สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

แนวคิดบางประการเกี่ยวกับการพัฒนาการในวัยเด็กของเกเซลล์

นายแพทย์ Arnold Gesell (เกเชลล์) ใช้เวลาแทบตลอดชีวิตทำการศึกษาค้นคว้าหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กอย่างลึกซึ้ง กว้างขวาง เป็นรูปธรรม ผลงานของเขาได้เผยแพร่ไปสู่หมู่นักจิตวิทยาทั่วโลก โดยเฉพาะในหมู่ผู้ทำงานเกี่ยวกับเด็ก แม้ว่าผลงานเหล่านั้นได้มาจากการศึกษาประชากรเด็ก แต่แนวคิดหลักๆ ได้รับการยอมรับว่า เป็นจริงสำหรับอธิบายพัฒนาการช่วงวัยอื่นๆ บางแง่มุมด้วย ผู้เขียนหนังสือจิตวิทยาพัฒนาการน้อยคนนักที่จะไม่กล่าวถึงแนวคิดพัฒนาการของเขา ดังจะเลือกแนวคิดของเขามาเสนอพอเป็นตัวอย่าง โดยเน้นพัฒนาการวัยเด็ก ส่วนกฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้จะแยกไปประยุกต์อธิบายเกี่ยวกับพัฒนาการวัยผู้ใหญ่อย่างไรนั้น จะไม่อภิปรายไปถึง หรือจะกล่าวถึงบ้างบางตอนที่มีความเกี่ยวข้องชัดเจน พัฒนาการทุกขั้นมีการเตรียม

เกเชลล์อธิบายว่าพัฒนาการใดๆ ต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า แม้ว่าพฤติกรรมนั้นจะเล็กน้อยเพียงไร ตัวอย่างเช่น อริยาบถต่างๆ ของทารก เช่น การชันคอ การควํ่า คืบ คลาน นั่ง ตั้งไข่ หัดย่างเท้า เดิน และวิ่ง พัฒนาการต่างๆ เหล่านี้ มีการเตรียมก่อนระบบเคลื่อนไหวจะปฏิบัติงานจริงๆ ได้ การเตรียมมีความสัมพันธ์ กับแนวคิดเรื่องวุฒิภาวะ (Maturation) ด้วย

แม้คำอธิบายของเกเซลล์ระบุว่า สังเกตเห็นการเตรียมได้ชัดเจนในพัฒนาการด้านความเจริญเติบโตของเด็กเล็ก แต่นักจิตวิทยาพัฒนาการคนอื่นๆ ได้นำแนวคิดนี้ไปสังเกตพัฒนาการทั้งรูปธรรมและนามธรรม ของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้พบความเป็นจริงดังกล่าวนั้นทั่วๆ ไปด้วย เช่น การปรับตัวทางอารมณ์และสังคม ในวัยสูงอายุก็ต้องมีการเตรียมตั้งแต่วัยกลางคน จึงจะสามารถปรับตัวได้อย่างเป็นสุข

พัฒนาการมีขั้นตอนพัฒนาอย่างเป็นระเบียบแบบแผน (Order)
เกเซลล์ได้อธิบายข้อสรุปนี้จากการศึกษาพัฒนาการเด็กด้านต่างๆจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น การประสานงานระหว่างตากับมือของทารก
ประมาณสัปดาห์ที่ 5 หลังการปฏิสนธิดวงตาเริ่มพัฒนาขึ้น เกิดเยื่อเล็กๆ มีรูปเป็นเบ้าคล้ายถ้วยเรตินาก่อรูปขึ้นภายในเบ้านี้ เรตินาประกอบด้วยเซลประสาทพิเศษ (ซึ่งจะไวต่อภาพที่ผ่านแก้วตาเลนซ์ โปร่งแสง) เป็นด้านหน้าของดวงตา ด้านหลังของเบ้าดังกล่าวนี้จะบีบตัวแคบเข้าเป็นประสาทตา ปลายสุดอยู่ในกลุ่มเซลแห่งสสารสีเทาบริเวณเปลือกสมองด้านท้ายทอย การเห็นทั้งหลายเกิดขึ้นที่นี่ นั่นคือการจัดระเบียบ คอยท่าตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในสัปดาห์ที่ 18 การเชื่อมระหว่างดวงตากับสมองก็ใช้การได้ นี่คือการจัดระเบียบ และความพร้อมของดวงตาเพื่อทำหน้าที่ในโลกนอกครรภ์มารดา

