สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พัฒนาการทางภาษาของวัยเด็กตอนต้น

ภาษาเป็นพัฒนาการที่สำคัญมาก เพราะภาษาเป็นสื่อของความคิด ความรู้สึก และความสัมพันธ์เชิงสังคม มีการศึกษามากมายที่ชี้ชัดว่า พัฒนาการทางภาษาทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการทางสติปัญญาในเชิงบวก (Lefrancois, 1990; Gormly & Brodzinsky, 1989)ภาษาและความคิดวัยเด็กตอนต้น

เมื่อสิ้นวัยทารก เด็กใช้ภาษาพูดได้แล้ว แต่ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ดีเท่าผู้ใหญ่ เด็กจะขัดเกลาสำนวน เรียนและเลียนแบบภาษาให้ถูกต้องจนใช้งานได้ดีในช่วงระยะวัยเด็กตอนต้น เมื่อสิ้นสุดระยะนี้ไม่ว่าเด็กชาติไหนสามารถพูดภาษาแม่ของตนได้ดีเท่าผู้ใหญ่วัย 6 ขวบเป็นระยะสุดท้ายของพัฒนาการภาษาพูด (Speech) นอกจากภาษาพูดแล้ว เด็กบางคนเริ่มพัฒนาภาษาเขียนและเริ่มอ่านหนังสือ เพราะกล้ามเนื้อเล็กของเด็กและสายตาเริ่มพัฒนาพอใช้งานได้แล้ว การพัฒนาทางภาษาจนมีประสิทธิภาพนี้ เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญสำหรับชีวิตของเด็ก เพราะเป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้วิชาต่างๆ เมื่อเข้าโรงเรียน เป็นเครื่องมือในการติดต่อสมาคมเกี่ยวข้องกับผู้อื่น เป็นเครื่องมือสื่อความรู้ความคิดระหว่างตนเองและกับบุคคลอื่นๆ ช่วยทำให้เข้าใจโลก สังคม ชีวิต และบุคคลดีขึ้นกว่าวัยทารก

การพัฒนาภาษาของเด็กจะเร็วช้าเพียงไร ขึ้นอยู่กับเหตุหลายประการ อาทิ จำนวนพี่น้อง เพศ (หญิงพัฒนาทางภาษาเร็วกว่าชาย) ลักษณะเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว ขนาดของครอบครัว สติปัญญาของเด็กเอง ความเอาใจใส่ต่อเด็กจากบุคคลในครอบครัว เด็กในวัยนี้ชอบพูดถึงตัวเอง และพูดกับตัวเอง(ในบางครั้ง) ชอบพูดถึงกิจวัตรประจำวันของเขา กิจกรรมของผู้เกี่ยวข้องกับเขา หรือผู้ที่เขารู้จัก ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงพัฒนาการภาษาของเด็กวัยนี้ตามสมควร

ขั้นตอนพัฒนาการทางภาษาของเด็กวัยทารก-วัยเด็กตอนต้น
พัฒนาการภาษาพูดมี 5 ลำดับขั้น ตั้งแต่วัยทารก จนสิ้นสุดระยะวัยเด็กตอนต้นดังนี้คือ

ขั้นที่ 1 ขั้นปฏิกิริยาสะท้อน (Reflexive vocalization)
การใช้ภาษาของเด็กในระยะนี้ คือตั้งแต่คลอดถึงอายุหนึ่งเดือนครึ่ง เป็นแบบปฏิกิริยาสะท้อน เทียบเท่ากับภาษาหรือการสื่อความหมายของสัตว์ประเภทอื่นๆ เสียงนี้เป็นไปโดยอัตโนมัติและไม่มีความหมายในขั้นแรก แต่เมื่ออายุราวหนึ่งเดือนล่วงแล้ว ทารกอาจเปล่งเสียงต่างกันได้ตามความรู้สึก เช่น ชอบ ไม่ชอบ ง่วง หิว ฯลฯ

ขั้นที่ 2 ขั้นเล่นเสียง (Babbling stage)
อายุเฉลี่ยของทารกในขั้นนี้ ต่อจากขั้นที่ 1 จนถึงอายุราว 8 เดือน
อวัยวะในการเปล่งและฟังเสียง เช่น ปาก ลิ้น หู เริ่มพัฒนามากขึ้น เป็นระยะที่ทารกได้ยินเสียงผู้อื่นและเสียงตนเอง สนุกและสนใจลองเล่นเสียง (Vocal play) ที่ตนได้ยิน โดยเฉพาะเสียงของตนเอง แต่เสียงที่เด็กเปล่งก็ไม่มีความหมายในเชิงภาษา ระยะนี้ทารกทุกชาติทำเสียงเหมือนกันหมด แม้เสียงที่เด็กเปล่งยังคงไม่เป็นภาษา แต่ก็มีความสำคัญในกระบวนการพัฒนาการพูด เพราะเป็นระยะที่เด็กได้ลองทำเสียงต่างๆ ทุกชนิด เปรียบเสมือนการซ้อมเสียงซอของนักสีซอ ก่อนการเล่นซอที่แท้จริง

