่น การยืน การเดิน การหยิบฉวยวัตถุ การพูด แต่เด็กไม่สามารถทำได้ตามใจตนเอง หรือสบอารมณ์ของผู้เลี้ยงดูเสมอไป อาจถูกขัดขวางจากผู้เลี้ยงดูหรือจากสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ยั่วยุให้เด็กโกรธได้ง่ายๆ ผลที่ตามมาก็คือ ความหงุดหงิด ฉุนเฉียว โยเย เด็กอาจแสดงอารมณ์โกรธออกมาหลายวิธี เช่น ร้องไห้ ไม่สบาย อ้อน ไม่กินอาหาร

อารมณ์กลัวเกิดมากเป็นอันดับรองของอารมณ์โกรธ อารมณ์กลัวเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น ความไม่เข้าใจสิ่งแวดล้อม การหลอกหรือขู่ของผู้ใหญ่ เพื่อให้เด็กหยุดซุกซนหรือเชื่อง่ายอาจเป็นผลร้ายต่อการพัฒนาของเด็กในภายหน้า และอาจจะเกิดจากประสบการณ์ที่เด็กได้ประสบโดยตรงก็ได้ เช่น ความมืด การถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวโดยลำพัง หรือความร้อนของไฟ เป็นต้น เด็กแสดงอารมณ์กลัวออกมาโดยวิธีร้องไห้จ้า หนี ให้ผู้ใหญ่อุ้ม ไม่รับประทานอาหาร ฯลฯ

อารมณ์อยากรู้อยากเห็นของเด็กในวัยนี้ค่อนข้างมากเหมือนกัน เพราะสาเหตุหลายประการ อาทิ ความต้องการช่วยตนเองทางด้านร่างกาย ความสามารถช่วยตนเองได้ อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เริ่มทำงานได้ โดยเฉพาะอวัยวะกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัส สามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูดและสามารถพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ รวมทั้งความต้องการรู้จักสิ่งแวดล้อม อารมณ์อยากรู้อยากเห็นนี้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาการด้านสติปัญญา ถ้าผู้ปกครองส่งเสริมให้ถูกวิธีจะช่วยพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กในภายหน้า

อารมณ์สำคัญที่จำเป็น จะต้องให้พัฒนาขึ้นในตัวเด็กยังมีอีก คือ อารมณ์เบิกบาน อารมณ์นี้เป็นเครื่องหมายชี้ให้เห็นว่าเด็กคนนั้น ได้มีการพัฒนาที่สมบูรณ์ทางกายและจิตใจอย่างไร ตลอดจนมีความรู้สึกในแง่ดี ต่อบุคคลที่อยู่แวดล้อมเขาและต่อโลกอย่างไรหรือไม่ ถ้าเด็กมีอารมณ์ชนิดนี้น้อยเกินไป อาจนำไปสู่การพัฒนาบุคลิกภาพชนิดซึม เศร้า ถอยหนีชีวิต และมองโลกและชีวิตในแง่ร้าย อนึ่ง ถ้าเด็กไม่มีอารมณ์ชื่นบานเพียงพอจะพลอยทำให้การพัฒนาการทางร่างกาย ทางภาษา ทางสติปัญญา และทางสังคม พลอยเป็นไปอย่างค่อนข้างช้าด้วย

พัฒนาการทางสังคม
พัฒนาการทางสังคมหมายถึง พฤติกรรมที่เด็กสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น วัยทารกและวัยเด็กตอนต้นเป็นระยะวางรากฐานของลักษณะพฤติกรรมทางสังคมของบุคคลแต่ละคนว่า ในภายภาคหน้าเขาจะมีแบบของการเข้าสังคม สร้างสัมพันธภาพ มีชีวิตกลุ่มในลักษณะใดบ้าง แบบพฤติกรรมสังคมมีหลายๆ อย่าง อาทิ ก้าวร้าว นุ่มนวล เยือกเย็น รุ่มร้อน เก็บตัว ชอบสังคม คบคนง่าย คบคนยาก ชอบโทษผู้อื่น ชอบโทษตัวเอง ชอบวางอำนาจใส่ผู้อื่น ชอบเป็นผู้นำ ชอบเป็นผู้ตาม ชอบแก้ตัว เปลี่ยนแปลงง่าย เปลี่ยนแปลงยาก ไม่ยอมใครง่ายๆ จู้จี้ ชอบหาเรื่อง ขี้อิจฉา จริงใจ ไม่จริงใจ ยุติธรรม ชอบเอาเปรียบ ชอบนินทา ชอบต่อสู้ ฯลฯ บุคคลแต่ละคนมีพฤติกรรมสังคมแบบใด ขึ้นอยู่กับอิทธิพล ต่างๆ หลายประการ ที่เรียนรู้และได้รับในระยะทั้งวัยทารกและวัยเด็กตอนต้น อาทิเช่น

1. ความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะเด็กได้รับอาหาร มีผลมากกว่าเพียงสนองความต้องการทางกาย การได้รับอาหารเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับระยะวัยเด็กทารก ฟรอยด์เชื่อว่า ความสุขของคนในระยะนี้อยู่ที่การได้กินอาหารนี่เอง ดังนั้นถ้าเด็กไม่มีความสุขอย่างพอเพียงเกี่ยวกับการ กินอาหาร จะพลอยกระทบกระเทือนไปถึงพัฒนาการด้านพฤติกรรมสังคม ในเรื่องนี้ท่าทีของผู้ให้อาหาร การไม่ปล่อยให้เด็กหิวเกินไป การไม่บังคับให้เด็กกินตรงตามเวลาโดยเด็กไม่หิว มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาการทางสังคม และยังเลยไปถึงการพัฒนาทางอารมณ์ด้วย Hilgard (1971) ได้เสนอผลจากการทดลองว่าช่วงเวลาการให้อาหารเด็ก เป็นระยะที่สำคัญต่อการพัฒนาการทางอารมณ์ การให้นมจากขวด หรือนมแม่ มีความสำคัญน้อยกว่าลักษณะท่าทีและอารมณ์ของผู้ให้นมแก่เด็ก เด็กจะเรียน และเลียนอารมณ์ต่างๆ อย่างลึกซึ้งมากในระยะดังกล่าวนี้ เช่น โกรธ เกลียด กังวล เจ้าทุกข์เบื่อหน่าย ฯลฯ

2. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่างๆ ภายในบ้าน เป็นไปในรูปลักษณะอย่างใด ถ้าในบ้านมีการแก่งแย่ง แข่งขัน อิจฉาริษยา อาทร สนใจซึ่งกันและกัน ทะเลาะเบาะแล้ง ตัวใครตัวมัน เงียบเฉย วางอำนาจข่มกันและกัน มีผู้อวดอำนาจและมีผู้ต้องยอมจำนนอยู่ใต้อำนาจ ขยันขันแข็ง เอางาน เรื่อยๆ เฉยๆ ซึมๆ ฯลฯ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเหล่านี้ ทั้งแง่ดีและแง่ไม่ดีเป็นแบบประทับรอยไว้ภายในจิตใจ โดยที่เด็กไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถใช้สติปัญญาเลือกเฟ้น เด็กจะเรียนและเลียนแบบความ สัมพันธ์เหล่านี้ในลักษณะซับซึมลึก ไปปฏิบัติในชีวิตอนาคตทั้งแง่บวกและลบ สำหรับทางใดๆ ที่ไม่ดี เมื่อพัฒนาแล้วจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขในภายหลังนั้นค่อนข้างยากลำบากมาก

