สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ขั้นของพัฒนาการ อายุ และลักษณะเด่นเฉพาะวัย

ขั้นของพัฒนาการในที่นี้หมายถึง ขั้นของพัฒนาการที่แบ่งตามปีปฏิทิน (อายุ) โดยตัดแบ่งช่วงชีวิต (Lifespan) ของคนเป็นตอนๆ นับตั้งแต่วัยก่อนคลอดจนถึงวัยสูงอายุ โดยอธิบายลักษณะรวมๆ ว่า แต่ละช่วงวัย จะมีลักษณะพัฒนาการเด่นๆ อะไรบ้าง ทั้งนี้เพราะแต่ละช่วงของชีวิตมีพัฒนาการเด่นที่แตกต่างกันไป

นักจิตวิทยาพัฒนาการแบ่งช่วงตอนของชีวิตเป็นวัยๆ กว้างๆ ดังนี้ วัยก่อนคลอด วัยทารกแรกเกิด วัยทารกตอนปลาย วัยแรกรุ่น วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ตอนต้น วัยกลางคน และวัยสูงอายุ โปรดระลึกด้วยว่าการแบ่งนี้เป็นไปตามหลักการของการเขียนตำรา เพื่อประโยชน์ในการอธิบาย ตามข้อเท็จจริงแล้วลักษณะประจำของวัยต่างๆ ดังกล่าว เหลื่อมล้ำไม่แยกจากกันได้เด็ดขาดเลย

ต่อไปนี่จะได้กล่าวถึงลักษณะเด่นเฉพาะวัยอย่างสังเขปมาก

วัยก่อนคลอด (Prenatal) นับตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอด เป็นระยะเวลานานประมาณ 9 เดือน ลักษณะเด่นเฉพาะของวัยนี้คือความเจริญเติบโตทางร่างกายและระบบประสาท ในระยะเริ่มต้นพัฒนาไปเร็วมาก และรับการสืบทอดกรรมพันธุ์จากบรรพบุรุษซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้

วัยทารกแรกเกิด (Infancy)  นับตั้งแต่เกิดจนอายุถึงสัปดาห์ที่ 2 ลักษณะเด่นเฉพาะวัยนี้ คือการปรับตัว และเรียนรู้ที่จะมีชีวิตภายใต้สิ่งแวดล้อมใหม่ คือ สภาพนอกครรภ์มารดา รวมทั้งเริ่มฝึกประสาทสัมผัสทุกส่วน

วัยทารกตอนปลาย (Babyhood) อายุตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 จนถึงปีที่ 2 เกือบเข้าปีที่ 3 วัยนี้มีลักษณะเด่นที่สุดคือพัฒนาการทางร่างกาย เรียนรู้และฝึกฝนการใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานตามหน้าที่ของ อวัยวะนั้นๆ จนคล่องแคล่ว ให้พัฒนาการประสาทสัมผัสทุกส่วนใช้การได้สมบูรณ์ พัฒนาการทางความคิด เริ่มต้นเกิดความเข้าใจว่าตนเองเป็นบุคคลคนหนึ่ง รู้จักติดแม่และมีความผูกพันทางสังคม (Social attachment) แล้วขยายออกไปเป็นการรู้จักคบคนนอกขอบเขตผู้บริบาลใกล้ชิด และสำคัญที่สุดคือ เริ่มพัฒนาภาษาพูด

วัยเด็กตอนต้น อายุต่อจากวัยทารกตอนปลายไปจนอายุประมาณ 6 ขวบ พฤติกรรมที่เด่นในช่วงวัยนี้คือ ใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารได้ตามความประสงค์ทุกอย่าง พัฒนาความคิดเข้าขั้น “เริ่มรู้คิด ด้วยความคิด” (Pre-operational Stage) รู้จักคบเพื่อนร่วมวัย ตระหนักถึงเพศของตน อยากเป็นอิสระ ชอบปฏิเสธและอาจหัวดื้อ

วัยเด็กตอนกลาง  หมายความถึงเด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบถึง 12 ขวบ ลักษณะที่เด่นของเด็กวัยนี้คือ เป็นวัยเริ่มเรียนหนังสืออย่างเป็นแบบแผน    ฉะนั้นพัฒนาการทางสังคมกับคนวัยเดียวกันจึงก้าวหน้ามาก
เกิดความพอใจในการเล่นทางพละศึกษาสูงขึ้น เริ่มรู้จักคิดเป็นเหตุผล คิดเชิงรูปธรรม และเริ่มคิดทางคณิตศาสตร์

