สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

วัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร

กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร มีดังนี้
1. น้ำมันพืชที่ผ่านกรรมวิธีเติมโบรมีน (Brominated Vegetable Oil)
2. กรดซาลิซิลิค (Salicylic Acid)
3. กรดบอริค (Boric Acid)
4. บอแรกซ์ (Borax)
5. แคลเซียมไอโอเดท หรือโปตัสเซียมไอโอเดท (Calcium Iodate and Potassium Iodate) ยกเว้นการใช้เพื่อป้องกันและรักษาโรคคอพอก
6. ไนโตรฟูราโซน (Nitrofurazone)
7. โปตัสเซียมคลอเรท (Potassium Chlorate)แอลกอฮอล์
วัตถุเคมีทั้ง 7 นี้ห้ามมิให้ใช้ในอาหารใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้โดยคำนึงถึงว่าเป็นสารที่มีพิษ อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างร้ายแรงได้ จึงได้ประกาศห้ามใช้ในอาหารทุกชนิด ยกเว้นเฉพาะกรณีในข้อ 5 คือการใช้แคลเซียมไอโอเดท หรือโปตัสเซียมไอโอเดท เพื่อป้องกันโรคคอพอกเพียงกรณีเดียวเท่านั้น

หากมีผู้ฝ่าฝืนในการใช้วัตถุกันเสียในกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่กล่าวมาแล้ว ต้องระวางโทษปรับ 1,000 บาทถึง 10,000 บาท และกรณีที่วัตถุเจือปนเข้าไปในอาหารนั้น น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพแล้ว อาจถือได้ว่าอาหารนั้นเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ซึ่งผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายอาจ ถูกหาว่าผลิตหรือจำหน่ายอาหารปลอมได้ ซึ่งต้องระวางโทษสูงขึ้น คือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ควรที่ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารพึงสังวรไว้ด้วย

นอกจากโรคอาหารเป็นพิษอันเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีสารอีก 2 ชนิดที่ทำให้เกิดพิษแก่ร่างกายและถึงแก่ชีวิตได้ สาร 2 ชนิดนั้นคือ สุรา และเมทธิลแอลกอฮอล์

พิษจากสุรา
สุรา หรือเอทธิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol, C2H3OH)ได้จากการหมักคาร์โบไฮเดรท พวกแป้ง น้ำตาล หรือน้ำผลไม้ มีฤทธิ์ในทางยาหลายอย่าง เช่น มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ทำให้ปัสสาวะเพิ่มขึ้น และเพิ่มการหลั่งน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร เป็นต้น มีประโยชน์คือ ใช้ภายนอกเป็นยาฆ่าเชื้อโรค ใช้เป็นน้ำกระสายยาในการปรุงยาหลายชนิด เมื่อกินในขนาดน้อยๆ (มีส่วนประกอบของยาเจริญอาหารบางชนิด) จะเพิ่มความอยากอาหาร เป็นต้น เอทธิลแอลกอฮอล์ 1 กรัมให้พลังงาน 7 แคลอรี่ พลังงานที่ได้ในกรณีนี้หากเกินความต้องการร่างกายไม่อาจสะสมไว้ใช้ได้เหมือนกับพลังงานที่ได้จากอาหาร แต่แอลกอฮอล์ชนิดนี้ก็มีโทษอยู่หลายประการ โดยสังเขปก็คือ เมื่อดื่มเข้าไปจะมีการระคายเคืองกระเพาะอาหารทำให้กระเพาะอักเสบ เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน นานๆ เข้าจะกลายเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง เกิดมีแผลในกระเพาะ เกิดอาการเบื่ออาหาร จึงเป็นโรคขาดอาหารและขาดวิตะมิน อนึ่ง เมื่อแอลกอฮอล์ถูกดูดซึมเข้าในกระแสโลหิตแล้วจะไปทำให้ตับอักเสบและตับแข็ง ตับเสียหน้าที่ (ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อ ร่างกาย) จึงเป็นโรคต่างๆ ตามมาอีกหลายอย่าง เพราะร่างกายอ่อนแอ มีความต้านทานต่อโรคต่างๆ ได้น้อยลง นอกจากนี้เมื่อเป็นโรคแล้วก็จะเป็นรุนแรงและหายได้ยาก แอลกอฮอล์ยังมีผลเสียต่อระบบประสาท ทำให้ประสาทอักเสบเรื้อรัง สมองเสื่อมหน้าที่ ความจำเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนไปในทางเลว และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือทำให้เกิดการติดสุราขึ้นได้

ดังนั้นพอจะสรุปถึงอันตรายของการดื่มสุราที่มีต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ดังนี้
1. ระบบประสาท มี
ก. อันตรายจากพิษสุรา
(1) เมา (Drunkeness)
(2) หมดสติ (Alcoholic Coma)
(3) โรคแพ้พิษสุรา (pathological Intoxication)

