สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ยารักษาโรคเชื้อรา

Antimycotics
การรักษาโรคเชื้อราก็เช่นเดียวกันกับโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย คือ มีทั้งการใช้ยาฉีด ยารับประทาน ยาทาภายนอก รวมทั้งยาเหน็บ สำหรับยาที่ใช้รักษาโรคเชื้อรานั้น ปัจจุบันปรากฏว่ายังมีผู้ผลิตออกมาใช้กันอยู่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับยาที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย โดยเฉพาะยาฉีดและยารับประทาน ทั้งนี้อาจมาจากเหตุผลหลายประการด้วยกันคือ
1. โรคเชื้อราพบได้น้อยกว่าโรคติดเชื้อแบคทีเรีย
2. โรคเชื้อราส่วนมากเกิดขึ้นแต่ที่ผิวหนังชั้นตื้นซึ่งใช้ยาทาก็เป็นการเพียงพอ
3. คุณสมบัติและโครงสร้างของเชื้อราแตกต่างจากแบคทีเรียอยู่มาก
4. ยาที่ใช้ได้ผลในการรักษาโรคเชื้อราโดยการฉีดหรือรับประทานยังเป็นพิษต่อเซลล์และระบบต่างๆ ของร่างกายอยู่มาก ถ้าใช้ในขนาดที่ฆ่าเชื้อ
5. ถึงแม้จะได้พบยาที่ดีและเหมาะสมตามแบบฉบับทางเภสัชวิทยา แต่บริษัทผู้ผลิตก็ยังไม่กล้าลงทุน เพราะมีที่ใช้น้อยและต้นทุนสูงมาก ยาดังกล่าวนี้จึงรู้จักกันในวงแคบเท่านั้น
ยารักษาโรคเชื้อรา (antimycotics) อาจจำแนกได้ตามรูปแบบดังต่อไปนี้
1. ยาฉีด
2. ยารับประทาน
3. ยาเหน็บ
4. ยาป้ายภายในปาก
5. ยาทา
หรือจำแนกออกตามเภสัชวิทยา ได้แก่
1. ยากลุ่มปฏิชีวนะ
2. ยากลุ่มสารซัลฟา
3. ยากลุ่มสาร imidazole
4. ยาที่เป็นสารเคมีแต่ละชนิด
การออกฤทธิ์ของยา
ยาที่ใช้รักษาโรคเชื้อราออกฤทธิ์ได้ 2 ประการ ด้วยกัน คือ
ประการแรก ได้แก่ไประงับการแบ่งตัวของเชื้อแต่เพียงอย่างเดียว (fungistatic) แล้วอาศัยภูมิต่อต้านเชื้อของร่างกายทำลายเชื้อในขั้นต่อไป ยาชนิดนี้ได้แก่ยาที่ใช้รักษาภายในโดยการฉีดหรือรับประทาน เช่น amphotericin B หรือ griseofulvin รวมทั้ง ketoconazole
ประการที่สอง ยาออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโดยตรง (fungicide) ยากลุ่มนี้ใช้เป็นยาทาภายนอกเท่านั้น เพราะมีพิษสูงมากเมื่อใช้เป็นยารักษาภายใน
นอกจากนั้นกลไกการออกฤทธิ์ของยาต่อเชื้อยังจำแนกเป็นข้อปลีกย่อยได้อีกดังต่อไปนี้
1. ออกฤทธิ์ทำลายผนังของเชื้อโดยตรง หรือไปขัดขวางการสร้างเนื้อเยื่อของผนังซึ่งเป็นทางอ้อม ได้แก่สาร polyene เช่น สารกลุ่มปฏิชีวนะต่างๆ
2. ออกฤทธิ์ต่อซัยโตพลาสมของเชื้อเพื่อขัดขวางการเกิดสารที่จำเป็นในการสร้างเนื้อเยื่อของผนัง ได้แก่ ยากลุ่ม imidazole
3. ออกฤทธิ์ต่อซัยโตพลาสมของเชื้อ ทำให้ขัดขวางวงจรของการเกิดกรดดี.เอ็น.เอ.และอาร์.เอ็น. เอ.ในการสร้างนิวเคลียส เช่น 5-fluorocytosine หรือ co-trimoxazole
4. ออกฤทธิ์ทำลายส่วนประกอบทุกส่วนของเชื้อ ได้แก่ ยาทาภายนอกซึ่งมีอยู่มากมายในท้องตลาด
ยารักษาภายใน
1. Amphotericin B (Fungizone-Squibb)
เป็นยาปฏิชีวนะที่แยกได้จากเชื้อ Streptomyces nodosus จัดอยู่ในกลุ่มสาร polyene โดยออกฤทธิ์ต่อผนังของเชื้อรา ใช้รักษาโรค systemic candidiasis, histoplasmosis, cryptococcosis, coccidioidomycosis, blastomycosis, chromoblastomycosis, mycetoma จากเชื้อบางชนิด protothecosis ฯลฯ
