สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

วัณโรคปอด(Pulmonary tuberculosis)

ทีบี(TB ย่อมาจาก tuberculosis) ที่โบราณเรียกว่าโรคฝีในท้อง เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังของปอด เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อย พบมากในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเอดส์ ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ ผู้ที่อยู่อาศัยกันอย่างแออัดวัณโรคปอด

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) บางครั้งเรียกเชื้อเอเอฟบี (AFB ย่อมาจาก acid fast bacilli)

วัณโรคปอดติดต่อกันได้โดยการหายใจเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยที่แขวนลอยในอากาศในขณะที่ผู้ป่วย ไอ จาม พูด หัวเราะ หรือร้องเพลง ซึ่งเชื้อสามารถมีชีวิตในอากาศได้นานหลายชั่วโมง ผู้ที่ได้รับเชื้อปริมาณมากจนถึงขั้นสามารถเป็นโรคได้ต้องเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสัมผัสกับผู้ป่วยเป็นเวลายานาน เช่น อยู่ในบ้านเดียวกัน

การติดต่อที่พบได้น้อยมากเช่น เด็กที่ดื่มนมวัวจากวัวตัวที่มีเชื้อวัณโรคจากเชื้ออีกสายพันธุ์หนึ่ง มีชื่อว่า Mycobacterium bovis ที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง

หลังจากติดเชื้อได้ 2-8 สัปดาห์ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา บางรายสามารถกำจัดเชื้อได้หมดก็ไม่เป็นโรคนี้

ส่วนในเด็กเล็กไม่สามารถกำจัดเชื้อได้  หลังติดเชื้อไม่นานก็เป็นโรคนี้
ส่วนบางรายที่กำจัดเชื้อได้ไม่หมด เชื้อจะซ่อนอยู่ในปอดและอวัยวะอื่นๆ โดยไม่เจ็บป่วย บางรายเชื้อแพร่กระจายจากปอดไปตามกระแสเลือด แล้วฝังตัวในอวัยวะต่างๆ เรียกว่า การติดเชื้อวัณโรคแฝง (latent TB infection) คนกลุ่มนี้ร้อยละ 10 จะกลายเป็นวัณโรคในเวลาต่อมา บางรายจะเกิดอาการของโรคภายใน 2 ปีหลังติดเชื้อ แต่บางรายก็อาจนานนับสิบๆ ปี ทั้งนี้ขึ้นกับภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคนี้ ได้แก่
-ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอดส์ เบาหวาน ไตวาย ผู้กินยาสตีรอยด์นานๆ หรือใช้เคมีบำบัด ผู้ป่วยติดเชื้อบางชนิด เช่น หัด ไอกรน ไข้หวัดใหญ่ ผู้ทำงานหนัก หรือมีความเครียดสูง
-ผู้ติดยาเสพติดหรือแอลกอฮอล์
-ผู้ที่ขาดสารอาหาร
-ผู้ที่อยู่ในที่แออัด เช่น เรือนจำ ศูนย์อพยพ เป็นต้น
-ผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยเป็นเวลานาน เช่น ที่บ้าน ที่พักหรือที่ทำงาน
-บุคลากรสาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วย
-ผู้สูงอายุ พบในช่วงอายุมากกว่า 65 ปี
-ทารกแรกเกิด

อาการ
มีไข้และไอเรื้อรังนานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน
มีอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ ไอแห้งๆ ต่อมาจะไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว ครั่นเนื้อครั้นตัว มีไข้ต่ำๆ ช่วงบ่ายจะรู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เหงื่อออกตอนกลางคืน อาการไอ อ่อนเพลีย เบื่ออาหารจะมากขึ้น น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว

อาจมีไอเป็นเลือดสีแดง หรือดำในปริมาณไม่มาก มีน้อยรายที่มีเลือดออกมากเวลาไอจนหน้าซีด เป็นลม หน้ามืด มือเท้าเย็น

บางรายแน่นหน้าอกหายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าลึกๆ จากสาเหตุมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มปอดอักเสบ หรือโรคลุกลามทั่วปอด

บางรายอาจมีไข้นานเป็นเดือนโดยไม่มีอาการอย่างแสดง
ในรายที่เป็นโรคนี้เพียงเล็กน้อย จะไม่มีอาการอะไรเลย มักจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการเห็น จุด ในปอดจากภาพถ่ายรังสี

