สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การรักษาโรคด้วยการล้างลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ใหญ่บำบัด หรือโคลอนเธราพี(Colon Therapy)

เป็นการทำความสะอาดและล้างพิษลำไส้ใหญ่ด้วยการกำจัดของเสียที่หมักหมมอยู่ในบริเวณดังกล่าว โดยใช้น้ำหรือรับประทานสมุนไพรหรือสารชนิดต่างๆ

ตั้งแต่สมัยทศวรรษที่ 1890 มาแล้วที่มีการล้างลำไส้ใหญ่กัน อุปกรณ์สำหรับชำระล้างลำไส้ใหญ่ที่มีอยู่ตามสถานีอนามัยสำหรับรักษาโรคอหิวาต์ ของ ดร.เอลเมอร์ ลี(Elmer Lee) มีบรรยายอยู่ในหนังสือเรื่อง The Principles and Practice of Hydrotherapy: A Guide to the Application of Water in Disease(หลักการและแนวปฏิบัติในการใช้วารีบำบัด: คำแนะนำในการใช้น้ำรักษาโรค) ของนายแพทย์ไซมอน บารัค(Simon Baruch) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาในปี ค.ศ.1898

มีแพทย์ใช้วิธีการล้างลำไส้ใหญ่นี้ ในสมัยทศวรรษที่ 1920 และ 1930 เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และอาการหดหู่

หลังจากที่ได้มีการค้นพบสารปฏิชีวนะกันแล้ว และมีการเน้นที่การรักษาอาการผิดสำแดงต่างๆ ที่ปรากฏออกมา โดยอาศัยยาเป็นหลักในช่วงทศวรรษที่ 1940 ก็ได้เลิกใช้การชะล้างลำไส้ไป แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีการใช้วิธีการชะล้างลำไส้ในการรักษาโรคกันอยู่ในแพทย์ประเภทที่รักษาโรคตามแนวธรรมชาติกับแพทย์จับกระดูก หมอกระดูก รวมทั้งแพทย์ทั่วไปและคลินิกสุขภาพธรรมชาติ

การใช้น้ำล้างลำไส้ใหญ่ สามารถใช้เป็นการรักษาชนิดวิธีเดียวโดดๆ หรือใช้ร่วมกับสมุนไพร หรือสารทำความสะอาดลำไส้ใหญ่อย่างอื่นๆ ก็ได้

ในสมัยใหม่การล้างลำไส้ใหญ่ เริ่มต้นด้วยการฉีดน้ำสวนทวารเข้าไป ในไส้ตรง หรือเร็คทัม(rectum) โดยใช้เพียงแรงดันจากแรงดึงดูดของโลก

มีหลักฐานบรรยายถึงเรื่องราวเกี่ยวกับคนอียิปต์โบราณ ราว 1500 ปีก่อนคริสตกาลมาแล้วว่า มีการใช้อ้อเป็นท่อสำหรับส่งน้ำเข้าไปในร่างกายโดยผ่านทางไส้ตรง ซึ่งอยู่ในผลงานที่มีชื่อว่า เอเบอส์ ปาปิรุส (Ebers Papyrus)

แพทย์ชาวกรีกสมัยโบราณ 2 คน ก็ได้เคยบรรยายถึงการใช้น้ำฉีดสวนทวารเอาไว้ และฮิปโปเครตีส ก็เคยเอ่ยถึงการใช้น้ำฉีดสวนทวารในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาลว่า เป็นการช่วยลดไข้ สมัยศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล กาเลน(Galen) แพทย์และนักเขียนก็เคยกล่าวถึงการใช้น้ำฉีดส่วนทวารเช่นกัน

พลเมืองชั้นสูงของโรมในสมัยที่จักรวรรดิโรมันเจริญรุ่งเรือง ซึ่งคลั่งไคล้กับการอาบแช่น้ำพบว่า การใช้น้ำสวนทวารเป็นการอาบน้ำภายในประเภทหนึ่ง และมีการอ้างถึงการใช้อ้อและน้ำเต้าเพื่อใช้น้ำสวนทวารเอาไว้เหมือนกันในพระคัมภีร์ใหม่ของคริสต์ศาสนา เพื่อเป็นการชำระล้างทำความสะอาดร่างกาย ซึ่งเชื่อว่าเป็นอาณาจักรหรือโบสถ์ที่สิงสถิตของจิตวิญญาณ

