สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พฤติกรรมของนักจิตบำบัด

ตามธรรมดา นักจิตบำบัดมีหน้าที่รับฟังสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการพูด ต้องการระบาย นักจิตบำบัดที่ดีนั้น ควรจะพูดน้อยกว่าผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเริ่มการรักษาใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีพฤติกรรมต่างๆ ของนักจิตบำบัดที่ควรจะกล่าวถึงดังต่อไปนี้

ถ้านักจิตบำบัดมีอาการง่วงนอนในชั่วโมงการรักษา ต้องนึกถึงCountertransference หรือสุขภาพทั้งทางกายและทางจิตอาจจะไม่เอื้ออำนวย ถ้าถึงกับม่อยหลับไปเลยถือว่า เป็นเรื่องร้ายแรงมาก และต้องขอโทษผู้ป่วยด้วย นักจิตบำบัดหัดใหม่จำนวนไม่น้อยที่ชอบอ้างว่า หลับเฉพาะเวลาที่คนไข้พูดไม่ได้สาระแก่นสารเท่านั้น ขอเรียนให้ทราบว่า เป็นคำแก้ตัว ที่ “ฟังไม่ขึ้น”

นักจิตบำบัดหัดใหม่บางคน อาจพยายามทำท่าทางให้เหมือนผู้คงแก่เรียน เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่คนไข้ แต่ขอเรียนให้ทราบว่า การกระทำเช่นนี้ จะประสบกับความล้มเหลว เพราะว่าคนไข้มีความสามารถที่จะเรียนรู้ได้ดีว่า นักจิตบำบัดเองมีความสามารถแค่ ไหนคือ คนไข้จับการหลอกลวงได้เก่งกว่าที่นักจิตบำบัดหัดใหม่คิดคาดคะเนไว้มาก นอกจากนี้ การกระทำตัวให้ผิดจากบุคลิกภาพเดิมของนักจิตบำบัดเองมากเท่าใด ผลของการรักษาก็จะประสบความล้มเหลวมากขึ้นเท่านั้น เพราะว่า นักจิตบำบัดย่อมจะสูญเสียพลังงานในการวางท่าทางโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งพลังงานที่เสียไปนี้ ย่อมจะทำให้นักจิตบำบัดไม่สามารถใช้พลังงานในการรักษาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

คำถามที่พบบ่อยก็คือ นักจิตบำบัดควรจะจดโน้ตในขณะสัมภาษณ์หรือไม่ ?

คำตอบในเรื่องนี้ ต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็น คือ ในขณะสัมภาษณ์เพื่อการวินิจฉัยโรค และในขณะทำการรักษา

ในการสัมภาษณ์เพื่อการวินิจฉัยโรคนั้น จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์ มีความเห็นแตกต่างกันคือ จะจดหรือไม่จดก็ได้ เพราะว่าถ้าเลือกการจดโน้ตเดือนความจำด้วย ย่อมจะได้ข้อความที่ละเอียดกว่า แต่ก็มีข้อเสีย คือ ไม่อาจเห็นพฤติกรรมของคนไข้ได้ทั้งหมด แต่ถ้าไม่จดโน้ตแล้ว ก็ไม่สามารถเก็บข้อความที่ละเอียดได้ แต่ว่ามีประโยชน์ในการสังเกตพฤติกรรมของคนไข้ได้มากกว่า สำหรับความเห็นของผู้เขียนเองนั้น คิดว่าไม่ควรจะจด แต่ให้แบ่งเวลาไว้ คือ เมื่อจบการสัมภาษณ์ ให้รีบเขียนเรื่องราวทั้งหมดทันที หรือในรายที่คนไข้ยินยอม ให้ใช้การอัดเทปได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะว่าจะสามารถเก็บข้อความได้ทั้งหมดโดยสมบูรณ์

ส่วนในขณะดำเนินการรักษานั้น ไม่ควรจะจดโน้ตอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เสียความสัมพันธ์ที่ดีกับคนไข้ รวมทั้งไม่อาจสังเกตพฤติกรรมของคนไข้ด้วย ถ้าคนไข้ยอมให้อัดเทปได้ ก็นับว่ามีประโยชน์มาก แต่ถ้าคนไข้ไม่ยินยอม ก็ต้องแบ่งเวลาไว้ สำหรับเขียนเรื่องราวและพฤติกรรมทั้งหมดในทันทีที่จบชั่วโมงการรักษา

คำถามต่อไปนี้คือ นักจิตบำบัด ควรจะตรวจร่างกายคนไข้หรือไม่?
คำตอบก็คือ ถ้านักจิตบำบัดเป็นแพทย์ และยังมีความสามารถในการตรวจร่างกายคนไข้อยู่ก็อาจจะทำได้ แต่ถ้านักจิตบำบัดเป็นจิตแพทย์มานาน จนลืมการตรวจร่างกาย หรือไม่มีความมั่นใจในความสามารถของตนเองแล้ว ก็ควรจะให้แพทย์ฝ่ายกายเป็นผู้ตรวจ สำหรับนักจิตบำบัดที่ไม่ใช่แพทย์ก็เป็นสิ่งแน่นอนว่า คนไข้จะต้องผ่านการตรวจร่างกายโดยแพทย์ฝ่ายกายเสียก่อน

