สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พิษและภัยเนื่องจากเครื่องสำอาง

เครื่องสำอางคือสิ่งที่ใช้ตบแต่งผิวหนัง ผม เล็บ ฟัน และใบหน้าให้ดึงดูดสายตาและทำให้แลดูสวยงามขึ้น  เมื่อคิดเปรียบเทียบจำนวนผู้ใช้เครื่องสำอางวันหนึ่งเป็นล้าน ๆ คนกับจำนวนผู้แพ้เครื่องสำอางแล้ว  จะเห็นว่ามีการแพ้น้อยมาก จากสถิติของผู้ผลิตเครื่องสำอางพบว่า มีลูกค้าประมาณ ๑ ในแสนคนเท่านั้นที่มีอาการแพ้เครื่องสำอาง  แต่จากสถิติของแพทย์โรคผิวหนังพบว่า มีผู้ป่วยประเภทนี้ ๒-๔℅ ของคนไข้โรคผิวหนังทั้งหมด แสดงว่ามีอยู่บ้างพอสมควร  อย่างไรก็ดี  ในปัจจุบันมีผู้แพ้เครื่องสำอางมาหาแพทย์โรคผิวหนังและผู้ผลิต เพื่อให้ทำเครื่องสำอางที่ใช้ได้โดยปลอดภัยมากขึ้น

ลักษณะของผิวหนังอักเสบที่เนื่องจากเครื่องสำอาง

สารเคมีในเครื่องสำอาง  อาจจะมีพิษต่อร่างกายได้ต่าง ๆ กันดังนี้

๑.  กัดผิวหนัง (Irritant reaction)

๒.  ทำให้เกิดการแพ้ (Allergic dermatitis)

๓.  ทำให้แพ้แสงแดดง่าย (Photo-sensitivity reaction)

๔.  อุดรูต่อมเหงื่อและท่อขุมขน และอาจทำให้เกิดเป็นผื่นเป็นสะเก็ด (Granulomatous reaction)

๕.  ทำให้ขน ผม และเล็บแตก

วิธีค้นหาเครื่องสำอางที่ทำให้แพ้

บางครั้งก็หาได้ง่าย แต่บางครั้งก็หาได้ยากมาก มีวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

๑.  ใช้วิธีหยุดใช้ชั่วคราว โดยปฏิบัติดังนี้

ก.  หยุดใช้เครื่องสำอางทุกชนิด เว้นเสียแต่ลิฟสติค(ถ้าริมฝีปากไม่แพ้)

ข.  สระผมด้วยสบู่ธรรมดาที่ไม่มีน้ำหอมปน  การสระนี้ก็เพื่อจะล้างเครื่องสำอาง เช่นน้ำมันใส่ผมหรือยาย้อมผม  ออกเสียให้หมด

ค.  ล้างหน้าด้วยสบู่ธรรมดาที่ไม่มีน้ำหอมปน

ง.  ล้างยาทาเล็บออกให้หมด

จ.  ให้เอาเครื่องสำอางทั้งเก่าและใหม่ส่งไปให้แพทย์ทดสอบรวมทั้งฟองน้ำและแผ่นแตะหน้า

ฉ.  ถ้าเพิ่งไปเสริมสวยมาใหม่ ๆ และเกิดการแพ้ขึ้น  ให้นำชื่อและเครื่อสำอางที่ใช้ส่งไปให้แพทย์ตรวจด้วย

ช.  เครื่องสำอางที่แพ้  อาจเป็นชนิดใหม่หรือเก่าก็ได้ หรืออาจเป็นชนิดเก่าแต่ผลิตขึ้นใหม่โดยเปลี่ยนหรือเติมส่วนผสมใหม่