ขั้นที่ 3 ขั้นเลียนเสียง (Lalling stage)
เป็นระยะทารกอายุประมาณ 9 เดือน เขาเริ่มสนุกที่จะเลียนเสียงผู้อื่น นอกจากเล่นเสียงของตนเอง ระยะนี้ประสาทรับฟังพัฒนามากยิ่งขึ้น จนสามารถจับเสียงผู้อื่นพูดได้ถี่ถ้วนยิ่งขึ้น ประสาทตาจับภาพการเคลื่อนไหวของริมฝีปากได้แล้ว จึงรู้จักและสนุกที่จะเลียนเสียงผู้อื่น ระยะนี้เขาเลียนเสียงของตัวเองน้อยลง การเลียนเสียงผู้อื่นยังผิดๆ ถูกๆ และยังไม่สู้จะเข้าใจความหมายของเสียงที่เปล่งเลียนแบบผู้ใหญ่ เด็กหูหนวกไม่สามารถพัฒนาทางด้านภาษามาถึงขั้นนี้ ขั้นนี้เป็นระยะที่ทารกเริ่มพูดภาษาแม่ของตน

ขั้นที่ 4 ขั้นเลียนเสียงได้ถูกต้องยิ่งขึ้น (Echolalia)
ระยะนี้ทารกอายุประมาณ 1 ขวบ ยังคงเลียนเสียงผู้ที่แวดล้อมเขา ทำได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น เลียนเสียงตัวเองน้อยลง แต่ความหมายของเสียงไม่แจ่มแจ้งนัก

ขั้นที่ 5 ขั้นเห็นความหมายของเสียงที่เด็กเลียน (True speech)
ระยะนี้ทารกอายุตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป ความจำการใช้เหตุผล การเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งที่ทารกได้รู้เห็นพัฒนาขึ้นแล้ว เช่น เมื่อเปล่งเสียง “แม่” ก็รู้ว่าคือผู้หญิงคนหนึ่งที่อุ้มชูดูแลตน การพัฒนามาถึงขั้นนี้เป็นไปอย่างบังเอิญ (ไม่ได้จงใจ) แต่ต่อมาจากการได้ผลที่พอใจและได้ผลที่ไม่ พอใจ ทำให้การเรียนความสัมพันธ์ของเสียงกับความหมายก้าวหน้าสืบไป

ในระยะตอนแรกๆ เด็กพูดคำเดียวก่อน ต่อมาจึงอยู่ในรูปของวลีและรูปของประโยค ตั้งแต่ยังไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ไปจนถึงถูกหลักไวยากรณ์ของภาษานั้นๆ นักภาษาศาสตร์ได้ทำการค้นคว้าวิจัยจากเด็กที่พูดภาษาต่างๆ ทั่วโลก เห็นพ้องต้องกันว่าการพัฒนาการทางภาษาตั้งแต่ขั้นที่หนึ่งถึงที่ห้าดังกล่าวข้างต้นอยู่ในระยะวัยทารก ส่วนระยะที่เด็กเข้าใจภาษาและใช้ภาษาได้โดยอัตโนมัติเหมือนผู้ใหญ่นั้น อยู่ในระยะวัยเด็กตอนต้น

การพัฒนาการทางภาษาจนสามารถใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ดี เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญ สำหรับชีวิตเด็ก เพราะภาษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการด้านสังคม สติปัญญา และอารมณ์ เด็กที่ใช้ภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมได้เปรียบเมื่อเข้าโรงเรียน และไปใช้ชีวิตนอกบ้าน

ความผิดปกติในด้านการพัฒนาภาษาพูด
เกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ อาการผิดปกติของระบบสมองและประสาท ที่บังคับควบคุมอวัยวะที่เกี่ยวกับการพูด หูหนวกทำให้ไม่สามารถได้ยินเสียงที่ผู้อื่นพูด เมื่อไม่ได้ยินเสียงก็ไม่สามารถเลียนผู้อื่นเพื่อพูดเอง มีสาเหตุอื่นๆ อีกที่เนื่องจากความบกพร่องทางกาย อาการตึงเครียดทางอารมณ์ ทำให้หมดความสนุกที่จะฝึกฝนการพูดก็เป็นเหตุที่เป็นไปได้

เด็กบางคนอาจพูดติดอ่าง การติดอ่างเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายประการ เช่น

ก. เติบโตช้าผิดปกติ สมองช้า
ข. มีอารมณ์ประเภทต่างๆ รุนแรงเกินสมควร เช่น ตื่นเต้น หวาดกลัว วิตกกังวล เศร้าโศกเสียใจ ระวังตัวเองมากเกินไป
ค. สมองคิดเร็วมากกว่าที่จะพูดออกมาได้ทัน
ง. ถูกล้อเลียนทำให้สูญเสียความมั่นใจตนเอง ประหม่า ไม่แน่ใจ เคร่งเครียด เพราะถูกผู้ใหญ่กวดขัน ถูกวางอำนาจข่มมากเกินไป

