สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ลมบังเกิดในพัทธะปิตตะโรค 4 จำพวก

ได้แก่ หทัยวาตะ สัตถกวาตะ อัศฎากาส และสุมนา
-หทัยวาตะ มักทำให้มีอาการมึนตึง ไม่ค่อยพูดจา ใจลอย มักชอบอยู่ตามลำพังคนเดียว มักใจน้อย ขี้โกรธ เบื่ออาหาร อารมณ์แปรปรวน บางครั้งร้องไห้ บางครั้งก็หัวเราะ ควรรักษาตั้งแต่แรกๆ ที่เริ่มเป็นเพื่อไม่ให้อาการรุนแรงจนยากที่จะรักษาได้ ซึ่งถือว่าเป็นอาการทางจิต

-สัตถกวาตะ มักทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก เป็นลมสันทฆาต ครั้นแก่เข้ากระทำให้จับเป็นเพลา มักให้เจ็บไปทั่วตัว เมื่อโดนเชือดด้วยมีด หรือโดนเหล็กแหลมทิ่มแทง รู้สึกเจ็บแปลบไปทั่วร่างกาย ใจสั่นริกๆ รู้สึกหิว อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปวดศีรษะ ตามัว เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ เมื่อเริ่มมีอาการเจ็บอกควรรีบรักษาให้หาย หากปล่อยไว้จะเป็นโทสันทฆาตและตรีสันทฆาต เป็นอติสัยโรค เป็นโรคตัด

มีอาการเหมือนหัวใจขาดเลือด ขาดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อทำให้เนื้อตาย เส้นเลือดตีบ จึงทำให้รู้สึกเจ็บปวด บริเวณใดขาดเลือดไปเลี้ยงจะทำให้เจ็บปวดรุนแรงมาก เช่น จะรู้สึกเหมือนมีก้อนหินทับเจ็บที่หัวใจ ร้าวไปที่ ไหล่ คอ หลัง ปวดรุนแรงแทบขาดใจ หากปล่อยไว้จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเพราะขาดเลือด และทำให้หัวใจวายในที่สุด จึงต้องรีบให้ยาขยายหลอดเลือดโดยด่วน

-ลมอัศฎากาศ ทำให้มีอาการใจลอย หาสติมิได้ ซึ่งโลกสมมติว่าขวัญกินเถื่อนและลมอันนี้เกิดแต่อนันตจักรวรรดิ อันมีอยู่ในคัมภีร์ฉันทวาตปฏิสนธินั้น มักกระทำให้ระส่ำระสาย ให้เขม่นไปทั้งกาย มิได้รู้สึกตัวว่าร้อนและเย็น หลับก็มิได้ รู้ตื่นก็มิได้รู้บริโภคอาหาร และยังมิได้บริโภคอาหารก็มิได้รู้ และให้อิ่มไปด้วยลมในแน่นนาภีและหน้าอกเป็นกำลัง แล้วกระทำให้ชาไปทั้งตัว แสยงขนพองๆ ให้ร้อนนอก ให้ผิวเนื้อนั้นแดงดุจลนด้วยเพลิง ให้เบ่งขึ้นทั้งกายได้ซูบผอม จะไปอุจจาระปัสสาวะก็มิได้รู้ ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังใจลอยอยู่นั้นให้หาย ถ้าแก้เข้าจนสติมิได้แล้วเมื่อใด เป็นอติสัยโรค อาจารย์กล่าวว่าเป็นโรคตัด เป็นอาการทางสมอง ทำให้หมดสติ ไม่รู้สึกตัว

-ลมสุมนา กระทำให้อัดอั้นไปทั้งกายมิได้รู้สึกตน ลมกองนี้เกิดแต่กองอัมพฤกษ์ มักเกิดในระหว่างตรีโทษ กระทำให้โสตประสาทมิได้ยินศัพท์สำเนียงใด ให้จักษุประสาทมิได้เห็นสิ่งใด ให้ฆานประสาทมิได้เหม็นและหอมสิ่งอันใด ให้กายประสาทมิได้รู้สึกสัมผัสอันใด ให้ชิวหาประสาทมิได้รู้จักรสอันใดว่าหวาน เปรี้ยว จืด เค็ม เผ็ด ร้อนนั้น เป็นต้น และอาการอันเศษนอกจากนี้แจ้งอยู่ในคัมภีร์ตติยพิณสันนิบาต และคัมภีร์ประเมหะโทษโน้นเสร็จแล้ว บุคคลทั้งหลายพึงรู้ว่าลมสุมนานี้เกิดในระหว่างตรีโทษถึงมรณันติกชวนะเป็นที่สุดแห่งโรคยามิได้เลย ถ้าแก้ให้แก้แต่พอได้ความสุข ให้เวทนานั้นน้อยลง

เป็นอาการทางสมองที่ขาดเลือดไปเลี้ยง หรือเลือดออกในสมอง

ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเป็นโรคลมที่เกี่ยวข้องกับหลายระบบและมีความรุนแรงเสียเป็นส่วนใหญ่ มักเป็นอาการทางประสาท สมอง ชัก หมดสติ อาการเกี่ยวกับหัวใจ อารมณ์ ความพิการ จนถึงตาย แต่อาการเป็นลมที่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาหอมในปัจจุบันก็มีมากมาย เนื่องจากอาการไม่ได้ร้ายแรง ซึ่งมักมีอาการส่วนใหญ่ เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ก็เรียกว่าเป็นลมเช่นกัน

โรคลมตามความเข้าใจของแผนปัจจุบันมีดังนี้
1. อาการบ้านหมุน(Vertigo)
2. อาการใจสั่น(Palpitation)

3. อารมณ์เครียด(Emotional Stress)
4. ปวดศีรษะ(Headache)

แบ่งตามสาเหตุใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1. จากสมอง ได้แก่ ขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ทำให้มีอาการ Vertigo, Cerebral insufficiency, Syncope

2. จากจิตใจและอารมณ์ ได้แก่ Anxiety, Depression

3. จากหัวใจ ได้แก่ Palpitation, Angina, Arrythmia

4. จากระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ Nausia, Vomiting, Morning Sickness

5. สิ่งอื่นจากภายนอก ได้แก่ จากการปวดเกินไป แน่นเกินไป ร้อนเกินไป การยืนนานๆ

อาการที่พบได้บ่อยดังกล่าวจะสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาหอม และในผู้ที่เมารถ เมาเรือ ก็ใช้ได้ ยาหอมไทยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากมีการพัฒนาให้ดีขึ้น

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า