3. พฤติกรรมสังคมที่จำเป็นในการอยู่รวมเป็นหมู่คณะอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความรู้สึกเคารพกฎระเบียบต่างๆ การฝึกเด็กให้รู้จักเคารพกฎเกณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่วัยทารกจะเป็นรากฐานมั่นคงในภายภาค
หน้า พ่อแม่ผู้อบรมและบุคคลในบ้านต้องเป็นแบบอย่างให้แก่เด็ก และต้องมีความสมํ่าเสมอด้วย กฎและระเบียบวินัยต่างๆ จะต้องไม่เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ จนน่าเวียนหัว และเด็กเข้าใจสับสน ถ้าเป็นดังกล่าวนี้ ลงท้ายที่สุดจะทำลายความเชื่อ ความนิยมของเด็กที่มีต่อกฎระเบียบต่างๆ การฝึกให้เด็กเคารพระเบียบข้อวินัย ควรใช้ทั้งวิธีการให้รางวัลและการลงโทษ (การให้รางวัลและลงโทษในที่นี้ไม่หมายความว่า ต้องให้รางวัลเป็นสิ่งของมีค่าหรือลงโทษด้วยทัณฑกรรมอย่างแรงเลย) นักจิตวิทยาเชื่อว่าการฝึกหัดการขับถ่ายให้ถูกเวลาและสถานที่แก่เด็กนั้น นับได้ว่าเป็นวิธีการอันหนึ่ง สำหรับฝึกฝนให้เด็กรู้จักยำเกรงกฎ ระเบียบวินัย แต่การฝึกหัดการขับถ่ายนี้ จะต้องไม่เร่งเร้าเด็กมากเกินควร และยังต้องคำนึงถึงความพร้อมทางอวัยวะต่างๆ ที่ควบคุมด้านการขับถ่ายด้วย อย่างไรก็ตามการฝึกหัดการขับถ่ายให้กับเด็ก ควรจะเริ่มอย่างจริงจังในระยะวัยเด็กตอนต้น เพราะกล้ามเนื้ออวัยวะ ประสาทที่ควบคุมในด้านนี้เริ่มทำหน้าที่อย่างจริงจังแล้ว การฝึกให้เด็กเคารพกฎเกณฑ์ระเบียบวินัย ต้องทำต่อเนื่องสืบไปอีก แต่ช่วงวัยทารกและวัยเด็กตอนต้นเป็นช่วงที่สำคัญ สำหรับการวางรากฐานพัฒนาการ ในด้านนี้

4. ความสัมพันธ์กับแม่ และ/หรือผู้เลี้ยงดู (Mother-child relationships) ถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของแบบแผนทางสังคมของเด็กในภายหน้า

พัฒนาการทางภาษา
พัฒนาการทางภาษาเป็นพฤติกรรมที่สำคัญและใหญ่ยิ่งประการหนึ่งในวัยทารก เพราะภาษาเป็นสื่อของการพัฒนาทางสังคม อารมณ์ สติปัญญา หรือแม้แต่ความเจริญเติบโตทางร่างกาย

กระบวนการพัฒนาภาษาขึ้นกับวุฒิภาวะ สิ่งแวดล้อม และการเรียนรู้ ซึ่งจะขอขยายความเพิ่มเติมตามสมควรดังนี้

“การเปล่งเสียงร้องเมื่อแรกเกิด” และการเปล่งเสียงร้องเมื่อร่างกายได้รับความขัดข้องเดือดร้อน เมื่อเกิดใหม่ๆ เช่น หิว เปียก และไม่สบาย เหนื่อย เกิดจากปฏิกิริยารีเฟลกซ์ทั้งสิ้น นักภาษาศาสตร์เชื่อว่าเสียงเปล่งโดยการกระตุ้นจากแรงปฏิกิริยารีเฟลกซ์นี้เอง เป็นจุด “เริ่มต้น” ภาษาพูดของมนุษย์ ทุกๆ ชาติ เพราะการส่งเสียงร้องก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบจากแม่หรือผู้เลี้ยงดู ทารกพัฒนาภาษาตั้งแต่ลำดับต้นจนตลอดถึงลำดับต่อๆ มา ก็ได้อาศัยปฏิกิริยาตอบโต้ระหว่างองค์ประกอบภายในตัวทารก และองค์ประกอบภายนอกตัวทารก องค์ประกอบภายในตัวทารกได้แก่ จักษุสัมผัส โสตสัมผัส สมอง อวัยวะที่ใช้เปล่งเสียง ฯลฯ ซึ่งต้องบรรลุถึงวุฒิภาวะมากหรือน้อยก็ตาม จึงจะทำหน้าที่ได้

ตามกล่าวในย่อหน้าข้างต้นถึงองค์ประกอบภายนอกตัวทารก เรียกว่า “สิ่งแวดล้อมทารกนั้น” มีหลายประการด้วยกัน ที่สำคัญมากคือ เสียงพูดของคนที่มีปฏิสัมพันธ์รอบๆ ตัวทารก การที่บุคคลแสดง ปฏิกิริยาต่อเสียงของทารก การที่พวกเขาเหล่านั้นพูดด้วยภาษาวาจา หรือภาษาท่าทางประกอบด้วยก็ตาม เพื่อทำให้ทารกเข้าใจความหมายที่ผู้พูดต้องการ เป็นตัวแปรที่สำคัญยิ่ง ซึ่งทำให้เด็กเรียนแบบการใช้ภาษาเพื่อการติดต่อ หรือเพื่อให้มีสมรรถภาพในการใช้ภาษาในภายภาคหน้า