ดังนั้นเมื่อเด็กคลอดออกมา ดวงตาก็สามารถใช้การได้ทันที ตาของทารกเริ่มจับจ้องมองดูสิ่งต่างๆ รอบตัว เพื่อสำรวจและเรียนรู้สิ่งแวดล้อม เริ่มจัดระเบียบแห่งการเคลื่อนไหวโดยมีตานำ ลำดับต่อมาคือ การสำรวจสิ่งแวดล้อมด้วยมือ และต่อมาก็พัฒนาสมรรถภาพแห่งการประสานงานกันระหว่างตากับมือ ตามความคิดของเกเซลล์ จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นแห่งระบบระเบียบการเคลื่อนไหวและการเรียนรู้ต่างๆ ทั้งทางด้านรูปธรรมและนามธรรม

พัฒนาการคือการประสานงานกันระหว่าง กาย จิต สังคม (Bio – psycho – social)
เกเซลล์อธิบายว่าการดำรงชีพหรือการพัฒนาการของมนุษย์ครอบคลุมสภาวะสัจจะ (Reality) 3 ระดับคือ : กาย จิต สังคม

ระดับที่หนึ่ง: เป็นระดับแห่งการดำรงชีวิตรอดทางกายได้แก่ การหายใจ การกินอาหาร การขับถ่ายของเสีย พฤติกรรมระดับนี้อยู่ภายใต้กลไกของระบบประสาทอัตโนมัติ

ระดับที่สอง: เป็นระดับแห่งสัมพันธภาพระหว่างตนกับสิ่งแวดล้อมอันได้แก่ เวลา(Time) และ สถานที่ (Space) นั่นคือ การเรียนรู้เรื่อง เร็ว – ช้า ไกล – ใกล้ นอก – ใน ฯลฯ

ระดับที่สาม: เป็นระดับแห่งสัมพันธ์เชิงสังคมระหว่างตนกับบุคคลอื่น(Interpersonal relationships) นั่นคือความสัมพันธ์เชิงสังคมกับพ่อแม่ พี่น้อง ชุมชน ฯลฯ

ทั้ง 3 ระดับมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาที่บุคคลดำรงชีวิต การเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ระดับเกี่ยวเนื่อง ดำเนินไปพร้อมๆ กัน และประสานสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดมาก ประมวญ ดิคคินสัน (2520, หน้า 33-34) ได้อธิบายเกี่ยวกับการประสานงานกันระหว่างสภาวะสัจจะ 3 ระดับ ดังนี้

ความจริงเกี่ยวกับการดำรงชีวิต  ประสาทอัตโนมัติเป็นผู้บงการ แม้ว่าระบบประสาทอัตโนมัติจะได้มีการจัดระเบียบมาแล้วอย่างล้ำเลิศตั้งแต่แรกปฏิสนธิ เช่น หัวใจของเราเต้นมาตั้งแต่เมื่อเรามีอายุไม่กี่สัปดาห์ในครรภ์ แต่หัวใจของเราก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่จนตราบเท่าอายุขัย การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อปฏิกริยาเคมีภายในร่างกายเราเปลี่ยนแปลง เช่นจังหวะแห่งการนอนหลับ การกิน การขับถ่าย การออกกำลังกายของเรา เมื่ออายุมากขึ้น ย่อมไม่เหมือนเมื่อยังเป็นทารก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในร่างกาย ทำให้หัวใจต้องปรับตัวเข้าสู่สถานการณ์ใหม่อยู่เสมอ นั่นคือพัฒนาการระดับที่หนึ่ง

ความจริงเกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างตัวเรากับสิ่งแวดล้อม เมื่อยังอยู่ในครรภ์มารดา เราและแม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภายหลังคลอดใหม่ๆ เราแยกจากแม่ตกอยู่ท่ามกลาง สิ่งแวดล้อม เรารู้สึกว่าเราและโลกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่อมาเราจึงมีความตระหนักรู้ในตน (Self awareness) และในเมื่อเราเติบโตมาในโลกแห่งวัตถุ จากการสำรวจด้วยตาและมือ เราจึงรู้ความจริงเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ของวัตถุและกาลเวลา (Space and time) นั่นคือพัฒนาการระดับที่สอง

ความจริงเกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างตัวเรากับบุคคลที่แวดล้อม ในขณะที่เราเติบโตภายในความจริงระดับที่หนึ่งและสองนั้น เป็นความเจริญเติบโตทางร่างกายและความคิดกำหนดรู้ ในเวลาเดียวกันเราก็เติบโตขึ้นท่ามกลางผู้คนด้วย ขณะที่เราปรับตัวให้เข้ากับเวลา และสถานที่นั้น เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับผู้คนอีกด้วย ในการปรับตัวเช่นนี้เราต้องจัดการกับตัวเองพอๆ กับที่เราจัดการกับผู้อื่น

กระบวนการแห่งการเจริญเติบโต (Growth process)
พลังแห่งการเจริญเติบโต ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 4 ข้อ ดังนี้
1. ความสำคัญแห่งการเคลื่อนไหว
การทำงานของพฤติกรรมทางกายของมนุษย์ เกิดจากการทำงานประสานกันของระบบประสาท และระบบกล้ามเนื้อ แต่ปฏิบัติการของกล้ามเนื้อมักมาก่อนปฏิบัติการของระบบประสาท เช่น การเคลื่อนไหว ของตาเกิดขึ้นก่อนการจับจ้องวัตถุ หรือการใช้มือสัมผัสวัตถุได้เกิดก่อนการรู้สึกว่าวัตถุนิ่มหรือแข็ง

2. พัฒนาการมีแนวทาง (Direction)
เกเซลล์อธิบายว่าการเจริญทางกายของมนุษย์มีแนวทางที่แน่นอน 2 แนวทาง คือ แนวดิ่ง จากศีรษะสู่เท้าเรียกว่า Cephalocaudal Growth และแนวนอนจากแกนกลางลำตัวออกสู่ แขน มือ และนิ้ว เรียกว่า
Proximodistal Growth

3. พัฒนาการตามแนวดิ่ง
ตัวอย่างเช่น เมื่ออยู่ในครรภ์ศีรษะของทารกเจริญก่อนส่วนอื่นๆ (ใหญ่กว่าส่วนอื่นๆ) เพราะระบบประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวอยู่ที่สมอง เด็กทารกหันศีรษะได้ก่อนจึงชันคอ ขณะที่ชันคอได้นั้น ลำตัวยังอ่อนปวกเปียก ต่อมาเมื่อแข็งแรงขึ้นจึงควํ่าได้ และคืบ คลาน นั่ง ยืน เดิน ได้ตามลำดับ

4. พัฒนาการตามแนวนอน
ตัวอย่างเช่น หัวไหล่นำการเคลื่อนไหว แขน ฝ่ามือ และนิ้ว สำหรับนิ้วก็เริ่มที่นิ้วก้อย เรื่อยขึ้นมาสู่นิ้วนาง นิ้วกลาง นิ้วชี้ และหัวแม่มือ ความเจริญสูงสุดของการเคลื่อนไหวมือ ได้แก่ เด็กสามารถพัฒนาการบังคับหัวแม่มือกับนิ้วชี้มาบรรจบกัน เพื่อหยิบจับและทำกิจกรรมที่ละเอียด

