สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ม่านตาศึกษา(Iridology)

เป็นการศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนของม่านตา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับเทคนิคในการวินิจฉัยโรค ม่านตาแบ่งเป็นบริเวณปลีกย่อยได้กว่า 90 บริเวณ และแบ่งเป็นเขตได้กว่า 180 เขต ซึ่งเขตเหล่านี้จะเผยถึงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับภาวะต่างๆ ของร่างกาย

ในด้านสรีรวิทยา ม่านตาเป็นส่วนเยื่อของตาที่มีลักษณะ ขุ่น มีสี หดและขยายตัวได้เร็ว ตรงกลางจะมีรูม่านตาอยู่ ม่านตาจะกำหนดปริมาณแสงที่เข้ามาในลูกนัยน์ตาโดยผ่านทางการขยายตัวและหดตัว

ได้เคยเป็นที่ยอมรับกันมาก่อนแล้วในสมัยที่อารยธรรมในลุ่มแม่น้ำเมโสโปเตเมียและแม่น้ำสินธุกำลังรุ่งเรืองว่า โรคทั้งหลายจะปรากฏโฉมให้เห็นด้วยสัญลักษณ์ที่มองเห็นที่นัยน์ตาเป็นครั้งแรก มีบันทึกหลักฐานอ้างอิงเรื่องนี้เอาไว้ในตำราแพทย์แผนโบราณของจีน ที่ระบุว่า การตรวจนัยน์ตาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวินิจฉัยโรค ในหลายปีก่อนก็ได้มีการพัฒนาสเคลอโรโลยี่(sclerology) หรือการอ่านภาวะสุขภาพของคนจากเส้นโลหิตฝอยที่อยู่นัยน์ตาขาวของลูกนัยน์ตา โดยชาวอเมริกันพื้นเมืองในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ

ใกล้ๆ กับเมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ในตอนต้นทศวรรษที่ 1800 มีเด็กชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า อิกนัตซ์ ฟอน เพ็คเซลี(Ignats von Peczely) พยายามจะจับนกเค้าแมวในสวนของเขา บังเอิญเขาทำให้ขานกเค้าแมวหักในระหว่างที่ยื้อยุดกันอยู่นั้น เมื่อเขาสังเกตเข้าไปในนัยน์ตาของนกเค้าแมวก็ได้เห็นแถบสีดำปรากฏขึ้นมา เมื่อพยาบาลมันจนหายดีแล้วเขาก็ปล่อยมันไป แต่มันก็ยังอาศัยอยู่ในสวนของเขาต่อไปอีกหลายปี และเขาก็ได้สังเกตเห็นว่าแถบสีดำที่นัยน์ตาของนกเค้าแมวได้เปลี่ยนกลับไปเป็นสีขาวแล้ว

เมื่อ ฟอน เพ็คเซลี ได้เป็นแพทย์และทำงานอยู่ตามวอร์ดในโรงพยาบาล เขาก็ได้สังเกตม่านตาของคนไข้ที่ประสบอุบัติเหตุ กับคนไข้ผ่าตัด ทั้งตอนก่อนและหลังจากการผ่าตัด รวมทั้งการเจ็บไข้ได้ป่วยอื่นๆ เขาเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กันอยู่ระหว่างริ้วรอยที่ม่านตากับส่วนต่างๆ ร่างกาย และในปี ค.ศ.1881 อิกนัตซ์ ฟอน เพ็คเซลี ก็ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานการสังเกตของเขาในเยอรมนี โดยมีแผนภูมิเทียบส่วนต่างๆ ของม่านตากับระบบอวัยวะต่างๆ ของร่างกายไว้เสร็จสรรพ

หลังจากที่ผลงานของฟอน เพ็คเซลี ได้รับการตีพิมพ์ออกมาไม่นาน พระและผู้ให้การรักษาบำบัดแบบกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือโฮมีโอพาธี ที่ชื่อ นิล ลิลเจควิสต์(Nils Liljequist) ก็ได้สังเกตพบการเปลี่ยนแปลงที่สีของม่านตาเนื่องจากการสั่งสมสารพิษเข้าไปในร่างกาย ในสมัยเด็ก ลิลเจควิสต์ เคยรับประทานควินินคราวละมากๆ และเชื่อว่าสีเขียวออกเหลืองที่ตาของเขามีสาเหตุมาจากยาควินิน และนิลส์ ลิลเจควิสต์ ก็ได้ตีพิมพ์ผลงานการพบของเขาในหนังสือที่มีชื่อเรื่องว่า การวินิจฉัยโรคจากดวงตา(Diagnosis From the Eye)