สำหรับนักจิตบำบัดที่สูบบุหรี่ ควรจะสูบบุหรี่ในขณะรักษาหรือไม่ ?
คำตอบก็คือ สูบได้ ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทนควันบุหรี่ได้เท่านั้น เหตุผลในเรื่องนี้ก็คือนักจิตบำบัดที่สูบบุหรี่จนติดนั้น ถ้าไม่สูบในชั่วโมงการรักษา ก็อาจจะทำให้เกิดความหงุดหงิด หรืออึดอัดต่างๆ ทำให้เสียสมาธิในการรักษา นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ยังเท่ากับเป็นการแสดงความเป็นตัวของตัวเองของนักจิตบำบัดอีกด้วย

ต่อไปจะเรียนให้ทราบเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมต่างๆ วัฒนธรรมทั้งของไทยและของต่างประเทศนั้น ต่างก็มีข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งคู่

วัฒนธรรมของบางประเทศที่เป็นข้อดี คือ การจับมือคนไข้ อาจารย์ของผู้เขียนท่านหนึ่งสอนว่า ท่านจะจับมือคนไข้ก่อนรับการรักษาหรือสัมภาษณ์ แล้วจะจับมืออีกครั้งหนึ่ง เมื่อจบการรักษาหรือสัมภาษณ์ ท่านให้ความเห็นว่า ต้องการทราบว่า มือคนไข้อุ่นหรือเย็น เกร็งหรือไม่ มีเหงื่อออกหรือไม่ นุ่มหรือกระด้าง ฯลฯ และเมื่อจบการรักษาหรือสัมภาษณ์แล้ว ท่านจับมือคนไข้อีก เพื่อเปรียบเทียบกับก่อนทำการรักษาหรือสัมภาษณ์

ข้อที่ดีอีกประการหนึ่ง คือ วัฒนธรรมตะวันตกนั้น นิยมเรียกชื่อสกุล แทนชื่อตัวคนไข้ (ยกเว้นคนไข้เด็ก ซึ่งมักจะนิยมเรียกชื่อตัว หรือชื่อเล่นของคนไข้) จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์ที่ต่างประเทศ จะไม่ยอมเรียกชื่อตัวหรือชื่อเล่นของคนไข้โดยเด็ดขาด นับว่าเป็นการง่ายสำหรับการสร้าง Professional Relationship

ส่วนข้อเสียของวัฒนธรรมตะวันตก คือ การต้องช่วยผู้หญิงสวม Overcoat การเก็บของที่ผู้หญิงทำตกหล่น การจุดบุหรี่ให้ เมื่อผู้หญิงต้องการจะสูบ การส่งผ้าหรือกระดาษเช็ดหน้าให้ ฯลฯ สิ่งเหล่านั้นนักจิตบำบัดไม่ควรกระทำ ถึงแม้จะเป็นวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมก็ตาม เพราะว่า การรักษานั้น ไม่ใช่เป็นเวลาที่จะใช้มารยาทของสังคม

ส่วนข้อดีของวัฒนธรรมไทย ก็คือ การเรียกคนไข้ว่า “คุณ” ซึ่งใช้ได้ในทุกกรณี (ยกเว้นคนไข้เด็ก ซึ่งอาจจะใช้คำว่า “หนู” ได้) แต่อย่างไรก็ตาม ขอเตือนนักจิตบำบัดหัดใหม่ทั้งหลายว่า ห้ามเรียกคนไข้ในลักษณะแสดงความสนิทสนม เช่น “น้อง” “พี่” “หนู” “ลุง” “อา” “ท่าน” ฯลฯ ต้องใช้คำว่า “คุณ” เสมอ อย่าลืมว่า การทำจิตบำบัดนั้น ถือเป็น Professional Relationship เสมอ มิฉะนั้นแล้ว จะเกิดมีปัญหาติดตามมามากมาย และบางรายก็อาจจะถึงกับแก้ไขไม่ได้

ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ ในการสอนจิตบำบัดพอสมควร มีนักจิตบำบัดหัดใหม่ผู้หนึ่ง เมื่อก่อนจะได้รับการฝึกอบรมจากผู้เขียน ได้ทำจิตบำบัดด้วยตัวเองมาก่อน และเกิดไปตีสนิทกับคนไข้ จนกลายเป็นเพื่อน เมื่อมารับการฝึกอบรมกับผู้เขียนแล้ว เลยไม่กล้า เปลี่ยนแปลงวิธีการให้ถูกต้อง เพราะว่าสนิทกับคนไข้มากเกินไป จนทำอะไรไม่ถูก

นอกจากนี้ วัฒนธรรมไทยบางอย่าง ก็สร้างปัญหาเหมือนกัน เช่น นักจิตบำบัดที่เป็นหญิงนั้นเคยถามผู้เขียนว่า จะใช้สรรพนามเรียกตนเองว่าอย่างไร เพราะว่า ผู้หญิงนั้น มีคำที่เรียกแทนตัวเองอยู่มากมาย เช่น “ดิฉัน” “หนู” “ตัวเอง” “พี่” “เรา” ฯลฯ ผู้เขียนเองไม่เคยประสบปัญหานี้ เพราะว่าเป็นผู้ชาย จึงใช้คำว่า “ผม” ได้ทุกกรณี อีกประการหนึ่ง ผู้เขียนไม่มีความสันทัดในภาษาไทยเพียงพอ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอเสนอว่า ควรจะใช้คำว่า “ฉัน” หรือ “ดิฉัน” น่าจะเหมาะสมที่สุด เพราะเป็นคำกลางๆ ไม่แสดงความเป็น “one-up” หรือ “One-down” มากจนเกินไป นอกจากนี้ ผู้เขียนขอเรียนฝากให้นักจิตบำบัดที่มีความสันทัดในภาษาไทย ช่วยคิดพิจารณาบัญญัติคำที่เหมาะสมกว่านี้ด้วย

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า