การให้ยา เป็นผงใช้ขนาด 0.1 มก./กก. ละลายในนํ้ายากลูโคส 5% จำนวน 500 มล. หยดเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง แล้วจึงเพิ่มขนาดและจำนวนครั้งถ้าผู้ป่วยทนยาได้
2. 5-fluorocytosine (Ancotil-Roche)
เป็นยาสังเคราะห์ fluorinated pyrimidine ออกฤทธิ์ภายในซัยโตพลาสมของเชื้อราโดยเปลี่ยนรูปไปเป็น 5-fluorourasil ซึ่งไปกดการสร้างดี.เอ็น. เอ.ของเชื้อ ใช้ได้ผลดีในโรค systemic candidiasis, histoplasmosis, cryptococcosis, chromoblastomycosis แต่มีข้อเสียคือเชื้อดื้อต่อยาค่อนข้างเร็วจึงควรใช้ร่วมกับ amphotericin B หรือ ketoconazole
การให้ยา ยามีลักษณะเป็นเม็ด เม็ดละ 500 มก. ในผู้ใหญ่ใช้ขนาด 8-12 เม็ด หรือ 4-6 กรัม/วัน ในเด็กลดขนาดลงมาครึ่งหนึ่ง
3. Ketoconazole (Nizoral-Janssen)
เป็นยากลุ่ม imidazole ออกฤทธิ์กดการสร้างสาร ergosterol ของเยื่อบุผนังของเชื้อรา ยานี้ออกฤทธิ์ทำลายเชื้อได้กว้างมากและกำลังเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โรคที่รักษาด้วยยานี้ได้ผลดีคือ sys-temic candidiasis, cryptococcosis, histoplasmosis, chromoblastomycosis นอกจากนั้นยังใช้ได้ผลดีในโรคกลากและเกลื้อน
การให้ยา ในผู้ใหญ่รับประทานวันละ 1 เม็ด (200 มก.) และลดขนาดลงมาครึ่งหนึ่งในเด็ก ถ้าโรคมีอาการรุนแรงมากอาจให้ได้วันละ 2 เม็ด
4. Co-trimoxazole (Bactrim-Roche, Septrin -Wellcome Burrough)
เป็นยาปฏิชีวนะ 2 ชนิดรวมกันคือ trimethoprim และ sulfamethoxazole ยานี้ออกฤทธิ์กดวงจรของกรดโฟลิคในเชื้อแบคทีเรีย ส่วนในโรคเชื้อราใช้ได้ผลอย่างสมบูรณ์ในโรค entomophthoromycosis ที่เกิดจากเชื้อ Basidiobolus นอกจากนั้นยานี้ยังออกฤทธิ์ได้ดีมากต่อเชื้อ Nocardia
การให้ยา ในผู้ใหญ่รับประทานวันละ 4-5 เม็ด (ใน 1 เม็ดมี TMP = 80 มก. และ SMX = 400 มก.) ส่วนในเด็กลดขนาดลงมาครึ่งหนึ่ง
5. โปแตสเซียมไอโอไดด์ (KI)
การออกฤทธิ์ของสารนี้ต่อเชื้อรายังไม่เป็นที่ทราบกันแน่นอน แต่เข้าใจว่ายาสามารถไปละลายก้อนพยาธิสภาพให้ยุบลง แล้วอาศัยภูมิต้านทานของร่างกายทำลายเชื้อต่อไป ยานี้ใช้ได้ผลดีในโรค sporotrichosis และ entomophthoromycosis basidiobolae
การให้ยา รับประทานนํ้ายา KI อิ่มตัว ครั้งละ 1 มล. วันละ 3 เวลา
6. Griseofulvin (micronized) (Glaxo)
เป็นยาปฏิชีวนะซึ่งมีต้นตอมาจากเชื้อกลุ่ม Penicillium เช่น Penicillium griseofulvum ยานี้ออกฤทธิ์ระงับการแบ่งตัวของเชื้อกลากแต่เพียงกลุ่มเดียว โดยทำให้มีลักษณะม้วนงอ (curling factor) griseofulvin ไม่ออกฤทธิ์ระงับหรือทำลายเชื้อราชนิดอื่น
การให้ยา ใช้รับประทานวันละ 500 มก. ยา มีขนาดเม็ดละ 500 มก.และ 125 มก. ในเด็กลดขนาดลงมาครึ่งหนึ่ง
7. Nystatin (mycostatin)
เป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ระงับการงอกของเชื้อส่า (yeast) โดยเฉพาะเมื่อใช้รับประทาน ยาถูกดูดซึมจากลำไส้ได้น้อยมาก ดังนั้นจึงใช้รักษาโรค แคนดิดิเอสิสของระบบทางเดินอาหารเท่านั้น ยานี้ ส่วนมากใช้เป็นยาทาภายนอกหรือยาเหน็บ
