สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้(Atopic dermatitis)

เป็นโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ ผู้ป่วยและคนในครอบครัวมักมีประวัติโรคภูมิแพ้ เช่น หืด หวัดภูมิแพ้ ลมพิษ สารภูมิแพ้ที่ตรวจพบในผู้ป่วย เรียกว่า อิมมูโนโกลบูลินอี (immunoglobulin E) หรือ ไอจีอี(IgE) ในเลือดจะสูงกว่าปกติ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเป็นได้เท่าๆ กันในโรคนี้ มักพบได้บ่อยในทารก เด็กโต และคนหนุ่มสาว

ส่วนใหญ่มักหาสาเหตุได้ไม่แน่นอนในการเกิดอาการผื่นคันขึ้น ซึ่งอาจพบว่าบางรายมีการแพ้อาหาร นมวัว ฝุ่นละออง สบู่ ขนสัตว์ อากาศที่ร้อนหรือเย็น หรือแสงแดด เป็นต้น

สิ่งที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการได้ด้วยเช่นกัน เช่น การได้รับบาดเจ็บหรือเป็นโรคติดเชื้อของผิวหนังหรือทางเดินหายใจ

สาเหตุ
ผู้ป่วยมักมีสาเหตุเกิดจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์

อาการ
สามารถแบ่งอาการของโรคนี้ได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะทารก ระยะเด็ก และระยะผู้ใหญ่

ระยะทารก เมื่ออายุได้ 2-6 เดือน มักจะมีอาการผื่นแดงและตุ่มน้ำใสและคันเกิดขึ้น ผิวหนังจะแห้งกว่าปกติ เป็นขุย ที่จมูก แก้ม หน้าผาก ศีรษะจะมีสะเก็ดขึ้นทั้งสองข้างพร้อมกัน และอาจลามไปที่ลำตัวตอนบน แขนขา และบริเวณที่สัมผัสผ้าอ้อม มักมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ขณะที่ฟันจะขึ้น หรือมีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจมักทำให้อาการกำเริบขึ้น ส่วนมากเมื่ออายุได้ 2-4 ปี ก็หายได้เอง แต่ถ้าไม่หายก็จะเข้าสู่อาการในระยะเด็ก

ระยะเด็ก มักพบว่าบริเวณข้อพับ เช่น แขนพับ ข้อมือ ขาพับ ข้อเท้า รอบคอ จะขึ้นเป็นผื่นแดง มีตุ่มน้ำปน และคันมาก อาจทำให้หนังหนาขึ้นเมื่อเกาหรือถูมากๆ มักเป็นคล้ายคลึงกันทั้งสองข้างของร่างกาย บางรายอาจเกาจนติดเชื้อแบคทีเรียทำให้มีน้ำเหลืองเยิ้ม หรือเป็นหนอง และอาจพบมีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย

ระยะผู้ใหญ่ มักจะมีผื่นคันที่ข้อพับต่างๆ เช่นเดียวกับในระยะเด็ก ในขณะที่มีภาวะเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ หรือในระยะก่อนมีประจำเดือน มักจะทำให้อาการกำเริบขึ้น เมื่ออายุได้ 20 ปีขึ้นไปอาการก็จะน้อยลง และจะค่อยๆ หายไปเมื่ออายุได้ 30 ปี

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีผื่นแดงและตุ่มน้ำใสเกิดขึ้น อาจมีลักษณะหนาตัวขึ้นของผิวหนัง หรืออาจพบมีน้ำเหลืองเยิ้มในบางครั้ง

ภาวะแทรกซ้อน
อาจติดเชื้อแบคทีเรียเกิดขึ้นได้จากการเกาและอักเสบกลายเป็นตุ่มหนอง หรือแผลพุพอง หรือน้ำเหลืองไหล และถ้าติดเชื้อเริมอาจเป็นชนิดรุนแรงได้ หรืออาจพบว่าเป็นต้อกระจกตั้งแต่อายุ 20-40 ปีในรายที่เป็นแบบเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุการใช้สตีรอยด์ติดต่อกันนานๆ หรืออาจเกิดขึ้นจากตัวโรคเองก็ได้

การรักษา
1. ทาด้วยครีมสตีรอยด์ เช่น ครีมไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์

2. ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ไดเฟนไฮดรามีน หรือไฮดรอกไซซีน ถ้ามีอาการคันมาก หรือควรให้ไดอะซีแพมก่อนนอนถ้านอนไม่หลับ หรือชอบเกาตอนนอน

3. ควรชะล้างด้วยน้ำเกลือ และให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน นาน 10 วัน ในรายที่เป็นตุ่มหนองหรือพุพอง

4. ควรส่งไปตรวจที่โรงพยาบาลถ้าใน 1 สัปดาห์อาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้กินเพร็ดนิโซโลน เป็นเวลา 10 วัน

ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้
-เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง ผู้ป่วยควรอาบน้ำวันละครั้ง และใช้สบู่อ่อนๆ ถูตัว ไม่ควรอาบน้ำบ่อยๆ

-รักษาอุณหภูมิรอบตัวให้พอเหมาะไม่ให้ร้อนหรือเย็นเกินไป ไม่ควรอาบน้ำร้อนหรือใส่เสื้อผ้าหนาๆ

-งดอาหารและหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่แพ้ง่าย

-ควรใช้เสื้อผ้า ถุงเท้าที่เป็นผ้าฝ้าย ไม่ใช่ขนสัตว์

-เพื่อป้องกันการเกาด้วยเล็บที่สกปรกจนทำให้ติดเชื้อแทรกซ้อน ผู้ป่วยจึงควรตัดเล็บให้สั้น

-ควรให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวอยู่เสมอด้วยครีมทาผิว

-ควรหลีกเลี่ยงภาวะที่จะทำให้เกิดความเครียดทางจิตใจ

2. โรคนี้ไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับน้ำเหลืองแต่อย่างใด แต่ที่ชาวบ้านชอบเรียกว่า น้ำเหลืองเสีย เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการคันและเกาจนน้ำเหลืองเยิ้ม จึงเรียกตามอาการที่พบ ซึ่งอาจหมายถึงอาการผื่นคันอื่นๆ ด้วย เช่น ลมพิษ ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส หรือพุพอง เป็นต้น

3. เมื่อโตขึ้นโรคนี้มักจะหายไปได้เอง แต่ก็อาจมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรังได้ในรายที่มีอาการตั้งแต่เล็ก หรือมีผื่นคันขึ้นทั่วร่างกาย หรือเป็นโรคหืดร่วมด้วย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า