สิ่งตรวจพบ
มีไข้ประมาณ 37.5-39 องศาเซลเซียส
การใช้เครื่องตรวจปอด มักไม่พบเสียงผิดปกติ บางรายอาจได้ยินเสียงกรอบแกรบใต้ไหปลาร้าเมื่อให้ผู้ป่วยไอแรงๆ
ในรายที่เป็นมานานและอยู่ในระยะลุกลามผู้ป่วยจะซูบผอม ซีด หายใจหอบ ได้ยินเสียงกรอบแกรบทั่วปอดเมื่อใช้เครื่องฟังตรวจปอด
ในรายที่มีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด เมื่อใช้เครื่องฟังตรวจปอดจะไม่ได้ยินเสียงหายใจ และปอดข้างหนึ่งจะเคาะทึบ ในรายที่หอบเหนื่อยมานานจะมีอาการนิ้วปุ้ม(clubbing of fingers)

ภาวะแทรกซ้อน
โรคที่เกิดขึ้นในปอด อาจกลายเป็นภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด มีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด ถุงลมปอดโป่งพอง ฝีปอด ช็อกจากการไอออกเป็นเลือดมาก

เชื้อวัณโรคสามารถแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปทั่วร่างกาย กลายเป็นวัณโรคของอวัยวะต่างๆ ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ เช่น
-วัณโรคต่อมน้ำเหลือง  มีลักษณะเป็นก้อนบวมที่ข้างคอ นุ่ม ไม่เจ็บ อาจแตกมีหนองไหลเรื้อรัง โบราณเรียก ฝีประคำร้อย

-เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรค  มีไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง ซึม ชัก คอแข็ง

-วัณโรคกระดูก เช่น ที่ข้อเข่ามีไข้เรื้อรัง ข้อบวมแดงร้อน ที่กระดูกสันหลังจะปวดหลังเรื้อรัง หลังคดโกง กดเจ็บ ขาอ่อนแรง

-วัณโรคกล่องเสียง เสียงจะแหบเรื้อรัง

-วัณโรคลำไส้  ปวดท้อง ท้องเดินเรื้อรัง น้ำหนักลด คลำได้ก้อนในท้อง อาจเกิดอาการท้องมานหากลุกลามไปที่เยื่อบุช่องท้อง

-วัณโรคไต  ทำให้กรวนไตอักเสบเรื้อรัง พบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ แม้จะได้รับยาปฏิชีวนะหลายชนิดแล้วก็ตาม

-วัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจ  มีไข้ คอบวม หายใจหอบเหนื่อย

หากเกิดในทารกและเด็กเล็ก อาจกลายเป็นวัณโรคชนิดแพร่กระจาย (miliary tuberculosis) ตามกระแสเลือดจะมีเชื้อแพร่กระจายอยู่มากมาย ผู้ป่วยมีไข้เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง หายใจลำบาก น้ำหนักลด ซีด หรือมีเลือดออก

การรักษา
หากมีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์ น้ำหนักลด ไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียวนานเกิน 3 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด เป็นอาการที่ไม่ควรวางใจ ควรส่งแพทย์เพื่อตรวจรักษาต่อไป

วินิจฉัยโรคโดยการเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะโดยวิธีย้อมสีแอซิดฟาสต์ (acid fast stain) 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย หากตรวจเสมหะให้ผลบวกพบเชื้อวัณโรคอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือตรวจเสมหะให้ผลบวก 1 ครั้ง ร่วมกับมีรอยโรคในปอดจากภาพถ่ายรังสี หากมีผลลบจากการตรวจเสมหะหรือไม่พบเชื้อวัณโรคแพทย์จะพิจารณาจากภาพถ่ายรังสีเป็นสำคัญ

บางครั้งอาจต้องทดสอบผิวหนังที่เรียกว่า การทดสอบทูเบอร์คูลิน (tuberculin test)  โดยการนำเสมหะไปเพาะเชื้อ  และการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคโดยเทคนิค PCR (polymerase chain reaction) เป็นต้น