ภาษาและความคิด
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การที่เด็กเริ่มใช้ภาษาได้เป็นเรื่องเป็นราวในวัยเด็กตอนต้นนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของเด็ก เพราะภาษาเปิดโลกกว้างทางด้านความคิด ทางด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนและผู้ใหญ่ รวมทั้งการแสวงหาความสุข ความบันเทิงใจในรูปแบบต่างๆ (เช่น ดูทีวี ฟังนิทาน) ตลอดจนการเรียน(ต่างๆ ทั้งในบ้านและที่โรงเรียน

ได้มีนักวิจัยหลายท่าน ซึ่งยืนยันอย่างแข็งขันยิ่งว่า ภาษาและความคิดมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ถึงแม้จะมีผู้แยกประเด็นออกมาอภิปรายว่า ความคิดมาก่อนพูดภาษาได้ หรือต้องพูดภาษาได้ก่อน ความคิดจึงจะงอกงามก็ตามที แต่ประเด็นที่ว่าความสามารถเชิงความคิดควบคู่กับความสามารถเชิงภาษาหรือไม่นั้น ไม่มีข้อโต้แย้งอีกต่อไป เพราะจริงๆ แล้วภาษามีทั้งส่วนที่เป็นภาษาถ้อยคำและภาษาที่มิใช่ถ้อยคำ ความคิดสัมพันธ์กับภาษาทั้ง 2 ประเภทนี้ ตั้งแต่แรกเกิดจนตลอดไป Vygotsky (1962) เชื่อว่าหลังจาก 2 ขวบเป็นต้นไป ความคิดกับภาษาถ้อยคำมีความสัมพันธ์และสำคัญต่อกันและกัน เป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งสมรรถภาพทางภาษายังสัมพันธ์กับสมรรถภาพในการควบคุมพฤติกรรมต่างๆ อีกด้วย (อ้างจาก Lefrancois, 1990, หน้า 274-276)

ท่านผู้นี้ยังกล่าวเสริมด้วยว่าภาษาถ้อยคำอาจจำแนกได้เป็น 3 ประเภท ตามลักษณะหน้าที่ ได้แก่

1. ภาษาสังคม (Social speech)
ภาษาสังคมพัฒนาแรกสุด จุดหมายก็เพื่อบอกเล่าผู้อื่นให้ทำตามความประสงค์ของตน เช่น “อยากหมํ่านม” “อุ้มหน่อย” ภาษาประเภทนี้พัฒนาซับซ้อนขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้นๆ

2. ภาษา Egocentric
เป็นภาษาที่พัฒนาเมื่อเด็กอายุประมาณ 3-7 ขวบ เป็นภาษาที่ใช้เพื่อควบคุมตัวเองกับความเป็นไปของสิ่งแวดล้อม และความคาดหวังของสังคมรอบตัวเด็ก เด็กมักจะพูดกับตัวเองดังๆ และมักเป็นเรื่องของตัวเอง เช่น “ผลักให้แรงๆ อีกหน่อย” “หมุนไปทางซ้ายอีกที” “ทำอย่างนี้จะโดนแม่ตี” “ดีจัง ทำได้แล้ว” “พรุ่งนี้จะเล่นอีก”

3. ภาษาภายใน (Inner speech)
เป็นภาษาที่พูดกับตัวเองข้างใน คล้ายๆ กับข้อ (2) แต่ไม่ได้พูดออกมาดังๆ ภาษาภายใน เป็นภาษาทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ เป็นภาษาในระดับจิตสำนึก เป็นภาษาที่ทำให้เรามองเห็นจุดหมายของการกระทำ และนำเราไปสู่สิ่งที่เรามุ่งมั่นจะกระทำ ภาษาภายในเป็นการแสดงสมรรถภาพ ทางความคิดระดับสูง

การเรียนภาษาที่ 2
เนื่องจากช่วงวัยเด็กตอนต้น เป็นช่วงพัฒนาการทางภาษาอย่างสำคัญยิ่งช่วงหนึ่ง จึงมีผู้ทำการศึกษาเรื่องการเรียนภาษาที่สองของเด็กในวัยนี้ มีการวิจัยที่ยืนยันว่า ถ้าเด็กได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมทั้งสองภาษาตั้งแต่วัยทารก การเรียนภาษาที่สองในระยะนี้ไม่เป็นสิ่งที่ยากสำหรับเด็ก แต่การเรียนภาษาที่สองในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างจากภาษาแม่ในระหว่างนี้ อาจทำให้เกิดการถ่ายทอดการเรียนรู้ในเชิงลบ และเรียนได้ยาก แต่ก็ยังง่ายกว่าเรียนในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ อนึ่ง เด็กที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมทั้งสองภาษาในวัยทารก มีโอกาสดีที่จะเป็นผู้ชำนาญทั้งสองภาษาได้ (Bilingualism) (Lefrancois, 1990, หน้า 270)

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า