ความเด่นแห่งซีกซ้าย – ซีกขวาของร่างกาย
อวัยวะที่สำคัญของมนุษย์ธรรมชาติสร้างมาเป็นคู่ๆ รับกันทั้งซ้ายและขวา เช่น สมองซีกซ้าย-ขวา มือซ้าย-ขวา ตาซ้าย-ขวา รังไข่ซ้าย-ขวา แต่การทำงานอย่างชำนาญหรือเด่นนั้นไม่เท่ากันทั้งทางซ้ายและขวา การไม่เท่ากันนี้มีคุณ เพราะทำให้มีการแบ่งหน้าที่กัน และเมื่อเกิดข้อบกพร่องทางด้านซีกซ้ายหรือขวาก็ยังมีด้านอื่นได้ชดเชย

ขอยกตัวอย่างแห่งการทำงานของสมองซีกซ้ายและขวาดังต่อไปนี้ (กฤษณา ศักดิ์ศรี, 2530, หน้า 88)

ความถนัดขวาหรือถนัดซ้าย ทั้งสมองซีกซ้าย และซีกขวา ต่างก็มีบริเวณรับรู้ บริเวณควบคุมปฏิบัติการกล้ามเนื้ออยู่พร้อม    และสมองซีกซ้ายรับความรู้สึกจากร่างกายซีกขวา ควบคุมการปฏิบัติงานและการเคลื่อนไหวของร่างกายซีกขวา และโดยกลับกัน สมองซีกขวารับความรู้สึกจากร่างกายซีกซ้าย และควบคุมปฏิบัติการเคลื่อนไหวของร่างกายซีกซ้าย ฉะนั้นถ้าสมองซีกซ้ายได้รับอันตรายร่างกายซีกขวาจะเป็นอัมพาต (ตายไป) กระดิกไม่ได้ เช่น ยกมือขวาไม่ได้ ทั้งๆ ที่กล้ามเนื้อยังดีๆ อยู่

คนที่ถนัดมือซ้าย เป็นเพราะสมองซีกขวาเป็นใหญ่ในการควบคุมปฏิบัติการของกล้ามเนื้อ

ความสามารถในการใช้ภาษา การใช้ภาษาเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะต้องอาศัยการรับรู้จากประสาทสัมผัสทั้งหูและตา ต้องอาศัยความจำ การใช้ภาษาจึงเป็นเรื่องของความเชี่ยวชาญ คนส่วนมากสมองซีกซ้ายรับหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ผลการค้นคว้าพบว่า บรรดาผู้ถนัดมือขวามีอยู่เพียง 2% ที่สมองซีกขวารับหน้าที่ด้านภาษาส่วนผู้ถนัดซ้ายมีราว 15% ที่สมองซีกขวารับหน้าที่ด้านภาษา ดังนั้นถ้าสมองซีกซ้ายเป็นอันตราย คนจึงมักพูดไม่ได้ เคลื่อนไหวร่างกายซีกขวาไม่ได้

ความสามารถในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ สมองซีกขวาเชี่ยวชาญในการสังเคราะห์ การเรียนศิลปะอาศัยการสังเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นผู้ที่ใช้สมองซีกขวาเป็นส่วนใหญ่ มักถนัดในด้านศิลปะมากกว่าด้านวิชาการ เช่น ศิลปิน นักระบำรำฟ้อน ส่วนสมองซีกซ้ายเชี่ยวชาญในด้านการวิเคราะห์ การเรียนภาษาและความรู้ทางวิชาการ ได้มาจากการวิเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ ผู้ที่ใช้สมองซีกซ้ายเป็นส่วนใหญ่มักถนัดในด้านวิชาการมากกว่าด้านศิลปะ เช่น นักวิจัย นักเขียน นักพูด นักวิทยาศาสตร์

ความมีสติรู้ผิดรู้ชอบ    จากการค้นคว้าพบว่าสมองซีกขวามีความคิดด้านรุกราน ซีกด้านซ้ายมีสติสัมปชัญญะ คนปกติสมองซีกใดซีกหนึ่งจะเป็นผู้บงการด้านบุคลิกภาพ แต่ในคนไข้พวกจิตเภท จะมีอาการประเดี๋ยวดีประเดี๋ยวร้าย เป็นเพราะสมองซีกใดซีกหนึ่ง ไม่อาจคุมอำนาจไต้ตลอดไป

