สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ลักษณะพฤติกรรมที่ต้องพัฒนาตามวัย (Develomental task)

ศัพท์นี้หมายถึงลักษณะพฤติกรรมเฉพาะวัยของบุคคลส่วนใหญ่ ซึ่งต้องบังเกิดขึ้นเมื่อย่างเข้าสู่วัยนั้นๆ หากไม่ปรากฏขึ้น มีคำเรียกว่า “มีพฤติกรรมไม่สมวัย” ขอยกตัวอย่างคนแบบนี้เช่น เด็กอายุ 15 ปีแล้ว ยังติดแม่เหนียวแน่นมาก ไม่คบหากับเพื่อนร่วมวัย

ลักษณะพฤติกรรมที่ต้องพัฒนาตามวัยนั้นได้มีผู้ทำการศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ ผลการศึกษาของเขาว่า เมื่อย่างเข้าสู่วัยนั้นๆ บุคคลจำต้องมีกระสวนพัฒนาการอย่างไร ผู้ทำการศึกษาค้นคว้ามีหลายท่าน ดังนั้นแนวคิด ลักษณะพัฒนาการตามวัยจึงมีหลายแนวคิด มีแง่มุมที่เน้นต่างกัน อย่างไรก็ดีมีแนวคิดร่วมกันประจำแต่ละวัยของแนวคิดต่างๆ อยู่บ้างเหมือนกัน ในที่นี้ไม่ได้ยึดแนวคิดของผู้ใดเป็นพื้นฐานโดยเฉพาะเจาะจง แต่จะนำเสนอแนวคิดต่างๆ เหล่านั้นทั้งที่เหมือนกันและหรือต่างกัน

การพัฒนาตามวัยนั้นมีความแตกต่างในแต่ละบุคคล บางคนอาจมีพัฒนาการสมวัยในช่วงอายุหนึ่ง แต่ในอายุอีกช่วงหนึ่งกลายเป็นช้ากว่าวัย (Late maturer) ในทางตรงข้ามบางคนพัฒนาเร็วกว่าวัย (Early maturer) ในทุกช่วงอายุ อย่างไรก็ตามมักปรากฏเสมอว่า ผู้ที่มีกระสวนพัฒนาการช้ากว่าวัยหรือเร็วกว่าวัยมาตั้งแต่วัยเด็ก ก็มักจะเคยตัว มีลักษณะเช่นนั้นเรื่อยไปในทุกวัย

กระสวนพัฒนาเร็วกว่าวัยหรือช้ากว่าวัย    มีผลต่อกระบวนการสัมพันธภาพระหว่างหมู่เพื่อนและบุคลิกภาพเฉพาะตัว อาจมีได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่นเด็กพัฒนาทางปัญญาเร็วล้ำหน้าเพื่อนวัยเดียวกัน ความคิดและรสนิยมอาจห่างไกลกันมาก เขาเบื่อเพื่อน เพื่อนก็ไม่คบกับเขาได้สนิทนัก มีผู้สังเกตว่าเด็กฉลาดมักชอบคบเพื่อนที่สูงวัยกว่าตัวเขา เป็นทางออกของอารมณ์และความนึกคิดดีกว่าคบเพื่อนร่วมวัย หรืออ่อนวัยกว่า ฝ่ายเด็กที่พัฒนาช้ากว่าวัย เพื่อนร่วมวัยก็เบื่อเขาและอาจถูกล้อเลียน เด็กพวกแรกอาจมีปมเด่น พวกหลังอาจมีปมด้อย ซึ่งถ้าควบคุมให้อยู่ในขอบเขตที่พอดีไม่ได้ ก็ไม่เป็นผลดีในการสมาคมทั้ง 2 พวก

