สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อย่างไรจึงจะเรียกว่าฟันขึ้นช้า

ฟันขึ้นช้า

ฟันขึ้นช้า
การขึ้นของฟันแท้
ฟันหน้า    อายุ 6 – 9 ปี
ฟันเขี้ยว    อายุ 9 – 12 ปี
ฟันกรามน้อย อายุ 10-12 ปี
ฟันกรามซี่ที่ 1 อายุ 5 – 6 ปี
ฟันกรามซี่ที่ 2 อายุ 12 – 13 ปี
ฟันกรามซี่ที่ 3 อายุ 16 – 21 ปี

การขึ้นของฟันซี่เดียวกันในเด็กแต่ละคนจะขึ้นไม่พร้อมกัน เช่น เด็กบางคนมีฟันหน้าขึ้นตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ในขณะที่บางคน 7 ขวบแล้วยังไม่ขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ควรใช้เกณฑ์ของเด็กคนหนึ่งไปตัดสินเด็กอีกคนว่าฟันขึ้นช้า

อย่างไรจึงจะเรียกว่าฟันขึ้นช้า
ปกติฟันซี่เดียวกันที่อยู่ตรงกันข้ามในขากรรไกรเดียวกัน จะขึ้นพร้อมกันหรือไล่เลี่ยกัน ถ้าด้านหนึ่งขึ้นแล้วแต่อีกด้าน 2 เดือนแล้วยังไม่ขึ้นถือว่าขึ้นช้าจะต้องหาสาเหตุและทางแก้ไขต่อไป

โดยทั่วไป การขึ้นช้าของฟันบางซี่ พบในฟันแท้มากกว่าฟันน้ำนม และสาเหตุที่พบบ่อยคือ

1. ฟันหน้า มักเกิดจาก

ก. การละลายตัวช้าของรากฟันน้ำนม หลังจากได้รับการกระทบกระ เทือน ทำให้เกิดการตายของประสาทฟัน

ข. การสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนกำหนด ซึ่งมีผลให้เกิดการสร้างกระดูก เหนือหน่อฟันแท้ ทำให้ฟันแท้ขึ้นยากหรือขึ้นไม่ได้

2. ฟันเขี้ยว มักเกิดจากทิศทางการขึ้นของฟันผิดปกติ ทำให้ฟันขึ้นช้า มักพบในฟันเขี้ยวบน

3. ฟันกรามน้อย มักเกิดจากฟันซี่อื่นที่ขึ้นก่อนล้มเอียงเข้ามา ทำให้ไม่มีที่พอ จะเบียดขึ้นมาได้ หรือการละลายตัวช้าของรากฟันกรามน้ำนมที่ได้รับการรักษารากฟัน ทำให้ฟันแท้ขึ้นแทนที่ไม่ได้

4. ฟันกราม มักเกิดจากฟันคุด พบบ่อยในฟันกรามซี่ที่ 3 จะเห็นว่าสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยคือ รากฟันน้ำนมไม่ละลาย ทำให้ฟันน้ำนมไม่หลุดไปตามอายุ และฟันแท้ขึ้นช้า ดังนั้นเมื่อสังเกตเห็นว่าฟันขึ้นช้าหรือฟันแท้เบียดขึ้นมาแล้ว แต่ฟันน้ำนมยังไม่ยอมหลุดจะต้องพาเด็กไปพบทันตแพทย์เพื่อหาทางแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาฟันเก ฟันซ้อน หรือการสบฟันที่ผิดปกติตามมาภายหลัง ซึ่งจะทำให้การแก้ไขยุ่งยากซับซ้อน เสียเวลา และค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ที่มา:สุทธาทิพย์  กมลมาตยากุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า