การประสานงานแบบตรงข้ามอย่างเหมาะเจาะ (Reciprocal)
ด้วยเหตุที่มนุษย์มีอวัยวะเป็นคู่ๆ เช่น ตา หู แขน ขา มือ เท้า ปอด หัวใจ (มีซีกซ้ายและซีกขวา) ฯลฯ อวัยวะเหล่านี้ มีระบบการเคลื่อนไหวแบบตรงข้ามอยู่ในตัว เพื่อแบ่งหน้าที่กัน คือฝ่ายหนึ่งยึดไว้ฝ่ายหนึ่ง แสดงออก ฝ่ายหนึ่งรุกฝ่ายหนึ่งรับ ฝ่ายหนึ่งสูบเข้าฝ่ายหนึ่งฉีดออก ฝ่ายหนึ่งเกร็งฝ่ายหนึ่งเหยียดเป็นต้น การแบ่งหน้าที่นี้ ทำให้การทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายประสานงานกัน เกิดความเรียบร้อยสมดุล ตัวอย่างเช่น การจับตาดูวัตถุ กล้ามเนื้อตาต้องปฏิบัติงานประสานสัมพันธ์แบบตรงข้ามอย่างเหมาะเจาะ จึงจะเห็นภาพได้คมชัด กล่าวคือ จ้องด้วยตาซ้าย จ้องด้วยตาขวา แล้วจ้องด้วยตาทั้งสองข้าง กล้ามเนื้อ กลุ่มหนึ่งเกร็ง อีกกลุ่มหนึ่งคลาย นอกจากนั้นต้องมีการดูใกล้ดูไกล จ้องตรงกลางวัตถุสลับกับจ้องดูวงนอก จับสายตาดูสลับกับละสายตาไปชำเลืองไปทางซ้ายหรือชำเลืองไปทางขวา (ประมวญ ดิคคินสัน, 2520, หน้า 38)

เกเซลล์ยังอธิบายด้วยว่า การประสานงานกันแบบตรงข้ามอย่างเหมาะเจาะนี้ เป็นจริงกับพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมด้วย เช่น ความเป็นตัวของตัวเอง (Autonomy) กับความต้องการพึ่งพิง (Dependency) ความรู้สึกเครียด (Stress) กับความรู้สึกผ่อนคลาย (Relaxation) ความเป็นหญิง (Anima) กับความเป็นชาย (Animus)

การรักษาดุลยภาพ
เกเซลล์เห็นว่าการพัฒนาการ คือ การปรับตัวให้เข้าสู่สภาวะสมดุล ทั้งในระบบกายสังคม และอารมณ์ แต่สภาวะดุลยภาพเป็นสิ่งชั่วครู่ชั่วยาม ดังนั้นมนุษย์จึงต้องปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพเป็นวงจรที่ไม่รู้จบ (หลักการนี้คล้ายๆ กับหลักการเรื่อง assimilation, accommodation และ equilibrium ของเพียเจท์ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อเรื่องการปรับตัว)

พฤติกรรมชดเชย
เนื่องจากในกระบวนการพัฒนาการนั้น มนุษย์ต้องแสวงหาและรักษาสภาวะสมดุล (ดังกล่าวมาแล้ว) เพื่อให้สภาวะทางกายและจิตอยู่ในสภาวะปกติ และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ กลไกการชดเชยจึงเกิดขึ้น เช่นเมื่อประสาทตาพิการ จะมีกลไกสร้างประสาทสัมผัสด้านอื่นให้เฉียบคมยิ่งกว่า    เช่น ทำให้หูไวต่อการรับเสียงยิ่งขึ้น รวมทั้งประสาทสัมผัสต่างๆ จะไวยิ่งกว่าคนที่ตาปกติเป็นต้น