ข. โรคที่เกิดจากการอดเสพ (Abstinence Syndrome)
(1) มือเท้าสั่น (Tremulousness)
(2) โรคจิตหลอน (Alcoholic Hallucinosis)
(3) โรคชัก (Alcoholic Epilepsy)
(4) โรคสั่นและเพ้อ (Delirium Trement)

ค. โรคที่เกิดจากการขาดอาหาร (Nutritional Diseases)
(1) โรคอันตรายของกล้ามเนื้อของตา (Wernicke Encephalopathy)
(2) โรคจิตคอร์ซาคอฟฟ์ (Korsakov’s Psychosis)
(3) โรคเหน็บชา (peripheral Neuropathy)
(4) โรคเพลลากรา (Pellagra)
(5) โรคประสาทตาอักเสบและตาบอด (Optic Neuritis, Alcoholic Amblyopia)

ง. โรคอื่นๆ มี
(1) โรคสมองน้อย ซีรีเบลลัมเสื่อม (Cerebellum Degeneration)
(2) โรคมาเคียฟาวา-บิกนามิ (Marchiafava-Bignami Diseases)
(3) การสลายตัวของเยื่อหุ้มประสาทส่วนพอนตีน (Central Pontine Myelinolysis)
(4) โรคเหน็บชาที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกด (compression Neuropathy)
(5) โรคสมองเหี่ยว (Cortical Atrophy)
(6) โรคประสาทตาอักเสบ (Optic Atrophy)
(7) กล้ามเนื้ออักเสบและปัสสาวะมีโปรตีนจากกล้ามเนื้อ (Myopathy, Myoglobinuria)
(8) ลดความรู้สึกทางเพศ (Sexual Impotence)
(9) โรคซึมเศร้า (Depression)
(10) ฆ่าตัวตาย (Suicide)
(11) ความผิดปรกติแต่กำเนิด (Fetal Alcoholic Syndrome) มี

-ศีรษะเล็ก
-สมองเจริญผิดปรกติ
-ผนังกั้นหัวใจรั่ว (V.S.D.)
-ไม่มีคอร์ปัสคอลโลสัม
(12) เกิดอาการอักเสบของสมอง และเยื่อหุ้มสมองได้ง่ายกว่าปรกติ
(13) โรคหวาดระแวงจากพิษสุรา (Alcoholic Pavanoia)
(14) หมดสติจากตับวาย (Hepatic Coma)

2. ระบบทางเดินอาหาร
(1) เยื่อกระเพาะอาหารอักเสบ (superfuricial Gastritis)
(2) การอักเสบของกระเพาะอาหารมีเลือดออก (Hemorrhagic Gastritis)
(3) การฉีกขาดของหลอดอาหารส่วนกลาง จากการอาเจียน (Mallory-Weiss Syndrome)
(4) แผลเปปติค (Peptic ulcer)
(5) ตับไตจากไขมันแทรก (Fatty Hepatosis)
(6) โรคตับแข็ง (Portal Cirrhosis)
(7) โรคตับอ่อนอักเสบ (Pencreatitis) ชนิดเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง (cardiomyopathy)

3. ระบบอื่นๆ
(1) โรคขาดอาหาร
(2) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
(3) การติดเชื้อและอักเสบได้ง่ายกว่าปรกติ
(4) ปอดบวม
(5) เบาหวาน

นอกจากนี้ยังเป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ (Trauma) ได้มากมาย ทั้งพลัดตก หกลัม รถควํ่า ชกต่อย ยิง ฟัน จึงเห็นได้ว่าอันตรายจากสุรามีมากนัก จึงถึงเวลาแล้วที่จะเลิกดื่มสุรา เพื่อสุขภาพของท่าน

เมทธิลแอลกอฮอล์ (Methyl Alcohol, CH3OH)
เมทธิลแอลกอฮอล์ หรือแอลกอฮอล์จุดไฟ ได้จากการกลั่นทำลายไม้ (destructive distillation of Wood) ในที่อับอากาศ เป็นสารที่มีพิษถึงตาย ห้ามบริโภคโดยเด็ดขาดแอลกอฮอล์ชนิดนี้มีในสุราเถื่อน (ปลอม) โดยเข้าใจผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของนักดื่มหรือผู้ผสมสุราที่ คิดว่า
เมทธิลแอลกอฮอล์ใช้ดื่มได้เช่นเดียวกับเอทธิลแอลกอฮอล์ ไม่ตระหนักในพิษและโทษของมัน จึงได้เอาเมทธิลแอลกอฮอล์ผสมดื่มกัน ด้วยกลิ่นและรสของมันคล้ายกัน แต่เมทธิลแอลกอฮอล์นั้นจะดื่มสักเท่าไรก็ไม่เมาเหมือนกับเอทธิลแอลกอฮอล์