ถึงแม้การพัฒนาภาษาต้องอาศัยวุฒิภาวะและสิ่งแวดล้อม แต่ทารกต้องมี “การเรียนรู้” ภาษา ที่สื่อสารตอบโต้ต่อกัน ซึ่งเกิดขึ้นได้โดยมีผู้พูดด้วย และทารกมีโอกาสใช้ความสามารถของตนฝึก ฟัง พูด เห็น สัมผัส กล่าวคือทารกมีประสบการณ์การเรียนรู้ภาษาควบคู่ไปกับองค์ประกอบอื่นๆ ในการเรียนภาษา

แต่โอกาสที่กล่าวมาข้างต้นนี้ อาจเกิดขึ้นอย่างขาดๆ เกินๆ ได้ จากหลายสาเหตุ สาเหตุที่มีผู้กล่าวถึงมาก ได้แก่ ทารกได้รับการเลี้ยงดูในสถานที่ที่เลี้ยงดูทารกแบบธุรกิจ ทารกในสถานที่เช่นนี้มักเติบโตขึ้นโดยขาดคนพูดจาเล่นหัวด้วย มีผู้สังเกตเห็นเสมอๆ ว่า พัฒนาการทางภาษาและด้านอื่นๆ ของทารกในสถานที่เช่นนั้นมักเฉื่อยช้า (Craig, 1980)

อนึ่ง พ่อแม่เด็กในสมัยปัจจุบันอาจมีความจำเป็นในการประกอบอาชีพ ต้องปล่อยให้ผู้อื่นเลี้ยงดู (หรือมอบให้สถานที่รับเลี้ยงเด็กช่วยดูแลระหว่างตนไปทำงาน) ฉะนั้นบุคคลที่ทำหน้าที่รับเลี้ยงดูเด็กดังกล่าวข้างต้นนี้ ควรจะคำนึงถึงพัฒนาการภาษาของเด็กที่ตนรับเลี้ยง ซึ่งเกิดจากการพูดจาปราศรัย อุ้มชู เล่นหัวกับเด็กด้วย และไม่ควรละเลยการช่วยเด็กให้ได้เรียนรู้ทางภาษา

ทารกจะมีพัฒนาการทางภาษา จนถึงขั้นเข้าใจความหมายของภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยชำนาญและคล่องแคล่ว ก็จะต้องถึงวัยประมาณ 6 ขวบ ซึ่งทางตำราจัดอยู่ในวัยเด็กตอนต้น

พัฒนาการทางความคิด
ผู้ค้นคว้าวิชาการขั้นตอนของความคิด ผู้มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วโลก คือนักจิตวิทยาและชีววิทยา ชาวสวิส ชื่อ จีน เพียเจท์ เขาเชื่อว่าการพัฒนาภาษา มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาความคิดอย่างใกล้ชิด จนแยกไม่ออกและเชื่อว่ากระบวนการความคิดขั้นต่างๆ เป็นพัฒนาการที่ค่อยๆ เจริญขึ้นตั้งแต่ทารกแรกเกิด จนถึงขั้นเต็มที่ในระยะวัยรุ่นหลังจากนั้นสืบไป เป็นระยะฝึกฝนอบรมความคิดให้เฉียบคมยิ่งขึ้น คุณภาพของความคิดแตกต่างไปในแต่ละคน ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น พันธุกรรม ความสามารถทางภาษา ประสบการณ์ ฯลฯ เพียเจท์แบ่งพัฒนาการขั้นตอนความคิดเป็น 4 ขั้นตอนกว้างๆ ตามวัยของเด็ก

ทารกตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 2 ขวบ อยู่ในระยะรู้จักคิดด้วยประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ (Sensorimotor period) ขั้นนี้แบ่งย่อยออกไปอีกดังนี้

1. ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งมีอายุ 1 เดือน ปฏิกิริยารีเฟลกซ์เริ่มทำหน้าที่เรียนรู้สิ่งต่างๆ

2. ตั้งแต่อายุ 1 ถึง 4 เดือน ทารกเริ่มเรียนรู้จากอวัยวะรับความรู้สึกและการเคลื่อนไหวที่ทำงานสัมพันธ์กัน เช่น ตาและมือ เห็นสิ่งของเอื้อมมือไปหยิบ ต่อมาหยิบแล้วเอาเข้าใส่ปากเพื่อดูดกัด อม เป็นต้น

