สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ยาขับประจำเดือน

ยาขับประจำเดือนที่พวกเราได้หลงเข้าใจกัน และมีจำหน่ายในรูปของยาชุดขับประจำเดือนตามร้านขายยาทั่วไปอยู่จนทุกวันนี้ อาจจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภทคือ (1)พวกควินีน (Quinine) (2) พวกเออร์กอต (Ergot) (3) พวกเอสโตรเจน (Estrogen) โดยยาชึดบางสูตรอาจจะมีไวตามินร่วมอยู่ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้หากจะพิจารณาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของแต่ละตัวยาแล้ว จะพบว่าไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมหรือเหตุบ่งใช้ดดยตรงในการใช้เพื่อขับประจำเดือน หรือเพื่อจะรักษารอบเดือนให้เป็นปกติ  หรือมีความมุ่งหวังที่จะขับประจำเดือนในเชิงทำแท้งก็ตาม  สำหรับผลที่มีต่อระบบประจำเดือนของยาเหล่านี้เป็นเพียงฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์จากการออกฤทธิ์ของยา  เพื่อรักาโรคอื่นๆ เท่านั้น ส่วนความมุ่งหวังในการที่จะให้ยาเหล่านี้ออกฤทธิ์ถึงระดับที่จะเป็นประโยชน์ตามเป้าหมายของยาและเวลาในการใช้ให้เหมาะสม  ซึ่งก็หมายถึงว่า ต้องใช้ปริมาณของยาในจำนวนที่สูงถึงขั้นอันตราย ในช่วงระยะเวลาของการใช้นานเกินกว่าที่ร่างกายจะทนรับฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์ รวมถึงพิษของยานั้นๆ ก่อน จึงจะได้รับผลในการขับประจำเดือน
ควินีน ซัลเฟท (Quinine sulfate)
ปกติควินีน เป็นยาที่ใช้ในการรักษาอาการไข้ของมาลาเรีย และเป็นยาที่รู้จักกันมาดีกว่า 300 ปี แล้ว แต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองพบว่าเชื้อมาลา¬เรียส่วนมาก สามารถต้านฤทธิ์ของยานี้ได้ ทำให้ใช้ไม่ได้ผลนัก และได้มียาสังเคราะห์ตัวอื่นๆ ขึ้นใช้แทนจนถึงสงครามเวียดนาม จึงได้พบอีกครั้งว่า เชื้อมาลาเรียที่เคยต้านฤทธิ์ของควินิน กลับไม่ต้านฤทธิ์ต่อไป จึงได้ถูกนำกลับมาใช้รักษาไข้มาลาเรียอีกจนถึงปัจจุบัน
ฤทธิ์และอาการที่ไม่พึงประสงค์ ในการใช้ยานี้ในทางที่ผิด
ฤทธิ์ข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ของควินีน มีหลายอย่างซึ่งค่อนข้างจะเป็นอันตรายมากด้วย จะออกฤทธิ์กระตุ้นให้กล้ามเนื้อเรียบตามระบบทางเดินอาหารและกล้ามเนื้อหัวใจกระตุกและหดตัว ยังผลนำไปสู่อาการรุนแรงต่างๆ กัน ตั้งแต่อาการตามผิวหนังที่เป็นผื่นแดงแบบอาการแพ้สารเคมี เหงื่อตก หูอื้อ ตามัว อาเจียน ท้องร่วง ปวดกล้ามเนื้อตามร่างกายและหัวใจ ตลอดจนบางกรณีเม็ดเลือดแดงจะถูกทำลายด้วยยานี้จึงจัดเป็นยาอันตรายมากชนิดหนึ่ง ซึ่งจะนำมาใช้ในกรณีที่จำเป็น และสมควรด้วยเหตุผลในการบ่งใช้เท่านั้น แม้จะเป็นที่ทราบกันทั่วไปในผู้รู้ทางวงการแพทย์เป็นอย่างดีถึงอันตรายดังกล่าว ก็ยังมีผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และเข้าใจผิดที่มุ่งใช้ยานี้ในเชิงรักษาจากฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์ ดังเช่น การนำยานี้มาใช้เพื่อบีบกล้ามเนื้อมดลูกด้วยความมุ่งหวังที่จะขับประจำเดือน หรือที่ร้ายกว่านั้นเพื่อที่จะให้เกิดการแท้งบุตร ลักษณะการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้ยานี้ที่ผิด และอันตรายมาก เพราะยานี้กว่าจะได้ฤทธิ์ตามที่คาดหมายว่าจะมาบีบมดลูกตามความประสงค์ จะต้องเกิดฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วแต่ต้นก่อน ซึ่งบางกรณีอาจเจ็บปวดกล้ามเนื้ออื่น และผลที่ร้ายที่สุดที่มีต่อระบบการทำงานของหัวใจ จะถึงขั้นอันตรายต่อชีวิตเสียก่อนด้วยซ้ำ และยิ่งกว่านั้น ลักษณะการออกฤทธิ์ของยานี้ต่อมดลูกจะคล้ายคลึงกับการออกฤทธิ์ของพาก อ๊อกซิโตซิน (Oxytocin) คือจะไม่มีผลเต็มที่ในการบีบกล้ามเนื้อมดลูกในช่วงแรกหรือระยะเริ่มแรกของการตั้งครรภ์ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงสรุปได้ว่า ยานี้นอกจากจะไม่มีข้อบ่งใช้เพื่อการขับประจำเดือนดังได้ถือปฏิบัติกันในกลุ่มที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์แล้วยังมีอันตรายมากอีกด้วย