การดูแลรักษาเมื่อพบว่าเป็นวัณโรคปอด
1. สำหรับผู้ป่วยใหม่หรือเพิ่งรักษาเป็นครั้งแรกให้ใช้ยารักษาวัณโรคหลายชนิดรวมกัน มักจะนิยมใช้สูตรยา 6 เดือน คือใช้ ไอเอ็นเอช ไรแฟมพิซิน ไพราซินาไมด์ และอีแทมบูทอล ใน 2 เดือนแรก อาจใช้สเตรปโตไมซินฉีดแทนอีแทมบูทอลในบางกรณี  และในอีก 4 เดือนต่อด้วยยาอีก 2 ชนิด คือ ไอเอ็นเอชกับไรแฟมพิซิน

2. ใช้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาบำรุงโลหิตหากมีอาการซีด วิตามินรวมถ้าเบื่ออาหาร หรือรักษาตามอาการที่แสดง

3. ติดตามผลการรักษาเมื่อกินยาครบ 2 เดือน 5 เดือน และเมื่อสิ้นสุดการรักษา 6 เดือนหรือ 9 เดือนแล้วแต่กรณี โดยการตรวจจากเสมหะของผู้ป่วยทุกเดือนก็ได้

4. จำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลหากเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไอเป็นเลือดมาก หายใจหอบเหนื่อย มีน้ำหรือลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด ภาวะขาดอาหารรุนแรง เป็นต้น

5. ควรตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีในกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่สงสัยว่าจะเป็นเอดส์ มีข้อควรระวังในการใช้ยาไรแฟมพิซินของผู้ป่วยวัณโรคปดที่เป็นเอดส์และกินยาต้านไวรัสเอดส์อยู่คือ จะต้องใช้สูตรยา 9 เดือน ยา 4 ชนิดที่ต้องได้รับใน 2 เดือนแรก คือ ไอเอ็นเอช อีแทมบูทอล สเตรปโตไมซิน และไพราซินาไมด์  ให้ยา 3 ชนิด อีก 7 เดือนต่อมาคือ ไอเอ็นเอช สเตรปโตไมซิน และไพราซินาไมด์ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง

ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยวัณโรคปอดควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
-ไปพบแพทย์ตามนัด และกินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง
-พักผ่อนให้เพียงพอ
-กินอาหารพวกโปรตีน เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่างๆ หรือกินให้ครบ 5 หมู่
-พักอาศัยในที่สะอาดอากาศถ่ายเทได้สะดวก
-ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม
-บ้วนเสมหะในที่มีฝาปิดมิดชิดและนำไปเผาหรือฝังดิน
-ควรแยกผู้ป่วย ไม่ควรอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น และใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น จนกว่าจะได้รับยารักษาวัณโรคไปแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และไม่ไอแล้ว ควรใช้หน้ากากอนามัยหากจำเป็นต้องเข้าไปในที่ชุมนุมชน

สำหรับแม่ที่เป็นวัณโรคไม่ควรกอดจูบลูก ควรแยกตัวห่างจากลูก ไม่ให้ลูกดูดนมแม่จนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อแล้ว
-หากผู้ป่วยต้องอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้ป่วยเอดส์ ต้องแยกตัวออกห่างจนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อแล้ว

2. วัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยกินยาให้ครบตามที่แพทย์กำหนด เพราะถ้าหากกินยาไม่สม่ำเสมออาจทำให้เชื้อดื้อยาการรักษาก็ยากขึ้น สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้

สมาชิกในครอบครัวและผู้ใกล้ชิดควรมีส่วนร่วมในการกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้กินยาให้ครบตามกำหนด หรือมีการจดบันทึกเพื่อกันลืมก็ได้

3. ควรไปพบแพทย์ก่อนนัดหากพบว่าเกิดผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษา เช่น มีผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ดีซ่าน ตามัว หูอื้อ มีไข้ขึ้น เป็นต้น เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

ในรายที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำและมีประวัติเป็นโรคตับอ่อนหรืออายุมากกว่า 35 ปี ควรตรวจเลือดหาระดับเอนไซม์ตับ(AST, ALT) เพื่อประเมินว่ามีตับอักเสบหรือไม่ ก่อนการให้ยาจำพวก ไอเอ็นเอช ไรแฟมพิซิน ไพราซินาไมด์ เพราะยาเหล่านี้อาจทำให้ตับอักเสบได้ในคนกลุ่มนี้