3. ตั้งแต่อายุ 4 ถึง 8 เดือน เริ่มรู้จักเลียนแบบทำซ้ำพฤติกรรมที่พึงพอใจ ทารกอายุ 4 เดือนรู้จักสำรวจตนเองอย่างน่าสนใจ เขามองดูมือและนิ้วคราวละหลายๆ นาที เพ่งดูว่ามันกระดุกกระดิกอย่างไร เอามือประสานกำเข้าด้วยกัน ทารกสำรวจเท้าตัวเอง ทำเสียงของตัวเอง และเลียนเสียงของผู้อื่นอย่างจงใจ รู้จักแสดงกิริยาอาการตอบต่อบุคคล หรือเหตุการณ์ต่างๆ ได้ตามอารมณ์ เริ่มรู้จักเล่นเข้าสังคมง่ายๆ

4. ตั้งแต่อายุ 8 ถึง 11 เดือน รู้จักคิดแสวงหาสิ่งที่พึงใจง่ายๆ เช่น เห็นของเล่นที่ชอบใจอยู่ที่มุมห้อง ก็เคลื่อนไหวเข้าไปหา ไม่คำนึงถึงความยากลำบาก

5. ตั้งแต่อายุ 11 เดือนขึ้นไป เล่นซนมาก กระฉับกระเฉงว่องไว มีความคิด อยากรู้อยากเห็น อยากทดลองให้ประจักษ์ด้วยประสาทสัมผัสของตนเอง เช่น ลองปาขวดนมเพื่อฟังเสียง

6. ตั้งแต่อายุ 12 เดือนขึ้นไปจนเกือบ 2 ขวบ สมรรถภาพทางความคิดก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง คืออาจคิดถึงวัตถุหรือเหตุการณ์ที่ไม่จำต้องปรากฏเฉพาะหน้าก็ได้

(ก่อนระยะนี้คิดได้จากวัตถุหรือเหตุการณ์ที่เกิดเฉพาะหน้า) ทั้งนี้เพราะเริ่มพูดภาษาเป็นเรื่องเป็นราวได้บ้างแล้ว ฉะนั้นจึงรู้จักแก้ปัญหาง่ายๆ ได้ รู้จักคิดว่าเมื่อต้องการสิ่งใด ต้องทำอย่างไรจึงได้ตามต้องการ เช่นรู้จักร้องอ้อนให้คนอุ้มไปเที่ยว
(อายุที่กล่าวข้างต้นนี้เป็นอายุโดยประมาณ)

ความลึกซึ้งของพัฒนาการความคิด และสติปัญญา ไม่ว่าวัยใดๆ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานกรรมพันธุ์ ที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ โอกาสที่เด็กจะได้เรียนรู้และสิ่งแวดล้อม

สำหรับวัยทารก ปัจจัยที่มีอิทธิพลมากในการพัฒนาการทางความคิด เร็วหรือช้าหรือลึกซึ้ง คือ

1. โอกาสที่เด็กจะได้เล่น เพราะการเล่นช่วยส่งเสริมความเข้าใจสิ่งแวดล้อม ดังคำกล่าวที่ว่าการเล่นคือการเรียน
2. ความสามารถที่จะเข้าใจภาษา และใช้ภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจ
3. พัฒนาการของกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัส เพราะระยะนี้เด็กเรียนสิ่งต่างๆ โดยอาศัยกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสเป็นสื่อเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเด็กได้มีโอกาสแตะต้อง เห็น ได้ยินวัตถุ ที่ให้การเรียนรู้ จะช่วยพัฒนาความคิดและสติปัญญาอย่างมาก

พัฒนการทางเกิดความเข้าใจตนเองว่าเป็นบุคคลคนหนึ่ง (Self awareness)
เมื่อทารกแรกเกิด ยังมีความเข้าใจตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม อาจเป็นวัตถุหรือบุคคลอื่นที่อยู่ใกล้ชิดเป็นอย่างมาก ซึ่งสืบเนื่องมาจากสภาวะที่เคยเป็นอนุชีพ (Parasite) อยู่ในครรภ์มารดามาแล้วหลายเดือน ดังสังเกตเห็นได้ว่าเมื่อทารกรู้ตัวว่าว้าเหว่ อยู่แต่ลำพังตัวคนเดียวมักร้องไห้โยเย เพราะรู้สึกว่าส่วนหนึ่งของชีวิตร่างกายของเขาหายไป ความเข้าใจตนเองว่าเป็นบุคคลหนึ่งต่างจากสิ่งแวดล้อม จึงเป็นขั้นตอนพัฒนาการที่สำคัญสำหรับเด็กทารกที่มีการพัฒนาปกติ สมรรถภาพนี้พัฒนาพร้อมๆ กับพัฒนาการทางสมอง ความสามารถทางภาษา และความเข้าใจสิ่งแวดล้อม