เมทธิลแอลกอฮอล์นั้นเข้าสู่ร่างได้ทั้งทางปากด้วยการดื่ม ทางจมูกด้วยการหายใจ และทางผิวหนัง จากการเช็ดหรือทาด้วยแอลกอฮอล์ชนิดนี้ ปรกติเมทธิลแอลกอฮอล์ใช้ในการละลายแลคเกอร์ (Lacquer) ในการทาไม้ ใช้ในการเคลือบโลหะ ฝ้า และเครื่องหนัง ใช้ในการทำหมึกพิมพ์ ใช้ล้างแผ่นโลหะก่อนชุบ ใช้ในการสังเคราะห์สารเคมี พวกสี ยาฆ่าแมลง สารประเภท เอสเทอร์ (ester) และอีเทอร์ (ethers) ใส่ในหม้อน้ำรถยนต์กันการแข็งตัวของน้ำสำหรับรถยนต์ในประเทศหนาว ใช้เป็นเชื้อเพลิงที่ปราศจากควัน ใช้ในการหุงต้ม ใช้ผสมน้ำมันเครื่องบิน รถแข่ง และรถยนต์ธรรมดา เพื่อเพิ่มออกเทน แต่ได้มีผู้เข้าใจผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์นำเอาเมทธิลแอลกอฮอล์มาใช้แทนเอทธิลแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมายจนน่ากลัวอันตราย เพราะราคาถูกกว่าและเย็นวูบวาบซู่ซ่ากว่าด้วยทั้งนี้เพราะเมทธิลแอลกอฮอล์มีจุดเดือดตํ่ากว่าเอทธิลแอลกอฮอล์ถึง 13°C

ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เมทธิลแอลกอฮอล์ แทนเอทธิลแอลกอฮอล์ ได้แก่
1. แอลกอฮอล์เช็ดแผล
2. ทิงเจอร์ไอโอดีน
3. กระดาษเช็ดหน้าเย็น
4. ผ้าเย็น
5. น้ำยาล้างกระจก
6. สเปรย์ฉีดผม
7. สเปรย์กำจัดกลิ่น ที่ใช้ฉีดในห้องปรับอากาศ ห้องประชุม โรงแรม และโรงพยาบาล
8. น้ำหอม
9. แอลกอฮอล์เช็ดบริเวณที่โกนหนวด โกนหรือกันไรผมหรือตีนผมของช่างตัดผม

พิษจากเมทธิลแอลกอฮอล์
เมทธิลแอลกอฮอล์เป็นพิษต่อร่างกายได้ ไม่แต่เฉพาะจากการดื่มเข้าไปโดยตรงเท่านั้น แม้ทางลมหายใจและทางผิวหนังโดยการเช็ดตัว เช็ดรอยโกน-หนวดโกนผมก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน เมทธิลแอลกอฮอล์ทำให้เยื่อเมือก (mucous membrane) ระคายเคือง เป็นพิษต่อประสาทส่วนกลาง (central Nervous System) โดยเฉพาะ ประสาทตา เป็นอันตรายต่อตับ ไต หัวใจ และอวัยวะอื่นๆ เมื่อเมทธิลแอลกอฮอล์ซึมเข้าไปในร่างกายแล้ว ร่างกายกำจัดออกได้ช้าและยาก ถ้าได้รับบ่อยๆ ก็จะสะสมและเพิ่มปริมาณขึ้นจนถึงขีดที่ปรากฏเป็นพิษได้ จึงอาจจัดได้ว่าเป็นสารพิษประเภทสะสม เชื่อกันว่าเมื่ออยู่ในร่างกาย เมทธิลแอลกอฮอล์จะสลายตัวโดยถูกเติมอ๊อกซิเจนกลายเป็นฟอร์มัลดิไฮด์และฟอร์มิกแอซิด (formic acid) ซึ่งเป็นพิษเช่นเดียวกัน

เมื่อดื่มเมทธิลแอลกอฮอล์เข้าไปจะไม่ปรากฏอาการเมา เช่น เอทธิลแอลกอฮอล์ เมทธิลแอลกอฮอล์เมื่อเข้าสู่ร่างกาย 18-48 ชม. จะกัดเยื่อบุภายในปากทำให้อักเสบเป็นสีม่วงหรือแดง เกิดอาการหน้าเขียว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปั่นป่วนในท้อง ปวดศีรษะ มึนงง หายใจถี่ หายใจขัด หน้ามืด เป็นลม เหงื่อออก ตาฝ้าฟาง มองภาพไม่ชัด อาจตาบอดหรือถึงตายได้ หากไม่ได้รับการเยียวยาที่ถูกต้องทันท่วงที

ปรกติเมทธิลแอลกอฮอล์ หรือแอลกอฮอล์จุดไฟนี้ เขาจะใส่สีให้เป็นสีแดง หรือสีม่วงอ่อนๆ แล้วฉลากข้างขวดจะมีคำว่า “แอลกอฮอล์จุดไฟ” เอาไว้ จงอย่าได้เผลอไผลเอาไปผสมน้ำ ทำเป็นสุราดื่มก็แล้วกัน จะถือว่าเป็นหัวแอลกอฮอล์หรือแอลกอฮอล์เข้มข้น และผสมดื่มกันหาได้ไม่

ที่มา:ค้วน  ขาวหนู
วท.บ.(สุขศึกษา).ค.ม.

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า