ลำไส้ใหญ่จะเริ่มมาตั้งแต่ปลายของลำไส้เล็ก ประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ ซีคั่ม(Cecum กระเปาะตันตรงที่เป็นจุดเริ่มต้นของลำไส้ใหญ่) ตัวลำไส้ใหญ่ และเร็คทัมหรือไส้ตรง

หน้าที่สำคัญของลำไส้ใหญ่ คือ ดูดซึมน้ำจากตะกอนของเหลวของอาหารที่ย่อยแล้วที่ระบายออกมาสู่ลำไส้ใหญ่ แม้มันจะมีวัตถุประสงค์อยู่หลายอย่างก็ตาม

ลำไส้ใหญ่ส่วนที่ยื่นต่อจากซีคั่มมาจนถึงเร็คทัม มีความยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ 5 ฟุต ประกอบด้วยส่วนที่ต่อเนื่องกันสามส่วน คือ สำไส้ส่วนที่ทอดขึ้นหรือแอสเซนดิ้ง โคลอน(ascending colon) ทอดขึ้นไปทางด้านขวาของช่องท้อง ลำไส้ใหญ่ส่วนที่ทอดเป็นแนวนอน หรือทรานเวิร์ส โคลอน(transverse colon) ทอดตามขวางไปจากทางด้านซ้ายของช่องท้อง แล้วก็หักเลี้ยวลงสู่บริเวณศูนย์กลางของร่างกาย เมื่อลำไส้ใหญ่ดูดน้ำไป สารที่ตกค้างอยู่ก็ก่อตัวขึ้นเป็นอุจจาระแข็ง และเคลื่อนไปสู่เร็คทัม โดยการหดตัวของกล้ามเนื้อในแบบที่เรียกว่า การบีบรูด หรือเพอร์ริสทาลซิส(peristalsis) จากนั้นก็จะถูกขับออกไปจากร่างกายผ่านทางช่องทวารหนัก

สัตว์ที่กินเนื้อแท้ๆ เช่น สิงโต จะมีลำไส้ใหญ่ที่สั้นมากเมื่อเทียบกับลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ เพื่อทำให้เนื้อที่สัตว์ชนิดนี้กินเข้าไปถูกกำจัดออกจากร่างกายก่อนที่จะบูดเน่า ซึ่งอาจใช้เวลา 27 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น แต่กระบวนการนี้อาจกินเวลาถึง 48 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นในมนุษย์ เนื่องจากอาหารในสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่รับประทานกันทั่วไปนั้นเป็นอาหารชนิดที่มีปริมาณเส้นใยน้อย และมีอาหารชนิดที่ก่อให้เกิดมูกอยู่มาก เช่น เนื้อและไขมัน กากอาหารก็ข้นหนืด เมื่อความชื้นถูกดูดซึมเข้าไปและอัตราการเดินทางผ่านลำไส้ใหญ่ของมันก็ช้าลง เมื่อความชื้นถูกกำจัดออกไปมาขึ้น สิ่งที่ข้นเหนียวนี้ก็จะกลายสภาพไปเหมือนกับ “กาว”

จากทฤษฎีการรักษาลำไส้ใหญ่ได้ยืนยันว่า ขณะที่เดินทางไปนั้น สารที่เหมือนกับกาวนี้ก็ก่อตัวขึ้นเป็นชั้นตลอดผนังลำไส้ใหญ่ การบีบรูดสามารถทำให้ผนังลำไส้ใหญ่พับซ้อนกันเองได้ ทำให้เกิดเป็นซอกเป็นกระเป๋า ที่เรียกว่า ไดเวอร์ติคูล่า(diverticula) ซึ่งกักสารที่เหมือนกับกาวเอาไว้ เมื่อเวลาผ่านไป อุจจาระที่เหมือนกับกาวและที่เน่าแล้วนี้จะซ้อนตัวพอกขึ้นเป็นชั้นๆในลำไส้ใหญ่ และก็มักจะทำให้มันเหนียวเหมือนกับกาวและแข็ง “กาวบุ” ลำไส้ใหญ่อันประกอบด้วยสารที่กำลังผุพังเน่าเสียนี้เป็นสาเหตุของสภาพที่เรียกว่า การเกิดพิษขึ้นเองหรือออโตอินท็อกซิเคชั่น(autointoxication)