พัฒนาการเกิดความเข้าใจตนเองว่าเป็นบุคคลหนึ่ง เป็นกระบวนการที่ค่อยๆ เป็นไป ดำเนินไปตามขั้นตอน มีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างมาก เกินกว่าที่จะอภิปรายได้ในข้อเขียนสังเขปเช่นนี้ จึงขอกล่าวอย่างกว้างๆว่า พัฒนาการประเภทนี้เริ่มเมื่อทารกเริ่มรู้จักเล่นเสียง (4-6 เดือน)  พฤติกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเข้าใจว่าตนเป็นเอกัตบุคคลที่ เห็นชัดเจน ได้แก่ การชอบดูกระจก ชอบจับต้องลูบคลำอวัยวะต่างๆ ของตัวและคนอื่น เช่น ปาก จมูก ฯลฯ  ถ้าทารกพัฒนามาถึงลำดับนี้แล้ว กล่าวได้ว่า ความเข้าใจตนเองว่าเป็นบุคคลหนึ่งเริ่มตั้งมั่นแล้ว

ความเข้าใจนี้พัฒนาเต็มถึงขั้นเริ่มเป็นเอกัตบุคคล (Individuality) เมื่อสิ้นวัยทารก(อายุประมาณ 2 ขวบ)

แสดงพัฒนาการถึงขั้นทารกเริ่มเข้าใจตนเองว่าเป็นบุคคลคนหนึ่ง
health-0140

ความสัมพันธ์ของทารกกับแม่: ฐานความผูกพันทางสังคม (Social attachment)
คนทั่วๆ ไปมักนึกไม่ถึงว่า รูปแบบที่เราสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น อย่างมีเยื่อใยไมตรี อย่างไร้นํ้าใจ อย่างผูกพันอาทร ฯลฯ ทั้งกับบุคคลในครอบครัว และนอกครอบครัว มีปฐมฐานที่สำคัญยิ่งคือลักษณะการสัมพันธ์กับแม่ หรือผู้เลี้ยงดูอื่นๆ ที่ใกล้ชิดในวัยทารกและวัยเด็ก ความสัมพันธ์นี้มีอิทธิพลเหนือปัจจัยร่วมอื่นๆ ดังนั้นในที่นี้จะกล่าวถึงผลกระทบทางสังคมของเด็กทารก ที่เกิดจากความสัมพันธ์กับแม่

เมื่อทารกแรกเกิดก็เริ่มชีวิตทางสังคม ทารกยังช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องได้รับการฟูมฟักทนุถนอมจากแม่ สายสัมพันธ์จากการได้พึ่งและการได้โอบอุ้มเลี้ยงดูจากแม่ ทำให้เกิดปรากฎการณ์ทางสังคมชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า การติดแม่

ความเข้มข้นของการติดแม่ระดับต่างๆ เช่น ติดแม่ลึกซึ้ง พอประมาณ ห่างเหิน หรือไม่มีผู้ทำหน้าที่แม่ที่จะให้เด็กสร้างความ “ติด” ล้วนแล้วเป็นตัวกำหนดลักษณะนิสัยทางสังคมของเด็ก เมื่อเขาโตขึ้นพ้นวัยทารก ต้องพบและสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในวงกว้างยิ่งขึ้นๆ จนกลายเป็นนิสัยทางสังคมหรือบุคลิกภาพทางสังคมของคนคนนั้น เช่น ชอบคบเพื่อน ชอบเก็บตัว มีความผูกพันทางใจกับเพื่อนฝูงสนิทสนม มีความรักดูดดื่มลึกซึ้งกับคู่รักต่างเพศ หรือในทางตรงข้าม เป็นคนสนิทกับคนยาก พอใจรู้จักคนอื่นเพียงผิวเผิน หรือร้ายกว่านั้น ไม่สามารถรักหรือชอบใครๆ สักคนแม้แต่ตัวเอง ฯลฯ