หลังจากทำดังนี้แล้ว ถ้าผื่นแพ้หายไป ก็แสดงว่าคงมีสารที่ทำให้แพ้ในเครื่องสำอางนั้น ๆ ขั้นต่อไปเมื่อหายแพ้ดีแล้วค่อย ๆ นำเครื่องสำอางต่าง ๆ  มาใช้ทีละอย่าง ๆ โดยให้เว้นระยะนานพอสมควร  เพื่อรอดูปฏิกิริยาให้แน่ว่าเครื่องสำอางชนิดใดที่เป็นตัวต้นเหตุทำให้แพ้  เมื่อพบแล้วก็ควรทิ้งไปและเลิกใช้โดยเด็ดขาด  แผ่นแตะหน้าและฟองน้ำที่เคยใช้แตะหรือถูกต้องกับเครื่องสำอางที่แพ้นั้นก็ต้องทิ้งไปด้วย  คีมดัดขนตาที่เคยโดนเครื่องสำอางที่แพ้ ก็ต้องล้างให้สะอาด

๒.  การทดสอบด้วยการทา (Patch test) คือเอาเครื่องสำอางที่สงสัยว่าแพ้ มาทาบนผิวหนัง ถ้ามีการแพ้ ก็จะเกิดเป็นผื่นขึ้นภายใน ๔๘ ชั่วโมง ถ้าสงสัยว่าเครื่องสำอางนั้นจะทำให้แพ้แสงแดดง่าย เมื่อทาสารนั้นแล้วก็ควรให้ถูกกับแสงแดดด้วย แล้วดูว่าจะมีปฏิกิริยาอะไรเกิดขึ้นบ้าง

การทดสอบด้วยวิธีนี้อาจนำมาทดลองใช้กับเครื่องสำอางที่จะซื้อใช้ใหม่  เพื่อให้แน่ใจว่าจะทำให้แพ้หรือไม่ ก็โดยเอาเครื่องสำอางนั้นท่าบนผิวหนังใกล้บริเวณที่เราจะใช้ทาจริง ๆ เช่น ถ้าจะทดสอบกับยาย้อมผม ก็ควรทำการทดสอบกับบริเวณต้นคอ

ปฏิกิริยาทางผิวหนังที่เกิดจากเครื่องสำอางต่าง ๆ มีดังนี้

๑.  ยาย้อมผม  พวกที่แพ้ต่อยาย้อมผมชนิดอ๊อกซิเดติฟ(Oxidation type) มักแพ้สาร พีพีดีเอ (พราราเฟนิลีน ไดอะมีน) หรืออาจแพ้ต่อยาชาเฉพาะที่ เช่น โปรเคน หรืออาจแพ้สารที่ช่วยป้องกันแสงแดด แพ้กรดอะมิโนเบนโซอิค ซัลโฟนะไมด์ กรดอะมิโนซาลิซีย์ลิค หรืออาจแพ้สีในยาย้อมผมพวกเข้าน้ำมันดินก็ได้

๒.  ปฏิกิริยาต่อน้ำยาดัดผม  น้ำยาดัดผมและยาถอนขน มัมีสารพวกไธโอกลัยโคเลท  ซึ่งทำให้เกิดการกัดและระคายได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้ผมแตกได้อีกด้วย

๓.  ปฏิกิริยาต่อยาถอนขน (Depilator) ยาถอนขนมีตัวยาแคลเซียมไธโอกลัยโคเลททำให้เกิดเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มหนองได้ ยาถอนขนบางชนิดมีแคลเซียมซัลไฟด์ แบเรียมซัลไฟด์ หรือ สตรอนเตี้ยมซัลไฟด์ ซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่าง จึงอาจละลายเคอราตินและกัดผิวหนังได้

๔.  น้ำยาสเปรย์ (Hair spray) มัหมีส่วนผสมดังนี้  คือมี พีวีพี (โปลี่ย์ไวนิล พัยโรลิดีน) เป็นตัวสำคัญ ซึ่งมักไม่ทำให้แพ้  นอกจากนี้ในสเปรย์บางอย่างยังมีเช็ลแล็คอยู่ด้วย  แต่ในปัจจุบันนี้ไม่ใครใช้เช็ลแล็คผสมสเปรย์กันแล้ว การอักเสบของผิวหนังจากสเปรย์ มักพบที่ข้างใบหู หนังตา หน้าผาก หน้า และคอ นอกจากนี้ยังทำให้ผมแข็งเป็นก้อนคล้ายไข่เหา หรือทำให้เกิดโรคของผมบางชนิด (Trichonodosis Moniletrix)