การเกิดพิษ เป็นกระบวนการที่สารพิษที่ผุพังก่อให้เกิดขึ้นมาถูกระบายลงในกระแสโลหิต แล้วเดินทางต่อไปยังทุกส่วนของร่างกาย ทำให้ร่างกายเป็นพิษไปทั้งหมด ผู้ที่รักษาโรคด้วยการล้างลำไส้เชื่อว่า สภาพเกิดพิษนี้ส่งเสริมให้เกิดโรคต่างๆ หลายอย่าง รวมทั้งโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

เส้นใยในอาหารประจำวันที่มีความสำคัญมากนักเหตุผลก็เพราะว่ามันครูดสารที่เหมือนกับกาวนี้ แล้วกวาดมันผ่านลำไส้ใหญ่ไป หากอาหารที่รับประทานไม่มีเส้นใย หรือไม่มีการล้างลำไส้ใหญ่ ชั้นเหนียวเหมือนกับยางที่ผนังลำไส้ใหญ่ก็จะยิ่งพอกพูนขึ้น ได้มีการแสดงให้เห็นว่าลำไส้ใหญ่ขนาดปกติของผู้ใหญ่ สามารถตีบจนมีช่องทางให้ผ่านได้เพียงขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าดินสอด้วยการผ่าศพชันสูตร และในการผ่าศพชันสูตรบางครั้งก็พบว่าลำไส้ใหญ่มีสารที่เน่าเสียหมักหมมอยู่เต็มแน่น โดยมีน้ำหนักเกือบถึง 40 ปอนด์

ลำไส้ใหญ่บำบัดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษาโรคตามแนวธรรมชาติหลายแบบ เนื่องจากการสร้างความเป็นพิษให้กับร่างกาย การล้างลำไส้ใหญ่แม้จะมิใช่การรักษาโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะ แต่นักลำไส้บำบัดก็เชื่อว่า มันจะช่วยให้ร่างกายเอาชนะความยุ่งยากได้เร็วขึ้น ด้วยการกำจัดแหล่งพิษไปเสีย เท่ากับปล่อยให้ความสามารถในการรักษาตัวเองตามธรรมชาติได้ทำงานอย่างเหมาะสม

ลำไส้ใหญ่บำบัดหรือการทำความสะอาดลำไส้ใหญ่ มีอยู่ 2 แนว แต่ละแนวใช้คลองลำไส้คนละปลายกัน แนวแรกเป็นการฉีดน้ำเข้าไปในเร็คทัมและลำไส้ใหญ่ด้วยการฉีดน้ำหรือสวนทวารเข้าไป ส่วนแนวที่ 2 จะใช้สมุนไพรและสารอินทรีย์กับสารอนินทรีย์อื่นๆ รับประทานเข้าไปเพื่อเป็นการทำความสะอาดลำไส้ใหญ่

การล้างลำไส้ใหญ่ด้วยน้ำ เป็นกระบวนการบำบัดรักษาโรคที่ใช้เพื่อทำให้ของเสียที่หมักหมมอยู่หลุดร่วงออกจากผนังลำไส้ใหญ่ แล้วกำจัดมันออกไปจากร่างกายเป็นการล้างพิษ น้ำที่กรองผ่านแรงดันน้อยๆ จะไหลเข้าไปในเร็คทัมจนเต็มลำไส้ใหญ่ นักลำไส้ใหญ่บำบัดจะนวดลำไส้ใหญ่ตรงท้องเพื่อช่วยให้สารที่เหมือนกับกาวที่สั่งสมอยู่หลุดออกมาจากผนังลำไส้ใหญ่ ผู้บำบัดยังอาจนวดตรงจุดสะท้อนที่เท้าได้ด้วยแล้วจึงปล่อยให้น้ำไหลออกมา ของเสียก็จะถูกน้ำชะออกมาด้วย กระบวนการนี้ในคราวหนึ่งๆ จะทำซ้ำหลายครั้ง ปกติในแต่ละครั้งจะกินเวลาประมาณ 45-60 นาที