1. การติดแม่คืออะไรและกระบวนการพัฒนาการติดแม่
เมื่อทารกแรกเกิด ทารกยังช่วยตัวเองไม่ได้เลยในการได้รับการสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน เพื่อการมีชีวิตรอด เช่น การได้กินเมื่อหิว การได้นอนเมื่อง่วง การได้รับการขจัดความร้อน หนาว ปวด เปียกแฉะ ฯลฯ ทารกต้องอาศัยบุคคลอื่นคือ “แม่” หรือและผู้โอบอุ้มเลี้ยงดู เป็นผู้จัดการให้ตนได้รับสนองสิ่งที่เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานเพื่อการมีชีวิตรอด เขาผู้นี้เป็นผู้อยู่ใกล้ๆ คอยคุ้มครองให้ความสุขอบอุ่นใจแก่ตนโดยประการต่างๆ ทำให้ตนรู้สึกรักและผูกพัน ในขณะเดียวกันผู้เป็นแม่ก็มีความรู้สึกผูกพัน อาทร ใยดีลูกน้อย การติดแม่เป็นกระบวนการทางสังคม ซึ่งเกิดจากการให้ความรัก และรับความรักระหว่างแม่กับทารก

ในระยะ 2-3 อาทิตย์แรกๆ ของชีวิต ความต้องการของทารกอยู่ในขีดจำกัด เพียงแค่ความต้องการเพื่อการมีชีวิตรอดทางกายพื้นฐาน เช่นต้องการกินเมื่อหิว ต้องการนอนเมื่อง่วง ต้องการให้มีคนขจัดความเจ็บปวด ต้องการให้คนขจัดความเปียกแฉะเมื่อตนทำสกปรก แต่ประมาณตั้งแต่ 3-4 อาทิตย์ เป็นต้นไป ความต้องการของทารกมีมากกว่าความต้องการทางกายพื้นฐาน คือมีความต้องการทางสังคม และอารมณ์ด้วย เช่น การอยากให้มีคนที่รักตนอยู่ใกล้ๆ การอยากเลียนเสียงเล่น การอยากมองหน้าคนผู้เลี้ยงดู การอยากจับต้องลูบคลำวัตถุและบุคคลใกล้ๆ ตน การได้รับการโอบกอดรัด สัมผัสจากผู้อื่น การที่ส่วนต่างๆ ของร่างกายมีโอกาสเคลื่อนไหว เช่น เตะเท้า ชูมือ แกว่งมือ ฯลฯ

เมื่อทารกมีความต้องการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ในตอนแรกๆ เมื่อภาษายังไม่พัฒนามากนัก ทารกใช้วิธีการสื่อสารให้บุคคลอื่นได้รับรู้ความต้องการของตนโดยการส่งเสียง “ร้อง” หลังจากส่งข่าวสารเช่นนั้นไปแล้ว ถ้ามีคนมาช่วยแก้ไขเหตุที่ทำให้รู้สึกไม่สบายหมดสิ้นไป หรือรับการปลดเปลื้องความต้องการต่างๆ เหล่านั้นสมใจ ไม่ต้องคอยนานเกินไป ทารกก็เกิดอารมณ์แจ่มใสแช่มชื่นเบิกบาน ถ้าส่งข่าวนั้นไปแล้วไม่มีผู้มาช่วยแก้ไขเป็นเวลาเนิ่นนาน ทารกก็จะมีอารมณ์ขุ่นมัว ถ้าหากอารมณ์แจ่มใสหรือขุ่นมัวเกิดขึ้นเป็นประจำๆ อารมณ์ประเภทนั้นก็จะประทับเป็นลักษณะอารมณ์ประจำตัวของเขา เมื่อเขาผ่านพ้นวัยทารก ซึ่งอาจจะแก้ไขภายหลังได้ไม่สู้ง่ายนัก

ทารกที่มีอารมณ์แจ่มใสค่อนข้างมาก มักจะมีพัฒนาการด้านต่างๆ รวดเร็ว เช่น ชูคอ ควํ่า คืบ คลาน ยืน เดิน เข้าใจสิ่งแวดล้อมได้เร็ว ไม่ค่อยเจ็บออดๆ แอดๆ และมักมีพัฒนาการทางภาษาเร็วด้วย (Lefrancois, 1990)