๕.  น้ำมันใส่ผม (Brilliantine) น้ำมันใส่ผม มักผสมน้ำหอมและสีพวกอะโซดาย ซึ่งอาจจะทำให้ผิวหนังอักเสบได้

๖.  น้ำยาเซ็ทผม (Setting lotion) มักมีลาโนลิน ยางมิวซิเลจ และอะเคเซีย สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดการแพ้ได้เป็นครั้งคราว

๗.  น้ำยาฟอกผม (Hair bleach) มักมีไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์อยู่ด้วยมากที่สุด นอกจากนี้ก็มีโซเดียมเปอร์บอเรท แอมโมเนียมเปอร์บอเรท และกรดตาตาริค  ซึ่งอาจจะทำให้เกิดตุ่มลมพิษ หรืออาจจะมีปฏิกิริยาทั่วตัวต่อฮิสตามีน  ถึงกับทำให้เกิดเป็นลมหมดสติก็ได้

๘.  น้ำยาที่ทำให้ผมยืด (Hair straightener)  มีขี้ผึ้งพวกปิโตรเลี่ยม พาราฟิน น้ำหอม ยาง ขี้ผึ้ง โซดาไฟ ไธโอกลัยโคเลท และฟอร์มัลดีฮัยด์ ซึ่งอาจทำให้ผมแตกได้

๙.  ยาสระผม (Shampoo) มีพวกสบู่สังเคราะห์  ซึ่งบางอย่างอาจทำให้เกิดผมร่วงได้  นอกจากนั้นพวกสารแอนไอออนนิคดีเทอร์เจ๊นท์ของแอลซิลเบนซีนซัลโฟเนท  อาจทำให้เกิดการคันที่หนังศีรษะได้  นอกจากนี้ตัวยาก็ดี ตัวละลายก็ดี และพวกน้ำมันหอมระเหยต่าง ๆ ที่มีอยู่ในยาสระผม อาจทำให้เกิดการแพ้ได้ หรือบางครั้งอาจมีปฏิกิริยาชนิดที่ไม่ใช่การแพ้ เช่นน้ำมันแร่ที่ไม่บริสุทธิ์อาจไปอุดท่อขุมขน ทำให้เกิดการอักเสบและมีจุดสีดำตามท่อขุมขนได้

๑๐.  แปรงไนลอน  ถ้าแปรงแรง ๆ อาจจะดึงผม ทำให้ผมร่วง ผมบาง (traumatic alopecia) การใช้ลอนม้วนตึงเกินไป ก็อาจจะทำให้ผมร่วงได้เช่นเดียวกัน การใช้ปลาสเต้อร์ยางยืดวิกกับหนังศีรษะ ก็อาจทำให้เกิดการอักเสบได้ การแพ้และการระคายเคืองที่ผมและหนังศีรษะ  อาจจะพบผื่นที่เปลือกตา หูและคอได้

๑๑.  การอักเสบจากยาที่ทำให้เหงื่อน้อย (Antiperspirant) เกลือของอลูมิเนียม เช่น สารส้มที่มีอยู่ในยาทำให้เหงื่อน้อย มักไม่ทำให้แพ้ แต่มักจะแพ้น้ำหอมที่ใส่เป็นส่วนผสม บางคนแพ้ชนิดครีม ครั้นเปลี่ยนมาเป็นชนิดเข้าแอลกอฮอล์ก็ไม่แพ้ น้ำยาฟอร์มัลดีฮัยด์ที่อยู่ในยาลดเหงื่อ  จัดว่าเป็นตัวสำคัญในการทำให้เกิดการแพ้ (potent sensitizer) พวกเซอร์โคเนียมแล็คเตทและพวกอ๊อกซี่ย์คลอไรด์ อาจทำให้เกิดการแพ้ได้ ส่วนเซอร์โคเนียมฮัยดร๊อกซี่ย์คลอไรด์มักไม่ทำให้แพ้

