สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การใช้ยาในผู้ป่วยจิตเวช

ก่อนที่ผู้ป่วยจะมาพบจิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัดนั้น ผู้ป่วยส่วนมากมักจะเคยไปพบแพทย์ฝ่ายกาย หรือเคยได้รับการรักษาด้วยยากล่อมประสาทมาก่อน ในการทำจิตบำบัดชั้นต้นกับชั้นกลางนั้น นักจิตบำบัดอาจจะใช้ยากล่อมประสาทร่วมด้วยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคนไข้โรคจิตเภท ส่วนในการทำจิตบำบัดชั้นสูง มักจะไม่ใช้ยาเลย ยกเว้นในกรณีที่อยู่ในสภาวะวิกฤต หรืออาการป่วยมากเกินไป จนไม่อาจพูดจากันได้

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเป็นชาย มีอาการวิตกกังวลว่า ถ้านอนหลับ จะหายใจไม่ออก ผู้ป่วยเคยได้รับยาจากแพทย์คนก่อน ในการพบกับผู้ป่วยครั้งที่สาม ผู้ป่วยขอยา โดยพูดขึ้นว่า

“คุณหมอ ก. เคยให้ยาก่อนนอนผม และตอนนี้ยาหมดแล้ว คุณหมอให้ยาผมด้วย จะได้ไหม ?”

จิตแพทย์ถามว่า
“คุณใช้ยาบ่อยไหม?”
ผู้ป่วยตอบว่า
“ไม่บ่อย สัปดาห์ละครั้ง หรือ 2 ครั้ง ผมจะกินยาเวลานอนไม่หลับ และมันก็ช่วยผมให้หลับสบายดี”
จิตแพทย์จึงพูดว่า
“ผมคิดว่า ยังไม่จำเป็นต้องใช้ยา”

ผู้ป่วยถามด้วยความสงสัย
“ทำไมครับ ?”

จิตแพทย์อธิบายด้วยท่าทีที่หนักแน่น
“เราตกลงกันแล้วว่า ปัญหาของคุณเป็นเรื่องทางจิตใจ การใช้ยาไม่ได้แก้สาเหตุ ผมว่าจะลองรักษาดูก่อนโดยไม่ต้องใช้ยา ถ้าไม่ได้ผล ค่อยพิจารณากันใหม่”

จากประสบการณ์เราพบว่า ถ้าผู้ป่วยไม่ใช่พวก Drug Addiction แล้ว ส่วนมาก มักจะไม่ต้องใช้ยา ยกเว้นในกรณีที่มีอาการมากเกินไป หรืออยู่ในสภาวะวิกฤต

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า