ช่วงเวลาวิกฤต (Critical period)
สมมติว่ามีประเด็นที่จะอภิปรายกันหลายแง่ ถ้าเราเรียกสิ่งนั้นด้วยคำว่า “พฤติกรรมที่ต้องพัฒนา” นั่นเรามองจากแง่ที่ประเด็นนั้นเป็นพฤติกรรมอันจำจะต้องพัฒนาขึ้น (ตามธรรมชาติปกติวิสัย) แต่ถ้าเราเรียก ประเด็นเดียวกันนั้นด้วยคำว่าช่วงเวลาวิกฤต นั่นเรามองประเด็นนั้นว่าเป็นจุดที่พฤติกรรมนั้นจะต้องพัฒนาขึ้น (ตามธรรมชาติปกติวิสัยเช่นกัน) ถ้าผ่านพ้นจุดเวลาที่กำหนดนั้นแล้ว ไม่มีโอกาสได้พัฒนาด้วยเหตุขัดข้องอย่างใดก็ตาม พัฒนาการประการนั้นๆ จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ (เป็นกรณีเด็ดขาดจริงๆ) ถึงแม้บางกรณีไม่เป็นข้อเด็ดขาดนัก อาจพัฒนาพฤติกรรมนั้นๆ ได้ หลังช่วงเวลาที่ธรรมชาติกำหนดได้บ้าง (คือพัฒนาย้อนหลัง) ผลก็จะไม่ดีหรือไม่สมบูรณ์

เพื่อให้บังเกิดความเข้าใจง่ายขึ้น ขอยกตัวอย่างลักษณะพัฒนาการที่เกิดจริงๆ มาให้เห็นเป็นอุทาหรณ์ คือเมื่อ ค.ศ. 1920 มีฝรั่งสามีภรรยาไปทำงานสอนศาสนาในประเทศอินเดีย ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า มีมนุษย์ที่ได้รับการเลี้ยงดูจากหมาป่า อาศัยอยู่ในถํ้าแห่งหนึ่ง สามีภรรยาจึงได้ไปที่ถ้ำนั้น พบเด็กหญิง 2 คน อายุประมาณ 8 ขวบและ 1 ขวบครึ่ง ยืนและเดินด้วยขาสองขาอย่างคนไม่ได้ เคลื่อนที่ไปไหนๆ ต้องใช้ 2 มือ 2 ขา (แบบสัตว์สี่เท้า) (ธีระ สุมิตร และพรอนงค์ นิยมค้า, 2528, หน้า 40)

จากตัวอย่างนี้ เราจึงใช้คำพูดได้ว่า พฤติกรรมการยืนและเดินด้วยขา 2 ขา เป็นพฤติกรรมที่ต้องพัฒนาตามวัย (เดินได้ในวัย 14-15 เดือน) เด็ก 2 คนนั้นตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาพฤติกรรมนี้ ความสามารถในการ เคลื่อนที่ของเขาจึงหยุดอยู่แค่การคลาน

เราทราบอยู่ตามหลักธรรมชาติของเด็กว่า เด็กในสิ่งแวดล้อมอย่างมนุษย์ธรรมดา ร่างกายจะมีความสมบูรณ์พร้อมสามารถยืนด้วยตนเองและเดินได้ในวัย 14-15 เดือน เราจึงใช้คำพูดได้ว่า วัย 14-15 เดือนนี้เป็นช่วงเวลาวัยวิกฤตสำหรับพัฒนาการยืนเดิน ถ้าล่วงวัยนี้แล้ว ไม่มีการพัฒนา (เช่นเดียวกับเด็กหญิง 2 คนที่เล่ามานั้น) เขาก็จะไม่รู้จักการยืนเดินอย่างมนุษย์ทั่วไป เรื่องเด็กหญิง 2 คนนั้นมีรายงานต่อมาว่า 2 สามีภรรยา พาเด็กไปอยู่ด้วย ฝึกหัดให้เป็นมนุษย์ เด็กคนโตใช้เวลานาน 3 ปีกว่าจะยืนเดินด้วยขาทั้ง 2 ได้ แต่เมื่อมีเหตุอะไรจะต้องปฏิบัติฉับพลันตามสัญชาตญาณ เขาหวนไปใช้ 2 มือ 2 เท้าเคลื่อนย้ายตัวเอง แสดงว่าการฝึกพัฒนาการย้อนหลังเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องที่มิได้พัฒนาตามวัยนั้นได้ผลบ้าง แต่ไม่สมบูรณ์ (ธีระ สุมิตร และ พรอนงค์ นิยมค้า, 2528, หน้า 40)