4. กรณีเกิดการดื้อยา เช่น ตรวจเสมหะครั้งแรกไม่พบเชื้อแต่เมื่อกินยาไปครบ 2 เดือนแล้วกลับพบเชื้อ หรือตรวจเสมหะเดือนที่ 5 ขึ้นไปยังพบเชื้อ หรือกินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องทำการเพาะเชื้อเพื่อทดสอบว่าเชื้อไวต่อยาชนิดใด จะได้ปรับเปลี่ยนการใช้ยาให้เหมาะสม ซึ่งบางรายอาจต้องกินยาติดต่อกันนานถึง 18 เดือน

เพื่อให้การใช้ยาได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีอาการดื้อยา แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดปอดเพื่อลดปริมาณเชื้อลงก็เป็นได้

5. ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการกำเริบซ้ำได้แม้จะได้รับยาครบตามกำหนดและตรวจเสมหะไม่พบเชื้อแล้ว ควรไปพบแพทย์คนเดิมเพื่อปรับเปลี่ยนสูตรยาที่ใช้รักษา

6. ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยควรไปตรวจเชื้อวัณโรคปอดเพราะหากพบว่าเป็นจะได้ทำการรักษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ถึงแม้ว่ายังไม่โรคแต่ติดเชื้อนี้แล้วก็จำเป็นต้องกินยาไอเอ็นเอช เพื่อป้องกันโรคนาน 9 เดือน

7. หากสงสัยว่าเป็นวัณโรคปอด ควรไปรับการตรวจเช็คร่างกายจะได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อป้องกันการลุกลามของเชื้อ และไม่ใช้แพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น หากอาการไข้เรื้อรัง เบื่ออาหารและน้ำหนักลด ไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียวนานเกิน 3 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด ตรวจแล้วไม่พบเชื้อหรือได้รับยารักษาวัณโรคแล้วไม่ดีขึ้น อาจเกิดจากสาเหตุของโรคเมลิออยโดซิส ก็อาจเป็นไปได้

การป้องกัน
1. วัคซีนบีซีจี(BCG) นิยมฉีดในทารกแรกเกิด เพื่อป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรค วัณโรคชนิดแพร่กระจาย ซึ่งพบบ่อยในเด็กเล็ก แต่อาจป้องกันวัณโรคปอดไม่ได้เต็มที่ ยังมีโอกาสเสี่ยงเป็นวัณโรคปอดอยู่แม้ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนบีซีจีมาแล้ว

2. ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช้ยาเสพติด หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์

3. ไม่ควรอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยหากผู้ป่วยกินยารักษาวัณโรคยังไม่ครบ 2 สัปดาห์หรือยังไม่มีอาการไออยู่ ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อหากจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

4. ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคนี้ควรไปตรวจร่างกายเพื่อทดสอบการติดเชื้อวัณโรค เช่นการทดสอบทูเบอร์คูลิน ในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีควรทำการทดสอบทุก 6 เดือน แพทย์จะให้กินยาไอเอ็นเอช ขนาด 300 มก./วัน ในเด็ก 10 มก./กก./วัน นาน  9-12 เดือน เพื่อป้องกันโรค

ผู้ที่ควรกินยาไอเอ็นเอชป้องกัน คือ
-ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยระยะติดต่อ ผู้ที่พบรอยโรคจากภาพถ่ายรังสีซึ่งผลการทดสอบทูเบอร์คูลินขนาดเท่ากับหรือมากกว่า 5 มม. ควรกินยาป้องกันอย่างน้อย 12 เดือน

-ผู้ที่มีผลการทดสอบทูเบอร์คูลินขนาดเท่ากับหรือมากกว่า 10 มม.ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ผู้ติดยาเสพติดหรือแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเช่น นักโทษ ผู้สูงอายุในสถานที่พักฟื้น บุคลากรที่ใกล้ชิดผู้ป่วย เป็นต้น

-ผู้ที่มีผลการทดสอบทูเบอร์คูลินขนาดเท่ากับหรือมากกว่า 15 มม.แม้จะไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า