สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ระดูปกติโทษ

มีคำกล่าวในคัมภีร์แพทย์แผนไทยว่า สตรีและบุรุษมีความแตกต่างกันอยู่ 2 ประการคือ ต่อมเลือด ที่หมายถึง มดลูก และการมีเต้าถันตั้งขึ้น มีนมเพื่อเลี้ยงบุตรเมื่อเข้าสู่วัยสาว หญิงแรกมีประจำเดือนโบราณว่ามักจะฝันถึงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย วันที่มีประจำเดือนบางคนก็ปกติดี แต่บางคนอาจมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น หากมีความผิดปกติเหมือนกันทุกเดือนจะเรียกว่า ระดูปกติโทษ แต่หากเกิดความผิดปกติที่แตกต่างกันไปไม่ซ้ำกันในละเดือนจะเรียกว่า ระดูทุจริตโทษ

ระดูปกติโทษ
ลักษณะโลหิตระดูอันบังเกิดมาแต่หทัย
จะทำให้มีไข้ กระสับกระส่าย คลั่งไคล้ไหลหลง มีอารมณ์โกรธ ริมฝีปากเขียว ริมตาเขียว หากแก้ไขไม่ได้ อาจทำให้ถึงแก่ความตาย

ผู้ป่วยจะมีอาการทางจิตที่แสดงออกทางอารมณ์เป็นสำคัญ มักจะโกรธง่าย มีอาการกระสับกระส่าย และมีอาการทางกาย คือ อาการเขียว แพทย์แผนปัจจุบันคิดว่า สตรีผู้นั้นน่าจะมีอาการของโรคหัวใจผิดปกติอยู่แล้ว เมื่อระดับฮอร์โมนเปลี่ยนไปขณะมีประจำเดือนจึงทำให้เกิดผลต่อแมแทบอลิซึม มีน้ำคั่งอยู่มากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากภาวะอาการหัวใจวาย หากคนไข้มีอาการเขียว ปากเขียว ตาเขียว ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

ลักษณะโลหิตระดูอันบังเกิดมาแต่ดีแลตับ
ถ้าสตรีผู้ใดไข้ลง มักทำให้เชื่อม ให้มันมัวเมาซบเซา มิได้รู้รุ่งแลค่ำคืนแลวัน แล้วให้นอนสะดุ้งหวาดไหวเจรจาด้วยผี สมมุติว่าขวัญกินเถื่อน โทษทั้งนี้คือ โลหิตกระทำเอง ถ้ารู้ไม่ถึงกำหนด 7 วันตาย เมื่อตายแล้วจึงผุดขึ้นมาเป็นแว่นเป็นวงสีเขียว สีแดง ก็มีดุจกล่าวมานั้น

ผู้ป่วยมีอาการซึม นอนสะดุ้ง ไม่ได้สติ พูดเพ้อคนเดียว เป็นอาการสำคัญ ด้านหลังมีผิวหนังตายผุดเป็นแว่นเป็นวง อาการนี้อาจมีโรคประจำตัวเป็นโรคเลือดผิดปกติ เช่น โรคโลหิตจางอพาสติก โรคเอสแอลอี มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น ฮอร์โมนจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีประจำเดือน ความต้านทานจะมีต่ำลง มีการติดเชื้อได้ง่าย อาจทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง หรือเกิดภาวะเลือดออกในสมอง ทำให้เสียชีวิตได้

ลักษณะโลหิตระดูอันบังเกิดมาแต่เนื้อ
ถ้าสตรีผู้ใดไข้ลง มักทำให้ร้อนในผิวเนื้อ ผิวหนังจะแดงเหมือนลูกตำลึงสุก ขึ้นเป็นผดคันไปทั่วตัว เมื่อมีระดูอาการนี้จะหายไป ระดูชนิดนี้ไม่รุนแรงถึงตาย

อาการที่เกิดขึ้นอาจมีลักษณะคล้ายกับอาการแพ้ทั่วไป เช่น ลมพิษ ซึ่งความเครียดก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการของลมพิษได้เช่นกัน

ลักษณะโลหิตระดูอันบังเกิดมาแต่เส้นเอ็น
ถ้าสตรีผู้ใดไข้ลง มักทำให้เจ็บไปทั่วทั้งตัว ปวดศีรษะ รู้สึกร้อนบ้างหนาวบ้าง เมื่อมีระดูอาการเหล่านี้ก็หายไป

สตรีจะมีอาการไข้สะบัดร้อนสะบัดหนาว ปวดศีรษะ เป็นอาการสำคัญ ระดูแบบนี้ก็ไม่มีความรุนแรงถึงตายเช่นกัน อาการที่พบบ่อยคือ อาจทำให้ปวดศีรษะมากขึ้นเมื่อมีไข้