๑๒.  การอักเสบของผิวหนังจากยาระงับกลิ่นตัว (Deodorant) พบว่าเกลือของอลูมิเนียมที่ใช้เป็นยาทำให้เหงื่อน้อย อาจจะกัดผิวหนังได้บ้างแต่ไม่ทำให้แพ้  สบู่ที่มีแฮโลจิเนทเต็ทซาลิซัยลานิไลด์ อาจทำให้แพ้แสงแดดได้ง่าย  รวมทั้งสารพวกเตตราบอมซาลิซัยลานิไลด์  เทตร้าคลอโรซาลิซัยลานิไลด์ ที่มีอยู่ในสบู่ยาบางอย่างด้วย

๑๓. เครื่องสำอางสำหรับแต่งตาและขนตา (Eye shadow) มีสารพวกบรอนซ์ อลูมิเนียมและแผ่นทอง ผสมอยู่ ซึ่งมักไม่ทำให้เกิดการแพ้ แต่ขนตาปลอมมีปลาสเต้อร์ยาง อาจทำให้แพ้ได้แต่ก็พบน้อย คีมดัดขนตาที่ทำด้วยนิคเกิ้ลอาจทำให้แพ้ได้ น้ำยามัสคาราโรซินอาจทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังได้ ดินสอเขียนคิ้วที่มีเครยอนไม่แพ้ แต่ลาโนลินและน้ำหอมรวมทั้งสบู่ที่เป็นส่วนผสมอยู่  อาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้

๑๔.  เล็บปลอม  ที่ทำจากอะครีย์ลิคเรซิน  อาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบได้ เป็นเหตุให้เล็บและรอบ ๆเล็บอักเสบ

๑๕.  ลิฟสติค  ริมฝีปากอักเสบเนื่องจากถูกสีอีโอซิน เมื่อถูกแดด อาจทำให้แพ้ได้

๑๖.  ครีมทำให้ผิวหนังขาว (Skin lightening cream) อาจมีปรอท ฮัยโดรควินโนน โมโนเบนซิลอีเธ่อร์ของฮัยโดรควินโนน  ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดการแพ้ขึ้นได้ทั้งสิ้น  จึงจำต้องพึงระวัง

๑๗.  ลาโนลิน  ถึงแม้จะไม่ค่อยแพ้ง่าย แต่ถ้าสงสัยก็ควรทดสอบด้วยการทดลองทาดูเสียก่อน

๑๘.  สารที่ใช้ในยาป้องกันแสงแดด (Sunscreen agent) อาจทำให้แพ้ได้  นอกจากนี้พวกเกลือของกรดอะมิโน  พวกไดแกลโลอิลไทรโอลีเอทที่ผสมอยู่ในยากันแดด อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้

๑๙.  สีที่ไม่ละลายในน้ำ  ที่ใช้ในเครื่องสำอาง  มักไม่ทำให้เกิดการแพ้ แต่สีที่ได้จากน้ำมันดิน อาจทำให้แพ้ได้

๒๐.  น้ำหอม  อาจทำให้แพ้รวมทั้งแพ้ต่อแสงแดดได้ เป็นการแพ้ของผิวหนังต่อน้ำหอม เวลาทาน้ำหอมแล้วไปตากแดดจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้  ทั้งนี้เพราะในน้ำหอมบางอย่างมีสารพวกโซราเลน ซึ่งทำให้แพ้แสงแดดได้  เกิดเป็นรอยจุดดำ ๆ แต่จะหายไปได้เองในเวลา ๓ เดือน

ในปัจจุบัน ได้มีการพยายามผลิตเครื่องสำอางสมัยใหม่ (Hypo allergenic) ให้มีการแพ้น้อยลง โดยที่โรงงานผู้ผลิตเครื่องสำอางประเภทนี้มักให้ความร่วมมือ ส่งสารที่ใช้ในการทำเครื่องสำอางมาให้ทดสอบ เพื่อจะได้ทราบว่าสารอะไรที่ทำให้แพ้ได้ง่าย และผู้ป่วยแพ้สารอะไรกันบ้าง ทำให้แพทย์รักษาผู้ป่วยได้ง่ายขึ้นด้วย

ศจ.น.พ.สุนิตย์  เจิมสิริวัฒน์

และ น.พ.อุดม  ไชยอนันต์

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า