สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ลักษณะครรภ์วาระกำเนิด

ในพระคัมภีร์ประถมจินดา ผูก 1 ปริจเฉท 2 กล่าวว่า ถ้าบุคคลผู้ใดจะเรียนเป็นแพทย์ ก็ให้เรียนจากคัมภีร์ที่ชื่อว่า สรรพคุณก่อน ถ้าจะรักษากุมารให้เรียนคัมภีร์ที่ชื่อว่า อภัยสันตา ประถมจินดา มหาโชตรัต โดยให้เรียนทั้ง 3 คัมภีร์นี้ให้ชำนาญเสียก่อน แล้วค่อยเรียนคัมภีร์ต่อไป

เมื่อสัตว์จะมาปฏิสนธิในครรภ์มารดานั้น โบราณกล่าวว่า เมื่อตั้งขึ้นแล้วจะละลายไปวันละ 7 ครั้งทั้ง 7 วัน สัตว์ทั้งหลายที่มาปฏิสนธินั้นยังเป็นอนุโลมปฏิโลมอยู่ จะนับเอาเป็นเที่ยงยังไม่ได้ จะตั้งมูลปฏิสนธิขึ้นต่อเมื่อได้ 15 วันแล้ว หากอยากรู้ว่าตั้งปฏิสนธิขึ้นวันใดก็ให้ดูเมื่อครรภ์มารดาได้ 3 เดือน ให้ดูอาการของมารดา ก็หยั่งรู้ถอยหลังเข้าไปวันแรกที่ปฏิสนธิเป็นกำหนด แสดงให้เห็นว่า โบราณถือการฝังตัวของตัวอ่อนในรกเป็นมูลปฏิสนธิเมื่อครรภ์ได้ 2 สัปดาห์ และเมื่อตั้งครรภ์ได้ 3 เดือนก็ให้สังเกตอาการของมารดาว่ามีการแพ้ท้องแบบใด ที่สามารถบอกเพศ บอกซางเจ้าเรือนหรือจุดอ่อนของสุขภาพเด็กได้

มารดาที่ตั้งครรภ์ 3 เดือน กับอาการแพ้ท้องแบบต่างๆ และซางประจำวันปฏิสนธิ

อาการมารดากับธาตุเจ้าเรือน วันปฏิสนธิ/วันเกิด ซางเจ้าเรือน
อาการเป็นพรรดึก เอ็นชักมือและเท้า กายผอมเหลือง เดินไปไกลไม่ได้จะเจ็บหัวเหน่า ท้องน้อยและตะโพกมาก มักอยากกินของหวาน ฝ่าเท้าข้างซ้ายแดง ทายว่ากุมารนั้นจะเป็นหญิง ถ้าฝ่าเท้าขวาแดง ทายว่ากุมารนั้น จะเป็นชาย วันอาทิตย์ ซางเพลิง
ปวดศีรษะ เจ็บนม อยากของหวาน เมื่อยแขน ตาฟาง หูตึง เป็นลม มันตึง อาเจียนเป็นลมเปล่าๆ วันจันทร์ ซางน้ำ
เป็นลมจุกเสียด วิงเวียน หลังมือและเท้าบวมถึงหน้าตะโพก เมื่อยขบ นอนไม่หลับ เป็นยอดขึ้นที่เพดาน เท่าเม็ดข้าวโพด วันอังคาร ซางแดง
เป็นลมจุกเสียด วิงเวียน หลังมือและเท้าบวมถึงหน้าตะโพก เมื่อยขบ นอนไม่หลับ เป็นยอดขึ้นที่เพดาน เท่าเม็ดข้าวโพด วันพุธ ซางสะกอ
ปากและลิ้นเป็นเม็ดเป็นยอด เปื่อย กินของเผ็ดร้อนไม่ได้ เมื่อถึง 6 เดือน จะลามข้างลิ้น เพดาน ทำให้แตกระแหง เมื่อกลืนน้ำลายลงไปทำให้ตกมูกเลือดเป็นบิด วันพฤหัสบดี ซางโค
ให้พรึงขึ้นดังยอดผดให้คันเป็นกำลัง แล้วให้ทวารทั้ง 2 นั้นลำลาบเปื่อยเป็นน้ำเหลืองออกรอบทวารนั้น แล้วปวดหัวเหน่า และเจ็บหน้าตะโพกและสองตะคาก แล้วให้ขัดเบาได้ 6 เดือน ให้จุกเสียดได้ 8 เดือน 9 เดือน ให้บวมมือและเท้าไปจนกำหนดคลอด วันศุกร์ ซางช้าง
ให้ท้องผูกไปให้ถ่ายอุจจาระ 2 วัน 3 วัน จึงไปหนหนึ่ง และให้อยากของคาวให้สวิงสวาย ให้หัวพรึงขึ้นดังยอดผดแล้วให้แตกเป็นน้ำเหลืองได้ 6 เดือน ก็ให้เป็นบิดตกมูกตกเลือด ให้เจ็บเอว ให้อยากเปรี้ยว อยากหวาน และให้อยากสรรพฟองทั้งปวง ให้อยากผักพล่าปลายำไปจนกำหนดคลอด วันเสาร์ ซางขโมย

