สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ยาสมุนไพรในตำรับยาแผนโบราณที่ห้ามใช้โดยเด็ดขาด

ในตำรายาแผนโบราณ มีเภสัชวัตถุหลายชนิดที่มีพิษอยู่ค่อนข้างสูง หรืออาจทำให้เสพติดได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง “ยาสมุนไพรที่เป็นยาอันตราย” โดยไม่อนุญาตให้ใช้ในตำรับยาแผนโบราณ ซึ่งมีทั้งที่เป็นยาสมุนไพรที่ห้ามใช้โดยเด็ดขาด และที่ยกเว้นให้ใช้โดยกำหนดขนาดในการรับประทานในแต่ละมื้อ

ยาสมุนไพรที่ห้ามใช้โดยเด็ดขาด ได้แก่
1. พืชกระท่อม Mitragyna speciosa Korth.

2. กัญชา Cannabis sativa Linn. (Cannabis indica Lam.)

3. ฝิ่นยา (Medicinal opium) ตามความในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษและส่วนต่างๆ ของต้นฝิ่น Papaver somniferum Linn.

4. ยางตาตุ่ม Excoecaria agallocha Linn. หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตาตุ่มทะเล

5. เมล็ดมะกล่ำตาหนู Abrus precatorius Linn. เนื่องจากมีสารพิษที่ชื่อ อะบริน(abrin) อยู่ในเมล็ด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้แม้จะเคี้ยวกินเข้าไปเพียงเมล็ดเดียว ในสมัยโบราณใช้บดผสมกับน้ำมันพืชใช้ทาภายนอกเพื่อรักษากลาก เกลื้อน ฝีที่มีหนอง อาการบวมอักเสบ หรือฆ่าพยาธิผิวหนัง แต่ถ้านำไปใช้กับแผลสดจะทำให้สารพิษถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจนอาจเป็นอันตรายได้

6. ยางรักขาว Calotropis gigantean R.Br., C. procera Alt. f. น้ำยางที่ได้จากต้นจะมีรสร้อนเมา เป็นยาถ่ายอย่างรุนแรง อาจทำให้อาเจียนได้ถ้ารับประทานเข้าไปมาก

7. ยางรักดำ Melanorrhoea usitata Wall. หรือ Gluta usitata (Wall.) Din Hou หรือบางพื้นที่เรียกว่า รักหลวง มียางจากต้นเป็นสีดำ ใช้เพื่อลงรักปิดทอง

8. เมล็ดสลอด Croton tiglium Linn. จะมีพิษอยู่ในเมล็ดมาก แม้เพียง 1 ใน 10 ของเมล็ดที่รับเข้าไปก็อาจทำให้ถ่ายท้องอย่างแรงได้ คนโบราณจะนำสลอดมาฆ่าฤทธิ์ก่อนที่จะนำไปใช้ทางยา

9. น้ำมันสลอด Croton tiglium Linn. หรือ croton oil เป็นน้ำมันที่ได้จากการสกัดจากเมล็ดที่ปอกเปลือกแล้ว มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง ปัจจุบันได้เลิกใช้ไปแล้ว เนื่องจากมีปัญหาในการควบคุมขนาดยาที่ใช้ หากใช้เกินขนาดก็จะมีอันตรายมาก

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์ ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ
หัวหน้างานวิจัย กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า