เมธีลเออร์กอตมีทรีน มาลีเอท (Methy-lergotmetrine maleate)
เป็นยาที่ดัดแปลงมาจากกลุ่มสารพวกเออร์กอต ที่ได้บรรยายไว้ถึงลักษณะบ่งใช้ในเรื่องของยาบีบมดลูกที่จะใช้เป็นประโยชน์ในการบีบมดลูกให้เข้าอู่หลังคลอดเท่านั้น    ไม่มีเหตึผลสมควรและเหมาะสมที่จะใช้เพื่อการใดๆ ทั้งสิ้น ในการบีบมดลูกก่อนคลอดเลย เพราะจะมีแต่ผลร้ายเท่านั้น
เอสโตรเจน (Estrogens)
เป็นฮอร์โมนเพศที่ปกติจะสังเคราะห์จากรังไข่ (ความสำคัญต่อการควบคุมรอบเดือนในเพศหญิงแต่การทำงานดังกล่าวของฮอร์โมนตัวนี้จะต้องมีโปรเจสเตอโรน (progesterone) หรือฮอร์โมนพวกโปรเจสโตเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนอีกประเภทหนึ่งที่สังเคราะห์จากรังไข่เช่นกันในการช่วยควบคุมระบบรอบเดือนของเพศหญิงให้เป็นปกติ และถ้าฮอร์โมนตัวใดตัวหนึ่งใน 2 ตัวนี้เกิดหลั่งออกมาในกระแสเลือด ในอัตราส่วนที่ไม่เหมาะสมตามระยะของรอบเดือนที่ถูกต้องแล้ว จะเกิดความผิดปกติขึ้นในรอบเดือน ซึ่งเป็นลักษณะที่รู้จักกันดีว่ามีรอบเดือนไม่ปกติ คืออาจจะทำให้ประจำเดือนช้าไปหรือเร็วไปได้
การใช้เอสโตรเจนในทางที่ผิด
เอสโตรเจน จะไม่ออกฤทธิ์บีบมดลูกเพื่อขับประจำเดือนดังที่คิดและเข้าใจกัน
ในหมู่ผู้ใช้ยานี้ที่หวังผลในการขับประจำเดือน ในเชิงที่กลัวจะมีการตั้งครรภ์กัน เอสโตรเจนจะมีผลต่อการสร้างเยื่องผนังมดลูกและต่อมต่างๆในอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงควบคู่ไปกับโปรเจสเตอโรน หากมีฮอร์โมนทั้งสองในอัตราส่วนที่ไม่สมดุลย์แล้ว หรือให้เอสโตรเจนอย่างเดียวก็อาจจะทำให้ผนังบุมดลูกฉีกขาดบ้าง ทำให้เลือดออกคล้ายมีประจำเดือนได้ และ สมมุติว่าได้เกิดมีการตั้งครรภ์ขึ้นไม่ว่าจะอยู่ในช่วงแรก หรือช่วงหลังของการตั้งครรภ์ก็ตาม การให้เอสโตรเจน อาจทำให้เลือดออกเหมือนมีประจำเดือนดังกล่าว แต่มิได้หมายความว่าทารกในครรภ์จะถูกขับออกมาได้ทุกกรณี และเมื่อเป็นเช่นนี้ฤทธิ์ดังกล่าวของเอสโตรเจนอาจมีผลทำให้ทารกตายในครรภ์โดยไม่รู้ตัวได้ และถ้าทารกนั้นไม่ตายอาจจะมีผลเมื่อทารกนั้นคลอดออกมามีอาการทุพพลภาพ และเป็นมะเร็งในเด็กนั้นต่อไปได้
การให้ยาเอสโตรเจนจำนวนมากๆ ติดต่อกันหลายๆ วัน อาจจะสามารถขับประจำเดือนและทารกในระยะเริ่มตั้งครรภ์ใหม่ๆ ได้ แต่การที่จะได้ผลเช่นนี้ ฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์ของเอสโตรเจนจะปรากฎออกมาให้เห็นชัดก่อนแล้ว เช่น ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ต่อการประสานงานของระบบฮอร์โมนอื่นๆ ต่อระบบเลือดคือทำให้เลือดแข็งตัวขึ้นในหลอดเลือด ต่อการทำงานของตับ ต่อระบบหัวใจและความดันเลือดที่อาจจะสูงขึ้นจนเป็นอันตราย ฉะนั้นการใช้ยานี้จึงต้องพิจารณาถึงปริมาณของยา และระยะเวลาที่จะใช้จากผู้ที่รู้ และยังต้องสามารถตรวจภายในให้เป็นที่แน่ใจว่าได้เกิดการตั้งครรภ์ขึ้นแล้วหรือไม่ และถ้ามีการตั้งครรภ์จริง ครรภ์นั้นได้อยู่ในสภาพใดหลังจากใช้ยา ซึ่งทั้งหมดนี้ควรจะเป็นเหตุที่พอสมควรที่จะชี้ให้เห็นว่า ไม่เป็นการเหมาะสมและยากมากที่จะใช้ยานี้ด้วยตนเอง โดย ที่เราไม่มีความรู้ในเรื่องยานี้พอ และไม่สามารถตรวจรักษาตนเองให้ถูกต้องได้ ฉะนั้นการซื้อยาสูตรเป็นชุดๆ ที่จัดขายให้ตามร้านขายยาทั่วไป เพื่อวัตถุประสงค์ในการขับประจำเดือนด้วยตนเอง ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงมีอันตรายมากกว่าที่จะได้ประโยชน์ดังที่คิดไว้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า