กรณีที่บกพร่องเด็ดขาดแก้ไขไม่ได้ก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น ตัวอ่อนในครรภ์มารดาในช่วง 3 เดือนแรกของชีวิต กำลังมีการพัฒนาโครงสร้างของร่างกาย ถ้าในระหว่างเวลานั้นมารดาติดเชื้อโรคบางอย่าง เช่น ไข้หัดเยอรมัน หรือกินยาบางประเภท พิษของไข้หัดหรือยานั้นสะกัดกั้นความเจริญเติบโตของเด็ก ทำให้แขนกุด ขาด้วน เป็นต้น ความเสียหายร้ายแรงอย่างนี้พัฒนาย้อนหลังแก้ไขไม่ได้ ตัวอย่างในย่อหน้าข้างต้นเป็นความเสียหายทางกาย ความเสียหายในพัฒนาการด้านอื่นก็มีได้ ซึ่งจะยกตัวอย่างมาแสดงต่อไปนี้ 2 กรณี

ฟรอยด์ นักค้นคว้าทางจิตวิทยาคนสำคัญมีความเห็นว่า เด็กที่มีอายุระหว่าง 3 ถึง 5 ปี อยู่ในช่วงเวลาวิกฤตสำหรับวางรากฐานการเลียนแบบบทบาททางเพศ (คือการจะประพฤติตัวแบบผู้หญิงหรือผู้ชาย) ถ้าเด็กไม่มีบุคคลที่เด็กเคารพรัก (เช่น พ่อ แม่ หรือคนที่ทำหน้าที่แทน) สำหรับเป็นตัวแบบให้เด็กเลียน (กล่าวได้ว่าเด็กขาดโอกาสฝึกพฤติกรรมที่ต้องพัฒนาตามวัย หรืออีกแง่หนึ่งกล่าวได้ว่าช่วงเวลาวิกฤตสำหรับเลียนแบบบทบาททางเพศได้ผ่านเลยไปโดยมิได้ฝึกฝนพฤติกรรมนั้นๆ) เด็กก็ผ่านวัยไปสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ที่มีพฤติกรรมในลักษณะตรงกันข้ามกับเพศทางชีวภาพจริงๆ ของตัว ซึ่งแม้จะมีการแก้ไขภายหลังก็ได้ไม่สมบูรณ์ (Hall & Lindzey, 1981)

แอริคสัน (1950) นักจิตวิทยาคนสำคัญอีกท่านหนึ่ง แสดงมติเป็นใจความว่า ทารกในช่วง 2 ปีแรกของชีวิต เป็นเวลาพัฒนาความรู้สึกไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจบุคคลอื่นทั้งหมด นับเป็นช่วงเวลาวิกฤต สำหรับพัฒนาพฤติกรรมนี้ โดยการมีสัมพันธภาพระหว่างตัวทารกกับพ่อแม่เป็นบทเรียน ถ้าพ่อแม่หรือคนที่ทำหน้าที่แทนแสดงความรักความเอาใจใส่เขาอย่างเหมาะสม เขาจะมีความสมดุลในความรู้สึกไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจผู้อื่น ถ้าช่วงวัยวิกฤตนี้ผ่านไปโดยมิได้พัฒนาพฤติกรรมนี้โดยเหมาะสมแล้ว เขาอาจเป็นคนไว้ใจคนง่ายเกินไป หรือทางตรงข้ามเป็นขี้ระแวงเสียทุกสิ่งทุกอย่าง มีเจตคติต่อสังคมและโลกในแง่ร้าย เป็นผลกระทบต่อบุคลิกภาพของเขาจนตลอดชีพ

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า