แม้ว่าปกติแล้วจะใช้น้ำธรรมดา แต่เพื่อปรับความสมดุลของความเป็นกรด/ด่างในลำไส้ใหญ่ก็สามารถเติมสมุนไพร หรือสารอื่นๆ เข้าไปได้ด้วย เพื่อรักษาและส่งเสริมการเติบโตของแบคทีเรียชนิดมีประโยชน์ในลำไส้ นอกจากนี้เพื่อการรักษาโรค ยังอาจใช้การสวนทวารซึ่งเติมสมุนไพร ต้นข้าวสาลี โคลน และเบนโทไนท์(bentonite) ได้ด้วย ผู้สนับสนุนวิธีการรักษาโรคแบบเกอร์สัน(Gerson Therapy) ก็เชื่อว่าการใช้น้ำกาแฟสวนทวารจะช่วยกระตุ้นระบบเอ็นไซม์ของผนังลำไส้และตับ ให้ส่งเสริมการขับน้ำดีที่เป็นพิษออกไป

แม้ว่าการล้างลำไส้จะมีอุปกรณ์ที่สามารถหาซื้อมาเพื่อใช้เองที่บ้านได้ แต่การทำกับนักวิชาชีพที่ให้บริการในด้านนี้จะมีการใช้อุปกรณ์พิเศษ และผู้ใช้จะได้รับการฝึกการใช้อุปกรณ์มาแล้ว และคอยควบคุมดูแลเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อโรคเอดส์และเชื้อโรคอื่นๆ เครื่องมือสมัยใหม่สำหรับวิธีการนี้จึงมีการฆ่าเชื้อที่ส่วนต่างๆ ของเครื่องมือ และยังมีส่วนของท่อและหัวเสียบของท่อชนิดที่ใช้แล้วทิ้งไปด้วย

วิธีการชำระล้างลำไส้ใหญ่ที่สมบูรณ์ คือ การรับประทานสมุนไพรบางชนิดควบกับสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์อื่นๆ เนื่องจากการล้างลำไส้ใหญ่สามารถล้างได้เพียงครั้งเดียวของความยาว 5 ฟุตของลำไส้ใหญ่

ยาที่บริโภคเข้าไปแล้วทำให้มูกที่สั่งสมหมักหมมอยู่ในลำไส้ใหญ่หลุดร่วงหรือละลายออกไปอย่างมีประสิทธิภาพมาก เช่น เบนโทไนท์(bentonite) และพูไมซ์(pumice) ซึ่งเป็นเถ้าจากภูเขาไฟชนิดพิเศษ การใช้โคลนชนิดต่างๆ และเมล็ดซิลเลียม(psyllium) เป็นต้น

การบำบัดลำไส้ใหญ่ไม่ว่าชนิดใด จะได้ผลดีและมีประสิทธภาพมากที่สุดขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนนิสัยในการรับประทาน ซึ่งควรรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยผลไม้และผักดิบให้มากขึ้น และลดอาหารที่ก่อให้เกิดมูก เช่น เนื้อ และผลิตภัณฑ์นม มีหนังสือดีที่เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ 2 เล่ม คือ The Colon Health Handbook: New Health Through Colon Rejuvenation ของโรเบิร์ตเกรย์(Robert Gray) กับเรื่อง Healing Within: The Complete Colon Health Guide ของสแตนลีย์ ไวน์ เบอร์เกอร์(Stanley Weinberger)

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้สามารถติดต่อขอได้ที่ สมาคมนักลำไส้ใหญ่บำบัดแห่งชาติของอเมริกา หรือที่ สมาคมนักสุขอนามัยลำไส้ใหญ่ของแคลิฟอร์เนีย ตามที่อยู่ดังนี้
National Colon therapists’ Association
2103 Dorsey RoadAvenue
Glen Burnie, MD 21061-3251
USA.

California Colon Hygeginsts’ Society
209 Morning Sun Avenue
Mill Balley, CA 94941
USA. (415) 383-7224

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า