การให้ยา รับประทานมื้อละ 1-2 เม็ด วัน ละ 3 เวลา (เม็ดละ 500,000 หน่วย) ส่วนในเด็กใช้ชนิด suspension ครั้งละ 100,000 หน่วย วันละ 3 ครั้ง
ยาทาภายนอก
ข้อคิดในการใช้ยา
1. การใช้ยาชนิดที่ลอกชั้นเคอราตินซึ่งมีเชื้ออาศัยอยู่ให้หลุดออกไป ได้แก่ ยาที่มีสารกรดซาลิซัย์ลิค
2. เลือกใช้สารที่ออกฤทธิ์ฆ่าหรือระงับเชื้อ โดยจำเพาะ เช่น imidazole หรือ nystatin (mycostatin) กับโรคที่เกิดจากเชื้อแคนดิดา
3. เลือกใช้ base ของยาให้เหมาะสมกับสภาพของผิวหนังที่เป็นโรค กล่าวคือในที่อับชื้นหรือผิวหนังที่เป็นโรคกำลังอยู่ในสภาพที่เห่อและแฉะก็ไม่สมควร ที่จะใช้ยาในลักษณะขี้ผึ้งหรือครีม เพราะจะยิ่งทำให้ผิวหนังอักเสบมากยิ่งขึ้น ในกรณีเช่นนี้ควรประคบด้วยน้ำยากรดบอริคเอาไว้ก่อนจนหายอักเสบ
4. ต้องคิดอยู่เสมอว่ายาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อราได้ดี ก็สามารถทำลายเซลล์ของหนังกำพร้าได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ (contact dermatitis) ตามมาในภายหลัง
5. ยาบางชนิด เช่น ซิลิเนียม ซัลไฟด์ อาจถูกดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าไปในร่างกายและก่อพิษขึ้นได้ จึงไม่ควรใช้ในเด็ก
6. ปัจจุบันได้มียาทาสำเร็จรูปออกมาขายในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก บางชนิดก็ใช้ได้ผลดี แต่ราคาค่อนข้างจะสูงมาก ผู้เขียนมีความเห็นว่ายาสูตรผสมที่มีอยู่เดิมก็ยังคงมีประสิทธิภาพในการทำลาย เชื้อได้ดีอยู่พอสมควร จึงน่าจะใช้อยู่ต่อไป เช่น สูตรผสมของ Whitfield เป็นต้น
ยาสูตรผสม
1. Whitfield’s ointment (BMD)
Benzoic acid    5.0    กรัม
Salicylic acid    3.0    กรัม
Soft paraffin    25.0    กรัม
Coconut oil    จนครบ 100.0    มล.
2. Modified Whitfield’s ointment
Benzoic acid    12.0    กรัม
Salicylic acid    6.0    กรัม
Wool fat    5.0    กรัม
White petrolatum จนครบ 100.0    มล.
ใช้ทารักษาโรคกลาก เกลื้อน และโรคเชื้อราชนิดตื้นเช่นเดียวกับข้อ 1
3. Whitfield’s spirit (Siriraj Hospital)
Benzoic acid    5.0 กรัม
Salicylic acid    3.0 กรัม
95% ethyl alcohol จนครบ 100.0 มล.
ใช้รักษาโรคเช่นเดียวกับข้อ 1 และ 2
4. Sodium thiosulfate solution 20%
ใช้รักษาโรคเกลื้อน
5. Gentian violet solution 1%
ใช้ทาลิ้นและภายในปากสำหรับโรคแคนดิดิเอสิส ในช่องปาก
6. Burow’s solution (1:30 of aluminium acetate)
ใช้ผ้าชุบนํ้ายาปิดผิวหนังที่อักเสบ
7. Boric acid solution 2%
ใช้ผ้าชุบนํ้ายาปิดผิวหนังที่อักเสบ
8. Castellani’s paint
Basic fuchsin    10.0 กรัม
5% phenol in aqueous solution 100.0 มล.
Boric acid     1.0 กรัม
Acetone    5.0 มล.
Besorcinol 10.0 กรัม
กรองนํ้ายาทั้งหมดเก็บใส่ขวดทึบ ถ้าไม่ต้องการให้มีสีไม่ต้องใส่ basic fuchsin ใช้ทารักษาโรคกลาก หรือโรคแคนดิดิเอสิสที่ผิวหนัง (ห้ามใช้ทาภายในปากและขอบตา)

ที่มา:เมระนี  เทียนประสิทธิ์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า