สตรีที่ตั้งครรภ์โบราณสังเกตอาการผิดปกติได้คือ เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร มีการคลื่นไส้อาเจียน จุกเสียด ท้องผูก ปากและลิ้นเปื่อย เป็นผดผื่นตามผิวหนัง รอบทวารหนักเปื่อยมีน้ำเหลืองไหล ถ่ายเป็นบิดมูกเลือด ปวดศีรษะ ท้องน้อย หน้าตะโพก เมื่อยแขน มีอาการทางประสาทและสมอง มีอาการวิงเวียน ตาฟาง หูหนัก อยากกินอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออยากกินอาหารที่ผิดปกติ มีอาการบวม และโบราณเชื่อว่าอาการต่างๆ นั้นจะสัมพันธ์กับวันเกิดและวันปฏิสนธิ หากลองใช้อายุครรภ์ 280 วัน บวกลบด้วย 7 วัน วันเกิดและวันปฏิสนธิก็จะตรงกัน เช่น ปฏิสนธิในวันจันทร์ก็จะเกิดวันจันทร์ เป็นต้น และแม่แต่ละคนก็จะมีจุดอ่อนของอาหารแตกต่างกันไปตามซางที่ลูกเกิด

ในทางปัจจุบันอาการดังกล่าวไม่ได้จำแนกตามโบราณ แต่ได้กล่าวถึงอาการทั่วไปของการแพ้ท้อง ซึ่งในสัปดาห์ที่ 5-6 ของการตั้งครรภ์ก็จะเริ่มขึ้น และมีไปจนถึงสัปดาห์ที่ 14-16 ซึ่งอาการแพ้ท้องยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเป็นเพราะมีระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่สูง จึงทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน คัดตึงเต้านม ปัสสาวะบ่อยๆ หรืออาจมีการอาเจียนรุนแรงมากในบางราย ที่เรียกกันว่า Hyperemesis gravidarum

การแพ้ท้องในทางปัจจุบันส่วนมากมักกล่าวว่าไม่เป็นอะไร แต่ก็อาจทำให้มีอาการแทรกซ้อนได้เช่นกัน เช่น รายที่อาเจียนมากๆ อาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ขาดอาหาร ซีด ขาดน้ำ เลือดมีภาวะเป็นกรด น้ำหนักตัวลด หรือมีปัญหาที่ตับ ทำให้เกิดดีซ่าน ปัญหาที่ตาทำให้จอตาอักเสบ มีเลือดออก หรืออาจตาบอดได้ ความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดอาการต่างๆ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ การทายเพศบุตรและวันเกิด รวมทั้งอาการที่มีผลต่อเด็กที่เรียกว่า ซางเจ้าเรือน เมื่อมารดาตั้งท้องได้ 3 เดือนนั้นจะเป็นไปได้เพียงไร ก็คงจะต้องศึกษากันต่อไป

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า