สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ลำดับขั้นของการพัฒนาการและทิศทางของการเติบโต

ลำดับขั้นของการพัฒนาการ
ลำดับขั้นของพัฒนาการ หมายความว่า การพัฒนาการทุกๆ ด้านของมนุษย์ เช่น กาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา เปลี่ยนแปลงไปเป็นขั้นตอนตามลำดับ ซึ่งธรรมชาติเป็นตัวกำหนด โดยไม่มีการข้ามขั้น มีกฎอีกหลายกฎเกี่ยวกับการพัฒนาการตามลำดับขั้นเช่น พัฒนาการส่วนหยาบก่อนส่วนละเอียด ส่วนรวมก่อนส่วนย่อย ส่วนใหญ่ก่อนส่วนเล็ก ส่วนกายก่อนส่วนอารมณ์ สังคม สติปัญญา

การกำหนดว่าเมื่อใดจะมีพัฒนาการลักษณะอะไรนั้น มักกำหนดกันด้วยอายุตามปีปฏิทิน (Chrono¬logical age) ซึ่งก็มักถือเอาเกณฑ์คนหมู่มาก (Norm) เป็นปทัสฐาน โดยข้อเท็จจริงนั้นมนุษย์แต่ละคน มีกระสวนพัฒนาการเป็นรูปแบบเฉพาะตัว ดังนั้นพัฒนาการต่างๆ จึงมีความแตกต่างระหว่างบุคคล และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต่างคนก็ต่างแบบ อย่างไรก็ตาม ถ้าพัฒนาการลักษณะใดของบุคคลผู้ใดเป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ไม่แตกต่างจาก Norm ของคนร่วมสังคมในวัฒนธรรมเดียวกันมากนัก ก็ต้องถือว่าบุคคลผู้นั้นมีพัฒนาการปกติ แต่ถ้าต่างจาก Norm มากในลักษณะล้ำเกินวัยในด้านสติปัญญา สังคม ชีววิทยา ก็กล่าวได้ว่าบุคคลผู้นั้นเป็นผู้มีพัฒนาการเร็ว (Early Maturer) มักจะถูกจัดเข้าอยู่ในกลุ่มบุคคลพัฒนาเร็วกว่ากลุ่ม ในทางกลับกัน ผู้มีพัฒนาการต่างจาก Norm มากในลักษณะด้อยกว่าวัย ก็เรียกว่าเป็นผู้มีพัฒนาการช้ากว่าวัย (Late maturer)

ลำดับขั้นตอนพัฒนาการยังเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เรียกในภาษาจิตวิทยาว่า “Mental Age” ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความสามารถและลักษณะพฤติกรรมทางอารมณ์ สังคม จิตใจ สติปัญญาที่ตํ่ากว่าหรือสูงกว่าวัย ตามปีปฏิทิน โดยถ้าหากทำแบบทดสอบเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว มีคะแนนสูงกว่าเกณฑ์ปกติมาก ก็เป็นบุคคลพิเศษประเภทปัญญาเลิศ (Gifted) แต่ถ้าคะแนนตํ่ากว่าเกณฑ์ปกติมาก ก็เป็นบุคคลปัญญาอ่อน (Mental retarded)

ทิศทางของการเติบโต
การเติบโตของร่างกาย และสมรรถภาพการใช้อวัยวะต่างๆ มีทิศทาง 2 แนว ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในวัยก่อนคลอดและวัยทารก ได้แก่

1. แนวศีรษะไปหาเท้า
คือเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ ร่างกายคนเราเติบโตที่ศีรษะก่อน แล้วจึงงอกไปสู่ปลายเท้า เมื่อครบ 1 เดือน ตัวยาวราว 1/5 ของนิ้วฟุต รูปเป็นปุ่มที่มีหางเรียว คล้ายเครื่องหมายจุลภาค , ส่วนที่เป็นปุ่มคือศีรษะ จะเห็นว่าตัวอ่อนในครรภ์อายุ 2 เดือน มีส่วนศีรษะโตเท่ากับครึ่งหนึ่งของ ร่างกายทั้งตัวทีเดียว ต่อจากนั้นส่วนที่ไม่ใช่ศีรษะจะงอกยืดยาวออกเร็วมากกว่าความเติบโตของส่วนศีรษะ จนกระทั่งคลอดจากครรภ์ส่วนศีรษะมีขนาดสัดส่วนเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ของร่างกาย เมื่อเติบโตต่อมา แม้ส่วนศีรษะโตขึ้นแต่ส่วนลำตัวและเท้ายืดออกไปในอัตราส่วนที่มากเหนือกว่า พอโตเป็นผู้ใหญ่ศีรษะก็มีสัดส่วนเพียงเศษหนึ่งส่วนเจ็ดของร่างกาย สมองของทารกก็เจริญเร็วก่อนกายส่วนอื่น เพียงอายุ 1 ปี สมองก็มีน้ำหนัก เป็นร้อยละ 70 ของสมองผู้ใหญ่ ความสามารถการใช้อวัยวะก็ดำเนินตามนี้เช่นกัน อวัยวะที่ส่วนศีรษะ คือ ตา หู จมูก ปาก ทำงานตามหน้าที่ได้เร็วกว่าอวัยวะส่วนอื่น ทารกรู้จักดูอย่างสังเกตก่อนสามารถหยิบจับ รู้จักชันคอก่อนรู้จักควบคุมลำตัว รู้จักใช้มือชำนาญมาก่อนรู้จักใช้เท้า

2. แนวใกล้ไปหาไกล
หมายความว่าการเติบโตมีแนวจากกลางตัวขยายไปทางแขน มือ และนิ้วมือ ทารกรู้จักใช้ต้นแขนก่อน เพราะอยู่ใกล้ศูนย์กลาง คือลำตัว ต่อจากนั้นจึงรู้จักใช้แขน มือ และนิ้วมือ ในภายหลัง

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า