ผู้บุกเบิกศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาม่านตา ในสหรัฐฯ ที่ชื่อ ดร.เบอร์นาร์ด เจนเซน ได้ตีพิมพ์ผลงานที่ได้รับการยกย่องจากนานาชาติเรื่อง The Science and Practice of Lridology ในปี ค.ศ.1952 เป็นครั้งแรก และได้พัฒนาแผนภูมิของม่านตาไว้อย่างละเอียด โดยได้แสดงที่ตั้งของอวัยวะต่างๆ ที่จะสะท้อนออกมาให้เห็นที่ม่านตา และเป็นแผนภูมิที่แม่นยำมากที่สุด

วิชาการตรวจดูม่านตา ดร.เจนเซน ได้สอนและให้ประกาศนียบัตรแก่ผู้ที่จบการศึกษาศาสตร์ในด้านนี้ด้วย

ม่านตาประกอบไปด้วยปลายประสาทจำนวนหลายแสนหน่วย มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง ตามหลักทฤษฎีศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาม่านตาหรือไอริโดโลยีนั้น เชื่อกันว่า เส้นประสาทเหล่านี้ คือตัวที่จะทำให้ม่านตาเชื่อมโยงเข้ากับทุกอวัยวะและทุกระบบประสาทในร่างกายผ่านประสาทตา และเส้นประสาทไขสันหลัง พูดง่ายๆ ก็คือ แต่ละบริเวณหรือแต่ละเขตที่ม่านตา ต่างทำหน้าที่เสมือนหนึ่งกับเป็นเกจ์ที่วัด และบอกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบริเวณที่ตรงกันภายในร่างกาย ตัวอย่างเช่น บริเวณม่านตาส่วนที่เรียกว่า เขต 6 คือ ส่วนที่ใช้วัดระบบน้ำเหลือง เป็นจุดที่คล้ายกับเมฆเล็กๆ ที่โยงกันเป็นสาย คล้ายคลึงกับสร้อยไข่มุก บ่งชี้ว่าระบบน้ำเหลืองต้องแบกรับภาระหนักเกินไปเนื่องจากมีของเสียตกค้าง แต่หากไม่ปรากฏมีจุดใดๆ ตรงบริเวณนี้ก็แสดงว่า ระบบน้ำเหลืองมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี

แผนภูมิของม่านตา เป็นร่างกายของมนุษย์ในฉบับย่อ โดยที่ส่วนศีรษะจะอยู่บนยอด เท้าอยู่ตอนล่างสุด และบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย ก็จัดเรียงกันโดยสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ม่านตาซ้ายแสดงถึงด้านซ้ายของร่างกาย และม่านตาขวาก็บอกถึงลักษณะด้านขวาของร่างกาย อวัยวะที่มีคู่อย่างเช่น ไต ก็ปรากฏที่แผนภูมิแต่ละด้าน ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจดูม่านตา สามารถรู้ถึงภาวะของสุขภาพโดยรวมของร่างกายได้อย่างชัดเจน ด้วยการสังเกตสี ลักษณะผิว และความหนาแน่นของเขตต่างๆ ของม่านตา การตีความลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่สี ลักษณะผิวและความหนาแน่น หรือ “จุด” ต่างๆ อย่างที่เรียกกัน ก็จะบอกถึงภาวะภายในของร่างกายได้อย่างที่ไม่มีวิธีอื่นใดจะทำได้เหมือน

ได้มีการก่อตั้งสมาคมวิจัยม่านตาแห่งชาติ(National Iridology Research Association) หรือ NIRA ขึ้น ในปี ค.ศ.1982 เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มพูนและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์และศิลป์ของการศึกษาม่านตา และเพื่อเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาม่านตา โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมมาตรฐานของการศึกษาม่านตาในสหรัฐฯ ให้สูงขึ้น

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า