เกเซลล์ กล่าวว่าหลักแห่งความเจริญเติบโตนั้น เป็นหลักสากลแต่มีความหนักเบาต่างกัน เนื่องเพราะความแตกต่างของบุคคลในด้านกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม อนึ่งคำว่าพัฒนาการของเกเซลล์ มักจะหมายถึง ความเจริญเติบโตมากกว่าความหมายอย่างอื่น

เกเซลล์ยังเชื่อว่า ในตัวมนุษย์มีพลังแห่งการเจริญเติบโต พลังแห่งการเจริญเติบโตนี้ เราได้ฐานมาจากกรรมพันธุ์ ซึ่งจะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมอันพึงประสงค์ก่อให้พลังนี้ขยายพลังความสามารถ และขอบเขตการพัฒนาการต่างๆ ให้กว้างไกล

ทฤษฎีพัฒนาการบางทฤษฎี
มีทฤษฎีพัฒนาการที่ใช้อธิบายพฤติกรรมมนุษย์อย่างกว้างๆ มากมายหลายทฤษฎีหลายแนวคิด น่าฉงนว่าทำไมจึงต้องมีทฤษฎีมากมาย ทั้งๆ ที่เป้าหมายของทุกทฤษฎีคือ ความพยายามที่จะอธิบายลักษณะ พัฒนาการมนุษย์ในวัยต่างๆ เหมือนๆ กัน คำตอบก็คือทฤษฎีแต่ละทฤษฎีอธิบายความจริงเกี่ยวกับมนุษย์ในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป กลุ่มประชากรที่เป็นต้นเงื่อนของคำอธิบายของทฤษฎีต่างๆ ก็เป็นกลุ่มประชากรที่ต่างกลุ่ม ต่างสังคมวัฒนธรรม ผู้เสนอทฤษฎีต่างๆ เหล่านั้น ก็เป็นผู้ที่มีความชำนาญทางวิชาชีพ ในความเชื่อ ในค่านิยม ในความสนใจและอื่นๆ ที่แตกต่างกัน ความรู้หลายแนวทฤษฎีทำให้เราสามารถเข้าใจพัฒนาการมนุษย์หลายแง่มุม หลายกลุ่มสังคมวัฒนธรรม

ใครๆ ก็ไม่สามารถชี้ชัดแน่นอนลงไปว่าทฤษฎีนั้นหรือทฤษฎีนี้ “มีความเป็นจริงถูกต้องน่าเชื่อถือ” มากน้อยเพียงไร แต่มีเกณฑ์กลางๆ สำหรับเป็นแนวคิดนึกแก่ผู้ที่ศึกษาทฤษฎีต่างๆ อย่างกว้างๆ ดังต่อไปนี้

1. มีความถูกต้องแม่นยำในการสะท้อนภาพความจริงเกี่ยวกับพัฒนาการมนุษย์
2. อธิบายได้ชัดเจน
3. สามารถนำไปใช้ทำนายพฤติกรรมหรือ/และลักษณะพัฒนาการในอนาคตได้ อีกทั้งยังสามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตและปัจจุบันได้ด้วย
4. สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง
5. มีความคงที่ (Consistency) ในเนื้อหาของทฤษฎี (ไม่ขัดแย้งกันเอง)
6. สามารถนำไปพิสูจน์ให้เห็นจริงได้

แนวคิดทฤษฎีต่างๆ ที่สำคัญๆ อาทิเช่น
1. จิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis)
2. พฤติกรรมนิยม (Behaviorism)
3. รู้คิด (Cognitive approach)
4. ชีววิทยา (Biological approach)
5. มนุษยนิยม (Humanistic approach)
6. ขั้นตอนพัฒนาการที่ต้องพัฒนา (Developmental task approach)
7. ทฤษฎีการเรียนรู้เชิงสังคม (Social learning Theory)
อนึ่ง แต่ละแนวคิดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ยังมีแนวย่อยๆ (Sub-division) อีก

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า