สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)

มักพบมะเร็งชนิดนี้ได้มากในผู้ชาย ส่วนใหญ่มักจะพบได้ในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป

สาเหตุ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคยังไม่อาจทราบได้แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจมีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงด้านกรรมพันธุ์ อาหาร การทำหมัน หรือมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในเลือดสูงเนื่องจากการใช้ฮอร์โมนชนิดนี้เป็นเวลานานๆ ร่วมกับฮอร์โมนแอนโดรเจนในเพศชาย

อาการ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดงเนื่องจากมะเร็งชนิดนี้มีการลุกลามช้า แต่ต่อมาก็จะมีอาการผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะแบบเดียวกับต่อมลูกหมากโต รวมทั้งอาจมีอาการถ่ายปัสสาวะเป็นเลือดเนื่องจากก้อนมะเร็งที่โตมากจนไปอุดกั้นท่อปัสสาวะ หรือผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดหลัง ปวดซี่โครงหรือเชิงกราน เท้าบวม ขาชาและอ่อนแรง ปวดศีรษะ เดินเซ แขนขาอ่อนแรง หรือชัก เกิดขึ้นได้ ถ้ามีการแพร่กระจายของมะเร็งไปแล้ว

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรคควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันทีเพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยด้วยการใช้นิ้วตรวจทางทวารหนักซึ่งอาจพบต่อมลูกหมากเป็นก้อนแข็งหรือขรุขระ ตรวจพบระดับพีเอสเอในเลือดสูง ตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก และตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์

แพทย์มักจะเลือกวิธีการรักษาตามความรุนแรง ระยะของโรค และอายุของผู้ป่วย คือ

-มักจะทำการผ่าตัดต่อมลูกหมาก ในผู้ป่วยที่มะเร็งยังจำกัดอยู่เฉพาะที่ต่อมลูกหมากและมีอายุต่ำกว่า 65 ปี หรือคาดว่าสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเกิน 10 ปี

-มักให้รังสีบำบัด ในผู้ป่วยที่มะเร็งยังจำกัดอยู่เฉพาะที่ต่อมลูกหมาก แต่มีอายุมากหรือสุขภาพทรุดโทรม หรือปฏิเสธการผ่าตัด หรือผู้ป่วยที่มะเร็งเริ่มแพร่กระจายออกไปบริเวณรอบๆ ต่อมลูกหมากแล้ว

-มักจะให้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อควบคุมเทสโทสเทอโรนให้ลดลง ทำให้ก้อนมะเร็งฝ่อเล็กลง โดยการให้ยาต้านแอนโดรเจนชนิดเม็ด ฉีดยากระตุ้น luteinizing hormone-releasing hormone หรือโดยการผ่าตัดอัณฑะออกทั้งสองข้าง สำหรับผู้ป่วยที่มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วแล้วหรือค่าพีเอสเอเพิ่มขึ้นไปเรื่อย หรือผู้ป่วยอายุน้อยที่เป็นมะเร็งชนิดร้ายแรง

-มักจะไม่ให้การรักษาใดๆ แต่จะเฝ้าติดตามดูการเปลี่ยนแปลงโดยการตรวจระดับพีเอสเอและการใช้นิ้วตรวจทางทวารหนักเป็นระยะๆ ถ้าจำเป็นอาจทำการตรวจชิ้นเนื้อ สำหรับผู้ป่วยที่มะเร็งมีขนาดเล็ก เจริญช้า จำกัดอยู่เฉพาะที่ต่อมลูกหมาก หรือไม่มีอาการแสดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุมาก สุขภาพทรุดโทรม หรือคาดว่าอยู่นานไม่ถึง 10 ปี เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีการลุกลามของมะเร็งได้ช้าจึงทำให้มีชีวิตเป็นปกติสุขอยู่ได้เป็นเวลานานจึงไม่คุ้มกับความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนหากใช้วิธีอื่นรักษา เช่น อาจทำให้หย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เป็นต้น

แพทย์มักจะติดตามตรวจระดับพีเอสเอเป็นระยะหลังให้การรักษาไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ถ้าระดับพีเอสเออยู่ในเกณฑ์ปกติแสดงว่าโรคสงบหรือทุเลาลง แต่โรคอาจกำเริบขึ้นอีกได้ถ้าระดับพีเอสเอมีค่าสูงขึ้น และเนื่องจากมะเร็งชนิดนี้มีการเจริญหรือลุกลามช้าผลการรักษาโดยทั่วไปจึงมักได้ผลค่อนข้างดีและสามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน

ข้อแนะนำ
ในคนปกติทั่วไปที่ไม่มีอาการมักไม่แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่ามีประโยชน์ เช่น การตรวจพีเอสเอในเลือด การใช้นิ้วตรวจทางทวารหนัก เป็นต้น เนื่องจากโรคนี้มักเป็นมะเร็งชนิดเจริญช้าไม่มีการแพร่กระจายออกนอกต่อมลูกหมากและสามารถมีชีวิตที่เป็นปกติเป็นเวลายาวนานในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ไม่มีอาการแสดง และยังมีโอกาสพบผลบวกลวงค่อนข้างมากจากการตรวจคัดกรองโรคด้วยการตรวจพีเอสเอในเลือด ซึ่งอาจทำให้วินิจฉัยโรคได้ผิดพลาด ได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง จนเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้

ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาถึงผลดีผลเสียของการตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดนี้ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว เป็นต้น

การป้องกัน
การปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดและชะลอการลุกลามของโรค สามารถทำได้ดังต่อไปนี้

-หลีกเลี่ยงอาหารมันๆ

-ควรกินผักผลไม้ ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองให้มากๆ

-ควรกินอาหารที่มีสารไลโคพีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระให้มากๆ เช่น มะเขือเทศที่ปรุงสุก แตงโม ฝรั่งไส้สีชมพู และมะละกอสุก เป็นต้น

-ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า