สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ทฤษฎีพัฒนาการทางความคิด

ทฤษฎีพัฒนาการทางความคิด (Cognitive developmental stage) ของ Piaget
ในขณะที่ทฤษฎีกลุ่มจิตวิเคราะห์มุ่งศึกษาการพัฒนาการของบุคคลเชิงบุคลิกภาพ ทฤษฎีนี้มุ่งศึกษาพัฒนาการของบุคคลเชิงความรู้ความคิดหรือสติปัญญา (Cognitive or intellectual development)

ผู้นำในด้านนี้คือ จีน เพียเจท์ เขาเป็นนักชีววิทยาชาวสวิส แต่เบนความสนใจมาศึกษาจิตวิทยา โดยเฉพาะกระบวนการพัฒนาการความรู้ความคิดของเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัยรุ่น ผลการศึกษาด้านนี้ของ เขา ทำให้เขาได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลแรกที่ทำการศึกษาพัฒนาการด้านความคิดของมนุษย์อย่างมีระเบียบ สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ แนวคิดของเขาได้มีการเผยแพร่จากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสไปเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก ข้อเขียนของเขาได้กระตุ้นให้มีผู้สนใจศึกษาพัฒนาการทางความคิดของเด็กในแง่มุมต่างๆ และจัดการศึกษา เขียนตำรา ใช้วิธีสอนให้เหมาะสมกับกระบวนความคิดของเด็กที่พัฒนาไปตามขั้นตอนด้วย ได้รับการเข้าใจตรงกันว่าถ้าอบรมหรือสอนวิทยาการต่างๆ แก่เด็ก ไม่ตรงตามกระบวนการพัฒนาการทางความคิดและสติปัญญาของเด็กแล้ว ย่อมเป็นการสูญเปล่า ซ้ำร้ายอาจกลายเป็นโทษมากกว่าคุณ

แนวคิดพื้นฐานของเขาก็คือ เขาเชื่อว่าเด็กไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความรู้และความคิด เด็กเรียนรู้โลกภายนอกรอบตัว ไปตามลำดับขั้นตอน ความเจริญเติบโตของกระบวนการรู้คิดพัฒนาไป “พร้อมๆ กับพัฒนาการทางกาย” ด้านต่างๆ ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่สำคัญคือ สิ่งแวดล้อมประเภทต่างๆ รอบตัวเด็ก

ถ้าจะกล่าวถึงทฤษฎีการรู้คิดของเพียเจท์ โดยละเอียดแล้ว ก็เป็นเรื่องน่าเรียนรู้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้วางแผนการศึกษาสำหรับเด็ก ข้อความนี้ต้องการเสนอแนวคิดแก่ผู้อ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างกว้างๆ ทั่วๆ ไป จึงขอเสนอแนวคิดของเขาด้วยตารางประกอบคำอธิบายอย่างย่อต่อไปนี้

ลำดับขั้นพัฒนาการความคิดตามทฤษฎีของเพียเจท์
health-0049

health-0050

(เก็บความจาก Lefrancois, 1990; ประมวญ ดิคคินสัน, 2520)

ขั้นตอนของความคิดตามทฤษฎีของเพียเจท์ ที่เขียนมาอย่างย่นย่อข้างต้นนี้ขอเพิ่มเติมลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้

1. ถ้ามีผู้ตั้งปัญหาถามว่า ความคิดเริ่มต้นเมื่อไรในชีวิตคนเรา ตอบโดยยึดตามแนวคิดของเพียเจท์เป็นหลักว่า เริ่มหลังจากคลอดไม่นานนัก เพราะขั้นแรกของการรู้และคิดนั้น เป็นขั้นเรียนรู้และคิดง่ายๆ ชนิดปฏิกิริยาสะท้อน (Reflex action ระยะที่ 1 ขั้นที่ 1)

2. ระบบสัญลักษณ์ที่เป็นภาษาถ้อยคำ มีความสำคัญยิ่งต่อกระบวนความคิด อาจพูดได้ว่าความสามารถทางความคิด มีความสัมพันธ์ต่อกันกับความเจริญทางภาษาถ้อยคำ หรือในแง่กลับกันความเจริญทางความรู้ ภาษาถ้อยคำ ช่วยให้ความคิดงอกงามดังที่เพียเจท์อธิบายว่า เด็กรู้จักคิดด้วยความคิดจริงๆ (Inner thought) เมื่อเริ่มพูดภาษาได้พอสมควร (เมื่ออายุประมาณ 2 ขวบ)