ลักษณะโลหิตระดูอันบังเกิดแต่กระดูก
ถ้าสตรีผู้ใดไข้ลง จะทำให้เมื่อยตามข้อกระดูก กระดูกคลาด ปวดเอว ปวดหลัง เมื่อระดูมาอาการต่างๆ ก็จะหายไป

สตรีมักจะมีอาการปวดเมื่อยตามข้อและกระดูกเป็นอาการสำคัญ ระดูชนิดนี้ไม่มีอาการที่หนักจนถึงตาย

คนไทยพยายามอธิบายภาวะอาการที่เป็นก่อนมีประจำเดือนว่ามีสาเหตุในโลหิตบังเกิดจากหัวใจและจากดีและตับ ซึ่งมีความร้ายแรงถึงตายได้ ส่วนโลหิตระดูที่บังเกิดจากเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูก ทำให้อารมณ์แปรปรวนง่าย ประสาทตึงเครียด ซึมเศร้า ร้องไห้คร่ำครวญ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ตึงเต้านม ปวดบวมตามข้อ เป็นอาการสำคัญ มักเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือนประมาณ 3-7 วัน อาการเหล่านี้จะหลายไปเมื่อประจำเดือนมา ปัจจุบันได้แนะนำให้รักษาด้วยการกินอาหาร ซึ่งก่อนประจำเดือนมา 2-3 วัน ควรได้กินพวกผัก ผลไม้สด ลดอาหารพวกแป้งและน้ำตาล งดการดื่มสุรา กาแฟ ยาที่ใช้ก็มักจะเป็นพวกวิตามินบี 6 วิตามินซี และซิงค์ ส่วนในผู้หญิงที่ทนอาการไม่ได้ก็จะรักษาด้วยฮอร์โมน Progesterone และ Prostaglandin

นอกจากต่อมโลหิตก็ยังมีรังไข่ ที่ผลิตไข่ให้ตกในทุก 28 วัน ผนังมดลูกจะมีการเตรียมตัวเมื่อไข่ตก เพื่อรับตัวอ่อนมาฝังตัวที่มดลูก แต่ถ้าไม่เกิดการปฏิสนธิขึ้น ก็จะมีการหลุดลอกของผนังมดลูกออกมาเป็นประจำเดือน โดยมีฮอร์โมนสำคัญควบคุมอยู่ 2 ตัว คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน

สตรีที่เริ่มต้นมีประจำเดือน โบราณว่าเป็นวัยรุ่นที่มีอายุ 12-14 ปี แต่ในแผนปัจจุบันกล่าวว่า ผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนครั้งแต่ในระหว่างอายุ 11-14 ปี และถือว่าผิดปกติหากเลยช่วงนี้ไปแล้วยังไม่มีประจำเดือน เรียกว่า ภาวะประจำเดือนไม่เคยมา ซึ่งเป็นความผิดปกติของรังไข่หรือฮอร์โมน ทำให้การเจริญเติบโตทางเพศไม่สมบูรณ์ หรือบางรายประจำเดือนอาจคั่งอยู่ในช่องคลอด ทำให้ปวดท้องในทุกๆ เดือน หรือที่เรียกว่า เยื่อพรหมจรรย์ไม่เปิด

สตรีบางจำพวกโบราณกล่าว่า เป็นพรหมจารี เมื่อเป็นสาวรุ่นแล้วก็ไม่มีประจำเดือน บางจำพวกเมื่อมีสามี หรือมีอายุ 20 หรือ 30 ปี จึงจะมีระดู

ส่วนหญิงที่เคยมีประจำเดือนแล้ว แต่มาขาดหายไปด้วยสาเหตุต่างๆ ในทางปัจจุบันเรียกว่า ภาวะประจำเดือนขาด

สตรีที่มีสามีหรือไม่มีก็ดี บางจำพวกแพทย์แผนไทยกล่าวว่า แต่เดิมจะมีโลหิตบริบูรณ์ดี แต่ต่อมาโลหิตนั้นแห้งติดกระดูกสันหลังอยู่ สมมุติว่าเป็นริดสีดวง ทำให้มีอาการหน้าซีด มือเท้าซีด เจ็บหลัง เจ็บเอว และโลหิตของสตรีบางพวกแห้งติดหัวเหน่า ติดทรวงอก หรือกลมกลิ้งอยู่ในท้อง เท่าฟองไข่ไก่ บางทีทำให้ท้องขึ้น ท้องลง เจ็บท้อง จุกแน่นอกแทบขาดใจ หากจะรักษาให้พิจารณาอาการมากจากหลัง ถ้ารักษาไม่ได้ก็จะกลายเป็นโรคริดสีดวงแห้ง

สาเหตุการขาดประจำเดือน นอกจากการตั้งครรภ์แล้ว ในทางปัจจุบันอาจมีมาจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีก เช่น เนื้องอกในรังไข่ ต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง ควรรีบปรึกษาแพทย์หากพบความผิดปกติเกิน 6 เดือน

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า