วัยรุ่น คือช่วงอายุตั้งแต่ 12 ปีถึง 20, 25 ปี ระยะอายุประมาณ 12-15 ปี พัฒนาการทางกายมีความสมบูรณ์พร้อม ต่อมไร้ท่อที่ผลิตฮอร์โมนอันมีอิทธิพลต่อความเติบโตทางกาย และทางเพศพัฒนามาก ทำหน้าที่ได้ดี ทำให้ลักษณะทุติยภูมิทางเพศปรากฏชัด ตอนกลางวัยนี้ ระบบสืบพันธุ์เติบโตถึงขั้นทำหน้าที่ได้ เหตุเหล่านี้ทำให้เด็กวัยนี้มีพฤติกรรมทางสังคมคือพอใจคบหาสนิทกับเด็กร่วมวัย และสนใจเพื่อนต่างเพศ รู้จักคิดทุกแบบหย่อนกว่าผู้ใหญ่เพียงด้านประสบการณ์ อารมณ์ทุกอย่างรุนแรง เปลี่ยนแปลงง่ายและรวดเร็ว เด็กยังเข้าใจตัวเองไม่ค่อยถูกต้องและมักมีความสับสนใจง่ายๆ  ช่วงวัยรุ่นตอนปลาย (ประมาณ 17-20, 25 ปี) พัฒนาการทุกด้านที่มีมาแต่วัยรุ่นตอนต้นและตอนกลางบรรลุถึงความสมบูรณ์พร้อม กำลังกายแข็งแรงที่สุด ในช่วงวัยนี้ ในด้านสังคม นิยมคบกับกลุ่มเพื่อนร่วมวัย ประกอบด้วยเพื่อนทั้งสองเพศ ไม่ค่อยชอบสนิทสนมกับคนสูงวัยกว่า อารมณ์เหมือนกับวัยรุ่นตอนต้นๆ แต่บางคนก็เข้มข้นกว่า เริ่มเลือกอาชีพ มีความต้องการและความสนใจประจำวัยกว้างกว่ารุ่นเด็กๆ ทำให้มีการค้นหาตัวเอง บูชาวีรบุรุษ บางรายก็มีความขัดแย้งกับผู้ปกครอง ในตอนปลายของวัยเริ่มจะละทิ้งลักษณะนิสัยความรู้สึกนึกคิดแบบเด็กไปสู่แบบผู้ใหญ่

วัยผู้ใหญ่ตอนต้น เริ่มแต่อายุราว 20, 25 ปี ไปจนถึง 40 ปี พฤติกรรมประจำวัยที่เด่น ได้แก่ การเริ่มประกอบอาชีพ ส่วนมากเข้าสู่ชีวิตสมรส และมีบุตร มีการปรับตัวให้เหมาะกับชีวิตมีครอบครัว อารมณ์ลดความรุนแรง คิดได้ทุกรูปแบบ และรอบคอบขึ้น

วัยกลางคน คือวัยระหว่าง 40 ปีไปจนถึง 60-65 ปี (ตำราแต่ก่อนมักกำหนดเพียง 60 ปี) ร่างกายและสมรรถภาพทางเพศเริ่มเสื่อม หญิงมักประสบกับความยุ่งยากทางกายและใจในระยะต้นๆ ของการหมดประจำเดือน ผู้ประกอบอาชีพมักประสบความรุ่งเรืองเต็มที่ของอาชีพ วิกฤติการณ์วัยกลางคนอาจมีได้ในการงาน ในครอบครัว ความสัมพันธ์กับบุตรธิดาและคู่ครองต้องมีการปรับใหม่ วุฒิภาวะทางจิตใจเจริญเต็ม เปี่ยม ตอนปลายของวัยเป็นระยะเกษียณอายุ

วัยสูงอายุ คือตั้งแต่อายุ 60-65 ปี ไปจนตลอดชีพ สมรรถภาพทางกายยิ่งเสื่อมถอยลงไปอีก ถ้าเป็นคนขี้โรคก็จะเกิดความทุกข์ร้อนมาก ทางอารมณ์นั้นอาจกระทบกระเทือนจากเกษียณอายุ และจากการพลัดพรากจากกันของคู่สมรส เพื่อนสนิทลดน้อยลงเรื่อยๆ ต้องปรับตัวต่อบทบาทในเหย้าเรือน ความสนใจ อาจมุ่งไปสู่ศาสนาและปรัชญา ถ้ามีพัฒนาการสมวัยมาตามลำดับ และสามารถยอมรับสภาพการณ์และฐานะของตนอย่างมีเหตุผล ก็จะเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุขได้จนตลอดชีพ

อัตราเร็วช้าของการพัฒนา (Rate of Development)
การพัฒนาไม่ว่าในแง่ใดนอกจากสัมพันธ์กับอายุแล้ว ยังสัมพันธ์กับอัตราเร็วหรือช้าของการพัฒนาอีกด้วย อัตราเร็วหรือช้าของการพัฒนาในแต่ละเรื่องๆ ทางกายก็ดี ทางอารมณ์ก็ดี ทางสังคมก็ดี ทางความคิดก็ดี ตำราบอกกำหนดไว้กลางๆ ในชีวิตจริงๆ ของคนทั้งทางกาย ทางใจ มีตัวแปรเป็นส่วนประกอบ เหลือประมาณ เป็นสาเหตุให้อัตราเร็วหรือช้าของพัฒนาการลักษณะต่างๆ มีหลายหลาก บางคนพัฒนาเร็วกว่าวัย บางคนกลับพัฒนาช้ากว่าวัย ถ้าพิจารณาเฉพาะปัจเจกชนอาจมีพัฒนาการเร็วหรือช้ากว่าเกณฑ์ปานกลาง (Norm) ที่ตำราบอกไว้ก็ได้ ถ้าพัฒนาการจริงเร็วหรือช้ากว่าเกณฑ์ปานกลางไม่มากน้อยเหลือเกินแล้วก็ถือได้ว่าเป็นกรณีปกติ

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า