สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ(Bladder cancer)

พบมะเร็งชนิดนี้ได้มากในผู้ชาย และมักพบในช่วงอายุ 50-70 ปี

สาเหตุ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคยังทราบได้ไม่แน่ชัด แต่ส่วนใหญ่มักพบว่ามีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น กรรมพันธุ์ ทำงานเกี่ยวกับสีย้อมผ้า สีย้อมไม้ สีย้อมหนังที่มีสารเคมีบางชนิด การบริโภคขัณฑสกร เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะจนทำให้เกิดการอักเสบและระคายเคืองขึ้น ดื่มน้ำที่มีสารหนูเจือปน หรือในแต่ละวันมีการดื่มน้ำน้อยจนเกินไป

อาการ
ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดงใดๆ เกิดขึ้นในระยะแรกๆ ซึ่งอาจตรวจพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะโดยบังเอิญจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยโรคอื่นๆ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ด้วยอาการปัสสาวะเป็นเลือดแต่ไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด หรืออาจมีอาการเลือดหยดออกมาตอนปัสสาวะสุดในบางราย และเนื่องจากเลือดที่ออกมาจับเป็นลิ่มในกระเพาะปัสสาวะอาจทำให้ปัสสาวะบ่อยและแสบขัดคล้ายอาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ในบางครั้ง

ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องน้อย คลำได้ก้อนที่บริเวณหัวหน่าว และอาการแสดงของภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ซีด ท่อไตอุดตันจนกลายเป็นไตวาย และมีการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่นๆ เกิดขึ้นได้หากเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว

การรักษา
ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที หากไม่แน่ใจหรือสงสัยเมื่อพบว่าผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะเป็นเลือด หรือรักษาอาหารกระเพาะปัสสาวะอักเสบแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์มักจะทำการตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจปัสสาวะอาจพบเม็ดเลือดแดงเป็นจำนวนมาก หรืออาจพบเซลล์มะเร็ง อาจใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ ตัดชิ้นเนื้อเพื่อพิสูจน์ หรือเพื่อดูการลุกลามของมะเร็งอาจต้องตรวจด้วยการถ่ายภาพรังสีกระเพาะปัสสาวะ ตรวจอัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และมักให้การรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งถ้าผู้ป่วยเป็นในระยะแรกที่มีเพียงรอยแผลตื้นๆ ก็อาจทำให้หายขาดจากโรคได้ หรืออาจให้การรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับรังสีบำบัดและเคมีบำบัดในรายที่เป็นในระยะลุกลามแล้ว

การป้องกัน
ควรดื่มน้ำ และกินผักผลไม้ให้มากๆ ทุกวัน หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะตอนก่อนนอนเพราะสารก่อมะเร็งจะตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะอยู่เป็นเวลานานในช่วงที่นอนหลับ จึงทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า