แม้ว่าภาษาถ้อยคำมีความสำคัญมากต่อกระบวนความคิด แต่เราต้องไม่มองข้ามองค์ประกอบอื่นๆ อีกหลายอย่าง ที่มีความสำคัญต่อความคิดเหมือนกัน แม้ว่ามีความสำคัญไม่มากเท่าภาษาถ้อยคำ องค์ประกอบที่น่ากล่าวถึงในที่นี้ ได้แก่ ประสาทสัมผัส (Sensorimotor) ขอกล่าวย้อนไปถึงทารกก่อนอายุ 2 ขวบ เขารู้จักคิดเหมือนกัน แต่คิดด้วยระบบประสาทสัมผัสเป็นส่วนมาก เพราะการพัฒนาภาษาถ้อยคำยังให้ประโยชน์ได้ในวงจำกัด (เด็กวัยทารกที่ช่างรู้ช่างคิด จึงซุกซน ที่เรียกว่าอยู่ไม่สุข แท้จริงแล้วเด็กกำลังใช้ตา หู จมก ลิ้น กาย สัมผัสสิ่งแวดล้อมเพื่อเรียนรู้) มีผู้เชื่อว่า เพราะทารกจะต้องเรียนรู้และดำรงรักษาชีวิต แต่ความสามารถทางภาษายังน้อยอยู่ ธรรมดาโลกจึงทดแทนให้มีความสามารถในระบบประสาทสัมผัสเป็นอย่างสูง เมื่อเปรียบเทียบตามสัดส่วนกับสมรรถภาพทางประสาทสัมผัสของผู้ใหญ่ เช่น ทารกไม่ยอมให้คนดุๆ หรือไม่ค่อยเห็นใจเด็กเข้ามาอุ้ม ทั้งๆ ที่ทารกไม่เคยทราบมาก่อนว่าคนผู้นั้นมีอัธยาศัยเช่นนี้ แต่ทารกโผเข้าหาคนอารีแม้แรกรู้จัก ขี้อ้อนเมื่อรู้ว่าแม่จะออกไปค้างคืนที่ไหนนานๆ ร้องไห้งอแงเมื่อพ่อกับแม่ไม่ลงรอยกัน ฯลฯ เรื่องเช่นนี้บางทีผู้ใหญ่มิได้ใช้วาจาบอกเล่าให้เด็กฟังเลย แต่เหตุไฉนเด็กจึงรับทราบเล่า? คงจะเข้าใจได้ง่ายขึ้นถ้าเราสังเกตสุนัขที่ฉลาด สุนัขพูดภาษาคนไม่ได้ แต่ก็เข้าใจอารมณ์ของนายสารพัน โดยนายไม่บอกมันเลย

3. เมื่อเด็กมีความคิดเจริญถึงขั้นที่เห็นความเหมือน และความแตกต่างในเวลาเดียวกัน (อายุประมาณ 7 ขวบ) เด็กจะรู้จักการคิดเปรียบเทียบวัตถุที่เด็กได้พบเห็นและเหตุการณ์ง่ายๆ การรู้คิดเช่นนี้เพิ่มพูนทักษะและประสิทธิภาพในการคิดแบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์ (Associative thinking) การคิดเป็นเหตุเป็นผล การรู้จักแยกแยะ การจัดลำดับขั้นหมู่พวก และนำไปสู่วิธีคิดแบบต่างๆ ในขั้นใช้ความคิดเชิงนามธรรม (ขั้นที่ 4)

4. สิ่งที่เด็กมองเห็นได้ จับต้องได้ สัมผัสได้โดยตรง (Concrete) เป็นเครื่องเร้าให้เห็นแล้วคิด ความคิดระยะแรกๆ ของเด็กจึงเป็นเชิงรูปธรรมเป็นส่วนมาก ต่อมาเมื่อเด็กรู้คิดผสมเรื่องจริงและเรื่องคิดฝัน (Imagination) และรู้จักใช้ภาษาถ้อยคำ เด็กจึงสามารถคิดแนวนามธรรมได้ ระยะแรกๆ อาจเป็นนามธรรมง่ายๆ ก่อน เช่น เด็กดี ฯลฯ ต่อมาจึงเพิ่มความยากขึ้น เช่น ความตาย ความน่ารัก ความจำเป็นต้องเคารพ ความคิดประเภทความคิดรวบยอด พัฒนามาด้วยกันกับความสามารถใช้ภาษาถ้อยคำและรู้จักคิดสมมติ ความคิดรวบยอดขยายทั้งแนวลึกและแนวกว้าง ด้วยวัยและประสบการณ์ (ความคิดขั้น Formal operation)

5. สัญลักษณ์คณิตศาสตร์ (Mathematic symbols) เป็นสัญลักษณ์พิเศษเฉพาะแตกต่างจากสัญลักษณ์ถ้อยคำธรรมดา และจัดอยู่ในขบวนความคิดประเภทนามธรรม สัญลักษณ์คณิตศาสตร์เจริญขึ้นหลัง จากมีความสามารถใช้สัญลักษณ์ถ้อยคำได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว (ประมาณอายุ 7 ขวบเป็นต้นไป) มีผู้กล่าวกันว่าผู้ที่มีความฉลาดเข้าใจสัญลักษณ์คณิตศาสตร์ดี มักจะดีทางความคิดนามธรรมด้านอื่นๆ ด้วย

6. ขั้นตอนความคิดตามที่กล่าวมานี้ ได้มีการนำไปทดลองกับเด็กชาติต่างๆ ปรากฏว่าขั้นตอนของพัฒนาการทางความคิดเป็นจริงกับเด็กทุกๆ ชาติ แต่ต่างกันในช่วงระยะอายุ (Lefrancois, 1990)

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า