การเรียนรู้ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นกับเด็กทารกในระหว่างนี้ ได้แก่ การพัฒนาทัศนคติต่อคนอื่น ผู้คน และสังคมมนุษย์ในทางบวกหรือทางลบ กล่าวคือทารกที่ได้รับการสนองความต้องการจนสมใจดังกล่าวข้างต้น จะพัฒนาความรู้สึกว่า “มีผู้ทำให้เราสุขสบายเสมอ” ความรู้สึกนี้จะกลายเป็นความรักใคร่ผูกพันผู้คนแวดล้อมรอบตัว และความรู้สึกที่ดีต่อโลก ต่อสังคมมนุษย์ ในทางกลับกันทารกที่ไม่ค่อยได้รับการตอบสนองความต้องการทางกาย ทางอารมณ์ และทางสังคมสมตามวัยของตนก็จะพัฒนาความรู้สึกว่า “ไม่มีผู้ใดที่จะทำให้เราสุขสบาย ไม่ว่าใครปล่อยให้เรามีทุกข์เสมอ” ความรู้สึกเช่นนี้จะค่อยฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของทารก ดังนั้นเมื่อเติบใหญ่ก็จะมีทัศนคติต่อผู้คน และ สังคมในทางลบ

ในเดือนแรก ทารกยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ผู้ที่มาปลดเปลื้องความทุกข์ร้อน อุ้มชูเล่น พูดจากับตนเป็นประจำคือใคร ผู้ทำให้ตนมีอารมณ์แจ่มใสเบิกบานเป็นประจำนั้น มีหน้าตาและน้ำเสียงเป็นอย่างไร ใครเป็นคนอื่น ทารกแสดงกิริยาต่อทุกคนที่มาอุ้มชูเหมือนกันหมด ทังนี้เพราะตาและหูยังพัฒนาไม่เฉียบคม

เมื่อทารกอายุประมาณ 2 เดือน สายตาของทารกก็สามารถเห็นสิ่งต่างๆ ในสามมิติได้ พอสายตาและความจำทำงานประสานกันด้วยดี ทารกก็สามารถแยกออกได้ว่า ใครเป็นผู้เลี้ยงดูที่เห็นหน้าเป็นประจำ ใครเป็นคนหน้าใหม่ (ทางจิตวิทยาเด็กถือว่าการพัฒนาการขั้นนี้เป็นความก้าวหน้าเชิงความคิด ขั้นหนึ่ง คือรู้จักเห็นความเหมือนและความต่าง)

เมื่อตาและสมองพัฒนาถึงระดับนี้แล้ว ทารกจึงพัฒนาความผูกพันใจอย่าง “เฉพาะเจาะจง” กับผู้ที่ให้การโอบอุ้มเลี้ยงดู ให้ความสุขสบายกับตนเป็นประจำ เกิดพัฒนาการทางจิตใจที่เรียกว่า “การติดแม่” ทารกเริ่มแสดงอาการ “ติดแม่” มากเมื่ออายุประมาณ 8-9 เดือน (ซึ่งเป็นระยะเวลาช่วงเดียวกับที่เด็กเริ่มพัฒนาความตระหนักรู้ว่า ตนเป็นบุคคลหนึ่งต่างจากพ่อแม่ ต่างจากสิ่งแวดล้อม)

2. การติดแม่มีลักษณะสำคัญอะไรบ้าง
ทารกแสดงลักษณะกิริยาอาการติดแม่เป็น 2 ลักษณะ คือ
1. หวาดกลัวคนแปลกหน้า
2. หวาดกลัวการพลัดพรากจากแม่

ลักษณะแรก ความหวาดกลัวคนแปลกหน้า นักจิตวิทยาถือว่าเป็นระดับความคิดขั้นหนึ่ง คือ ทารกได้ตระหนักรู้ว่า ความสุขกาย สบายใจ ที่ตนได้รับอยู่เป็นประจำนั้นเกิดจาก “การอุ้มชูเลี้ยงดูของคนคนนั้นมิใช่คนอื่น” เมื่อพบเห็นคนแปลกหน้า เกิดความหวาดกลัวว่าความสุขกายสบายใจที่มีอยู่จะสูญหายไป

ลักษณะที่สอง ความหวาดกลัวความพลัดพรากจากแม่ (Seperation anxiety) เป็นข้อที่เข้าใจได้ง่าย เพราะเด็กเห็นแม่เป็นอย่างเดียวกับความรู้สึกสบาย มั่นคงและปลอดภัย ถ้ามองไม่เห็นคนคนนี้ หรือต้องอยู่ห่างจากคนคนนี้เป็นเวลานานๆ ทารกย่อมรู้สึกหวาดหวั่นพรั่นใจ

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า